ปัญหาอภิปรัชญาเรื่องการมีอยู่ของพระเจ้า เป็นปัญหาทางปรัชญาปัญหาหนึ่งที่มีผู้ให้ความสนใจอยู่ในทุกยุคทุกสมัย
ในมุมมองทางศาสนา พระเจ้าอาจมีอยู่ในฐานะของการเป็นผู้ยิ่งใหญ่
เป็นต้นกำเนิดของโลกและจักรวาล เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด (Supreme Being) แต่เมื่อวิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้าขึ้น
การพยายามอธิบายธรรมชาติอย่างเป็นระบบโดยนักวิทยาศาสตร์
ทำให้ความเชื่อในเรื่องของพระเจ้าซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้จากวิทยาศาสตร์ถูกมองว่าเป็นเรื่องล้าหลังงมงาย
ความเชื่อเรื่อง “พระเจ้า”
ความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้า
ถูกสันนิษฐานว่ามีต้นกำเนิดจากความเชื่อแบบวิญญาณนิยม (Animism) ของคนยุคดึกดำบรรพ์ ปานทิพย์ ศุภนคร[1]
ได้อธิบายไว้ว่า
จากความเชื่อที่ว่าโลกเป็นที่อยู่อาศัยของวิญญาณนับไม่ถ้วนทั้งเป็นมิตร ไม่เป็นมิตร
หรือไม่มีผลต่อมนุษย์ ต่อมาเมื่อมนุษย์สังเกตเห็นอำนาจของบางสิ่งบางอย่างที่เหนือกว่าสิ่งอื่นๆ
มนุษย์จึงเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นยิ่งกว่าวิญญาณโดยทั่วๆ ไป คือ
เป็นเทพหรือเป็นพระเจ้า เช่น ความรุนแรงของปรากฏการณ์ธรรมชาติ
จึงทำให้เกิดความเชื่อว่า มีเทพเป็นผู้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว อันนำมาซึ่งความเชื่อในเรื่องเทพประจำธรรมชาติของมนุษย์ในยุคโบราณ
โดยเทพประจำธรรมชาตินั้นมีหลายองค์ (พหุเทวนิยม : Polytheism) ในขณะที่ลัทธิพหุเทวนิยมบางแบบ
ยกย่องให้มีเทพบางองค์ที่ยิ่งใหญ่กว่าเทพองค์อื่น
ซึ่งอาจเกิดจากความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมหรือความเชื่อบางอย่างที่ทำให้เทพประจำธรรมชาติบางองค์มีความสัมพันธ์กับมนุษย์มากกว่าเทพองค์อื่น
แต่ความเชื่อแบบนี้ก็มิได้ปฏิเสธการมีอยู่ของเทพองค์อื่นแต่อย่างใด แมกซ์ มิลเลอร์
(Max Miller) นักวิชาการชาวเยอรมันเรียกความเชื่อแบบนี้ว่า
อติเทวนิยม (Henotheism)
ซึ่งต่อมา เมื่อมนุษย์พยายามจะเข้าใจถึงระเบียบของสิ่งต่างๆ
และมีความเชื่อว่าระบบทั้งหลายน่าจะมีระบบระเบียบที่สอดคล้องเป็นรูปแบบเดียวกันรองรับ
และที่มาของระเบียบดังกล่าวก็น่าจะเป็นหนึ่งเดียว มิใช่หลายหลาก
จึงทำให้เกิดความเชื่อในพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่องค์เดียว หรือ เอกเทวนิยม (Monotheism) ขึ้น โดยถือว่ามีพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น โดยความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าก็มิได้หมายความว่าพระองค์ยิ่งใหญ่กว่าพระเจ้าองค์อื่นๆ
แต่หมายความว่าไม่มีพระเจ้าองค์อื่น และเหนือสิ่งอื่นใดทรงเป็นความจริงสูงสุด (Ultimate
Reality) ในการสนทนาครั้งหนึ่ง ตรีนุช พลางกูร[2]
ได้เสนอความคิดที่น่าสนใจว่าพัฒนาการจากพหุเทวนิยม (Polytheism) จนถึงเอกเทวนิยม (Monotheism) อาจมิได้มีเหตุผลในเชิงปรัชญาเพียงอย่างเดียว
