วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2560

ดาวคะนอง" กับภาวะประติดประต่อของความทรงจำ


ภาวะของการแตกกระจาย กระจัดกระจาย ไม่ลงรอย คงมิใช่ความผิดพลาด หากแต่คือความจงใจ แน่นอน หากใครบอกว่าสามารถเข้าใจมันทั้งหมด คงต้องโกหกเป็นแน่ ยิ่งพยายามจะประติดประต่อ ยิ่งไม่สามารถประติดประต่อ ไม่ต่างอะไรกับความทรงจำ ที่มิอาจจดจำทุกแง่ทุกมุมของเรื่องราวในโลกแห่งความจริง สิ่งที่หลงเหลืออยู่มีเพียงเรื่องราวบางเรื่อง คำพูดบางคำ และบางเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง หากบอกว่าหนังดูไม่รู้เรื่อง มันก็คงไม่ใช่ความผิด ในแง่หนึ่ง ภาพยนตร์มิใช่กระจกสะท้อนความเป็นจริง ในขณะเดียวกันโลกร่วมสมัยก็ผลักมันออกไปจากหนาที่เพียงแค่การบอกเล่าเรื่องราว เช่นเดียวกับดาวคะรอง สิ่งที่ภาพยนตร์ต้องการสื่อสารอาจมิใช่เรื่องราว หากแต่เป็นสภาวะที่เราต้องร่วมค้นหาไปกับภาพยนตร์

หนังเริ่มต้นด้วยเรื่องราวของ 6 ตุลา หากแต่มันมิใช่ภาพเรื่องราวจริงหรอแสดงให้เหมือนจริง แต่มันคือการแสดงซ้อนการแสดง การแสดงที่จงใจให้รู้ถึงการแสดง ถ้อยคำสัมภาษณ์ของ "แต้ว" นักเขียนและอดีตนักกิจกรรมสมัย 6 ตุลา ตลอดจนการ "แสดง" ในอีกต่อหนึ่งในเรื่องราวของแต้วและแอน เน้นย้ำการเล่าเรื่องราวในฐานะของภาพตัวแทนที่ไม่ลงรอย แนบชิด ปิดสนิทอย่างแนบเนียน ความเที่ยงตรงที่อาจไม่เที่ยงตรง แต้วตัวจริงที่แตกต่างจากแต้วตัวแสดงผู้เลอเลิศไปด้วยการแต่งกาย สิ่งเหล่านั้นมันคือการบอกเล่าความทรงจำแก่เราในฐานะบุคคลที่สามตามตัวอักษร โดยรับสารในฐานะของข้อมูลทุติยภูมิที่ถูกถ่ายทอดมาอีกต่อหนึ่ง การตัดสลับกันระหว่างถ้อยสัมภาษณ์ของแต้วกับเรื่องราวของกลุ่มนักศึกษาที่มิอาจแน่ใจได้ว่าคือการย้อนอดีตหรือการแสดงในอีกต่อหนึ่งเน้นย้ำถึงภาวะกระจัดกระจาย ผสมผสาน ของความทรงจำ ที่มันมีทั้งเรื่องเล่า ทั้งความทรงจำ ทั้งความเป็นจริง ต่างผสมปนเปกันอย่างมิอาจจำแนก ภาพของบ้านไม้ผุพังในตอนต้น ตลอดจนภาพของเห็ดราที่ถูกเน้นย้ำ สะท้อนนัยของความเน่าเปื่อย ผุพัง อาจเป็นการวิพากษ์ถึงความทรงจำของ 6 ตุลา ที่ดูจะ "เน่าเปื่อย ผุพัง" ในปัจจุบัน

