วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การเมืองกับอาการ “พูดไม่ออก” ในนิทรรศการ Speechless


(นิทรรศการ อวัจนะ (Speechless) โดย นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ณ 100 ต้นสนแกลเลอรี่ วันที่ 11 ตุลาคม 2555– 13 มกราคม 2556 )
  
          หลายครั้ง การไม่พูดก็เป็นการสื่อสาร และยิ่งกับบางเรื่องที่ไม่อาจพูดถึงได้อย่างเช่นประเด็นทางการเมือง การสื่อสารโดยการไม่พูด ก็คงจะเป็นช่องทางการสื่อสารที่น่าสนใจ
            นิทรรศการ “อวัจนะ” หรือ Speechless ของนิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ก็เป็นหนึ่งในการสื่อสารโดย “ไม่พูด” แต่การ “ไม่พูด” ของนิพันธ์มิได้หมายความว่าไม่มีอะไรจะพูด หากแต่น่าจะเป็นภาวะของการ “พูดไม่ออก” หรือ “ไม่รู้จะพูดอย่างไร” เสียมากกว่า นิพันธ์สร้างงานชุดนี้โดยผูกอยู่กับพื้นที่อย่างสวนลุมพินี และเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 บริเวณสวนลุมพินี สิ่งเหล่านี้ถูกเน้นย้ำด้วยพื้นที่การจัดแสดงงานนิทรรศการอย่าง 100 ต้นสน แกลอรี่ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับสวนลุมพินีด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้ประเด็นเรื่องพื้นที่ดูน่าสนใจมากขึ้น เพราะในขณะที่ศิลปินมีประสบการณ์ส่วนตัวกับพื้นที่ พื้นที่ก็เป็นตัวเชื่อมประสบการณ์ส่วนตัวของศิลปินเข้ากับเหตุการณ์ทางการเมือง และยิ่งผลงานถูกนำมาจัดแสดงบนพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่จริง การสร้างภาพตัวแทนของพื้นที่ดังกล่าวก็ยิ่งมีพลังในการสื่อสารมากขึ้น
            สวนลุมพินี สวนสาธารณะใจกลางกรุงเทพมหานคร เมื่อเกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม นปช. และการกระชับพื้นที่โดยทหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 พื้นที่สาธารณะอย่างสวนลุมพินีจึงกลายเป็นพื้นที่ทางการเมือง นิพันธ์เล่นกับสภาวะภายนอกและภายในของพื้นที่ โดยการจำลองพื้นที่ภายนอกให้เข้ามาอยู่ภายในแกลอรี่ผ่านสัญญะที่สื่อสารกันระหว่างผลงานชิ้นต่างๆ ศิลปินทำให้ห้องจัดแสดงงานของ 100 ต้นสนแกลอรี่กลายเป็นภาพตัวแทน (representation) ของสวนลุมพินี โดยจอมอนิเตอร์สองจอที่ติดตั้งไว้ตรงข้ามกัน จำลองพื้นที่สวนลุมพินีในสัดส่วนที่เท่ากับพื้นที่ของห้องจัดแสดงงาน และมีคนวิ่งวนไปมารอบแล้วรอบเล่า สิ่งที่น่าสนใจคือเครื่องแต่งกายของคนดังกล่าวเป็นชุดสีดำ สอดคล้องกับประเด็นพิพาททางการเมืองที่เกี่ยวกับ “ชายชุดดำ” ในเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 มีคนพยายามจะตีความนัยของชายชุดดำในนิทรรศการนี้แตกต่างกันออกไป แต่ถ้าชายชุดดำนี้มีนัยเกี่ยวข้องกับการเป็นตัวแทนของฝ่ายการเมืองใดๆ แล้ว การวิ่งวนไปวนมาก็อาจจะมีนัยถึงการ “ไม่ไปไหน” และวนอยู่ที่เดิม ความหมายดังกล่าวถูกเน้นย้ำให้ชัดเจนขึ้น โดยโต๊ะนิทรรศการอีก 6 โต๊ะ ที่จัดแสดงวัตถุแปลกประหลาด บางโต๊ะเป็นรูปดวงตา บางโต๊ะเป็นวีดีโอแสดงเหตุการณ์บางอย่าง แต่ทุกๆ โต๊ะ จะมีหยดน้ำจำลองที่มีภาพถ่ายบางอย่างติดอยู่ และเมื่อบางภาพอ้างอิงไปถึงเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ในขณะที่บางภาพอ้างอิงไปถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในอดีต นัยของเวลาที่แตกต่างและภาพที่ปรากฏเป็นภาพที่เกี่ยวข้องกับการเมือง สิ่งเหล่านี้จึงเน้นย้ำความหมายของการ “ไม่ไปไหน” นอกจากนี้ยังมีภาพและวีดีโอที่เกี่ยวข้องกับสวนลุมพินีอยู่บนโต๊ะแต่ละโต๊ะสลับกันไป
