วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

Post / Modern and Art : ศิลปะหลังสมัยใหม่กับปัญหาความ “ร่วมสมัย” ของศิลปะ

ภาพจาก : http://www.contemporaryartsociety.org/wordpress/wp-content/uploads/2015/07/NM-Hippy-Dialectics-2010-ICA-LOW-RES-799x600.jpg


1.

“หลังสมัยใหม่” มักถูกอ้างถึงอยู่บ่อยครั้งในวงวิชาการไทยปัจจุบัน เราอาจคุ้นเคยกับคำว่า “สมัยใหม่” ซึ่งมีนัยทั้งในเชิงความคิดและเชิงยุคสมัย หากแต่ “หลังสมัยใหม่” อาจมิใช่ยุคสมัย แต่เป็นเพียงกระแสความคิดหนึ่งซึ่งเป็นการตั้งคำถามและปฏิเสธความคิด “สมัยใหม่” โดยชี้ให้เห็นถึงกระบวนการของคำอธิบายที่เป็นอภิมหาอรรถกถาธิบาย (Meta-Narrative)  ที่ยึดกุมอำนาจแห่งการนิยาม คำว่า “หลังสมัยใหม่” หรือ Postmodern ปรากฏขึ้นครั้งแรกในผลงาน The Postmodern Condition ของฌอง ฟรองซัวส์ ลีโอตารด์ (Jean-François Lyotard) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส และมีอิทธิพลต่อสิ่งอื่นๆ เป็นอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่ศิลปะ แต่เมื่อ “หลังสมัยใหม่” กลายมาเป็นความ “ร่วมสมัย” ของศิลปะ การ “ร่วมสมัย” ในที่นี้จึงจำเป็นต้องถูกพิจารณาถึงความหมายของมันอย่างเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เพราะความร่วมสมัยเองมิได้อยู่นิ่งหรือผูกติดกับความคิดบางอย่างเท่านั้น หากแต่ความร่วมสมัยยังเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขของเวลาและโครงสร้างความรู้สึกของชุมชนมนุษย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม

ในบทความนี้จะผู้เขียนขอเสนอใน 2 ประเด็นใหญ่ๆ โดยในประเด็นแรก จะชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ความคิดหลังสมัยใหม่กำลังนำเสนอ โต้แย้ง ถกเถียง กับความเป็นสมัยใหม่ รวมถึงอิทธิพลของความคิดสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ที่มีต่อศิลปะ ส่วนในประเด็นที่สอง ผู้เขียนจะตั้งข้อสังเกตและอภิปรายถึงความ “ร่วมสมัย” ในของศิลปะ ซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้เขียนคิดว่าการเข้าใจความ “ร่วมสมัย” ในพื้นที่ของศิลปะ อาจจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจเกี่ยวกับสมัยใหม่ และแยกออกจากความเข้าใจที่มีต่อทฤษฎีของศิลปะหลังสมัยใหม่

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

"Me Before You" กับบันทึกเล็กๆ น้อยๆ



1.
ความพยายามค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ ดูจะเป็นความพยายามที่มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยทุกแห่งทุกเผ่าพันธุ์ตั้งคำถามถึงมันโดยตลอด แต่มันดูราวกับเป็นความพยายามที่มิอาจจะเป็นจริงได้ หลายศตวรรษที่ผ่านมาทั้งโลกตะวันตกและโลกตะวันออก ต่างก็ยังคงหมกมุ่นกับคำถามเกี่ยวกับชีวิต จนกระทั่งปัจจุบัน คำถามนี้มันก็มิได้มีความชัดเจนหรือจะทำให้เราเห็นจุดหมายปลายทางอันเป็นคำตอบของมัน เหตุใดความหมายของชีวิตที่ดูเหมือนจะง่าย กลับถูกตอบอย่างยากเย็น มันอาจเป็นเพราะว่า คำถามนี้อาจยากเกินไปสำหรับการตอบโดยลำพัง หรือแท้จริงแล้วความหมายของมันมิอาจเข้าใจโดยลำพัง หากแต่ความเข้าใจนั้นกลับต้องเข้าใจผ่านความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น หรือในอีกแง่หนึ่ง เราก็เข้าใจตัวเองผ่านความสัมพันธ์ที่เรามีต่อโลกในเงื่อนไขที่เราเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในโลกร่วมกับคนอื่นโดยมิใช่มีแต่ตนเอง