ในขณะเดียวกัน เรื่องราวของคู่รักดาราที่ดูเป็นอีกเส้นเรื่องที่มิอาจแนบชิดปิดสนิทกับเรื่องราว 6 ตุลา แต่ดูเหมือนทั้งสองเรื่องราวต่างถูกเชื่อมกันด้วยตัวละครอย่างแอนผู้กำกับ แต่แอนผู้กำกับก็มิใช่คนเดียวกับแอนที่สัมภาษณ์แต้ว หรือแอนที่ถ่ายทอดเรื่องราวของแอนและแต้ว มันจึงเป็นเรื่องราวที่ดูหลากเลื่อน เลื่อนไหล รางเลือน เช่นเดียวกับความทรงจำของ 6 ตุลาที่ถูกรายล้อมด้วยเรื่องราวต่างๆ อีกตัวละครหนึ่งที่น่าสนใจคือสาวปริศนาคนหนึ่งที่ปรากฏตัวอยู่ตลอดเรื่องในบทบาทที่แตกต่างกัน ซึ่งบทบาททั้งหมดอาจจัดได้ว่าอยู่ในสถานะที่เป็นชนชั้นแรงงาน และดูเหมือนไม่มีตัวตนในยามปกติแม้กับคนดู โดยทั่วไปแล้ว หากเราชมภาพยนตร์ เรามักจะไม่จดจำบทบาทของคนทั่วไปที่ดูจะเป็นเพียงตัวประกอบ แต่ "ดาวคะนอง" กลับเน้นย้ำและดูเหมือนว่าสาวปริศนาคนนั้นจะเป็นตัวเชื่อมเรื่องราวทั้งหมด และเช่นเดียวกัน หากพิจารณาจากบริบทรายล้อม การจ้องโดมธรรมศาสตร์และความพร่าเลือนของสัญญาณตอนท้ายคือการเน้นย้ำถึงเรื่องเล่าของภาพยนตร์ที่มิได้ผลิตซ้ำเรื่องราวจากหน้าประวัติศาสตร์ แต่เป็นเพียงความรางเลือนที่ไม่ชัดเจนรายรอบชีวิตประจำวันของคนทั่วไป หญิงสาวปริศนาจึงอาจเป็นตัวแทนของผู้ชม ที่คงมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับหน้าประวัติศาสตร์ แต่เพียงแค่เฝ้ามองจากสายตาปกติธรรมดา ในอีกแง่หนึ่งภาพยนตร์มีนัยของการมองประวัติศาสตร์โดยเรียกร้องและยกสถานะคนธรรมดาและเรื่องราวที่รายล้อมให้ขึ้นมามีตัวตนในประวัติศาสตร์นั่นเอง

From Bangkok to Mandalay : ว่าด้วย "ความทรงจำ" ของจดหมายและประวัติศาสตร์


คงมิใช่เรื่องบังเอิญที่เรื่องราวความรักเกิดขึ้นใน "กรุงเทพฯ" และ "มัณฑเลย์" อันเป็นเมืองในไทยและพม่า เมื่อพิจารณากลับยังประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในอดีต การพูดถึงความรักจึงแปลกแยกออกจากประวัติศาสตร์ที่ไทยและพม่าดูจะเป็นคู่ขัดแย้งกันตั้งแต่อดีตกาล ในขณะที่ประวัติศาสตร์เป็นเพียงความทรงจำที่มิอาจจำได้ทุกรายละเอียด ความรักที่เคยเกิดขึ้นก็และจบลงไปก็เหลือเพียงความทรงจำในจดหมายเช่นเดียวกัน

หากประวัติศาสตร์คือ History เราก็คงมิอาจแยกมันออกจากความทรงจำได้ ด้วยรากของ History คือ Historia อันหมายถึงการไต่สวนหรือค้นคว้า ซึ่งแน่นอนว่าในกระบวนการไต่สวนหรือค้นคว้าจำเป็นต้องอาศัยมนุษย์ หากข้อจำกัดของมนุษย์คือความทรงจำอันมิอาจจดจำในทุกรายละเอียด ประวัติศาสตร์ก็มิอาจเรียกได้ว่าเป็นความจริง แต่กระนั้นสถานะของประวัติศาสตร์และสถานะของจดหมายก็ยังมิอาจเท่ากัน เมื่อการเขียนจดหมายสามารถเกิดขึ้นจากความทรงจำของเอกบุคคล แต่ประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับอำนาจ หลักฐาน และคนอีกมากมาย จดหมายจึงมิอาจมีที่ยืนในประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับเรื่องราวของบุคคลเล็กๆ รากฐาน อดีต และวัฒนธรรมของคนไร้อำนาจที่มิอาจมีอำนาจในพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่อาศัยอำนาจอันสูงส่งของการนิยาม

