วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

มอง “ความรัก” ผ่านแว่นปรัชญาและศาสนา



                “ความรัก” อาจเป็นคำธรรมดาที่มีพลังกระทบกระเทือนมนุษย์มากที่สุดคำหนึ่ง หลายคนโหยหาความรัก หลายคนพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้รับความรัก หลายคนมีความสุขเพราะความรัก และหลายคนก็เจ็บปวดเพราะความรัก ความรักมีบทบาทกับชีวิตมนุษย์ในหลายรูปแบบ นอกจากในแง่ความรู้สึกของมนุษย์แล้ว ในบางศาสนาเช่นศาสนาคริสต์ ความรักยังเป็นเสมือนศูนย์กลางทางความคิด เป็นลักษณะนามธรรมบางอย่างที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “มนุษย์” กับ “พระเจ้า”
                คงไม่มีใครในโลกไม่ปรารถนาความรักและคงไม่มีใครในโลกที่มีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากความรัก  หลายครั้ง มนุษย์พยายามที่จะทำความเข้าใจความรัก หาคำนิยามความรัก หลายคนทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อที่จะเข้าใจความรัก แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถเข้าใจ “ความรัก” ได้สักทีหนึ่ง


นิยาม “รัก” : การพยายามหาค่า X ที่(อาจจะ)ไม่มีจริง
                เมื่อเราอยากจะเข้าใจถึงอะไรสักอย่าง สิ่งที่แรกที่เรามักจะทำคงจะเป็นการค้นหาความหมายหรือกำหนดนิยามเสียก่อน ความรักก็เช่นกัน มีคนให้ความหมายของความรักไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น คำว่า รัก จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่อธิบายถึงความรักไว้ว่า มีใจ ผูกพันด้วยความห่วงใย มีใจผูกพันด้วยความเสน่หาหรือชอบ คำอธิบายดังกล่าวเป็นลักษณะของความรักจริงๆ หรือ ?
                การนิยามดังกล่าวอาจไม่ให้ภาพของความรักที่ชัดเจนพอ เมื่อเทียบกับสิ่งอื่นๆ เช่น “ทองคำ” การให้คำจำกัดความของทองคำในทางวิทยาศาสตร์ซึ่งมีการระบุโครงสร้างอะตอมของทองคำอย่างแน่ชัด ทำให้รู้ว่าทองคำแตกต่างกับธาตุชนิดอื่นอย่างไร และคุณสมบัติดังกล่าวก็เป็นตัวร่วมหรือค่า X ที่มีอยู่ในทองคำทุกชิ้นและบ่งบอกว่าสิ่งเหล่านั้นคือทองคำ[1] แต่ทำไมเราถึงไม่สามารถหาคำจำกัดความที่สมบูรณ์ของความรัก มันอาจจะละเอียดอ่อนเกินไปหรือมนุษย์โง่เขลาเกินไปใช่หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามมีคำอธิบายที่จะอธิบายว่าทำไมเราถึงไม่สามารถนิยามความรักได้ ลุดวิก วิตเกนสไตน์ (Ludwig Wittgenstien : 1889-1951) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในหนังสือ Philosophical Investigations ว่า