วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สวดมนต์ข้ามปี สวดไปทำไม ?

(ภาพการสวดมนต์ข้ามปี โดยชาวพุทธกลุ่มหนึ่งผู้มีจานบินเป็นของตัวเอง)


สำหรับปีใหม่ 2556 เป็นอีกปีที่ผมคงไม่ได้ไปไหน นอกจากไปหาหนังดูรอบดึกคนเดียวที่ EGV บางแค ซึ่งอยู่บนซีคอนบางแค หรือฟิวเจอร์ปาร์คบางแคเดิมนั่นเอง

มีคนชวนผมไปสวดมนต์ข้ามปี จริงๆ ผมก็สงสัยนะครับ ไม่รู้ว่าสวดมนต์ข้ามปีเนี่ย มันดีกว่าสวดมนต์ธรรมดายังไง แล้วยิ่งไปกว่านั้น ทำไมจะต้องไปรวมกลุ่มสวดมนต์กันเยอะแยะในวัดดึกๆ ดื่นๆ นั่งหลังขดหลังแข็ง

คำตอบที่เขามีให้ผม คือ "มันเป็นสิริมงคล จะทำให้ปีใหม่มีแต่สิ่งดีๆ" แถมยังว่าผมอีกว่าเป็นพวกคนบาป มีแต่อวิชชาในชีวิต (!!) โอ้ ชีวิตคนไทย แค่สวดมนต์ก็จะมีแต่สิ่งดีๆ แล้ว ดูจะเยี่ยมยอดไปเลยนะครับ มันน่าแปลกใจอยู่เหมือนกัน เมื่อการสวดมนต์กลายมาเป็นสิ่งที่ผูกติดกับความศักดิ์สิทธิ์ อภินิหาร ต่างๆ นาๆ ไปแล้ว บางคนบอกว่าสวดมนต์จะช่วยขจัดภัยอันตรายในชีวิต หรือบางคนยิ่งไปกว่านั้น การสวดมนต์จะทำให้บรรลุนิพพาน (ซึ่งคนพูดเองก็ยังคงไปหาหมอดู ทำบุญโลงศพ แก้กรรม ฯลฯ)


ถึงผมจะไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ (และศาสนาใดๆ) แต่จากความรู้งูๆ ปลาๆ ที่ผมเคยเรียนมาในวิชา พุทธปรัชญาเถรวาท ตอนปริญญาตรี เดิมแล้วการสวดมนต์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอภินิหารอะไรเลยนะครับ

เรากลับมาพูดเรื่องการสวดมนต์ข้ามปีกันก่อน ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่ามันเป็นนโยบายของรัฐบาลหนึ่งในอดีต  ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นอีกทางเลือกสำหรับวัยรุ่นที่จะมาสวนมนต์ข้ามปี และก็ลดการก่อความวุ่นวาย ตีกัน ลดอุบัติเหตุอะไรทำนองนั้นได้ (ซึ่งเราก็เห็นกันว่าทุกวันนี้คนที่ไปสวดมนต์ข้ามปี มีวัยรุ่นไปเยอะแค่ไหน ดูจากรูปส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นวัยที่ไม่น่าไปตีกับใครได้แล้ว)

มันเลยกลายมาเป็นว่าทุกๆ ปี หน่วยงานของรัฐจะสนับสนุนเรื่อง "สวดมนต์ข้ามปี" กันเป็นแถว ซึ่งปีนี้ สสส. ก็เหมือนจะเป็นโต้โผใหญ่ ออกข่าวมาตั้งแต่ไก่โห่ ซึ่งตรงนี้ผมว่ามีปัญหาครับ การสนับสนุนเรื่องสวดมนต์ข้ามปี สุดท้ายก็บ่งชี้ไปถึงการสนับสนุน "อย่างเป็นพิเศษ" ต่อพุทธศาสนา (ซึ่งปรากฏอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่การให้วันสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นวันหยุด ขณะที่วันคริสต์มาส วันสำคัญทางศาสนาอื่นๆ กลับไม่เป็นวันหยุด) มันย้อนแย้งกับการเป็นประเทศเสรีนะครับ พุทธศาสนากลายเป็นศาสนาที่มีความสำคัญเหนือศาสนาอื่นไปเสียแล้วหรือ ? เราคงต้องกลับมาตั้งคำถามว่าประเทศไทยเป็นรัฐศาสนาหรือเป็นประเทศที่มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา (ประเด็นนี้ผมเห็นหลายคนเรียกร้องกันมากช่วงนึง อยากให้รัฐสนับสนุนทุกศาสนาเท่าเทียมกัน ไม่ใช่มาสนับสนุนพุทธพิธีกรรม พุทธแต่เปลือก หรือธรรมกึ๋ย อย่างทุกวันนี้)