การตายของย่าคือการจบสิ้นของอดีต ในขณะที่ "ปิ่น" ในฐานะคนที่ยังอยู่กลับมีหน้าที่ในการเข้าไปไต่สวนหรือค้นคว้ากับเรื่องราวของอดีตอันเหลือเพียงหลักฐานจากจดหมาย ในแง่นี้จดหมายในภาพยนตร์คงมีสถานะไม่ต่างจากประวัติศาสตร์ หากแต่ประวัติศาสตร์นี้มิใช่ประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่มันคือประวัติศาสตร์ของเอกบุคคลที่เคยใช้ชีวิตในสองประเทศ สองวัฒนธรรม ในแง่หนึ่งการเป็นบุคคลที่ใช้ชีวิตในสองประเทศและสองวัฒนธรรมเป็นการเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์บางอย่าง มิใช่เพียงแต่ในประวัติศาสตร์ของเอกบุคคลหรือความทรงจำที่หลงเหลืออยู่ แต่ในฐานะของความสัมพันธ์ของทั้งสองวัฒนธรรมอันมีพื้นที่อยู่ใกล้ชิดติดกัน สถานะของย่าอันมิอาจบอกได้ถึงเชื้อชาติหรือสถานะทางกฏหมายที่หนังจงใจละมันจากการรับรู้ของผู้ชม ในขณะเดียวกันการละนั้นคือการละออกจากการรับรู้ถึงรากและชาติกำเนิดของย่าจากปิ่นผู้เป็นหลานด้วยเช่นกัน มันคือการเน้นย้ำถึงการไม่เคยคิดถึงอดีตทางสายเลือดของคนที่มีชีวิตอยู่ หรือในภาพตัวแทนของคนไทย ซึ่งอันที่จริงแล้ว ทั้งคนไทยและประเทศเพื่อนบ้านอุษาคเนย์มีความใกล้ชิดกันมาตลอด มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดอันผสมปนเป แต่สิ่งเหล่านี้กลับอยู่นอกเหนือการรับรู้ เพราะไม่เคยมีใครชวนให้สืบค้นหรือตระหนักรู้ การที่ปิ่นย้อนกลับไปสืบเสาะหาเรื่องราวในอดีตของย่าจึงมิใช่การย้อนกลับไปค้นหาอดีตทางสายเลือดของปิ่นเท่านั้น แต่มันคือการนำผู้ชมย้อนกลับไปสืบเสาะ พิจารณา และครุ่นคิดเกี่ยวกับอดีตของทั้งสองชาติด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะจากการรับรู้ในอดีต หรือคำบอกกล่าวจากภาพยนตร์ที่กำลังบอกกล่าวถึงเรื่องราวในอดีต

การที่ความรักของนันดะกับธูซาเกิดขึ้นในปีสุดท้ายที่พม่ามีการเลือกตั้ง ก่อนจะเข้าสู่ยุคเผด็จการทหารพร้อมกับการล่มสลายลงของความรักของทั้งคู่ ในแง่หนึ่งมันชวนให้คิดถึงภาพยนตร์ไทยในอดีตอย่าง October Sonata ความรักอันงดงามเกิดขึ้นและล่มสลายลงอันเป็นการเล่นล้อกับการเกิดขึ้นและล่มสลายลงของเสรีภาพและประวัติศาสตร์การเมือง การตายลงของความรักระหว่างทั้งนันดะและธูซาเล่นล้อกับการล่มสลายลงของเสรีภาพทางการเมืองในพม่าเช่นเดียวกับความรักของรวีและแสงจันทร์ที่พังลงพร้อมกับการล่มสลายของเสรีภาพหลังเหตุการณ์เดือนตุลา หากพิจารณาอย่างระมัดระวังแล้ว ทั้งความรักและเสรีภาพมักจะถูกใช้อย่างเกี่ยวข้องมันมาตลอด อาจเป็นเพราะการเกิดขึ้นของความรักเองจำเป็นต้องอาศัยเสรีภาพในการเลือกที่จะรักด้วยเช่นกัน ทั้งสองเรื่องเก็บซ่อนแง่มุมทางการเมืองไว้อย่างมิดชิดไว้เบื้องหลังความรัก เหลือเพียงโศกนาฏกรรมของความรักที่บอกกล่าวสารบางอย่างของผู้ชมในฐานะตัวแทนของโศกนาฏกรรมทางการเมือง และสุดท้ายภาพยนตร์ก็ชี้ให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ไม่เคยมีเสรีภาพและไม่เคยแยกออกจากอำนาจ ปีศาจอย่างธูซาก็มิอาจต้านทานอำนาจของศักดินาได้ฉันใด ความทรงจำที่ไม่เคยมีที่ยืนในประวัติศาสตร์ก็มิอาจมีพลังนิยามเหนือประวัติศาสตร์อันมีพลังล้นเหลือไปได้ แต่ภายใต้คู่ขัดแย้งดังกล่าว ชีวิตยังคงต้องเดินต่อไป แม้จะเจ็บปวดสักเพียงไหน เช่นเดียวกับการตัดสินใจของธูซาที่จำต้องแต่งงานกับชายกรุงเทพที่ตนมิได้รัก แม้มันจะเจ็บปวด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางสิ่งมันเคยเกิดขึ้นและเป็นบาดแผล แต่ชีวิตธูซาและชีวิตของทุกคนก็ยังคงต้องเดินต่อไป