คนเรามักวนเวียนอยู่กับการใช้ถ้อยคำธรรมดาสามัญจำนวนหนึ่ง วิทเกนสไตน์ยกตัวอย่างคำว่า “เกม” เขาตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆ แล้วไม่มีใครบอกได้ว่าคำง่ายๆ คำนี้หมายถึงอะไรกันแน่ แม้ “เกม” จะทำให้ทุกคนคิดถึงการแข่งขันรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่มีผลแพ้ชนะ แต่ก็ยังมีคนเถียงได้ว่า “เซกส์เกมส์” หรือ “การเล่นไพ่คนเดียว ก็ไม่เห็นจะมีผลแพ้ชนะ หรือการอธิบายเกมว่าแต่ละเกมต้องมีกฎกติกามารยาท แต่ก็อาจมีข้อโต้แย้งอีกว่าการละเล่นของเด็กซึ่งอาจถือว่าเป็นเกมก็ไม่มีกฏกติกาใดๆ เลย ดังนั้นเราจึงยังไม่มีคำจำกัดความของคำว่า “เกม” ที่เมาะสม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “เกม” เป็นสิ่งลี้ลับซึ่งเราจะเข้าใจไม่ได้ เพราะที่จริงแล้ว เราพอจะเข้าใจว่า “เกม” หมายถึงอะไร แต่ให้คำจำกัดความที่แน่ชัดไม่ได้ เพราะเราชอบคิดว่าจะต้องมี “ตัวร่วม” ที่จะทำให้เราสามารถใช้คำเดียวกันมาเรียกสิ่งต่างๆ การตั้งนิยามหรือคำจำกัดความก็คือการหยิบยกตัวร่วมขึ้นมาเป็นหลักนั่นเอง เวลาที่เราไม่สามารถให้คำจำกัดความที่ชัดเจนและครอบคลุมได้ เราก็มักคิดว่าเป็นเพราะยังหาตัวร่วมไม่เจอ ซึ่งวิทเกนสไตน์แสดงความไม่มั่นใจต่อสมมติฐานดังกล่าว โดยชี้ว่าในความเป็นจริงแล้ว อาจไม่มีตัวร่วม X ที่เชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างเข้าด้วยกัน ดังนั้น การมุ่งเสาะหานิยาม “ความรัก” ในฐานะคำธรรมดาคำหนึ่ง จึงเป็นความคิดที่ผิด[2]
                ถ้าเรานำทัศนะของวิทเกนสไตน์มาพิจารณาถึงความรัก เมื่อเราพิจารณาความรักแบบต่างๆ เช่น รักที่จะเล่นคอมพิวเตอร์ รักอิสรเสรี รักลูก รักพิศวาส รักใคร่ หรือความรักของพระเจ้าที่มีต่อโลก เราจะพบว่าคำว่า “รัก” ที่ถูกนำไปใช้ต่างกัน ก็มีความหมายที่แตกต่างกันไปด้วย การรักที่จะเล่นคอมพิวเตอร์ก็ไม่เหมือนกับความรักของแม่อย่างแน่นอน ขณะเดียวกันการรักที่จะเล่นคอมพิวเตอร์ เราอาจจะหมายความว่า “ชอบมาก” ก็ได้แต่ขณะเดียวกัน การรักชาติ รักพระมหากษัตริย์ อาจเป็นการเน้นถึงความรู้สึก “จงรักภักดี” มากกว่า “ชอบ”[3]
                จากเหตุผลดังกล่าว ถ้าอาศัยทัศนะของวิทเกนสไตน์ การที่เราพยายามจะนิยามความรัก อาจเป็นความคิดที่ผิด เพราะจริงๆ แล้ว ความรักอาจเป็นคำที่ใช้อธิบายความรู้สึกในหลายๆ รูปแบบที่ไม่เหมือนกันเลย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ เราจะไม่สามารถนิยามความรักได้ ซึ่งถ้าเราไม่สามารถนิยามความรักได้ เราจะเข้าใจความรักได้อย่างไร ?