             แม้สวนลุมพินีจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรหรือเหตุการณ์อื่นๆ และยังเป็นพื้นที่สวนสาธารณะที่ไว้ทำกิจกรรมต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวความทรงจำของพื้นที่ที่ถูกร้อยเรียงอย่างไม่ประติดประต่อ รอคอยผู้ชมมาเชื่อมต่อให้ความหมายมันกับบริบทรอบข้างโดยเชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์ของผู้ชม ภาพเคลื่อนไหวบนจอหนึ่งเป็นฝูงมดที่เดินวนไปวนมา ในขณะที่อีกภาพหนึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหวนักเต้นลีลาศในสวนลุมพินีที่กำลังฝึกซ้อม ทั้งสองภาพถูกโปรแกรมให้เล่นวนไปวนมา ซึ่งก็ยิ่งเป็นการเน้นย้ำนัยของความซ้ำซากจำเจและการ “ไม่ไปไหน” ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
             การเข้าครอบครองพื้นที่สวนลุมพินีจากเหตุการณ์ทางการเมือง ก็คงมีส่วนที่คล้ายกับการถูกครอบครองพื้นที่ในห้องจัดแสดงโดยการจำลองพื้นที่ภายนอก อาจต่างกันที่ในกรณีแรกทำให้พื้นที่สาธารณะกลายเป็นพื้นที่ทางการเมือง แต่ในกรณีหลังเป็นการเชื่อมต่อพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่ห้องจัดแสดงงาน เหตุการณ์ และประสบการณ์ส่วนตัวของศิลปิน เป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าทำไมศิลปินถึงเลือกนำเสนอพื้นที่สวนลุมพินี แทนที่จะเป็นแยกราชประสงค์หรือราชดำเนินที่มีความโดดเด่นและสัมพันธ์กับเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลานั้นมากกว่า ประการหนึ่งเลยน่าจะเป็นเพราะประสบการณ์ส่วนตัวของศิลปิน คงจะเป็นไปไม่ได้ที่ศิลปินจะเลือกพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอย่างลวกๆ หยาบๆ และเป็นพื้นที่ที่ตนเองไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน อย่างน้อยที่สุดพื้นที่ที่ศิลปินเลือกก็มีเศษเสี้ยวของประสบการณ์หรือความทรงจำระหว่างศิลปินกับพื้นที่เกิดขึ้น ประการถัดมาความเป็นสวน “สาธารณะ” ของสวนลุมพินี ในขณะที่สวนลุมพินีก็เป็นพื้นที่จางๆ ที่อยู่ระหว่างสวนสาธารณะกับการเป็นพื้นที่ทางการเมือง กลุ่มการเมืองทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเคยใช้สถานที่นี้ในการชุมนุม ทั้งนี้ ถ้าเทียบกับแยกราชประสงค์ ราชดำเนิน สนามหลวง หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สวนลุมพินีก็ยังมิใช่พื้นที่ที่มีความเข้มข้นทางการเมืองถึงขนาดนั้น ความไม่ชัดเจนของพื้นที่สวนลุมพินี สอดคล้องกับความไม่ชัดเจนของชายชุดดำ ความไม่ชัดเจน ไม่ประติดประต่อของเศษเสี้ยวความทรงจำบางประการ สิ่งเหล่านี้ยากที่จะเรียบเรียงเป็นคำพูดได้ และสุดท้ายความไม่ชัดเจนดังกล่าว ก็อาจเลือนหายไป โดยไม่ปรากฏความชัดเจน คลิปวีดีโอที่มุมห้องแสดงถึงสถานที่ปฏิบัติการที่ปราศจากชายชุดดำผู้ปฏิบัติการบ่งบอกถึงว่าสุดท้ายแล้ว การพยายามหาผู้ปฏิบัติการมิใช่เรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือการสูญเสีย และผู้มีอำนาจทางการเมืองก็ยังคงอยู่ในวงจรแบบเดิมๆ และการ “ปรองดอง” บนความสูญเสียก็เกิดขึ้นโดยที่ความจริง ไม่จำเป็นต้องปรากฏ ไม่จำเป็นต้องพูด และหลายครั้งผู้เกี่ยวข้องก็พูดไม่ออก ไม่รู้จะพูดยังไง อวัจนะ (Speechless)
            งาน footage ส่วนตัวของศิลปินที่ถูกติดตั้งอยู่ในห้องสมุด เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่ต่างจังหวัด ซึ่งสุดท้ายแล้วการแตกออกจากวงจรซ้ำซากทางการเมือง ก็อาจหมายถึงการกลับสู่ความเป็นตัวของตัวเองนั่นเอง
                นิทรรศการ อวัจนะ จึงเป็นร่องรอยของความทรงจำ ประสบการณ์ พื้นที่ และประวัติศาสตร์ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองของศิลปิน แน่นอนว่า เหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้น ในฐานะของผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ร่วมอุดมการณ์ในกลุ่มการเมืองใดๆ เราอาจพูดไม่ออกว่ามันเป็นอย่างไร เราคงไม่รู้ว่าความจริงที่อยู่เบื้องหลังมันเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสูญเสียนั้นเกิดขึ้นจริงโดยไม่จำเป็นต้องพูดอะไร.



2 ความคิดเห็น:

  1. เพิ่งเห็นข้อเขียนครับ ในฐานะของคนที่ทำงาน..ต้องขอบคุณในความคิดเห็นครับ

    ตอบลบ