การสร้างเรื่องเล่าจากจดหมาย ในแง่หนึ่งคือการสร้างเรื่องเล่าจากความทรงจำ นัยของประวัติศาสตร์จึงปรากฏอยู่ชัดเจน แต่ประวัติศาสตร์ในภาพยนตร์คือประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ของบุคคลที่เต็มไปด้วยความรักและโศกนาฏกรรมอันแตกต่างไปจากประวัติศาสตร์กระแสหลักที่เต็มไปด้วยอำนาจและความเกลียดชัง

"Kimi no nawa"


1. ว่าด้วยการสลับร่าง : ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นของชนบทและสังคมเมือง

ในช่วงปลายปี 2559 คงไม่มีภาพยนตร์เรื่องไหนเป็นกระแสโด่งดังเท่ากับภาพยนตร์แอนิเมชันจากญี่ปุ่นเรื่องหนึ่ง อันเป็นผลงานของ Makoto Shinkai ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนั้นคือ Kimi no nawa หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Your Name และชื่อภาษาไทยว่า “หลับตาฝัน ถึงชื่อเธอ" ภาพยนตร์ดังกล่าวทำลายสถิติรายได้เปิดตัวในช่วงสุดสัปดาห์ของประเทศญี่ปุ่น โดยกวาดรายได้ไปเกือบ 1 พันล้านเยน

Kimi no nawa เป็นเรื่องราวของตัวละคร 2 คน คือ มิตสึฮะ และ ทาคิ ความห่างไกลและแตกต่างพาทั้งสองมาพบกันผ่านการ “สลับร่าง” แน่นอนว่าพลอตดังกล่าวคงมิใช่พลอตที่แปลกใหม่นัก และมักจะพบได้ในละครหลังข่าวที่เป็นที่ถูกอกถูกใจชาวเมือง แต่อย่างไรก็ตาม Kimi no nawa ก็คงมิใช่เพียงแค่นวนิยายน้ำเน่าที่หวังเพียงการสร้างความ “ฟิน” แต่เบื้องหลังผลงานของ Shinkai มีเรื่องราวอยู่มากมายหลายอย่าง ความโดดเด่นและแปลกแยกอย่างจงใจในบางฉากบางตอนเรียกร้องผู้ชมให้ค้นหาความหมายบางอย่างอันซ่อนอยู่เบื้องหลังความ “ฟิน” ของตัวบทภาพยนตร์

การสลับร่างดูเป็นพลอตที่ธรรมดาซ้ำซากในละครน้ำเน่าหลังข่าว เหตุใดผู้ชมถึงรู้สึกกระดี๊กระด๊าและชื่นชอบจนกลายเป็นกระแสเช่นนั้น หากเราพิจารณาว่าการสลับร่างมิใช่ประเด็นหลักแต่คือความจำเป็นในการเสนออะไรบางอย่าง การสลับร่างของทั้งมิตสึฮะและทาคิจึงเป็นเสมือนการสื่อสารถึงความหมายบางประการอันมากไปกว่านั้น