ซิมโพเซียมและความรักในทัศนะของปรัชญากรีก
                ซิมโพเซียม (Symposium) เป็นงานเขียนของเพลโต นักปรัชญากรีก จริงๆ แล้วซิมโพเซียมหมายถึงงานเลี้ยงที่มีการสนทนาในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งโดยเฉพาะ ในเรื่องซิมโพเซียมของเพลโต หัวข้อที่สนทนากันคือความรัก (Eros)[4] เพลโตเขียนปรัชญาไว้มาก โดยงานเขียนของเพลโตส่วนใหญ่อธิบายออกมาในรูปแบบของบทสนทนาโต้ตอบ (dialogue) เพราะเพลโตเห็นด้วยกับโสเครติสซึ่งเป็นอาจารย์ของเขาว่าปรัชญาไม่ใช่เรื่องที่จะมานั่งครุ่นคิดอยู่คนเดียว แต่ต้องไปสนทนากับผู้อื่นเพื่อจะได้มาซึ่งความรู้ที่ชัดแจ้ง โดยในบทสนทนานั้นไม่ได้มีเพลโตเป็นตัวละครอยู่ด้วย แต่เพลโตถ่ายทอดความคิดของเขาใส่ปากโสเครติสซึ่งเป็นตัวละครที่เขาเขียนขึ้น[5]
                เพลโตชี้ให้เห็นว่าความรักคือความปรารถนาที่จะได้ครอบครองสิ่งที่ดีและงาม ความปรารถนานี้เกิดจากการที่โดยธรรมชาติเราเป็นคนไม่สมบูรณ์ ดังนั้นจึงดิ้นรนหาสิ่งที่เราขาด เนื่องจากธรรมชาติของเราคือความไม่เป็นอมตะ ดังนั้นเราจึงต้องการความเป็นอมตะ ความต้องการนี้แสดงออกในรูปต่างๆ กัน ขั้นต่ำสุดเป็นความรู้สึกทางเพศ และสร้างลูกขึ้นมาสืบเผ่าพันธุ์ ขั้นสูงขึ้นมาเป็นความรักในชื่อเสียงเกียรติยศและทิ้งผลงานให้คนอื่นไว้จดจำ ในสองขั้นนี้เราเป็นอมตะได้โดยการใช้ผู้อื่นเป็นเครื่องมือ ขั้นสูงสุดคือความรักในความรู้และความงามที่แท้จริง ซึ่งในขั้นสูงสุดเราเป็นอมตะได้โดยการไปรวมกับสิ่งที่เป็นอมตะอันได้แก่ความงามที่แท้จริง ตัวอย่างของความเป็นอมตะในขั้นนี้ ได้แก่ โสเครติสซึ่งกลายเป็นความงามและความดีที่คนรุ่นต่อไปยึดถือเป็นอุดมคติ สิ่งที่น่าสังเกตคือเพลโตยกย่องความรักระหว่างผู้ชายด้วยกันว่าเป็นสิ่งสูงส่ง เพราะในสมัยกรีกฐานะทางสังคมของชางกรีกต่ำกว่าผู้ชายมาก ดังนั้นผู้หญิงชาวเอเธนส์จึงไม่มีโอกาสพัฒนาปัญญาของตนให้สูงเท่ากับผู้ชายและไม่อาจเป็นเพื่อนทางสติปัญญาได้ การแต่งงานเป็นเพียงแค่การที่ชายหญิงอยู่ด้วยกันเพื่อสร้างลูก มิใช่การใช้ชีวิตร่วมกันทุกแง่ทุกมุม และเพลโตคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงเป็นเพียงความต้องการทางเพศ ซึ่งไม่ใช่ความรักที่สูงส่งในหมู่ผู้ชายของกรีกสมัยนั้นที่เป็นความสัมพันธ์ด้านปัญญา แต่เพลโตก็ไม่ได้คิดว่าการร่วมเพศระหว่างผู้ชายด้วยกันเป็นสิ่งดี ในซิมโพเซียมเพลโตแสดงความคิดนี้โดยผ่านโสเครตีส ซึ่งกล่าวว่า ความรักที่ถูกต้องของผู้ชายสูงอายุที่มีต่อเด็กหนุ่ม ไม่ใช่การหาความสำราญทางร่างกาย แต่เป็นการช่วยสร้างความงามหรือความดีให้เกิดขึ้นในจิตใจของผู้นั้น ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้เรียกว่า Platonic love[6]
