วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มณเฑียร บุญมา : ภาพร่างโครงการที่ค้างคา และผลงานที่หาชมยาก


ภายใต้มโนทัศน์อันรางเลือนของศิลปะ การนิยามผลงานศิลปะจึงกลายเป็นเรื่องที่ดูจะไม่ชัดเจนนัก หลายครั้งเราไม่สามารถบอกได้ว่า อะไรคือ “ผลงาน” ในขณะเดียวกัน บางสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวอาจกลายเป็น “ผลงาน” ศิลปะได้ด้วย เมื่อผลงานศิลปะมิได้ชี้หมายถึงวัตถุที่เป็นผลผลิตจากความคิดของศิลปินเพียงอย่างเดียว ภาพร่าง การวางแผน และหลายสิ่งหลายอย่างที่ยังไม่เสร็จ ก็จึงอาจถูกพูดถึงในฐานะตัวผลงานได้ด้วยเช่นกัน

สำหรับผู้สนใจงานศิลปะ คงจะมีน้อยคนนักที่ไม่เคยได้ยินชื่อศิลปินผู้ล่วงลับคนนี้ มณเฑียร บุญมา ในขณะที่เขามีชีวิตอยู่ เขาเป็นศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ผลงานของเขาได้รับการพูดถึงในระดับนานาชาติ และเป็นศิลปินผู้ผ่านเวทีในระดับนานาชาติมาแล้วอย่างโชกโชน หลายคนยกย่องมณเฑียรว่าเป็นศิลปินผู้บุกเบิกการสร้างสรรค์งานศิลปะสื่อผสมและศิลปะจัดวางในยุคต้นๆ โดยใช้วัสดุ รูปแบบเนื้อหา ทั้งแบบไทยชนบทและพุทธปรัชญา และในฐานะอาจารย์สอนศิลปะ เขาก็ได้ทำหน้าที่เผยแพร่แนวความคิดใหม่ๆ ให้นักศึกษาและศิลปินรุ่นใหม่อีกมากมาย แม้จนถึงขณะนี้ที่มณเฑียรล่วงลับไปกว่า 10 ปีแล้ว ผลงานของเขาก็ยังคงถูกพูดถึงอยู่ตลอดเวลา

จิตรกรรมนามธรรม บทกวีรูปธรรม


เมื่อนัยของ “รูปธรรม” และ “นามธรรม” คือขั้วตรงข้ามที่แตกต่าง การดำรงอยู่ของสิ่งหนึ่งจึงสัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของอีกสิ่งหนึ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ของศิลปะ การรับรู้สิ่งที่เป็น “รูปธรรม” และ “นามธรรม” จึงเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งอันน่าสนใจ

เมื่อ “รูปธรรม” และ “นามธรรม” คือสิ่งที่ตรงกันข้าม การรับรู้ “รูปธรรม” และ “นามธรรม” จึงกลายเป็นความแตกต่าง เมื่อ “รูปธรรม” เป็นสิ่งที่สามารถสังเกตและรับรู้ได้จากประสาทสัมผัส หากแต่รูปธรรมอาจมิได้หมายถึงทุกสิ่งที่รับรู้ได้จากประสาทสัมผัส หากแต่เป็นสิ่งที่เรารับรู้และเข้าใจได้เลยจากประสาทสัมผัส ในผลงานจิตรกรรม รูปธรรมก็เป็นสิ่งที่รับรู้ได้จากการมองเห็น แต่นามธรรมกลับตรงกันข้าม เมื่อนามธรรมอาจเป็นสิ่งที่ไม่สามารถรับรู้ได้ผ่านประสาทสัมผัส แต่กระนั้นก็มิได้หมายความว่านามธรรมสภาพจะไม่มีอยู่ ซึ่งการรับรู้ “นามธรรม” เป็นการรับรู้และเข้าใจที่เกิดจากจิตใจ ความรู้สึก และระบบความคิดเสียมากกว่าการเข้าใจได้เลยจากประสาทสัมผัส