ทำไมต้องเป็นมิตสึฮะและทาคิมันไม่ยากหากตอบแบบกำปั้นทุบดินว่าเพราะมิตสึฮะเป็นนางเอก และทาคิเป็นพระเอก แต่หากพิจารณาลึกลงไปอีก มิตสึฮะอาศัยอยู่ในเมืองอิโตโมริซึ่งตามบริบทของภาพยนตร์บ่งบอกว่าน่าจะเป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลจากความเป็นเมืองหรืออีกนัยหนึ่งเป็นเมืองชนบทเล็กๆ ที่ทุกคนรู้จักกัน การเน้นย้ำความ “ไม่มีอะไร” ด้วยการอธิบายว่ารถไฟมาทุกๆ 2 ชั่วโมง ร้านสะดวกซื้อปิด 3 ทุ่ม ทั้งเมืองไม่มีร้านหนังสือ ไม่มีหมอฟัน แต่ยังมีผับ 2 แห่งด้วยเหตุผลบางอย่างอันไม่บอกแน่ชัด เราอาจอนุมานจากข้อมูลที่ตัวภาพยนตร์ให้มาได้ว่าลักษณะของเมืองอิโตโมริเป็นเมืองที่ยังไม่พัฒนาเมื่อเทียบกับเมืองหลวงอย่างโตเกียวอันเป็นที่อยู่ของทาคิ ร้านสะดวกซื้อที่ปิด 3 ทุ่มบ่งบอกถึงบริบทที่ไร้ชีวิตยามค่ำคืน การไม่มีทั้งร้านหนังสือและหมอฟันอันเป็นตัวแทนขององค์ความรู้ในสังคมสมัยใหม่เน้นย้ำถึงภาวะของความไม่เป็นสมัยใหม่ในเมืองอิโตโมริ และนัยดังกล่าวยังถูกเน้นย้ำด้วยข้อมูลของตัวละครอย่างมิตสึฮะที่เกิดขึ้นในครอบครัวอันเป็นทายาทของศาลเจ้ามิยะมิซึ (宮水神社) อีกทั้งชีวิตของมิตสึฮะและครอบครัวยังเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมหลายๆ อย่าง เช่น การถักเชือก พิธีกรรมของศาลเจ้า ตลอดจนการเป็นผู้สืบทอด สิ่งเหล่านี้ขัดแย้งกับเรื่องราวของทาคิอย่างตรงกันข้าม

หากมิตสีฮะเป็นตัวแทนของชนบท ในขณะที่ทาคิเป็นตัวแทนของสังคมเมือง การสลับร่างดังกล่าวคงดูราวกับเป็นการเติมเต็มอะไรบางอย่าง แต่สำหรับ kimi no nawa การสลับร่างดังกล่าวอาจมิใช่การเติมเต็มอะไรบางอย่างที่สมดุลกันระหว่างชาวเมืองกับชนบท ภาพของสังคมเมืองดูจะไม่ได้ถูกสนใจมากนัก สังคมเมืองจึงแตกต่างกับชนบทเพียงแค่ผู้คนและเทคโนโลยีที่แตกต่าง ในขณะที่สำหรับสังคมชนบทมีลักษณะเป็นสภาพสังคมแบบเก่าที่ค่อนข้างปิดและแปลกแยกออกจากสังคมอื่นๆ อีกทั้งยังคงบูชาเทพเจ้า การเติมเต็มดังกล่าวจึงดูเป็นการเติมเต็มเพียงแค่มิตสึฮะเพียงฝ่ายเดียว ในขณะที่ประสบการณ์แปลกใหม่ของทาคิมิได้เป็นการเติมเต็มความปรารถนา หากแต่เป็นเพียงประสบการณ์เพิ่มเติมที่คนเมืองได้มีโอกาสไปเห็นชนบทเสียมากกว่า การสลับร่างจึงยังคงเน้นย้ำถึงความเหลื่อมล้ำและแตกต่างของชาวเมืองและชนบทอย่างชัดเจน ในขณะที่ชาวชนบทต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นโดยการเข้าไปสู่สังคมเมือง แต่การออกไปสู่ชนบทของชาวเมืองมิได้มีอะไรสลักสำคัญนอกเหนือไปจากการเป็นประสบการณ์ชุดหนึ่ง ที่ถูกหลงลืมโดยท้ายที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ตัวหนังก็ยังแอบแฝงไปด้วยน้ำเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมเมืองอันนำไปสู่ความโดดเดี่ยว การที่สามารถรักคนที่ไม่รู้จักกันอันมาจากดินแดนที่ไม่รู้จักเลย เน้นย้ำถึงความสมบูรณ์แบบของเมืองอันนำมาสู่สภาวะขาดพร่องในตัวเอง เราจึงสามารถรักสิ่งที่แตกต่างหรือสิ่งที่ไม่รู้จักได้นั่นเอง