                นอกจากเพลโตแล้ว อริสโตเติล (Aristotle : 384-322 B.C) ก็ได้กล่าวถึงความรักไว้ด้วยเช่นกัน อริสโตเติลเชื่อว่ามิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคล ความรักซึ่งกันและกันอาจเกิดจากการตอบแทนอันนำมาซึ่งความมีประโยชน์ ความเพลิดเพลิน และความดี การมีมิตรภาพแท้นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้โดยยาก เพราะมิตรภาพที่แท้จริงนั้นมีอยู่แต่ในระหว่างผู้ที่มีคุณลักษณะอย่างเดียวกัน เพราะมิตรภาพนั้นเกิดจากการรักใคร่ชอบพอใจอีกฝ่ายหนึ่งมากกว่าถูกอีกฝ่ายหนึ่งรัก มิตรภาพคือการแลกเปลี่ยนชนิดหนึ่งหรืออีกอย่างหนึ่งก็คือความตอบแทนระหว่างกัน มีปัญหาอยู่ว่าทำไมมิตรภาพระหว่างเรากับผู้ที่เรารักจึงแน่นแฟ้นกว่ามิตรภาพระหว่างเรากับผู้ที่รักเรา ซึ่งอาจตอบได้ง่ายว่ามนุษย์ย่อมรักถนอมสิ่งที่เขาประกอบขึ้นมากกว่าสิ่งที่เขาไม่ได้ประกอบขึ้น ซึ่งอริสโตเติลได้ให้ข้อสังเกตว่า ข้อตัดสินทางศีลธรรมประเพณีนั้นติเตียนการรักตนเองว่าเป็นความชั่ว อันที่จริงแล้วมนุษย์ทุกคนแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองเป็นสำคัญ และมีเหตุผลอยู่ว่ามนุษย์ควรรักตนเองให้มากที่สุด แต่สิ่งที่ทำให้คนดีกับคนชั่วต่างกันก็คือคนชั่วมีความรักเฉพาะอัตตาที่ไม่มีเหตุผล และถือว่าความสุขทางร่างกายเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งทำให้อัตตาชั้นต่ำมีความเอิบอิ่ม ส่วนคนดีย่อมมีความรักอัตตาส่วนที่มีเหตุผล ซึ่งเป็นตัวนำที่เหมาะสมและทำหน้าที่ตัดสินการกระทำของมนุษย์[7]

ปรัชญาตะวันตกสมัยกลาง : ศาสนาคริสต์  ศาสนาแห่งความรัก
                ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้า จักรวาล โลก และมนุษย์ ซึ่งพระเจ้าจะเป็นผู้นำพามนุษย์ให้รู้จักความรักที่แท้ ความรอดพ้นจากบาป และความสุขนิรันดร ในทัศนะของศาสนาคริสต์ ความรักคือสิ่งสูงสุด ความรักคือทุกสิ่ง ความรักคือลักษณะของพระเจ้า ดังนั้น พระเจ้าก็คือความรักและเป็นความรักที่ไม่มีที่สิ้นสุด
                ศาสนาคริสต์เชื่อว่าการที่มนุษย์มีชีวิตอยู่เป็นแผนการแห่งความรักของพระเจ้า  ทุกคนที่เป็นบุตรของพระเจ้ามีศักดิ์ศรีเสมอกันต่อหน้าพระเจ้า อย่างไรก็ตามมนุษย์เป็นสิ่งไม่สมบูรณ์ เกิดมาพร้อมบาปกำเนิด จึงต้องได้รับ “พระคุณ” คือ ความรักความเมตตาจากพระเจ้าซึ่งจะช่วยให้ทุกคนพ้นบาป
                ถึงแม้มนุษย์จะถูกสร้างขึ้นจากพระฉายาของพระเจ้า แต่มนุษย์ก็มีมิติทางศีลธรรม มีเสรีภาพ และความคิดที่จะพิจารณาว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก เพราะมนุษย์มีอิสระ มีเสรีภาพ การที่มนุษย์มีความสามารถเช่นนี้ เป็นเพราะมนุษย์ที่เป็นฉายาของพระเจ้ากำลังพัฒนาความสามารถที่จะรักทุกคนและสรรพสิ่งได้อย่างไม่มีเงื่อนไข แบบอย่างของความรักที่เป็นการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น คือ พระเยซู กล่าวคือต้องรู้จักรักตนเองและรักผู้อื่นอย่างจริงใจ เคารพและให้เกียรติกันและกันอย่างเท่าเทียมในฐานะที่เป็นลูกของพระเจ้า ความรักในอุดมคติของคริสต์ศาสนาจะข้ามพ้นเงื่อนไขต่างๆ เช่น เรื่องเพศ เชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม เป็นความรักแบบไม่มีเงื่อนไข (Agape) ซึ่งรู้ว่าควรจะรักใครและแสดงความรักอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับบุคคลและสถานการณ์
