วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สวดมนต์ข้ามปี สวดไปทำไม ?

(ภาพการสวดมนต์ข้ามปี โดยชาวพุทธกลุ่มหนึ่งผู้มีจานบินเป็นของตัวเอง)


สำหรับปีใหม่ 2556 เป็นอีกปีที่ผมคงไม่ได้ไปไหน นอกจากไปหาหนังดูรอบดึกคนเดียวที่ EGV บางแค ซึ่งอยู่บนซีคอนบางแค หรือฟิวเจอร์ปาร์คบางแคเดิมนั่นเอง

มีคนชวนผมไปสวดมนต์ข้ามปี จริงๆ ผมก็สงสัยนะครับ ไม่รู้ว่าสวดมนต์ข้ามปีเนี่ย มันดีกว่าสวดมนต์ธรรมดายังไง แล้วยิ่งไปกว่านั้น ทำไมจะต้องไปรวมกลุ่มสวดมนต์กันเยอะแยะในวัดดึกๆ ดื่นๆ นั่งหลังขดหลังแข็ง

คำตอบที่เขามีให้ผม คือ "มันเป็นสิริมงคล จะทำให้ปีใหม่มีแต่สิ่งดีๆ" แถมยังว่าผมอีกว่าเป็นพวกคนบาป มีแต่อวิชชาในชีวิต (!!) โอ้ ชีวิตคนไทย แค่สวดมนต์ก็จะมีแต่สิ่งดีๆ แล้ว ดูจะเยี่ยมยอดไปเลยนะครับ มันน่าแปลกใจอยู่เหมือนกัน เมื่อการสวดมนต์กลายมาเป็นสิ่งที่ผูกติดกับความศักดิ์สิทธิ์ อภินิหาร ต่างๆ นาๆ ไปแล้ว บางคนบอกว่าสวดมนต์จะช่วยขจัดภัยอันตรายในชีวิต หรือบางคนยิ่งไปกว่านั้น การสวดมนต์จะทำให้บรรลุนิพพาน (ซึ่งคนพูดเองก็ยังคงไปหาหมอดู ทำบุญโลงศพ แก้กรรม ฯลฯ)

วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เล่าเรื่อง The Other กับหลากมิติมุมมองทางสังคม


เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้ดู The Others (2001) ในวิชา Special Study in Western Art ตามปกติแล้วถ้าเป็นไปได้ ผมมักจะเลี่ยงไม่ดูหนังผี ไม่ใช่ว่าเพราะกลัว แต่หลายครั้งความ “ไม่มีอะไร” ของหนังผี ทำให้ผมไม่อยากเสียเวลาดู CG ที่มีแต่เทคนิค เร้าอารมณ์ แต่ปราศจากเนื้อหา

แต่กับ The Others แล้ว คงจะแตกต่างกันไป การจำยอมเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมจำเป็นต้องดู เพราะเป็นหนังที่เปิดในวิชาเรียน ประกอบกับเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงความดีงามของหนังเรื่องนี้ใน Pantip (ที่ปกติจะมีแต่หน้าม้ามาคอยเชียร์) ซึ่งเมื่อดูจบก็พบว่ามันน่าสนใจเหมือนเสียงลือเสียงเล่าอ้างนั้นจริงๆ ครับ การพูดคุยถกเถียงหลังการชมภาพยนตร์ สร้างประเด็นและคำอธิบายที่เกินไปจากตัวบท

วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประเด็นที่น่าสนใจของ Artist’s Talk



ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า Artist’s Talk เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อใด? รูปร่างหน้าตาของมันเป็นแบบไหน? และเขาพูดคุยอะไรกัน? นี่เป็นสิ่งที่ยากเกินจินตนาการ รวมไปถึง Artist’s Talk ในต่างประเทศเช่นกัน ในขณะที่ Artist’s Talk เป็นกิจกรรมที่ควบคู่มากับการให้คุณค่ากับการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ แต่เราเปรียบเสมือนเด็กแบเบาะที่กำลังหัดพูดและนำ Artist’s Talk มาเพียงตัวพิธีการและฉาบเคลือบไว้ด้วยเปลือกของพิธีรีตอง  ส่วนเนื้อหาสาระนั้นกลับเลือนหาย สังคมยังคงรักษาโครงสร้างลำดับชั้นของสถานภาพ, ความอาวุโสและความเป็นเครือญาติเอาไว้ และยังไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะแยกการวิพากษ์วิจารณ์ออกจากความสัมพันธ์ส่วนบุคคล                                                              

