แต่กับ The
Others แล้ว คงจะแตกต่างกันไป การจำยอมเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมจำเป็นต้องดู
เพราะเป็นหนังที่เปิดในวิชาเรียน ประกอบกับเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงความดีงามของหนังเรื่องนี้ใน
Pantip (ที่ปกติจะมีแต่หน้าม้ามาคอยเชียร์)
ซึ่งเมื่อดูจบก็พบว่ามันน่าสนใจเหมือนเสียงลือเสียงเล่าอ้างนั้นจริงๆ ครับ
การพูดคุยถกเถียงหลังการชมภาพยนตร์ สร้างประเด็นและคำอธิบายที่เกินไปจากตัวบท
ครอบครัวของเกรซอาศัยกันอยู่ 3 คน สามีของเกรซไปออกรบในสงครามโลก ลูก 2
คนของเธอเป็นโรคแพ้แสง เธอต้องปิดหน้าต่างและม่านทุกๆ ส่วน
เพื่อไม่ให้แสงเข้ามาในบ้าน อยู่มาวันหนึ่ง คนใช้ทั้งหมดก็ทิ้งบ้านไป และมีคนใช้ 3 คนมาสมัคร
โดยอ้างว่าเห็นในหนังสือพิมพ์ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเกรซยังไม่ได้ประกาศรับแต่อย่างใด
การหักมุมของหนังเป็นอะไรที่ผมคาดไม่ถึงพอสมควร
ถึงแม้ว่าตั้งแต่ฉากเริ่มต้นจะมีอะไรแปลกประหลาดโผล่ออกมาสม่ำเสมอ ตั้งแต่เปียโนที่ตั้งอยู่ในบ้าน
หากแต่เจ้าของบ้านไม่ชอบให้เล่น หรือแม้กระทั่งป้าคนใช้ที่แสดงเก่งมาก
แววตาท่าทางบ่งบอกถึงความลับที่เก็บงำซ่อนไว้ รวมถึงการที่อยู่ๆ
คนใช้ทิ้งบ้านไปเฉยๆ ลูกสาวของเกรซพูดเน้นย้ำถึงเรื่องผีบ่อยๆ
ว่าเป็นอะไรที่เดินไปเดินมาได้ และมีผ้าขาวๆ คลุม คำอธิบายนี้แหละครับ ทำให้ผมถึงบางอ้อ
เมื่อเกรซแต่งชุดให้กับลูกสาวเพื่อจะเข้าพิธีรับศีล
และเกรซก็เอาผ้าขาวลงมาคลุมหัวของลูก ตรงนี้ทำให้สมมติฐานผมกระจ่างมากว่า
สุดท้ายแล้ว ผีก็หลอกผีด้วยกันเอง และพาลนึกว่าคนเป็นผีไปซะอย่างนั้น หนังเรื่องนึจึงน่าจะเริ่มต้นขึ้นจากความตาย
นั่นคือทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องชีวิตหลังความตายทั้งสิ้น
การปิดทุกส่วนในบ้านจากโลกภายนอก สะท้อนนัยถึงการปกปิดอะไรบางอย่าง
และยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อความตายที่เกิดขึ้นมิได้เป็นเรื่องธรรมชาติ
หากแต่เกิดจากการกระทำที่จำเป็นต้องปิดบัง
(เข้าสู่โหมดเครียด)
จริงๆ
หนังเรื่องนี้มีนัยทางศาสนาแฝงอยู่พอสมควร โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับศาสนาคริสต์
คัมภีร์ไบเบิลปรากฏอยู่ตลอดเรื่องจากการที่เกรซมักจะสอนให้ลูกจำข้อความในคัมภีร์เสมอ
หากแต่เรื่องนี้ก็มิได้เป็นไปในเชิงสนับสนุนศาสนาคริสต์ หลากหลายช่วงเป็นไปเพื่อจะตั้งคำถามกับศาสนาคริสต์เสียมากกว่า
เมื่อลูกชายและลูกสาวของเกรซตอบคำถามแม่บ้านว่าพวกเขาไม่ได้เชื่อในคัมภีร์เสียหมด
รวมถึง “ผี”
ที่ปรากฏในเรื่องก็มิใช่ผีที่คลุมผ้าขาวมีโซ่ตรวนตามคำสอนในศาสนาคริสต์
และที่เป็นจุดพีคที่สุดคือการที่แม่บ้านบอกว่า หลายครั้งความจริงก็ไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง
มโนทัศน์ความจริงในหนังเป็นเรื่องที่น่าสนใจครับ
เมื่อเกรซไม่สามารถออกไปจากบ้านได้เลย และเขาก็ไม่รู้ว่าตัวเองตายแล้ว
เมื่อเดินออกจากตัวบ้านเขาก็จะพบกับหมอกลงหนา
นั่นหมายถึงว่าเขากำลังถูกจำกัดกรอบไว้ในพื้นที่ของตัวบ้าน เราอาจตีความได้ว่ามันคือโลกที่พระเจ้าสร้างขึ้น
มนุษย์ก็ถูกจำกัดอยู่ในโลกของพระเจ้า และความจริงก็คือโลกหรือบ้านนั่นเอง