                ทัศนะเรื่องความรักของศาสนาคริสต์มีความสัมพันธ์ถึงแนวคิดเรื่องดุลยภาพระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ความรอดของมนุษย์อยู่ที่ “การเป็น” ไม่ใช่ “การมี” นักเทววิทยาชี้ให้เห็นว่า “การเป็น” ผู้ที่เต็มเปี่ยมด้วยความรักที่แท้นั้นจะต้องรักพระเจ้ารวมทั้งธรรมชาติที่พระองค์สร้าง รวมถึงรักเพื่อนมนุษย์และสังคมเหมือนดังที่รักตนเอง ส่วนเจตนารมณ์ที่ควรยึดถือปฏิบัติและถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นต่อไปคือการเป็นผู้ดูแล ห่วงใย รู้จักพอ และความรัก ในธรรมชาติและสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้น แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดในบรรดาเจตนารมณ์ทั้ง 4 คือ ความรัก เพราะความรักเป็นพื้นฐานสำหรับเจตนารมณ์อื่นๆ ทั้งหมดนั่นเอง
                คริสต์ศาสนาได้ชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งความรัก ความรักของคริสตชนเหนืออื่นใดต้องมอบให้แก่พระเจ้าสูงสุด แต่มนุษย์จะสามารถบอกว่ารักพระเจ้าได้อย่างไร หากเขาไม่รักเพื่อนมนุษย์รอบข้างเขา นอกจากรักพระเจ้าและรักผู้อื่นแล้วยังมีหน้าที่ที่จะรักธรรมชาติที่พระเจ้าสร้างอีกด้วย เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ดีงาม สังคมแห่งความรักในศาสนาคริสต์ย่อมต้องเริ่มต้นด้วยความรักและดำรงอยู่ต่อไปด้วยความรัก[8]

คุณธรรมที่สำคัญในปรัชญาจีนคือความรัก
                จริยศาสตร์ของปรัชญาจีนเน้นถึงการปฏิบัติได้ของคำสอนทางศีลธรรม ดังนั้นคุณธรรมอันเป็นหัวใจของปรัชญาจีน จึงได้แก่ความเมตตาและความรัก[9] โดยเฉพาะความรักต่อบิดามารดาเป็นความรักที่สำคัญที่สุดเพราะเป็นความรักเริ่มแรกที่สามารถขยายออกไปสู่ความรักและปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
                ลัทธิม่อจื๊อเสนอแนวคิดเรื่อง “อ้าย” หรือความรักสากล ซึ่งม่อจื๊อเห็นว่าบุคคลควรให้ความใส่ใจแก่คนอื่นๆ อย่างเท่าเทียมกันแทนที่จะปรับทัศนคติเรื่องระดับความสัมพันธ์ของบุคคล บุคคลควรมอบความรักให้แก่ทุนคนโดยปราศจากเงื่อนไขและไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ไม่ควรจำกัดอยู่ในวงของญาติสนิทมิตรสหายเท่านั้น และเมื่อพุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนจีนมีการนำแนวคิดเรื่องอ้ายไปใช้ โดยสื่อความหมายว่าเป็นความรักที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว และเป็นหลักการสำคัญที่นำไปสู่การบรรลุธรรม ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นรากฐานความคิดสำคัญของพุทธศาสนามหายานในจีน