นี่อาจดูเป็นเรื่องที่ล้าสมัยไปเสียแล้ว แต่กระนั้นโครงสร้างต่างๆ เหล่านี้ยังคงทิ้งร่องรอยไว้ให้เห็น Artist’s Talk ในยุคนี้จึงยังคงเป็นพิธีกรรมที่ศิลปินสถาปนาขึ้น พร้อมกับการให้ความสำคัญต่อบุคคลตามขนบระเบียบพิธีแบบไทยๆ ตั้งแต่พิธีเปิดการให้ประธานพูด หรือแม้กระทั่งการให้โอวาท ดังปรากฏในทุนสร้างสรรค์ ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 11 ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรในวันนี้ มีศิลปินเข้าร่วมเสวนาจำนวน 4 ท่าน และอีก 4 ท่านจะเข้าร่วมเสวนาในสัปดาห์ถัดไป ศิลปินทั้ง 4 ท่านเป็นศิลปินที่มีสถานภาพเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย โดยส่วนใหญ่พูดถึงที่มา แรงบันดาลใจ รวมไปถึงการอธิบายผลงานตัวเองอย่างเสร็จสรรพ ผู้เข้าฟังส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ โดยมีอาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณที่เป็นทั้งพิธีกรดำเนินรายงานและดำรงสถานะเป็นผู้อำนวยการหอศิลป์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร บรรยากาศของ Artist’s Talk จึงเป็นไปในลักษณะเพื่อการศึกษา เป็นการถ่ายทอดเทคนิค ความรู้และประสบการณ์จากอาจารย์ไปสู่ลูกศิษย์  

เมื่อพระเจ้าอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง : การพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าในยุคกลาง


                ปัญหาอภิปรัชญาเรื่องการมีอยู่ของพระเจ้า เป็นปัญหาทางปรัชญาปัญหาหนึ่งที่มีผู้ให้ความสนใจอยู่ในทุกยุคทุกสมัย ในมุมมองทางศาสนา พระเจ้าอาจมีอยู่ในฐานะของการเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เป็นต้นกำเนิดของโลกและจักรวาล เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด (Supreme Being) แต่เมื่อวิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้าขึ้น การพยายามอธิบายธรรมชาติอย่างเป็นระบบโดยนักวิทยาศาสตร์ ทำให้ความเชื่อในเรื่องของพระเจ้าซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้จากวิทยาศาสตร์ถูกมองว่าเป็นเรื่องล้าหลังงมงาย

มอง “ความรัก” ผ่านแว่นปรัชญาและศาสนา



                “ความรัก” อาจเป็นคำธรรมดาที่มีพลังกระทบกระเทือนมนุษย์มากที่สุดคำหนึ่ง หลายคนโหยหาความรัก หลายคนพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้รับความรัก หลายคนมีความสุขเพราะความรัก และหลายคนก็เจ็บปวดเพราะความรัก ความรักมีบทบาทกับชีวิตมนุษย์ในหลายรูปแบบ นอกจากในแง่ความรู้สึกของมนุษย์แล้ว ในบางศาสนาเช่นศาสนาคริสต์ ความรักยังเป็นเสมือนศูนย์กลางทางความคิด เป็นลักษณะนามธรรมบางอย่างที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “มนุษย์” กับ “พระเจ้า”
                คงไม่มีใครในโลกไม่ปรารถนาความรักและคงไม่มีใครในโลกที่มีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากความรัก  หลายครั้ง มนุษย์พยายามที่จะทำความเข้าใจความรัก หาคำนิยามความรัก หลายคนทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อที่จะเข้าใจความรัก แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถเข้าใจ “ความรัก” ได้สักทีหนึ่ง

การเมืองกับอาการ “พูดไม่ออก” ในนิทรรศการ Speechless


(นิทรรศการ อวัจนะ (Speechless) โดย นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ณ 100 ต้นสนแกลเลอรี่ วันที่ 11 ตุลาคม 2555– 13 มกราคม 2556 )
  