ถ้าเราย้อนกลับมาดูถึงเรื่องการสวดมนต์ จริงๆ แล้วการสวดมนต์ในอดีตไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับอภินิหารเลยครับ ผมเข้าใจว่าในช่วงนั้น การสวดมนต์เป็นวิธีการท่องจำคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะยังไม่มีตัวหนังสือที่ใช้บันทึก  พอเวลานานเข้าเกรงว่าพระธรรมวินัย อันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจะวิปริตผิดเพี้ยนไป ก็จัดให้มีการประชุมกันมีการทบทวนสอบทานที่เรียกว่า การทำสังคายนา

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์เรื่องนี้ไว้ใน "ตำนานพระปริตร" ไว้ว่า “ในพงศาวดารปรากฏว่า พวกทมิฬมีอำนาจปกครองบ้านเมือง(ลังกา) อยู่นานๆ หลายครั้ง พวกทมิฬนับถือไสยศาสตร์ พาศาสนาพราหมณ์เข้ามาสั่งสอนในลังกาทวีปด้วย อย่างไรก็ตาม คติศาสนาพราหมณ์นั้นนิยมว่าผู้ทรงพระเวทอาจร่ายมนต์ให้เกิดสิริมงคลหรือป้องกันแก้ไขภยันตรายแก่มหาชนได้ สันนิษฐานว่าพวกชาวลังกาแม้ที่นับถือพระพุทธศาสนาก็ย่อมมีเวลาปรารถนาสิริมงคล และมีเวลาหวาดหวั่นต่อภยันตรายตามธรรมดาสามัญมนุษย์ คงจะขอให้พระสงฆ์เถรานุเถระ     ชาวลังกา ช่วยหาแนวทางในพระพุทธศาสนาสงเคราะห์เพื่อให้เกิดสิริมงคลหรือป้องกันอันตรายให้แก่ตนบ้าง พระสงฆ์มีความกรุณา จึงคิดวิธีการสวดพระปริตรขึ้น ให้สมประสงค์ของประชาชน ก็แต่วิธีร่ายเวทมนต์ของพราหมณ์นั้น เขาวิงวอนขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้า คติทางพระพุทธศาสนาห้ามการทำเช่นนั้น พระสงฆ์จึงค้นในพระไตรปิฎกเลือกเอาพระสูตรและปาฐะพระคาถาสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยอันมีตำนานอ้างว่า เกิดขึ้นเนื่องด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ มาสวดเป็นมนต์   การสวดมนต์ดังกล่าวนั้นเรียกว่าสวด   พระปริตร หมายถึงสวดพระพุทธวจนะที่มีอานุภาพคุ้มกันอันตรายต่างๆ ได้“

จากคำอธิบายของกรมพระยาดำรงฯ เราคงจะอนุมานได้ครับว่า การสวดมนต์แต่เดิมไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกฤษดาอภินิหารอะไรเลย แต่การผสมกับความเชื่อศาสนาพราหมณ์ต่างหาก ที่ทำให้การสวดมนต์กลายเป็นการร่ายมนต์ที่ก่อให้เกิดสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ซึ่งในพุทธศาสนาอันเกิดมาจากปรัชญาสายนาสติกะในอินเดีย ซึ่งผมคิดว่าเป็นปรัชญาธรรมชาตินิยมที่พยายามอธิบายโลกด้วยเหตุผล (ถ้ามองจากมุมมองคนปัจจุบัน น่าจะก้าวหน้าที่สุดในยุคนั้น เพราะปรัชญาอินเดียสำนักอื่นเป็นสายอาสติกะที่อธิบายโลกจากพระเวท ส่วนจารวากที่เป็นสายนาสติกะเหมือนกันก็เป็นเรื่องโบราณที่ดูจะเอาแต่ใจไปนิด) การสวดมนต์ก็ไม่ได้มีฟังก์ชันอะไรที่มากไปกว่าการท่องจำคำสอน และอาจมีผลพลอยได้เพื่อช่วยในการฝึกสมาธิ