                ส่วนลัทธิขงจื๊อซึ่งเป็นลัทธิที่มีอิทธิพลกับวิถีชีวิตชาวจีนมากที่สุด ได้เสนอแนวคิดเรื่อง “เยิ้น” หรือความรักแบบกุศลซึ่งเป็นคุณธรรมทางสังคมมุ่งเน้นไปเรื่องของการทำหน้าที่ ปฏิบัติตน และการมีทัศนคติที่ดีต่อความสัมพันธ์ในระดับต่างๆ นักปรัชญาจีนแห่งลัทธิขงจื๊อมีทัศนะว่า ความรักของมนุษย์ที่มีต่อบิดามารดา เป็นความรักที่มาพร้อมกับกำเนิดของมนุษย์ เป็นความรักที่มิได้ผ่านการเรียนรู้ใดๆ ทั้งสิ้น ในขั้นต่อมาความรักดังกล่าวต้องได้รับการวิวัฒนาการด้วยการปฏิบัติ กล่าวคือหลังจากเริ่มการฝึกด้วยการให้ความรักต่อบิดามารดาของตนเป็นอันดับแรกแล้ว ในขั้นต่อมาก็ฝึกการหยิบยื่นความรักให้คนอื่น สัมพันธภาพระหว่างตัวเองกับมวลมนุษยชาติคือความรักและความเมตตาซึ่งเป็นสิ่งที่พัฒนามาจากความรักอันเป็นคุณธรรมพื้นฐานคือความรักต่อบิดามารดานั่นเอง ชาวจีนให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตครอบครัว เพราะครอบครัวเป็นหน่วยย่อยพื้นฐานของสังคม และความรักต่อบิดามารดาทำให้บุตรมีหน้าที่ที่จะรักษาสายเลือดของบิดามารดาเอาไว้ การแต่งงานของหนุ่มสาวชาวจีนจึงไม่จำเป็นต้องถือความรักระหว่างหนุ่มสาวเป็นสำคัญ แต่ต้องเกิดจากความเหมาะสมในสายตาของบิดามารดาเอาไว้ และสิ่งสำคัญที่สุดหากการแต่งงานไม่สามารถให้กำเนิดทายาทได้ สามีสามารถหย่าขาดหรือมีภรรยาคนอื่นๆ ได้ วิถีชีวิตของชาวจีนมีความเชื่อและปฏิบัติในลักษณะดังกล่าวเพราะแฝงปรัชญาความรักต่อบิดามารดาไว้ด้วยนั่นเอง คำสอนเรื่องความรักต่อบิดามารดาทำให้ชาวจีนมีวิถีปฏิบัติที่ใกล้เคียงกับวิถีปฏิบัติทางศาสนา คือ การบูชาบรรพบุรุษ ทั้งนี้เพราะความรักต่อบิดามารดา ทำให้บุตรธิดาไม่ใช่เพียงปฏิบัติต่อบิดาขณะมีชีวิตอยู่เท่านั้น แต่ต้องปฏิบัติแม้ท่านจะหาชีวิตไม่แล้วด้วย สังคมของจีนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรัก ในการปกครองสังคมหนึ่งๆ จึงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรัก หัวหน้าหมู่บ้านจะได้รับความเคารพจากสมาชิกของหมู่บ้านเหมือนกับที่สมาชิกของครอบครัวให้ความเคารพต่อหัวหน้าครอบครัว ด้วยเหตุดังกล่าวการปกครองที่สำคัญจึงเป็นการปกครองระดับท้องถิ่นซึ่งนำไปสู่ความสงบสุขของสังคมโดยรวม
                อาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของวัฒนธรรมจีนแตกต่างจากวิถีชีวิตแบบตะวันตกเพราะ “ความรัก” ซึ่งเป็นคุณธรรมที่เป็นพื้นฐานของวิถีชีวิตหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ศาสนา สังคม การเมือง สิ่งเหล่านี้จึงทำให้เราอาจสรุปได้ว่า “คุณธรรมที่สำคัญของปรัชญาจีนคือความรัก”[10]

พุทธศาสนากับความรัก
                แนวคิดสำคัญประการหนึ่งของพุทธศาสนา คือ การยอมรับธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชน และชี้ให้เห็นข้อบกพร่องหรือโทษจากธรรมชาติของความเป็นปุถุชนนั้นและเสนอแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข เพื่อเป็นหนทางในการพัฒนาชีวิต