          หลายครั้ง การไม่พูดก็เป็นการสื่อสาร และยิ่งกับบางเรื่องที่ไม่อาจพูดถึงได้อย่างเช่นประเด็นทางการเมือง การสื่อสารโดยการไม่พูด ก็คงจะเป็นช่องทางการสื่อสารที่น่าสนใจ
            นิทรรศการ “อวัจนะ” หรือ Speechless ของนิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ก็เป็นหนึ่งในการสื่อสารโดย “ไม่พูด” แต่การ “ไม่พูด” ของนิพันธ์มิได้หมายความว่าไม่มีอะไรจะพูด หากแต่น่าจะเป็นภาวะของการ “พูดไม่ออก” หรือ “ไม่รู้จะพูดอย่างไร” เสียมากกว่า นิพันธ์สร้างงานชุดนี้โดยผูกอยู่กับพื้นที่อย่างสวนลุมพินี และเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 บริเวณสวนลุมพินี สิ่งเหล่านี้ถูกเน้นย้ำด้วยพื้นที่การจัดแสดงงานนิทรรศการอย่าง 100 ต้นสน แกลอรี่ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับสวนลุมพินีด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้ประเด็นเรื่องพื้นที่ดูน่าสนใจมากขึ้น เพราะในขณะที่ศิลปินมีประสบการณ์ส่วนตัวกับพื้นที่ พื้นที่ก็เป็นตัวเชื่อมประสบการณ์ส่วนตัวของศิลปินเข้ากับเหตุการณ์ทางการเมือง และยิ่งผลงานถูกนำมาจัดแสดงบนพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่จริง การสร้างภาพตัวแทนของพื้นที่ดังกล่าวก็ยิ่งมีพลังในการสื่อสารมากขึ้น

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

ปัญหาการนิยามผลงานในศิลปะร่วมสมัย


เมื่อแนวคิดหลังสมัยใหม่ (Post-Modern) ปฏิเสธสิ่งสัมบูรณ์และองค์รวมซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อคติสมัยใหม่ (Modern) ศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art) ในฐานะผลผลิตของวาทกรรมหลังสมัยใหม่จึงกลายเป็นเรื่องของ “การประพบจบกัน” ของบริบทต่างๆ[1] เมื่อเส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่เป็นศิลปะและไม่เป็นศิลปะละลายหายไป การที่จะบอกว่าสิ่งใดเป็นศิลปะหรือไม่เป็นศิลปะจึงยากขึ้น และเกิดความลักลั่นในการนิยาม

เมื่อไม่นานมานี้ ข้อถกเถียงบางอย่างในกรณีของรายการไทยแลนด์ก็อททาเล้นท์ สะท้อนถึงปัญหาในการนิยามผลงานได้เป็นอย่างดี เมื่อมีผู้หญิงผู้ร่วมรายการคนหนึ่ง แสดงความสามารถโดยการใช้หน้าอกวาดภาพ และกรรมการให้ผ่านโดยเหตุผลว่า “มันเป็นศิลปะ ผมรับได้ ให้ผ่านครับ” ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ความเหมาะสม (รวมถึงการขุดคุ้ยถึงเบื้องหลังและกรณีผลประโยชน์ระหว่างรายการและผู้ร่วมรายการ) ประเด็นคำถามอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ มันเป็นศิลปะหรือไม่ ? ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันถึงขนาดที่มหาวิทยาลัยศิลปะชื่อดังแห่งหนึ่งต้องจัดเสวนาและเชิญวิทยากรระดับผู้บริหารหน่วยงานราชการมาถกเถียงกันถึงความเป็นศิลปะของกรณีดังกล่าว รวมถึงเป็นข้อถกเถียงที่เผ็ดร้อนในสังคมออนไลน์ คำตอบของปัญหาดังกล่าวอาจไม่สำคัญนักเมื่อพิจารณาจากปัจจัยอื่นประกอบ แต่ในแง่มุมหนึ่งก็สามารถต่อยอดนำไปสู่ประเด็นต่อไปว่า ถ้าไม่เป็นงานศิลปะ ทำไมถึงไม่เป็น และถ้าเป็นงานศิลปะ ทำไมถึงเป็น และส่วนไหนที่เป็นงานศิลปะ รูปที่ถูกวาดโดยใช้หน้าอกเป็นงานศิลปะ (จิตรกรรม : Painting ?) ท่าทางของผู้ร่วมรายการที่กำลังวาดรูปเป็นงานศิลปะ (ศิลปะการแสดงสด : Performance Art ?) แนวคิด, สังกัป (Concept) ของผู้กำกับรายการหรือผู้ว่าจ้างหญิงสาวคนนั้นเป็นศิลปะ  (สังกัปศิลป์ : Conceptual Art ?)  หรือแม้กระทั่งบางคนที่คิดไปถึงว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาในการสร้างงานศิลปะโดยตรง แต่เป็นการวิจารณ์ศิลปะและสถานะของศิลปะในสังคมไทย (อย่างไรก็ตาม ในมุมหนึ่ง การวิจารณ์ก็เป็นการทำงานศิลปะประเภทหนึ่งเช่นเดียวกัน[2]) สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความไม่ชัดเจนของการนิยามความเป็นศิลปะได้เป็นอย่างดี

