วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ว่าด้วย ความรัก จุดเริ่มต้น และจุดจบ กับภาพยนตร์ "Tomorrow I will date with yesterday you".


หากการเริ่มต้นเป็นการเริ่มต้นด้วยจุดจบและหากการจบเป็นการจบด้วยจุดเริ่มต้น จุดเริ่มต้นกับจุดจบอาจมิได้แตกต่างกัน ไม่เพียงแต่กับ "ทาคาโตชิ" และ "เอมิ" ผู้อยู่ต่างเส้นเวลา หากแต่ในอีกมุมหนึ่ง การจบลงของภาพยนตร์ Tomorrow I will date with yesterday you ก็ทำให้ผมคิดถึงคำถามจากตอนเริ่มต้นของภาพยนตร์ Arrival "ถ้าคุณรู้ทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ คุณจะเปลี่ยนแปลงอะไรมันหรือไม่"

ความรักดูจะเป็นเรื่องซับซ้อนและเรียบง่ายในเวลาเดียวกัน มันอาจเรียบง่ายในความรู้สึก หากแต่มันซับซ้อนในแง่คำอธิบาย เช่นเดียวกับการพบกันระหว่างทาคาโตชิและเอมิบนรถไฟวันหนึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้คงมิได้แตกต่างจากภาพยนตร์ชวนฝันเรื่องอื่นๆ ที่อาศัยความบังเอิญและสิ่งที่เรียกว่า "รักแรกพบ" เป็นจุดเริ่มต้น ทาคาโตชิก็ไม่สามารถตอบได้ว่าทำไมเขาถึงหลงรักเอมิ หากแต่ความรักคงมิได้เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะของการสบตา ความทรงจำต่างๆ ตลอดจนช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันหล่อหลอมมาเป็นคู่ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นชิดใกล้อย่างแยกกันไม่ออก อีกนัยหนึ่งการที่เราจะบอกว่าเรารักคนๆ หนึ่ง ภายใต้คำว่ารักมันประกอบขึ้นจากบริบทรายล้อมมากมายทั้งความรู้จักมักคุ้น ประสบการณ์ จนล่วงเลยมาถึงความทรงจำที่ทั้งสองมีร่วมกัน แต่สำหรับทาคาโตชิและเอมิ สิ่งเหล่านี้กลับแตกต่างออกไป การสวนทางกันระหว่างเส้นเวลาทั้งสองนำมาซึ่งความทรงจำสองชุดที่มีความคาบเกี่ยวกัน หากแต่ดำเนินไปต่างกัน ดูเหมือนว่าภาพยนตร์จะแตะประเด็นเจตจำนงเสรีอยู่เล็กน้อย เมื่อความทรงจำทั้งสองชุดต่างดำเนินในทิศทางที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับภาพยนตร์ที่เริ่มต้นจากการเล่าเรื่องผ่านพระเอก และจบลงผ่านการเล่าเรื่องของนางเอก เพราะความทรงจำของทั้งคู่ต่างเริ่มต้นที่จุดจบและจบที่จุดเริ่มต้นของอีกฝ่าย การดำเนินไปในอนาคต จึงการเดินทางกลับไปหาอดีต ซึ่งอนาคตของฝ่ายหนึ่งคืออดีตของอีกฝ่าย การดำเนินไปคือการประทับลงของความทรงจำ แต่กับอีกฝ่ายการดำเนินไปคือการหายไปของความทรงจำ คำถามเกิดขึ้นว่าแล้วอีกฝ่ายยังคงเป็นคนรักที่เรารู้จักหรือเปล่า การเริ่มต้นคือจุดจบในขณะที่จุดจบคือการเริ่มต้น การบอกเล่าเรื่องราวของแต่ละฝ่ายนำมาซึ่งการลิขิตไว้ของเหตุการณ์ที่ทั้ง "จะเกิดขึ้น" และ "จบลงไปแล้ว" และเมื่อทาคาโตชิตั้งคำถามกับความจำเป็นในการทำตามสิ่งที่ลิขิต อีกนัยหนึ่งคือการตั้งคำถามต่อความเป็นอิสระของชีวิตที่เรามีสิทธิ์จะลิขิตมัน เพราะในโลกสมัยใหม่มิอาจหลีกพ้นจากคำถามเหล่านี้ ความเป็นสมัยใหม่มาพร้อมกับการปราศจากพระเจ้า มนุษย์จึงสามารถลิขิตชีวิตตัวเองได้ หากแต่หลายครั้งเราเองก็เกิดคำถามกับมัน เมื่อชีวิตมิอาจเป็นไปตามที่เราต้องการได้เสมอไป