                หากกล่าวถึงประเด็นเรื่องความรัก พุทธศาสนาแบ่งความรักออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ประเภทแรก คือ ราคะหรือเสน่หา ซึ่งเกิดจากการพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จากบุคคลที่ตนรัก ความรักประเภทนี้นำไปสู่ความรู้สึกยึดมั่นต้องการครอบครองบุคคลที่ตนรัก ความรักประเภทนี้จึงเป็นความรักที่มาพร้อมกับความหึงหวงและเห็นแก่ตัวเอง ไม่ใช่ความรักที่ยั่งยืน ซึ่งความรักประเภทแรกแตกต่างกับความรักประเภทที่สองที่เรียกว่า “เมตตา” และรวมทั้งไมตรีด้วย ความเมตตาดังกล่าวคือการสงสารและพยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ ซึ่งนำไปสู่ความพยายามที่จะเข้าไปช่วยเหลือที่เรียกว่า “กรุณา” ความรักประเภทนี้จึงแสดงออกด้วยความเมตตาและกรุณาคู่กัน การต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข ถือได้ว่าเป็นคุณธรรมประการหนึ่ง สามารถเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อผู้อื่นได้ และเมื่ออีกฝ่ายมีความสุขย่อมนำความสุขมาให้เขาด้วยกัน ความรักประเภทนี้จึงถือว่าเป็นความรักที่แท้จริง
                แนวความคิดเกี่ยวกับความรักประเภทที่สองมักจะสะท้อนออกมาในเรื่องราวของชาดก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องพระเวสสันดร หากวิเคราะห์จากแนวคิดและการกระทำของพระโพธิสัตว์ก่อนเสวยชาติเป็นพระพุทธเจ้าและรวมถึงพระชาติสุดท้ายที่พระองค์บรรลุอนุตตรสัมโพธิญาณ พระพุทธเจ้าทรงกระทำประโยชน์แก่สัตว์โลกอย่างยิ่ง ซึ่งการแสดงออกทั้งหมดเป็นการทำอยู่บนพื้นฐานแห่งความรักและความกรุณาที่มีต่อหมู่มวลสัตว์ทั้งหลาย เพราะโพธิสัตว์คือผู้ปรารถนาปัญญาเพื่อปลดปล่อยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์และพระพุทธเจ้าคือผู้มีปัญญาและช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นทุกข์นั่นเอง
                ในพุทธศาสนานิกายมหายาน พระโพธิสัตว์เป็นตัวแทนการสละตนโดยสมบูรณ์ เพื่อช่วยสรรพสัตว์ทุกชีวิตให้ข้ามวัฏสงสาร พ้นจากห้วงแห่งทุกข์ไปก่อน แล้วพระโพธิสัตว์ก็จะเข้าสู่ภาวะนิพพานเป็นองค์สุดท้าย บารมีที่พระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญมีอยู่หลายข้อ แต่ข้อหนึ่งที่เป็นการแสดงออกในเรื่องของความรักอย่างชัดเจนคือ เมตตาบารมี ซึ่งหมายถึงการมีความปรารถนาดี มีความรักต่อสัตว์ทั้งหลายในโลกอย่างเท่าเทียม และหนึ่งในคุณสมบัติ 3 ข้อของพระโพธิสัตว์ก็คือ มหากรุณา ซึ่งหมายถึงการเป็นผู้มีจิตกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายอย่างปราศจากขอบเขต พร้อมจะสละตนเพื่อช่วยสัตว์ให้พ้นทุกข์ พระโพธิสัตว์ที่รู้จักกันดีคือ “เจ้าแม่กวนอิม” ซึ่งเป็นองค์เดียวกับ “พระอวโลกิเตศวร” ซึ่งกำเนิดจากพระสูตรมหายานของอินเดีย และได้ผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมของชาวจีนนั่นเอง
บทส่งท้าย : ทำไมเราต้องนิยามความรัก ?
                มีคนเคยกล่าวว่า คนที่อธิบายความรักได้ อาจไม่ได้เข้าใจความรักเลย ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่พูดได้ไม่รู้จบ เป็นสิ่งที่น่าคิดเช่นเดียวกัน เราจะพยายามอธิบายความรักไปทำไม?”