2.
อาจกล่าวไม่ผิดนักว่า ลูอิซา คลาร์ก ดูจะเป็นจุดที่น่าสนใจที่สุดในภาพยนตร์เรื่อง Me Before You ถึงแม้การเริ่มต้นของภาพยนตร์จะเริ่มจากเรื่องราวของ วิล เทรเนอร์ ผู้ดีเก่าที่มิอาจสูญเสียตัวตนของตัวเอง ถึงแม้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจะพรากทุกสิ่งทุกอย่างไปจากชีวิตเขา จากชีวิตที่ผาดโผนเหลือเพียงการอยู่เฉยๆ บนเก้าอี้ไฟฟ้าซึ่งดูจะเป็นความทรมานสำหรับวิลไม่น้อย ส่วนลูอิซา คลาร์ก จากชีวิตที่ดูเหมือนจะไร้จุดหมายของเธอ เมื่อเธอได้พบเขา ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล อะไรคือจุดสำคัญที่ทำให้ทั้งเขาและเธอ "เข้าใจ" ในความปรารถนาของตนเอง

3.
"ถ้าคุณเคยเห็นว่าผมเคยใช้ชีวิตแบบไหน คุณจะรู้ว่าผมรักชีวิตในแบบที่ผมเคยเป็นมากขนาดไหน" - วิล เทรเนอร์

การเกิดขึ้นและผ่านไปของอะไรบางอย่าง มันเหลือเพียงร่องรอยที่ทิ้งเอาไว้พร้อมกับความทรงจำบางชุด มันทำได้เพียงย้ำเตือนว่ามีบางสิ่งบางอย่าง "เคย" เกิดขึ้น หากการเริ่มต้นของเรื่องราวนี้มิใช่อุบัติเหตุของวิล เทรเนอร์ ชีวิตของวิลก็คงมิได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง เขาอาจจะยังคงเป็น วิล เทรเนอร์ ผู้สมบูรณ์แบบคนเดิมที่ยังคงเป็นนักธุรกิจผู้ปราดเปรื่องหรือเป็นขวัญใจของสาวๆ แต่เมื่ออุบัติเหตุเกิดขึ้น มันไม่ใช่เพียงแค่การผ่านพ้นไปของอะไรบางอย่างซึ่งก็คือชีวิตอย่างที่วิล เทรเนอร์ เคยเป็น แต่มันนำมาซึ่งบางสิ่งบางอย่างด้วยเช่นกัน การอยู่บนเก้าอี้ไฟฟ้าโดยที่เขามิอาจควบคุมอะไรได้มากไปกว่านิ้วมือของเขาที่คอยจิ้มควบคุมเก้าอี้ ความสัมพันธ์ของวิล เทรเนอร์ ต่อสิ่งที่อยู่รอบตัวของเขานั้นแปรเปลี่ยนไป พร้อมกับการเข้ามาของ ลูอิซา คลาร์ก ที่เน้นย้ำให้เห็นถึงสถานะของวิล เทรเนอร์ ที่แปรเปลี่ยนไปโดยมิอาจกลับไปเป็นเหมือนเดิม ถึงแม้ลูอิซา คลาร์ก จะเผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ชุดใหม่ที่วิล เทรเนอร์ จะสามารถมีต่อสิ่งต่างๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็นการออกไปเที่ยว ไปดูโอเปรา หรือแม้แต่การมี "เธอ" เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่เพราะความสัมพันธ์นั้นๆ เองมันไม่เพียงพอสำหรับการนิยามชีวิตของวิล มันอาจมิใช่ความสัมพันธ์ในแบบที่วิลต้องการ สำหรับวิลแล้ว การให้คุณค่าของเขาต่อชีวิตที่ปราศจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นและมิอาจเกิดขึ้นอีกแล้วนั้นดูจะเป็นชีวิตที่ไม่มีความหมาย เพราะเมื่อเขาตระหนักว่าตนเองเป็นใคร มันคือการตระหนักว่าตัวเองไม่ใช่ตัวเองอีกต่อไปแล้ว การเลือกที่จะจบมันลงจึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

4.
“ฉันกลายเป็นคนใหม่ก็เพราะคุณ”- ลูอิซา คลาร์ก

ในแฟนเพจของหนังกล่าวถึงตัวละครนี้ไว้ว่าเป็น "หญิงสาวผู้สร้างสรรค์ไม่เหมือนใครยังคงไร้ซึ่งแนวทางอันชัดเจนในชีวิต เธอทำงานเป็นสาวเสิร์ฟในร้านกาแฟเล็กๆ เพื่อช่วยหาเลี้ยงครอบครัว ลูอิซ่า คลาร์ก เป็นหญิงสาวที่ไม่กังวลทุกข์ร้อนและพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่" ในแง่หนึ่ง การไม่กังวลทุกข์ร้อนและพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่อาจแสดงให้เห็นถึงภาวะของความเข้าใจแก่นแท้บางอย่างของชีวิต หากแต่สำหรับลูอิซา การไร้ซึ่งแนวทางอันชัดเจนในชีวิตคงมิได้หมายถึงความเข้าใจความต้องการของตัวเองเป็นแน่ ถึงแม้ลูอิซา คลาร์กจะบอกว่าตัวเองอยากเรียนออกแบบ แต่จากการแต่งตัวเพี้ยนๆ ของเธออาจจะเป็นการยากสักนิดสำหรับการไปสู่จุดหมายที่เธอหวังไว้