แต่มีเหตุผลในเชิงอำนาจการปกครอง ที่ในสมัยก่อน ศาสนาและความเชื่อ ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการปกครอง
และการทำให้เกิดเอกภาพทางความเชื่อโดยการสถาปนาเทพบางองค์ขึ้นมาให้ยิ่งใหญ่กว่าเทพองค์อื่น
เป็นเหตุผลในการสร้างเอกภาพทางความเชื่อเพื่อเอกภาพในการปกครองด้วยเช่นกัน
ความเชื่อเรื่องพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่องค์เดียวปรากฏอยู่ในศาสนาหลายๆ
ศาสนา ที่เป็นศาสนาหลักๆ คือ ศาสนายูดาย (Judaism) ศาสนาคริสต์
(Christianity) และศาสนาอิสลาม (Islam)
แม้ว่าทั้ง 3 ศาสนาจะนับถือพระเจ้าองค์เดียวกัน
โดยในศาสนายูดายและคริสต์ เรียกว่า พระยะโฮวาห์ (Jahovah) หรือพระยะเวห์
(Yaweh) ส่วนศาสนาอิสลามเรียกว่า อัลเลาะห์(Allah) แต่ธรรมชาติของพระเจ้าที่ถูกตีความจาก 3 ศาสนาก็มีความแตกต่างกันในหลายๆ
ประเด็น เช่น การที่ศาสนาคริสต์อธิบายว่าพระเจ้ามีหนึ่งเดียว แต่มีลักษณะไตรภาค (Trinatarianism) ซึ่งในศาสนายูดาย
การที่พระเจ้าแบ่งเป็นสามภาคได้ทำลายเอกลักษณะของพระองค์
และเป็นสาเหตุที่ทำให้คนยิวปฏิเสธองค์พระเยซูคริสต์ที่ประกาศว่าพระองค์เป็นบุตรของพระเจ้า[3]
ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์
ทำให้ความเชื่อที่ว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลกและเป็นผู้ยิ่งใหญ่สั่นคลอนลง
กระแสมนุษยนิยมที่มีมาตั้งแต่สมัยเรเนสซองส์ที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์มากกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์
และเชื่อว่ามนุษย์สามารถที่จะกำหนดชีวิตตัวเองได้ ศาสนาจึงมีความสำคัญลดลง
หลายคนเลือกที่จะไม่นับถือศาสนา (irreligious) และเลือกที่จะไม่เชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ
(Atheism)
ศาสนาที่นับถือพระเจ้าจึงจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย และทำให้สถานะของพระเจ้าเปลี่ยนไปจากในอดีตให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น
การพิสูจน์การมีอยู่ของ “พระเจ้า” ในทางปรัชญา
ถึงวิทยาศาสตร์จะเจริญก้าวหน้ามากขึ้นก็ตาม
แต่ปัญหาอภิปรัชญาเรื่องการมีอยู่ของพระเจ้าก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ แม้หลายคนในปัจจุบันเลือกที่จะไม่เชื่อในพระเจ้าก็ตาม
แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าตกลงแล้ว พระเจ้ามีจริงหรือไม่
ย้อนกลับไปในยุคกลาง
แม้ในช่วงเวลาหลังการสิ้นสุดของอาณาจักรโรมันจนถึงยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ
จะถูกขนานนามว่าเป็น “ยุคแห่งความมืดบอด”
เพราะถูกครอบงำโดยศาสนาคริสต์ก็ตาม แต่ก็ยังคงมีนักปรัชญาที่เสนอทัศนะทางปรัชญาอยู่เช่นกัน
โดยนักปรัชญายังคงตั้งคำถามอย่างลุ่มลึกกับความเชื่อของศาสนาคริสต์
ตลอดจนพยายามหาเหตุผลมาเสริมศรัทธาในศาสนาคริสต์
เพื่อทำให้ความเชื่อในศาสนามีเหตุผลรองรับ