                แม้จะมีคำอธิบายความรัก หลากหลากทัศนะ หลากหลายมุมมอง ในความเป็นจริง ชีวิตของเรามีความรักอยู่ทั่วทุกอณูของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นรักพ่อ รักแม่ รักน้อง รักเพื่อน รักสุนัข ตลอดจนความรักที่มีให้เพศตรงข้าม
                ถ้าเรามองความรักในแง่ความรู้สึก หลายคนอาจไม่เข้าใจความรู้สึกของตัวเองเหมือนกันว่าความรู้สึกรักเป็นยังไง เราจึงนิยามความรักออกมาไม่ได้ บางทฤษฎีอาจตรงกับความรู้สึกของเราบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เราไม่อาจบอกว่าเรารู้จักความรักได้ เราอาจจะคิดว่าเรารู้จัก แต่เราอธิบายไม่ได้ ถ้าคิดในทางกลับกัน การที่อธิบายไม่ได้ มันอาจแปลว่าเรายังไม่รู้จักมันดีพอใช่หรือไม่ หรือบางทีความรู้สึกของเรามันอาจจะซับซ้อนเกินกว่าที่ภาษาจะสามารถอธิบายมันได้ ถ้าเราเปรียบความรักเป็นสิ่งลึกลับ มืด กว้าง จนเราไม่รู้จัก ทฤษฎีว่าด้วยความรักทั้งหลาย อาจเป็นเพียงเทียนเล่มเล็กๆ ที่ส่องให้เรามองเห็นบางส่วนของความรัก แต่เทียนเหล่านั้น อาจไม่ได้รวมอยู่ ณ จุดเดียวกัน อาจกระจัดกระจายกันไป ทำให้เรามองเห็นบางส่วนของความรัก บริเวณที่เทียนเล่มน้อยๆ นั้นส่องอยู่ ซึ่งสิ่งที่เราเห็น อาจไม่ใช่ทั้งหมดของความรัก
                ถ้าคำว่า รักกว้างใหญ่ บางครั้งเราอาจบอกไม่ได้ว่า อารมณ์ไหนบ้าง คืออารมณ์ของความรัก หรือบางที อารมณ์ที่คุณกำลังอ่าน หรืออารมณ์ที่ผมกำลังเขียน ก็อาจจะเป็นอารมณ์ที่เกิดจากความรักด้วยก็ได้ คงไม่แปลกอะไร ที่มีคนเคยพูดว่า รักคือทุกอย่าง ทุกอย่างนี้ก็อาจไม่ได้แปลว่า ทุกอย่างตลอดเวลา แต่อาจเป็น สำหรับคนคนนี้ เวลานี้ สถานการณ์นี้ ความรัก จึงเป็นอย่างนี้ อย่างนั้น ใน ทุกอย่าง
                ถ้าเราเปรียบความรักเป็นสิ่งลึกลับ มืด กว้าง จนเราไม่รู้จัก ทฤษฎีว่าด้วยความรักทั้งหลาย คงเป็นเพียงเทียนเล่มเล็กๆ ที่ส่องให้เรามองเห็นบางส่วนของความรัก ถ้าเราอยากรู้จักความรักมากขึ้น คงเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันจุดเทียนเล่มเล็กๆ ให้มากขึ้น และสักวันหนึ่งเราคงได้เห็นภาพเหล่านั้นชัดเจนขึ้นกว่านี้.


(ตีพิมพ์ใน ปาจารยสาร ฉบับที่ มิถุนายน-กรกฎาคม-สิงหาคม 2555)




[1] อาร์มสตรอง, จอห์น. ความลับในความรัก. จีระนันท์ พิตรปรีชา แปลจาก Conditions of love : The philosophy of intimacy. (กรุงเทพฯ : ฟรีฟอร์ม , 2551) หน้า 23
[2] อ้างแล้ว. หน้า  24
[3] อ้างแล้ว. หน้า 25
[4] พินิจ รัตนกุล. ปรัชญาความรัก. (กรุงเทพฯ : ดับเบิ้ลนายน์, 2543) หน้า (12)
[5] ชเอิญศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา, ปรัชญากรีก, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2520) หน้า 72-73
[6] ปัจจุบัน Platonic love หมายรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายและผู้หญิงที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศด้วยกัน
ดูเพิ่มเติม พินิจ รัตนกุล. ปรัชญาความรัก. (กรุงเทพฯ
: ดับเบิ้ลนายน์, 2543) หน้า (28) – (40)
[7] ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์. จริยศาสตร์. (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2550) หน้า 124-125
[8] คณะทำงานจัดทำแนวทางการพัฒนาคุณธรรม/จริยธรรมในมิติแห่งคริสต์ศาสนา. สู่ความสำเร็จ : หลักการรู้จักตนเอง รู้จักผู้อื่น รู้จักธรรมชาติในมิติแห่งคริสต์ศาสนา. (กรุงเทพฯ : สำนักมาตรฐานอุดมศึกษา สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย, 2546)
[9]Hseih Yu Wei.”Filial piety and Chinese Society” The Chinese Mind, p.169
[10] ปานทิพย์ ศุภนคร. ปรัชญาจีน. (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2554) หน้า 93-96

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น