เอาเข้าจริงๆ ผมก็ไม่ได้บอกว่าการสวดมนต์ไม่มีประโยชน์นะครับ ผมเชื่อว่าการสวดมนต์เป็นวิธีการฝึกสมาธิที่ดีอย่างหนึ่ง การสวดมนต์ให้ถูกต้องจำเป็นต้องใช้สติ สมาธิ ในการสวดมากทีเดียว (ซึ่งหลายครั้งที่ผมโดนบังคับ ไม่มีสติ มัวแต่มองผู้หญิง ผมก็สวดตามน้ำเขาไปอย่างนั้น) อานิสงส์ของการสวดมนต์จริงๆ ควรจะถูกอธิบายว่าเป็นการฝึกสมาธิ ฝึกสติ สิ่งดีๆ ในชีวิตที่เกิดขึ้นก็เกิดจากการมีสตินี่ล่ะครับ ทำให้เราทำอะไรผิดพลาดน้อยลง การอยู่กับตัวเอง เข้าใจตัวเอง มองจิตใจตัวเอง มันทำให้เราเข้าใจว่าตัวเองต้องการอะไร เมื่อเราเข้าใจตัวเอง ผมว่าเราก็มีความสุข ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระพุทธคุณ อานุภาพเหนือธรรมชาติอะไรเทือกนั้นเลย

ผมแอบคิดว่าการที่รัฐสนับสนุนการสวดมนต์ข้ามปี ในมุมหนึ่งมันเป็นการสร้างภาพด้วยเสียมากกว่า ศาสนาพุทธในปัจจุบันเจริญมากที่สุดในประเทศไทย เราก็เลยปวารณาตัวเองเป็นเมืองพุทธ สร้างภาพว่าทำอะไรเพื่อพุทธศาสนาตลอด แต่ที่จริงแล้ว ชาว "พุทธ" ในไทยก็ยังหลงใหไสยศาสตร์ ไปให้เกจิอาจารย์ทำเสน่ห์ คุณไสย ต้องการพระเครื่องขลังๆ ศักดิ์สิทธิ์ ยิงไม่เข้า ฟันไม่ออก เชื่อมั้ยครับ ผมเคยถามคนไทยพุทธบางคนว่า คำสอนสำคัญของพุทธศาสนาคืออะไร เขาบอกผมว่า ทำบุญเยอะๆ จะได้รวยๆ -*-

แต่อย่างไรก็ตาม ผมยืนยันคำเดิมครับ ถ้าประเทศไทยต้องการจะให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาจริงๆ รัฐควรจะสนับสนุนทุกศาสนา ไม่ใช่อะไรๆ ก็พุทธแบบทุกวันนี้ หรืออย่างน้อยที่สุด ถ้าจะสร้างภาพให้เมืองไทยเป็นเมืองพุทธจริงๆ (อันนี้ก็ขัดกับความจริงนะครับ เพราะประเทศไทยอยู่บนพื้นฐานของ พุทธ พราหมณ์ ผี มากกว่า) คงจะต้องปฏิวัติขนานใหญ่ ทั้งมหาเถรสมาคม จัดการพวกพระเดินสายรับเงิน ทำบุญ แก้กรรม ทั้งหลาย และให้การศึกษาเกี่ยวกับพุทธศาสนาในฐานะที่เกิดขึ้นมาจาก "ปรัชญา" ไม่ใช่สอนแบบโฆษณาชวนเชื่อเหมือนทุกวันนี้

และการสวดมนต์ข้ามปีเยอะๆ ที่วัด ก็คงเป็นแค่เทรนด์โก้ๆ ไร้แก่นสาร ผมเชื่อว่าหลายคนไปสวดมนต์ข้ามปีโดยไม่รู้เลยว่า อดีตแล้วเขาสวดมนต์ไปทำไม ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าอยากสวดมนต์ สวดที่บ้านหรือที่วัดก็ไม่ได้ต่างอะไรกันมากนักหรอกครับ

ปีใหม่ปีนี้ ผมก็ยังคงยืนยันคำเดิม "ผมไม่ใช่ชาวพุทธ" ถ้าศาสนาพุทธเป็นแบบที่ผมเห็นทุกวันในประเทศไทย

ว่าไปแล้ว ปีใหม่ปีนี้ นอนข้ามปีกันดีกว่าครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น