ประเด็นเรื่องการมีอยู่ของพระเจ้าก็เป็นปัญหาทางปรัชญาข้อหนึ่งที่นักปรัชญาในสมัยกลางเสนอทัศนะเพื่อพิสูจน์ว่าพระเจ้ามีจริง
(St.Anselm of Canterbury 1033-1109)
ในยุคอัสมาจารย์
(Scholastic
Period)[4] St.Anselm เป็นคนหนึ่งที่พยายามอธิบายเรื่องการมีอยู่ของพระเจ้า St. Anselm ได้ให้กำเนิดทฤษฎี Ontological Proof ขึ้นมาเพื่อพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า
โดยเน้นจากความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของ “พระเจ้า” กล่าวคือเมื่อพูดถึงพระเจ้า
ทุกคนจะสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
และมนุษย์ไม่สามารถคิดถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านี้ได้อีกแล้ว ดังนั้น
เมื่อพูดถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด สิ่งนั้นจึงต้องมีอยู่จริงด้วน
มิฉะนั้นก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่
เมื่อเราพูดถึงว่าพระเจ้าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ดังนั้น
พระเจ้าจึงต้องมีอยู่จริง มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นความขัดแย้งทางความคิดอย่างแน่นอน
ถ้าเข้าใจว่าพระเจ้าคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่กลับไม่ยอมรับว่าพระเจ้ามีอยู่จริง
การพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าโดย St.Anselm สามารถสร้างเป็นบทพิสูจน์ได้ดังนี้[5]
พระเจ้าคือผู้สมบูรณ์ที่สุด
แต่สิ่งที่สมบูรณ์ที่สุดจะต้องมีอยู่จริง
เพราะการมีอยู่จริงเป็นส่วนหนึ่งของความสมบูรณ์
ดังนั้น พระเจ้าต้องมีอยู่จริง
แต่สิ่งที่สมบูรณ์ที่สุดจะต้องมีอยู่จริง
เพราะการมีอยู่จริงเป็นส่วนหนึ่งของความสมบูรณ์
ดังนั้น พระเจ้าต้องมีอยู่จริง
มีผู้พยายามตอบโต้ข้อพิสูจน์ของ St.Anselm
โดยอ้างว่าถ้าใครสักคนคิดถึงเกาะที่สวยที่สุด
เกาะดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีอยู่จริง แต่ St.Anselm ก็ตอบโต้ข้อโต้แย้งดังกล่าวว่า
การมีอยู่จริงเป็นคุณสมบัติของสิ่งที่สมบูรณ์ที่สุด แต่ไม่ใช่คุณสมบัติของสิ่งที่สวยที่สุด
ดังนั้น เกาะที่สวยที่สุดสามารถมีอยู่ในความคิดโดยไม่ต้องมีอยู่จริงก็ได้
แต่เกาะที่สวยที่สุดก็ไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์ที่สุด
เพราะสิ่งที่สมบูรณ์ที่สุดจำเป็นต้องมีอยู่จริงนอกความคิดด้วย
(St. Thomas Aquinas 1225-1274)
นอกจาก
St.Anselm
แล้ว St. Aquinas
ก็เป็นนักปรัชญาตะวันตกสมัยกลางอีกคนหนึ่งที่เสนอความคิดในการพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า
St.Aquinas เป็นนักปรัชญาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13โดย St.Aquinas ใช้ข้อพิสูจน์ที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาของอริสโตเติลในการพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า