“การวิจารณ์ทั้งหมดเป็นการวิจารณ์ผลงาน และเป็นการวิจารณ์ตัวเอง”


เมื่อการวิจารณ์เรียกร้องกระบวนการบางอย่างที่เป็นการสร้าง “ระบบ” การวิจารณ์ขึ้นมาใหม่ และกระบวนการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการทำให้ความรู้สึกบางอย่างที่เป็น “อัตวิสัย” ของผู้วิจารณ์ถูกนำมาแปรสภาพเป็น “ปรวิสัย” ผ่านมโนทัศน์บางอย่างทางศิลปะ สังคม ภาษาและการสื่อสาร ส่งต่อไปถึงผู้อ่านบทวิจารณ์ เมื่อการวิจารณ์ไม่ได้เรียกร้องให้วางภาวะ “อัตวิสัย” การวิจารณ์จึงเป็นสิ่งที่แยกออกจากผู้วิจารณ์ไม่ได้

บนพื้นที่ของการเสพงานศิลปะ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการรับรู้ “สาร” บางอย่างจากงานศิลปะ เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยอันรวมถึงความแตกต่างของบุคคลด้วย หลายครั้งต่างบุคคลเสพงานศิลปะชิ้นเดียวกัน แต่รับรู้ได้ต่างกัน ทั้งในแง่สุนทรียภาพหรือเนื้อหา และเมื่อบริบทของงานบางชิ้นเปิดพื้นที่ให้ตีความ การตีความในแต่ละบุคคลก็แตกต่างกันไป เมื่อเป็นเช่นนั้น เราอาจพูดได้ว่า สิ่งที่บุคคลได้รับจากงานศิลปะคงมิใช่สิ่งที่เป็นสากล แต่เป็นภาวะนามธรรมบางอย่างที่เป็นอัตวิสัย การวิจารณ์ก็เช่นเดียวกัน เมื่อการวิจารณ์เกี่ยวข้องกับ “สาร” ที่ผู้วิจารณ์รับรู้ผ่านงานศิลปะ และ “สาร” นั้นๆ มิได้เป็นสิ่งสากล แต่ยังคงผูกติดอยู่กับความเป็น “อัตวิสัย” ดังนั้น การวิจารณ์งานศิลปะก็หนีไม่พ้นการวิจารณ์ “สาร” ที่เป็นอัตวิสัยนั่นเอง ถ้าพูดถึงผู้วิจารณ์ในฐานะองค์ประธาน องค์ประธานก็มิใช่เป็นผู้วิจารณ์ผลงาน แต่ผลงานต่างหากที่กำลังปฏิบัติการทำให้องค์ประธานวิจารณ์ตัวเอง ดังนั้น “ตัวตน” และ “ผลงาน” จึงเป็นสิ่งที่ทับซ้อนกันอยู่บนพื้นที่ของการวิจารณ์และทำให้เราต้องกลับมาพิจารณาว่า ในขณะที่เราคิดว่าเรากำลังเป็นผู้ “กระทำ” ต่อผลงาน แต่อันที่จริงแล้วเรากำลังถูกผลงาน “กระทำ” ต่อเราอยู่หรือเปล่า ?

การวิจารณ์เรียกร้องอะไร


มีคนเคยกล่าวว่า สังคมใดที่ตื่นตัวในเรื่องของปัญญา สังคมนั้นจะต้องมี “วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์” นั่นก็หมายความว่าสมาชิกของสังคมนั้นพร้อมที่จะสนับสนุนให้มีการแสดงความคิดในเรื่องต่างๆ โดยเปิดเผยอย่างมีเหตุผล