การบอกเล่าเรื่องราวของทั้งสองต่อกัน ในแง่หนึ่งทั้งสองคือคนผู้มาจากอนาคตของแต่ละฝ่าย การรับรู้เรื่องราวของแต่ละฝ่ายเปรียบเสมือนการรับรู้เรื่องราวของอนาคต มันจึงทำให้ผมคิดถึงคำถามจากตอนเริ่มต้นของภาพยนตร์ Arrival "ถ้าคุณรู้ทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ คุณจะเปลี่ยนแปลงอะไรมันหรือไม่" และทั้งทาคาโตชิและเอมิก็มิได้เลือกต่างกับ หลุยส์ แบงคส์ ใน Arrival ด้วยเหตุผลของความรัก แม้จุดเริ่มต้นคือจุดจบและจุดจบคือจุดเริ่มต้น แต่ระหว่างทางของมัน ความรักก็ยังคงมอบความสุขและสิ่งดีๆ หลงเหลือไว้ หลายครั้งระหว่างทางสำคัญยิ่งกว่าจุดหมาย และทั้งสองเลือกที่จะเก็บเกี่ยวมันระหว่างทางและอีกแง่หนึ่ง การตัดสินใจเช่นนี้คือการหยิบยื่นความงามของความรักกับอีกฝ่ายที่เป็นเพียงอดีต เมื่อวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายความรักได้อย่างหมดจด โลกสมัยใหม่จึงยังคงไม่มีที่ยืนให้กับความรัก และสุดท้ายแล้วความสามารถในการลิขิตชีวิตตัวเองตามความคิดที่มาพร้อมกับโลกสมัยใหม่ก็คงมิอาจไปด้วยกันกับความรักได้ แม้การเดินหน้าสู่อนาคตจะนำไปสู่อดีตของอีกฝ่าย อดีตซึ่งอาจมิใช่คนเดิมที่รู้จัก แต่เมื่อการตัดสินใจอะไรบางอย่างมิใช่เพียงผลที่จะเกิดกับตัวเอง หากแต่ยังกระทบกับอีกคนที่รักยิ่ง การ "ยอม" และเลือกที่จะปล่อยให้มันเป็นไปทั้งที่รู้ว่าจุดจบคืออะไร จึงอาจกลายเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่เขาทั้งสองเลือกแล้ว

หากมองจากภาพรวม ภาพยนตร์ "Tomorrow I will date with yesterday you" อาจมิได้ต่างจากละครน้ำเน่าหรือการ์ตูนผู้หญิงชวนฝัน พลอตของมันมิได้แปลกแตกต่างไปจากการ์ตูนหลายๆ เรื่อง หรือละครหลายๆ ฉาก แต่ภาพยนตร์ก็คือภาพยนตร์ที่ประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆ ทั้งภาพ เสียง เรื่องราว มันคงมิอาจถอดออกมาเป็นประพจน์ใดๆ เพียงประพจน์เดียวและตัดสินมันจากประพจน์นั้นๆ และเช่นเดียวกับเอมิและทาคาโตชิ หากระหว่างทางของทั้งสองนำมาซึ่งความรู้สึกดีๆ จนทั้งสองมิอาจละเลยปล่อยผ่าน การชมภาพยนตร์ก็คงไม่ต่างกันนัก เพราะภาพยนตร์ก็มิได้แตกต่างกับศิลปะ เมื่อภาพยนตร์เผย World ของมันผ่าน The Strife of “World” and “Earth” การเข้าใจ World ของมันในอีกแง่หนึ่งคือความเข้าใจต่อ Dasein และตำแหน่งแห่งที่ของมันบนโลก ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ผมเข้าใจว่า การไปดูหนังคนเดียวก็มีข้อดีนั่นคือสามารถนั่งร้องไห้ในโรงหนังได้โดยไม่มีใครสนใจ.

La La Land : ความไม่จริงกับความพร่าเลือนระหว่างตรรกะของความเป็นจริง.