ถ้าเรามองในกรอบของความแตกต่างระหว่างสังคมชนบทและสังคมเมือง ดูเหมือนว่าภาพยนตร์จะเน้นย้ำถึงประเด็นนี้อยู่เสมอๆ ภาพความขัดแย้งของวิถีชีวิตชนบทและสังคมเมืองยังถูกเน้นย้ำด้วยความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวทายาทศาลเจ้าของมิตสึฮะกับพ่อผู้เป็นนายกเทศมนตรี ถึงแม้ว่าจะยังมีความขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา และท้ายที่สุด ความเหลื่อมล้ำของสังคมชนบทและสังคมเมืองนั้นมีอยู่จริง การสลับร่างระหว่างทั้งสองจึงเป็นความแปลกแยกที่ต่อไม่ติดในครั้งแรกๆ อีกทั้งการช่วยเหลือชาวเมืองอิโตโมริในเหตุการณ์ดาวตกจากทาคิ ตลอดจนการพยายามเรียกร้องความช่วยเหลือจากนายกเทศมนตรี แสดงให้เห็นว่า สังคมชนบทยังคงต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากความเจริญในสังคมเมืองต่อไป

2. ว่าด้วย “มิซูบิ” 

ดูเหมือนว่าเรื่องราวเกือบทั้งหมดของภาพยนตร์แอนิเมชัน Kimi no nawa จะเกี่ยวข้องกับมิซูบิเกือบทั้งหมด อาจไม่ผิดนักหากกล่าวว่าหัวใจสำคัญของภาพยนตร์ที่เป็นตัวเดินเรื่องราวทั้งหมดนั้นก็คือมิซูบิ และมิซูบิปรากฏอยู่ในทั่วทุกอณูของภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

อะไรคือมิซูบิ ภาพยนตร์พูดถึงความหมายของมิซูบิในตอนที่มิตสึฮะ ยาย และยทสึฮะน้องสาวเดินทางไปบนเขาเพื่อหาเทพเจ้าและเข้าสู่แดนยมโลก มุซึบิคือความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ การเชื่อมสัมพันธ์ต่อสิ่งต่างๆ ระหว่างมนุษย์ เทพเจ้า ธรรมชาติ หรือแม้แต่การเวียนว่ายของกาลเวลา ภาพยนตร์อาศัยการถักเชือกเป็นสิ่งที่อธิบายมิซูบิได้อย่างน่าสนใจ การถักเชือกเป็นภาวะที่เชือกมาบรรจบต่อเป็นรูปร่าง หมุนเป็นเกลียว พันกันยุ่งเหยิง หลายครั้งก็คลายออก ขาด และเชื่อมกันอีกครั้ง เชือกเป็นตัวแทนของเวลา และสิ่งเหล่านี้คือมิซูบิ และเมื่อทั้งเชือกและเวลาเป็นมิซูบิ จึงนำมาสู่ความสัมพันธ์โยงใยข้ามกาลเวลาของทั้งมิตสึฮะและทาคิ

หากการสลับร่างระหว่างมิตสึฮะและทาคิก่อให้เกิดความสัมพันธ์กัน การพบพาน จากพราก และพบกันใหม่ สิ่งเหล่านี้สะท้อนนัยของมิซูบิอย่างชัดเจน การเทียบมิซูบิกับภาวะของการถักเชือก ทั้งการหมุนเป็นเกลัยว พัน ขาด และเชื่อมกัน สะท้อนให้เห็นถึงภาวะของการควบคุมไม่ได้ของมิซูบิ การพบกันระหว่างมิตสึฮะและทาคิจึงถูกอธิบายผ่านภาวะของการอธิบายไม่ได้ของมิซูบิ การที่ทั้งสองสลับร่างกันก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกัน การสลับร่างผ่านการนอนหลับและความฝันสะท้อนให้เห็นถึงสถานะของความฝันในฐานะมิซูบิ ในขณะที่เราฝัน เราพบเจอกับประสบการณ์อีกชุดหนึ่ง อาจเป็นคนที่เราเคยเจอ สิ่งในจินตนาการ หรือประสบการณ์ในอดีต การเชื่อมโยงเราเข้ากับประสบการณ์ดังกล่าว จึงทำให้ความฝันเป็นมิซูบิเช่นเดียวกับความฝันที่ทำให้มิตสึฮะและทาคิรับรู้ถึงประสบการณ์ของกันและกันนั่นเอง นอกจากนี้การแทนที่มิซูบิด้วยเส้นเชือก สะท้อนถึงการคล้ายกันระหว่างเส้นเชือกกับลักษณะของดาวหาง การพบกันของทั้งสองเริ่มต้นขึนด้วยเรื่องราวของดาวหางอันสังเกตได้จากเรื่องราวของดาวหางที่ปรากฏขึ้นในข่าวโทรทัศน์ ในขณะเดียวกันภายหลังจากเหตุการณ์ที่ดาวหางตก การพบกันและสลับร่างกันของทั้งสองก็จบสิ้นลง