ในทางศาสนาคริสต์ ไบเบิลถือเป็นคัมภีร์ที่จะเข้าสู่ความจริงสูงสุดนั่นก็คือพระเจ้า
ซึ่งโดยนัยของคำพูดแม่บ้าน อาจหมายถึงว่า พระเจ้าก็คงไม่ใช่คำตอบทุกอย่าง
อย่างไรก็ตามการตั้งคำถามก็ไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธ
การที่เด็กไม่มีพ่อหรือการที่ทั้งเกรซและลูกโหยหาพ่อ เมื่อผนวกเข้ากับนัยทางศาสนาที่ปรากฏอยู่ในคำพูดและคัมภีร์ไบเบิลแล้ว
คำว่าพ่อจึงสอดคล้องกับสถานะของพระบิดา การโหยหาพ่อจึงเปรียบเสมือนการยอมรับความอ่อนแอของมนุษย์และโหยหาพระเจ้าหรือผู้ที่แข็งแกร่งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว
หากแต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในภาพยนตร์มิได้เป็นการบอกให้โหยหาพระเจ้าเพียงอย่างเดียว
แต่ยังแฝงการประชดประชันเสียดสี เมื่อพ่อหรือสามีของเกรซกลับมา แต่เป็นเพียงผู้ชายที่ทำอะไรไม่ได้
ไร้ชีวิตชีวา ตกอยู่ภายใต้อำนาจของเกรซ นั่นอาจเป็นไปได้ว่า
มนุษย์ยังคงต้องการที่พึ่ง ต้องการพระเจ้า หากแต่จริงๆ แล้ว
พระเจ้านั่นแหละที่กำลังอยู่ในสภาพที่ใช้การไม่ได้
และเมื่อพิจารณาถึงการที่เกรซปฏิเสธเสียง
โดยเฉพาะเสียงเปียโนที่จะไปรบกวนโสตประสาทของเธอที่เป็นไมเกรน น่าอัศจรรย์ใจที่ว่า
นัยของเสียงกลับไปล้อรับกับเหตุการณ์ในคัมภีร์ไบเบิลเสียพอดี
เมื่อการสื่อสารกับพระเจ้าในคัมภีร์ไบเบิล เป็นการสื่อสารผ่านทางพระสุรเสียงของพระเจ้า
การปฏิเสธเสียงของเกรซจึงอาจมีนัยถึงการพยายามปฏิเสธพระสุรเสียงของพระเจ้านั่นเอง
ความย้อนแย้งหลายประการปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ราวกับเป็นการตั้งคำถาม
นอกจากประเด็นทางศาสนาคริสต์แล้ว ในแง่ตัวตน ตอนต้นเรื่องที่มีเสียงลึกลับหรือเหตุการณ์ประหลาด
เกรซก็พยายามสอนลูกไม่ให้เชื่อเรื่องผี หากแต่ว่า เมื่อเกรซและลูกไม่เชื่อเรื่องผี
นั่นหมายถึงว่าทุกคนกำลังไม่เชื่อในการมีอยู่ของตัวเองด้วยเช่นกัน
นอกจากการพิจารณาในกรอบคิดทางศาสนาแล้ว
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือการที่ภาพยนตร์เรื่องนี้มีตัวละครหญิงเป็นผู้นำเรื่อง
อำนาจในบ้านตกอยู่ในมือของเกรซที่เป็นผู้หญิง กลุ่มคนใช้ในบ้านก็เช่นกัน
หญิงแม่บ้านก็มีบทบาทที่โดดเด่นเสียกว่าคนสวนที่เป็นผู้ชาย
รวมถึงการที่สามีของเกรซที่กลับมาในสภาพที่อ่อนแอทำอะไรไม่ได้
จึงทำให้อดคิดไม่ได้ถึงนัยที่เกี่ยวกับเฟมินิสต์หรือการพยายามถอดรื้อวาทกรรมชายเป็นใหญ่ในสมัยนั้นนั่นเอง
สิ่งเหล่านี้ล่ะครับ
ที่ทำให้ The Others ไม่ได้เป็นแค่หนังผีที่ปราศจากเนื้อหา หากแต่ The Others เป็นหนังผีที่หลบซ่อนมิติต่างๆ
นัยและมุมมองทางสังคมไว้มากมายจนล้น มุมมองทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากผมคนเดียว
หากแต่เป็นประเด็นที่พี่ๆ นักศึกษาและอาจารย์ได้เปิดประเด็น ตั้งคำถามเอาไว้
The
Others จึงมิได้เป็นเพียงแค่ภาพยนตร์ หากแต่ The Others นั้นเป็นถึงภาพยนตร์ต่างหาก
หนังเรื่องนี้น่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่หน้าม้าแห่ง Pantip ทำงานไม่พลาด
นับว่าเป็นหนังในความทรงจำของผมอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องหาโอกาสกลับมาดูอีกครั้งแน่นอนครับ
วิจารณ์ได้เฉียบคมมากค่ะ
ตอบลบพึ่งดูจบ
ตอบลบเรื่องนี้แฝงอะไรไว้เยอะอย่างที่คุณวิจารณ์เลย