โดยเชื่อว่าจากประสบการณ์ของมนุษย์นั้น มนุษย์จะพบว่าปรากฏการณ์ของโลกน่าจะมีสาเหตุมาจากสาเหตุแรกที่สมบูรณ์และยิ่งใหญ่
โดยสาเหตุแรกที่ยิ่งใหญ่นั้นก็คือพระเจ้า การพิสูจน์ในลักษณะนี้เรียกว่า Cosmological
Proof โดย St.Aquinas เสนอการพิสูจน์โดย 4 วิธี[6]
ดังนี้
(1) การพิสูจน์จากการเคลื่อนไหว
(Proof from Motion)
ซึ่งมนุษย์จะสามารถสังเกตได้ว่าวัตถุจำเป็นต้องมีสาเหตุมากระทำให้มันเคลื่อนไหว
และสาเหตุของการเคลื่อนไหวก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวด้วยตัวเองได้
จำเป็นต้องมีสาเหตุของการเคลื่อนไหวมากระทำเช่นกันเป็นลูกโซ่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีสาเหตุแรก
ซึ่งก็คือพระเจ้า
(2) การพิสูจน์จากการเป็นสาเหตุ (Proof
from Causation)
จากประสบการณ์ของมนุษย์จะพบว่าวัตถุในโลกนี้ไม่มีวัตถุใดเป็นสาเหตุให้กับตัวเอง (Self-Cause) เช่น รูปปั้นก็ต้องเกิดจากผู้ปั้น ในขณะที่ผู้ปั้นก็จำเป็นต้องมีสาเหตุอื่นที่ทำให้มีอยู่เช่นกัน
ดังนั้น สาเหตุของสิ่งต่างๆ จะต่อเนื่องเป็นลูกโซ่มาจากสาเหตุแรก
ซึ่งสาเหตุแรกก็คือพระเจ้า
(3) การพิสูจน์จากความไม่ยั่งยืน (Proof
from Contingency) จากประสบการณ์ของมนุษย์จะพบว่า
สรรพสิ่งในโลกล้วนเป็นสิ่งชั่วคราว ไม่มีอะไรสามารถดำรงอยู่ต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม
ก็ยังคงมีสรรพสิ่งเกิดขึ้นทดแทนกันตลอดเวลา
และเรายังไม่เคยพบเหตุการณ์ที่ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ในโลกเลย
จึงจำเป็นต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่คงอยู่ตลอดกาล และเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่ง
โดยสิ่งนั้นก็เป็นพระเจ้านั่นเอง และ
(4)
การพิสูจน์จากระดับความสมบูรณ์ (Proof from Degrees of Perfection) เมื่อมนุษย์สามารถรับรู้ความไม่เท่าเทียมกันของความสมบูรณ์ในสิ่งต่างๆ
นั่นย่อมหมายความว่ามีการเปรียบเทียบความสมบูรณ์ได้
และมีมาตรฐานที่เป็นสิ่งสมบูรณ์สูงสุด ซึ่งมาตรฐานที่เป็นสิ่งสมบูรณ์สูงสุดนี่เอง
ก็คือพระเจ้า
นอกจากการพิสูจน์โดยวิธี
Cosmological
Proof ทั้ง 4 วิธีแล้ว St.Aquinas ยังเสนอวิธี Teleological Proof มาอีกวิธีหนึ่ง
โดยเน้นไปที่ความเป็นระเบียบของโลก ถ้าเราพบก้อนหินก้อนหนึ่ง
เราคงไม่แปลกใจว่าใครเป็นคนสร้างมันขึ้นมา แต่ในกรณีของโลกที่มีความซับซ้อนและเป็นระบบชัดเจน
ต้นกำเนิดของโลกจึงน่าจะเป็นผลงานของสิ่งที่ยิ่งใหญ่และมีปัญญาสูงสุด
ซึ่งก็คือพระเจ้า
นอกจากทัศนะของ
St.Anselm
และ St.Aquinas แล้ว
ข้อพิสูจน์จากความรู้สึกทางศีลธรรม (Moral Arguement) และข้อพิสูจน์จากปาฏิหาริย์
(The Argument from Special Events and Experience)
ก็เป็นอีกทัศนะหนึ่งที่นักปรัชญาเสนอให้ใช้ในการพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า
ในขณะที่มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีศีลธรรมจริงจัง หนักแน่น
