วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

Post / Modern and Art : ศิลปะหลังสมัยใหม่กับปัญหาความ “ร่วมสมัย” ของศิลปะ

ภาพจาก : http://www.contemporaryartsociety.org/wordpress/wp-content/uploads/2015/07/NM-Hippy-Dialectics-2010-ICA-LOW-RES-799x600.jpg


1.

“หลังสมัยใหม่” มักถูกอ้างถึงอยู่บ่อยครั้งในวงวิชาการไทยปัจจุบัน เราอาจคุ้นเคยกับคำว่า “สมัยใหม่” ซึ่งมีนัยทั้งในเชิงความคิดและเชิงยุคสมัย หากแต่ “หลังสมัยใหม่” อาจมิใช่ยุคสมัย แต่เป็นเพียงกระแสความคิดหนึ่งซึ่งเป็นการตั้งคำถามและปฏิเสธความคิด “สมัยใหม่” โดยชี้ให้เห็นถึงกระบวนการของคำอธิบายที่เป็นอภิมหาอรรถกถาธิบาย (Meta-Narrative)  ที่ยึดกุมอำนาจแห่งการนิยาม คำว่า “หลังสมัยใหม่” หรือ Postmodern ปรากฏขึ้นครั้งแรกในผลงาน The Postmodern Condition ของฌอง ฟรองซัวส์ ลีโอตารด์ (Jean-François Lyotard) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส และมีอิทธิพลต่อสิ่งอื่นๆ เป็นอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่ศิลปะ แต่เมื่อ “หลังสมัยใหม่” กลายมาเป็นความ “ร่วมสมัย” ของศิลปะ การ “ร่วมสมัย” ในที่นี้จึงจำเป็นต้องถูกพิจารณาถึงความหมายของมันอย่างเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เพราะความร่วมสมัยเองมิได้อยู่นิ่งหรือผูกติดกับความคิดบางอย่างเท่านั้น หากแต่ความร่วมสมัยยังเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขของเวลาและโครงสร้างความรู้สึกของชุมชนมนุษย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม

ในบทความนี้จะผู้เขียนขอเสนอใน 2 ประเด็นใหญ่ๆ โดยในประเด็นแรก จะชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ความคิดหลังสมัยใหม่กำลังนำเสนอ โต้แย้ง ถกเถียง กับความเป็นสมัยใหม่ รวมถึงอิทธิพลของความคิดสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ที่มีต่อศิลปะ ส่วนในประเด็นที่สอง ผู้เขียนจะตั้งข้อสังเกตและอภิปรายถึงความ “ร่วมสมัย” ในของศิลปะ ซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้เขียนคิดว่าการเข้าใจความ “ร่วมสมัย” ในพื้นที่ของศิลปะ อาจจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจเกี่ยวกับสมัยใหม่ และแยกออกจากความเข้าใจที่มีต่อทฤษฎีของศิลปะหลังสมัยใหม่