นัยของมิซูบิยังคงถูกเน้นย้ำด้วยเรื่องราวของครอบครัวมิตสึฮะ การเป็นทายาทของครอบครัวศาลเจ้าเน้นย้ำถึงนัยของมิซูบิที่มีอย่างเหลือล้นในสังคมดั้งเดิม ศาลเจ้าเป็นสถานที่ที่ผู้คนต่างๆ เข้ามามีประสบการณ์ร่วมกัน เกิดความสัมพันธ์ เหตุการณ์ และประสบการณ์ต่างๆ ศาลเจ้าจึงมีบทบาทในการเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันผ่านประเพณีต่างๆ ในแง่นี้ศาลเจ้าและประเพณีจึงเป็นมิซูบิ นอกจากนี้นัยของมิซูบิยังถูกเน้นย้ำด้วยภาวะของการสืบทอดในครอบครัวของมิตสึฮะ ถึงแม้ความหมายต่างๆ ของประเพณีจะสูญหายไปจากสภาวะและเหตุการณ์ แต่การสืบทอดคือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างปัจจุบันกับอดีต ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวก็คือมิซูบิ และนอกจากนี้ มิซูบิยังทำให้มิตสึฮะและทาคิได้พบกันอีก คุชิคามิสาเกของมิตสึฮะที่ถูกนำไปวางทิ้งไว้ในร่างของเทพเจ้าที่ยมโลกถูกนิยามว่าเป็นมิซูบิ สาเกนั้นเป็นเสมือนครึ่งชีวิตของมิตสึฮะ และอีกนัยหนึ่งสาเกนั้นคือสิ่งที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า สาเกนั้นจึงเป็นมิซูบิ และนัยความเป็นมิซูบิของสาเกถูกเน้นย้ำจากการที่ทาคิมาดื่มสาเกเข้าไปและได้สลับร่างกัน

นอกจากนี้สิ่งที่ถูกนิยามในฐานะของมิซูบิอีกอย่างหนึ่งก็คือช่วงเวลาสนธยา ในตอนต้นของเรื่อง สภาวะของสนธยาถูกอธิบายผ่านการสร้างคำในภาษาญี่ปุ่น tasokare อันเป็นคำถามว่านั่นคือใคร ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า tasogare-doki ซึ่งหมายถึงท้องฟ้าที่มีแสง คำที่เก่ากว่านั้นคือ karetaso จากความหมายดังกล่าว สนธยาจึงเป็นช่วงเวลาแห่งการพบกับสิ่งที่ไม่เคยพบ อาจจะเป็นมนุษย์ ภูติ หรือสิ่งอื่นๆ ในความเชื่อดั้งเดิมสนธยาเป็นมิซูบิอยู่แล้ว แต่ในภาพยนตร์นัยของมิซูบิเองก็ถูกเน้นย้ำผ่านการพบกันครั้งสุดท้ายระหว่างมิตสึฮะและทาคิ ถึงแม้ทั้งสองจะอยู่คนละช่วงเวลา แต่ก็สามารถมาพบกันได้ในยามสนธนา ทั้งนี้การพบพาน จากพราก และพบกันใหม่ สิ่งเหล่านี้คือ "มิซูบิ" นั่นเอง