และความรู้สึกทางศีลธรรมบางอย่างก็มิได้เกิดมาจากการสั่งสอนอบรมธรรมดา แต่มีความหนักแน่นมากกว่าและเป็นสากล
ดังนั้น พระเจ้าจึงน่าจะเป็นต้นกำเนิดของความรู้สึกทางศีลธรรม
และพระเจ้าจึงต้องมีอยู่จริง นอกจากเรื่องของศีลธรรม
หลายครั้งในชีวิตมนุษย์ก็มีปาฏิหาริย์ เช่น การรอดตายอย่างปาฏิหาริย์
หรือการมีความปรารถนาและได้รับการตอบสนองอย่างเหลือเชื่อ
ปรากฏการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้อดคิดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เข้ามาช่วยดูแลอย่างพระเจ้าไปไม่ได้
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า
ถ้าพระเจ้ามีจริง ทำไมพระเจ้าจึงไม่ปรากฏตัวต่อมนุษย์
หรือปรากฏอย่างคลุมเครือจนต้องมีการตีความ คำตอบต่อปัญหาดังกล่าวอาจเป็นไปได้ว่า
พระองค์ปรารถนาความรักและความเชื่อที่มนุษย์ตัดสินใจกระทำด้วยตัวเอง
และมนุษย์ก็มีเจตจำนงเสรี (Free Will) ในการที่จะเลือก
ดังนั้น พระเจ้าจึงปรารถนาที่จะปรากฏพระองค์ในลักษณะที่มนุษย์เลือกตีความด้วยตัวของมนุษย์เอง
ซึ่งโดยคำอธิบายนี้ก็สอดคล้องกับความพยายามนำเหตุผลทางปรัชญามาอธิบายการมีอยู่ของพระเจ้าในสมัยกลางเช่นเดียวกัน
ศรัทธาและเหตุผล : ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพระเจ้า
มีคำถามว่า
การใช้เหตุผลเพื่ออธิบายความเชื่อทางศาสนา สามารถโน้มน้าวให้คนไม่เชื่อหันกลับมาเชื่อได้หรือไม่
หรือในทางตรงกันข้ามถ้าหากไม่มีข้อพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าที่สมเหตุสมผล
คนที่มีศรัทธาในพระเจ้าจะเลิกศรัทธาในพระเจ้าหรือไม่ ถึงที่สุดแล้ว
คำตอบของมันก็อาจจะไม่ใช่ คนที่ศรัทธาในพระเจ้าก็ศรัทธาอยู่แล้ว
ส่วนคนที่ไม่ศรัทธาในพระเจ้าก็มีแนวโน้มที่จะปฏิเสธเช่นนั้นอยู่แล้ว[7]
หลายครั้ง ความศรัทธาที่มากเกินไปอาจหมายถึงความคุ้มคลั่ง
อันเป็นสิ่งที่อันตราย แต่กับความศรัทธาในพระเจ้า อาจต่างกันออกไป Blaise
Pascal นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสได้เปรียบคนมีความศรัทธาในพระเจ้าเหมือนกับนักพนัน
นักพนันอาจเสี่ยงโชคแต่เขาอาจจะรวยได้อย่างไม่รู้ตัว นักพนันจึงมิได้จะเสียเงินอย่างเดียว
แต่ก็มีโอกาสได้เงินด้วย เช่นเดียวกับคนที่มีความศรัทธาในพระเจ้า
การเสี่ยงศรัทธาในพระเจ้าไม่ได้มีแต่เสียประโยชน์
แต่เขาก็สามารถได้ประโยชน์เช่นกัน
ถึงจะเสียประโยชน์แต่ก็ไม่ได้หมดตัวเหมือนนักพนัน แต่ถ้าเกิดพระเจ้ามีจริง
เขาก็พลอยได้ประโยชน์มหาศาล คือทางรอดจากบาป (Salvation) ไปด้วย
เช่นเดียวกับนักปรัชญาชาวอเมริกัน William James ซึ่งได้แสดงทัศนะว่ามนุษย์ไม่สามารถาหลักฐานใดๆ
ที่จะยืนยันว่า พระเจ้ามีจริงหรือไม่มีจริงด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้น
การศรัทธาในพระเจ้าก็มิใช่การฝ่าฝืนเหตุผลแต่อย่างใด ดังนั้น
ถ้าจะนำผลประโยชน์มาเป็นมาตรฐานของการคิดและตัดสินใจกระทำ
การมีศรัทธาในพระเจ้าก็จะมีประโยชน์กว่า
