วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2560

ดาวคะนอง" กับภาวะประติดประต่อของความทรงจำ


ภาวะของการแตกกระจาย กระจัดกระจาย ไม่ลงรอย คงมิใช่ความผิดพลาด หากแต่คือความจงใจ แน่นอน หากใครบอกว่าสามารถเข้าใจมันทั้งหมด คงต้องโกหกเป็นแน่ ยิ่งพยายามจะประติดประต่อ ยิ่งไม่สามารถประติดประต่อ ไม่ต่างอะไรกับความทรงจำ ที่มิอาจจดจำทุกแง่ทุกมุมของเรื่องราวในโลกแห่งความจริง สิ่งที่หลงเหลืออยู่มีเพียงเรื่องราวบางเรื่อง คำพูดบางคำ และบางเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง หากบอกว่าหนังดูไม่รู้เรื่อง มันก็คงไม่ใช่ความผิด ในแง่หนึ่ง ภาพยนตร์มิใช่กระจกสะท้อนความเป็นจริง ในขณะเดียวกันโลกร่วมสมัยก็ผลักมันออกไปจากหนาที่เพียงแค่การบอกเล่าเรื่องราว เช่นเดียวกับดาวคะรอง สิ่งที่ภาพยนตร์ต้องการสื่อสารอาจมิใช่เรื่องราว หากแต่เป็นสภาวะที่เราต้องร่วมค้นหาไปกับภาพยนตร์

หนังเริ่มต้นด้วยเรื่องราวของ 6 ตุลา หากแต่มันมิใช่ภาพเรื่องราวจริงหรอแสดงให้เหมือนจริง แต่มันคือการแสดงซ้อนการแสดง การแสดงที่จงใจให้รู้ถึงการแสดง ถ้อยคำสัมภาษณ์ของ "แต้ว" นักเขียนและอดีตนักกิจกรรมสมัย 6 ตุลา ตลอดจนการ "แสดง" ในอีกต่อหนึ่งในเรื่องราวของแต้วและแอน เน้นย้ำการเล่าเรื่องราวในฐานะของภาพตัวแทนที่ไม่ลงรอย แนบชิด ปิดสนิทอย่างแนบเนียน ความเที่ยงตรงที่อาจไม่เที่ยงตรง แต้วตัวจริงที่แตกต่างจากแต้วตัวแสดงผู้เลอเลิศไปด้วยการแต่งกาย สิ่งเหล่านั้นมันคือการบอกเล่าความทรงจำแก่เราในฐานะบุคคลที่สามตามตัวอักษร โดยรับสารในฐานะของข้อมูลทุติยภูมิที่ถูกถ่ายทอดมาอีกต่อหนึ่ง การตัดสลับกันระหว่างถ้อยสัมภาษณ์ของแต้วกับเรื่องราวของกลุ่มนักศึกษาที่มิอาจแน่ใจได้ว่าคือการย้อนอดีตหรือการแสดงในอีกต่อหนึ่งเน้นย้ำถึงภาวะกระจัดกระจาย ผสมผสาน ของความทรงจำ ที่มันมีทั้งเรื่องเล่า ทั้งความทรงจำ ทั้งความเป็นจริง ต่างผสมปนเปกันอย่างมิอาจจำแนก ภาพของบ้านไม้ผุพังในตอนต้น ตลอดจนภาพของเห็ดราที่ถูกเน้นย้ำ สะท้อนนัยของความเน่าเปื่อย ผุพัง อาจเป็นการวิพากษ์ถึงความทรงจำของ 6 ตุลา ที่ดูจะ "เน่าเปื่อย ผุพัง" ในปัจจุบัน

ในขณะเดียวกัน เรื่องราวของคู่รักดาราที่ดูเป็นอีกเส้นเรื่องที่มิอาจแนบชิดปิดสนิทกับเรื่องราว 6 ตุลา แต่ดูเหมือนทั้งสองเรื่องราวต่างถูกเชื่อมกันด้วยตัวละครอย่างแอนผู้กำกับ แต่แอนผู้กำกับก็มิใช่คนเดียวกับแอนที่สัมภาษณ์แต้ว หรือแอนที่ถ่ายทอดเรื่องราวของแอนและแต้ว มันจึงเป็นเรื่องราวที่ดูหลากเลื่อน เลื่อนไหล รางเลือน เช่นเดียวกับความทรงจำของ 6 ตุลาที่ถูกรายล้อมด้วยเรื่องราวต่างๆ อีกตัวละครหนึ่งที่น่าสนใจคือสาวปริศนาคนหนึ่งที่ปรากฏตัวอยู่ตลอดเรื่องในบทบาทที่แตกต่างกัน ซึ่งบทบาททั้งหมดอาจจัดได้ว่าอยู่ในสถานะที่เป็นชนชั้นแรงงาน และดูเหมือนไม่มีตัวตนในยามปกติแม้กับคนดู โดยทั่วไปแล้ว หากเราชมภาพยนตร์ เรามักจะไม่จดจำบทบาทของคนทั่วไปที่ดูจะเป็นเพียงตัวประกอบ แต่ "ดาวคะนอง" กลับเน้นย้ำและดูเหมือนว่าสาวปริศนาคนนั้นจะเป็นตัวเชื่อมเรื่องราวทั้งหมด และเช่นเดียวกัน หากพิจารณาจากบริบทรายล้อม การจ้องโดมธรรมศาสตร์และความพร่าเลือนของสัญญาณตอนท้ายคือการเน้นย้ำถึงเรื่องเล่าของภาพยนตร์ที่มิได้ผลิตซ้ำเรื่องราวจากหน้าประวัติศาสตร์ แต่เป็นเพียงความรางเลือนที่ไม่ชัดเจนรายรอบชีวิตประจำวันของคนทั่วไป หญิงสาวปริศนาจึงอาจเป็นตัวแทนของผู้ชม ที่คงมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับหน้าประวัติศาสตร์ แต่เพียงแค่เฝ้ามองจากสายตาปกติธรรมดา ในอีกแง่หนึ่งภาพยนตร์มีนัยของการมองประวัติศาสตร์โดยเรียกร้องและยกสถานะคนธรรมดาและเรื่องราวที่รายล้อมให้ขึ้นมามีตัวตนในประวัติศาสตร์นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น