3. ชื่อ ความทรงจำ และบุพเพสันนิวาส : หลับตาฝัน ถึงชื่อเธอ

อีกสิ่งหนึ่งที่ดูจะเป็นประเด็นสำคัญในเรื่องก็คือเรื่องของเชือกสีแดงที่ปรากฏคล้องระหว่างทั้งสองทั้งในเพลงนำเรื่องของภาพยนตร์และในเหตุการณ์ที่มิตสึฮะและทาคิได้พบกันครั้งแรก เชือกสีแดงดังกล่าวทำให้เราสามารถโยงกลับไปถึงความเชื่อเรื่องด้ายแดงในวัฒนธรรมตะวันออก ทั้งนี้ด้ายแดงเป็นตัวแทนของคู่แท้ พรหมลิขิต หรือบุพเพสันนิวาส โดยเชื่อกันว่าบุคคลที่เกิดมาเป็นคู่กันจะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันผ่านด้ายแดงที่มองไม่เห็น ซึ่งด้ายแดงแห่งโชคชะตานี้จะเชื่อมโยงกับทั้งสองฝ่ายตลอด ไม่ว่าทั้งคู่จะอยู่ที่ใด ณ เวลาใด หรือชาติภพใดก็ตาม ด้ายแดงนี้อาจจะยืดตึง หรืออาจจะพันกันได้ แต่ไม่อาจตัดขาดออกจากกันได้ การที่มิตสีฮะและทาคิถูกเชื่อมโยงด้วยด้ายแดงในการพบกันครั้งแรกจึงเปรียบเสมือนการสร้างความสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ระหว่างกัน ในแง่นี้ทั้งด้ายแดงและบุพเพสันนิวาสจึงถูกนิยามให้เป็นมิซูบิ สิ่งที่หลงเหลืออยู่ในเชือกแดงที่มิตสึฮะทิ้งไว้ให้กับทาคิก็คือประสบการณ์บางอย่างของทั้งสองคน ในแง่หนึ่งถึงแม้การสลับร่างกันของทั้งสองจะเป็นเรื่องที่อธิบายได้ยาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เชื่อมทั้งสองเข้าด้วยกันก็คือมิซูบิ ในด้านหนึ่งคือชุดประสบการณ์บางอย่างที่แฝงฝังอยู่ในเหตุการณ์รายรอบด้ายแดงที่ทาคิได้ครอบครองเอาไว้ อีกด้านหนึ่งคือภาวะของความปรารถนาที่มีต่ออะไรบางอย่าง ความปรารถนานั้นนำพาให้เราสัมพันธ์กับอะไรบางอย่าง อย่างน้อยก็ผ่านภาวะทางจิตใจ ความปรารถนานั้นก็คือมิซูบิ ทั้งสองจึงถูกเชื่อมเข้าด้วยกันผ่านด้ายสีแดงและความปรารถนาของมิตสึฮะในการที่อยากไปใช้ชีวิตในเมืองอันเป็นมิซูบิ และความเชื่อมโยงของทั้งสองก็จบลง ภายหลังจากที่ทาคิได้คืนด้ายแดงให้กับมิตสึฮะ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นมิซูบิที่สำคัญอย่างที่สุดและทุกคนจะต้องมีสิ่งนี้ นั่นก็คือความทรงจำ เพราะความทรงจำเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างบุคคลกับเหตุการณ์หรือบุคคลกับบุคคล ความทรงจำที่ปรากฏขึ้นจึงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างบุคคลกับประสบการณ์ อาจจะเป็นประสบการณ์ในอดีตที่เคยเกิดขึ้น หรือในบางภาวะที่ความทรงจำนั้นเรือนลางเต็มทน การบิดเบือน ไม่ชัดเจน ทำให้ประสบการณ์บางอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นอาจกลายมาเป็นความทรงจำด้วยเช่นกัน ถึงแม้ในความเชื่อชินโต ความเชื่อชินโตจะถือว่า "ชื่อ" เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของวิญญาณ อีกนัยหนึ่งชื่ออาจเป็นการนิยามบุคคล บ่งบอกถึงภาวะของการจำได้/รู้จัก การที่ทั้งทาคิและมิตสึฮะ ลืม "ชื่อ" ของอีกฝ่ายเป็นอันดับแรก เป็นสัญญาณของการลืมเรื่องราวระหว่างกันไป และการที่จะเขียนชื่อไว้ไม่ให้ลืมกันเป็นความมุ่งหมายที่มิอยากให้ชื่อและความทรงจำอันเป็นมิซูบิที่เชื่อมสัมพันธ์กันนั้นหายไป แต่สุดท้ายเขาทั้งสองก็มิอาจต้านทานธรรมชาติของมิซูบิที่มีทั้งการพบพาน และการจากพรากอันเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์นั่นเอง