วันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557

Lucy ในบันทึกของผู้ชมคนหนึ่ง



1

ช่วงที่ผมเรียนปรัชญาศาสนา ผมเคยได้อ่านความคิดของนักปรัชญาคนหนึ่งที่ชื่อ Eugene Thomas Long ซึ่งชี้ให้เห็นว่า “ประสบการณ์ของมนุษย์มีทั้งรากเหง้าที่ปฏิสัมพันธ์กับจารีตหรือประวัติศาสตร์ที่มีมาก่ออนหนานั้น ในขณะเดียวกันประสบการณ์ของมนุษย์ก็มีลักษณะปลายเปิดอยู่เสมอ โดยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกมิใช่ความสัมพันธ์ระหว่างอัตภาวะกับวัตถุภาวะ แต่เป็นภาวะการสื่อสารระหว่างกัน ความเป็นอัตภาวะเกิดขึ้นในกระบวนการปฏิสัมพันธ์กับโลก มิใช่แยกแยะจากโลกโดยเด็ดขาด” (สุวรรณา สถาอานันท์. ศรัทธากับปัญญา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์ฯ, 2550 หน้า 9)

ความคิดของ Eugene T. Long สำคัญอย่างไร ผมคิดว่าความคิดของ Long ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มีแก่นสารที่แฝงฝังอยู่ในภาวะความสัมพันธ์กับโลก (Being-in-the-world) ประสบการณ์ของมนุษย์แสดงให้เห็นถึงการก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมๆ อยู่ตลอดเวลา ทั้งในแง่ของกาลเวลา ความสัมพันธ์กับโลกและบุคคลอื่น ศักยภาพที่จะรู้สึกสำนึกรับผิดชอบรวมทั้งการรู้สึกขอบคุณ ทั้งหมดคือการชี้ให้เห็นถึงมิติเชิงอุตตรภาวะ (อาจไม่ใช่ในแง่การสัมพันธ์กับพระเจ้า) หรืออีกนัยหนึ่ง Long ชี้ให้เห็นว่าอุตตรภาวะหรือ Transcendence มิใช่สิ่งที่แปลกแยกจากโลกประจักษ์ธรรมดา

ภายหลังความคิดแบบปฏิฐานนิยมก้าวเข้ามามีอิทธิพลในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ข้อความเชิงอภิปรัชญากลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย เพราะไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นว่าจริงหรือเท็จได้ สำหรับผมแล้ว งานของ Long เป็นการมองอุตตรภาวะในมุมมองที่น่าสนใจ โดยมิได้มองมันเป็นเพียงแค่ในกรอบของอภิปรัชญาหรือสิ่งที่ไร้ความหมาย หากแต่นำมันกลับมาสนทนาร่วมกันในกรอบที่มิได้แปลกแยกออกจากโลกประจักษ์