การวิจารณ์อาจไม่สามารถบอกได้ว่าขอบเขตของมันเป็นอย่างไร ในความหมายกว้างๆ การวิจารณ์อาจเป็นการพรรณนาประสบการณ์ทางอารมณ์ความรู้สึกส่วนตนที่มีต่อสิ่งๆ หนึ่ง หรือเป็นการให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอะไรบางอย่าง หรือแม้กระทั่งเป็นการแสดงความคิดเห็นเชิงปรัชญาเกี่ยวกับอะไรบางอย่างโดยทั่วไป ก็อาจถูกเรียกว่าการวิจารณ์ได้ บนพื้นที่ของการเสพงานศิลปะ นักวิจารณ์เป็นส่วนเติมเต็มพื้นที่ว่างบางอย่างระหว่างผู้ชมกับงานศิลปะ นักวิจารณ์คือตัวแทนของผู้ชมที่ไม่มีใครแต่งตั้งมา นักวิจารณ์พูด สังเกต ตั้งคำถามแทนผู้ชม งานวิจารณ์ก็คือปฏิกิริยาของผู้รักและสนใจศิลปะที่มีต่องานศิลปะที่ศิลปินนำออกเผยแพร่นั่นเอง

Mulholland Drive : เส้นแบ่งของความจริงและความฝัน


Mulholland Drive (2001) : David Lynch

ความฝันกับความจริง อาจมีเพียงเส้นเล็กๆ บางๆ คั่นอยู่ แต่หลายครั้ง เราอาจไม่รู้ว่าเราอยู่ในความจริงหรือความฝัน นักปรัชญา เรอเนส์ เดส์การ์ต เคยกล่าวว่า ในขณะที่เราฝัน เรามีความรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในฝันนั้นเป็นจริงเท่าๆ กับสภาพความจริง ถึงแม้ความฝันอาจไม่ใช่ความจริง แต่ก็มิได้หมายความว่าความฝันไม่ได้เกิดขึ้นจริง

Mulholland Drive ตั้งคำถามกับ “ความจริง” และ “ความฝัน” อย่างที่ เดส์การ์ต กล่าวว่า ในขณะที่เราฝัน เรามีความรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในฝันนั้นเป็นจริงเท่าๆ กับสภาพความจริง Mulholland Drive ไม่ได้นำเสนอความจริงเชิงภววิสัยไว้เป็นหลักให้คนดูยึดเกาะ หากแต่เล่าความจริงเชิงอัตวิสัยผ่านสายตาของตัวเอกซึ่งมีปัญหาทางจิต จนพร้อมจะตกสู่ภวังค์แห่งภาพหลอนและความฝันได้ทุกขณะ เพื่อหลีกเลี่ยงการรับมือกับวิกฤติการณ์อันเลวร้ายในชีวิตจริง Mulholland Drive ทำให้ผู้ชมต้องกลับมาตั้งคำถามกับเหตุการณ์ในเรื่องว่า ตอนไหนเป็นความฝัน หรือตอนไหนเป็นความจริง หลายครั้ง ความจริงและความฝันก็เป็นแต่ละด้านของกันและกัน ในความฝันก็อาจมีเศษเสี้ยวของความจริง ในขณะที่ความจริงก็อาจมีเศษเสี้ยวของความฝัน ความจริงและจินตนาการจึงมักผสมปนเปกันจนแยกไม่ออก  คนดูจึงไม่อาจยึดเกาะข้อมูลหรือเหตุการณ์ใดๆได้เลย เนื่องจากมันมีโอกาสที่จะเป็นได้เพียงแค่ภาพลวงตาทุกๆ เมื่อ

วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

22 ปี มรณกาล จ่าง แซ่ตั้ง : “เพราะฉันต้องการที่ว่างของฉัน”



                สำหรับหลายๆ คนแล้ว 26 สิงหาคม 2555 อาจเป็นแค่วันธรรมดา แต่สำหรับคนในแวดวงศิลปะ วันที่ 26 สิงหาคม 2555 เป็นวันครบรอบ 22 ปี แห่งการจากไปของ ศิลปินคนสำคัญคนหนึ่งในวงการศิลปะไทย “จ่าง แซ่ตั้ง”
                นอกจากวาระ 22 ปีแห่ง มรณกาลของ จ่าง แซ่ตั้ง แล้ว วันที่ 26 สิงหาคม 2555 หนังสารคดีสั้น “เพราะฉันต้องการที่ว่างของฉัน” ก็ชนะเลิศรางวัลดุ๊ก (สารคดี) จากงานเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 16 สารคดีสั้น “เพราะฉันต้องการที่ว่างของฉัน” เป็นผลงานของ ทิพย์ แซ่ตั้ง ทายาทของจ่าง ที่บอกเล่าเรื่องราวของ จ่าง แซ่ตั้ง กับพื้นที่ว่างของเขา ที่บรรจุผลงานสร้างสรรค์ของเขาทั้งชีวิต