“คุณมีแค่ชีวิตเดียว คุณมีหน้าที่ต้องใช้ชีวิตให้เต็มที่ที่สุดนะ” วิล เทรเนอร์ มอบคำแนะนำนี้ให้แก่ ลูอิซ่า คลาร์ก มันอาจเป็นเพียงประโยคธรรมดาประโยคหนึ่ง แต่สำหรับเขาและเธอ มันคงมีความหมายมากกว่านั้น สิ่งที่วิล เทรเนอร์ มอบให้แก่ลูอิซ่า คลาร์ก คงมิใช่คำแนะนำ หากแต่เป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์บางอย่างของลูกับสิ่งรอบๆ ตัวของเธอที่เธอจะต้องตระหนัก การที่จะเข้าใจถึง "การมีชีวิต" และ "การใช้ชีวิตอย่างเต็มที่" ประการหนึ่งคือความเข้าใจต่อตำแหน่งแห่งที่ของตนในโลก และวิล เทรเนอร์ก็นำพาเธอเข้าสู่โลกใบใหม่ อย่างน้อยก็ในโลกที่มีแต่เขาและเธอ ในแง่หนึ่งการนิยามความหมายในชีวิตของลูเกิดขึ้นจากความเข้าใจที่เขามีต่อวิล ความเข้าใจที่ว่าคือความเข้าใจต่อความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเธอที่เปลี่ยนไป อย่างน้อยก็มิใช่ในฐานะของนายจ้างกับลูกจ้าง หากแต่ในฐานะของคนสองคนที่มีความรู้สึกดีๆ ให้แก่กัน การสูญเสียวิลจึงมิใช่แค่การสูญเสียใครบางคนในชีวิต หากแต่เป็นการสูญเสียความหมายบางอย่างในชีวิตไปด้วย ในตอนท้ายๆ ก่อนที่วิลจะตาย การที่วิลบอกให้ลูเปิดประตูออกไป มันจึงเปรียบเสมือนการออกไปสู่โลกใบใหม่ หรือในอีกแง่หนึ่งคือการตระหนักถึงความสัมพันธ์ชุดใหม่ๆ ในโลกที่ไม่มีวิล และการเกิดขึ้นและผ่านไปของอะไรบางอย่าง มันจะเหลือเพียงร่องรอยที่ทิ้งเอาไว้พร้อมกับความทรงจำบางชุด มันทำได้เพียงย้ำเตือนว่ามีบางสิ่งบางอย่าง "เคย" เกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งการประเมินคุณค่าที่แตกต่างออกไป และสุดท้ายสำหรับลูอิซ่าแล้ว ชีวิตของเธอก็ยังคงต้องเดินหน้าต่อไป โดยมีเขาอยู่ในความทรงจำ

5.
ผมซื้อตั๋วเข้าไปดู Me Before You ด้วยความคาดหวังว่ามันจะเป็นหนังรักน้ำเน่าเรื่องหนึ่งที่จะช่วยเยียวยาความรู้สึกบางอย่างที่สับสนในชีวิตของผมช่วงนี้ได้ แน่นอนผมไม่ผิดหวังกับมัน ถึงแม้ว่าบทหนังที่ขัดใจนิดๆ การเดินเรื่องช้าๆ ในช่วงแรก กับหลายๆ จุดที่คิดว่ามันน่าจะทำได้ดีและชัดเจนกว่านี้ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างวิลกับลูที่จะนำไปสู่การตัดสินใจในตอนท้ายของทั้งสองคน หากในตัวบทมีการให้น้ำหนักตรงจุดนี้มากขึ้น มันอาจทำให้การตัดสินใจตอนสุดท้ายของทั้งวิลและลูมีน้ำหนักและสร้างอิมแพ็คกับคนดูได้มากกว่านี้ แต่อย่างไรก็ตาม การคุมอารมณ์ของหนังที่ดีมากกับเพลงเพราะๆ และฉากฟินๆ ฮาๆ ทั้งหลายที่ใส่ลงมาอย่างลงตัว มันก็ไม่ได้ทำให้หนังเรื่องนี้ดูแย่ไปทั้งหมดหรอก และมันก็สร้างความรู้สึกดีๆ หลังจากออกจากโรงได้ไม่น้อยเลยด้วย

สุดท้ายแล้ว หกเดือนก่อนที่ความตายของวิลจะมาถึง การเข้ามาของลูมิใช่เพียงแค่การเยียวยาความเลวร้ายบางอย่างในชีวิตของวิลเพียงเท่านั้น แต่มันกลับเป็นการเยียวยาสำหรับเราในฐานะคนดูอีกด้วย อย่างน้อยที่สุดมันคือการสะกิดให้ย้อนกลับมาดูชีวิตของเราและใช้ชีวิตอย่างคู่ควรก่อนที่อะไรๆจะสายเกินไป