เพราะถ้าเกิดพระเจ้ามีจริงก็จะพลอยได้ประโยชน์คือการรอดพ้นจากบาป (Salvation) เป็นรางวัล
แต่หากลังเลมัวหาหลักฐานก็อาจไม่ทันได้เป็นผู้รอดพ้นจากบาปก็เป็นได้
ในชีวิตเราอาจจำเป็นต้องใช้ศรัทธาและเหตุผลควบคู่กันไป
ประเด็นเรื่องพระเจ้าก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง หลายครั้งเหตุผลอาจทำร้ายศรัทธา
และหลายครั้งความศรัทธาอาจทำให้เราไม่กล้าใช้เหตุผล แต่เราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะให้พบจุดกึ่งกลางระหว่างศรัทธาและเหตุผล
แม้ชีวิตจะจำเป็นต้องมีเหตุผล
แต่เหตุผลเพียงอย่างเดียวก็คงมิอาจตอบสนองต่อความต้องการทางจิตใจบางอย่างของมนุษย์ได้
ในขณะเดียวกันศรัทธาที่ไม่มีเหตุผลก็เป็นศรัทธาที่มืดบอด การมีศรัทธาควบคู่กับเหตุผล
คงเป็นสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้แสวงหาประสบการณ์บางอย่าง ที่อาจอยู่เหนือข้อเท็จจริงที่รับรู้ได้ทางผัสสะ
การนำปรัชญามาอธิบายถึงความเชื่อทางศาสนาในยุคกลาง
ก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้ศรัทธากับเหตุผลมีอยู่ควบคู่กัน เช่นเดียวกับปัจจุบัน
แม้เราอาจจะมองถึงศรัทธาในบางสิ่งบางอย่างว่าเป็นความงมงาย
แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์จำเป็นต้องมีศรัทธา อย่างน้อยที่สุด คือการศรัทธาในตนเอง
และสำหรับในบางศาสนาก็คือศรัทธาต่อพระเจ้า
การอาศัยเหตุผลเพื่ออธิบายความศรัทธาซึ่งเป็นการทำให้เหตุผลกับความศรัทธามีอยู่ควบคู่กัน
คงจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข
มีเป้าหมายในชีวิต พร้อมกับสามารถเข้าใจตัวเองและสิ่งรอบข้างได้อย่างมีเหตุผลมากขึ้น.
(ตีพิมพ์ใน ปาจารยสาร ฉบับที่ 3 กันยายน-ตุลาคม-พฤศจิกายน 2555)
(ตีพิมพ์ใน ปาจารยสาร ฉบับที่ 3 กันยายน-ตุลาคม-พฤศจิกายน 2555)
[1]
สรุปเก็บความจาก
ปานทิพย์ ศุภนคร. ปรัชญาตะวันตกสมัยกลาง. (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง), 2552, น.79-80
[2]
ตรีนุช
พลางกูร เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
[3]
ประสงค์
กิตตินันทชัย. ลักษณะสำคัญของศาสนายูดาย. จาก เอกสารประกอบการเรียนวิชา
ศาสนาเปรียบเทียบ. เอกสารอัดสำเนา (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง)
[4]
ยุคอัสมาจารย์
(Scholastic Period) เป็นยุคที่การศึกษาเจริญก้าวหน้าและเข้าสู่บรรยากาศของความคึกคักทางวิชาการอีกครั้งหนึ่ง
ปัญญาความคิดใหม่ๆ ก็เกิดจากสำนักการศึกษาที่จัดตั้งขึ้น ปัญหาใหม่ๆ
และแนวคิดใหม่ๆ ก็ถูกนำมาเสนอและวิพากษ์วิจารณ์จากนักบวชประจำสำนักศึกษาต่างๆ (School) โดยพัฒนาการของแนวคิดในยุคนี้สามารถแบ่งได้เป็น
ระยะฟื้นฟูโดยกษัตริย์ Charlemagne (ค.ศ.800-1100) และระยะสร้างปัญหา (ค.ศ.1100-1200) (ปานทิพย์ ศุภนคร. อ้างแล้ว. น.35-37)
[5]
ปานทิพย์
ศุภนคร. อ้างแล้ว, น. 38
[6]
เรื่องเดียวกัน,
น. 54-55
[7]
เรื่องเดียวกัน,
น.86
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น