กลายเป็นกระแสไปเสียแล้วสำหรับ "La La Land" ภาพยนตร์มิวสิคัลเรื่องดังในช่วงต้นปี 2560 ในฐานะของงานศิลปะในรูปแบบหนึ่ง ภาพยนตร์จึงมิได้เป็นเพียงเครื่องบันทึกซึ่งความเป็นจริงของโลกภายนอกอย่างเที่ยงตรง ศิลปะมิได้อยู่ในฐานะของ mimesis เหมือนกับยุคของเพลโตหรืออริสโตเติลอีกต่อไปเสียแล้ว ตรรกะของภาพยนตร์จึงมิใช่ตรรกะของความเป็นจริง หากแต่มันคือความสมจริงที่อ้างอิงกลับไปยังตรรกะของตัวมันเอง และในฐานะของงานศิลปะ ภาพยนตร์จึงเปิดพื่นที่ให้กับการตัดสินคุณค่าเชิงสุนทรียะที่มีแง่มุมในเชิงอัตวิสัย รางวัลต่างๆ มิได้การันตีซึ่งความดีงามของหนังไปเสียทั้งหมด

ตรุษจีนกับลูกเจ๊กยุคใหม่ : บันทึกว่าด้วยความพร่าเลือนของตัวตนและยุคสมัย


ผมเห็นย่าตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก ตามประสาลูกเจ๊กแต้จิ๋วในเจเนเรชันท้ายๆ ที่ไม่ได้ conscious ในความเป็นจีนของตัวเองเท่าไหร่นัก ตอนนั้นผมไม่รู้หรอกว่าทั้งหมดคืออะไร ทำไมต้องไหว้ ย่าบอกแต่เพียงว่า ตรุษจีนต้องไหว้ปู่ทวด ย่าทวด ปู่จ่าง และคนที่ตายไปแล้ว ผมก็ได้แต่ทำตาม และรู้แค่เรืองอั่งเปาตั่วตั่วไก๊ อันเป็นสิ่งที่เด็กจะได้ในช่วงตรุษจีน

จนเมื่อผมโตขึ้น บางทีการเรียนปรัชญาขงจื่อและหลายๆ เหตุการณ์ในชีวิตที่ผ่านไป ทำให้ผมรู้สึกถึงชาติกำเนิดตัวเองมากขึ้น ทุกวันนี้ผมภูมิใจที่จะบอกว่าตัวเองเป็นเจ๊กแต้จิ๋ว เมื่อย่าจากไป ในบ้านแทบไม่มีคนรู้ธรรมเนียม จารีต และอื่นๆ ผมจึงพยายามศึกษาและเข้าใจมันให้มากขึ้น และรู้สึกเป็นหน้าที่ที่ต้องสืบต่อจารีตในฐานะหลานชายคนโต (ซึ่งที่จริงก็ไม่ใช่ซะทีเดียว) เรื่องนี้อาจเป็นเพียงเรื่องไร้สาระสำหรับคนบางคน หลายคนอาจคิดว่าเป็นเพียงเรื่องงมงายของพวกเจ๊ก แน่นอนผมเคยคิดอย่างนั้นเหมือนกัน แต่เมื่อผมโตขึ้น ผมเข้าใจความหมายของมันมากขึ้น ความหมายที่อยู่เบื้องหลังพิธีกรรมอันแฝงไปด้วยความสำคัญของครอบครัว ความหมายอันผูกอยู่กับเบื้องหลังวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจนอน่างแนบแน่น อันมิใช่เพียงแค่เรื่องงมงาย จนถึงตอนนี้ ผมนึกถึงคำพูดของ อ.สุวรรณา สถาอานันท์ อยู่คำหนึ่ง ผมเคยบอกท่านว่าผมไม่ชอบขงจื่อ เพราะความเป็น conservative ที่สนับสนุนขุนนาง ความเป็นชนชั้นศักดินา อาจารย์บอกแต่เพียงว่า ของบางอย่างมันต้องใช้เวลาที่จะเข้าใจมัน ตอนสาวๆ ฉันก็ไม่ชอบ แต่พออายุมากขึ้นฉันเลยเข้าใจ ...... ผมก็เพิ่งเข้าใจหลายๆ อย่างเช่นเดียวกัน (แต่ชอบมั้ยมันอีกเรื่องหนึ่ง หน้าที่คือหน้าที่)

วันนี้ผมต้องเป็นคนจัดการด้วยตัวเองทั้งหมด ย่ากลายเป็นเพียงผู้มาเยือน มารับของเซ่นไหว้จากลูกหลาน ผมยังคงระลึกและจำคำสั่งสอนของย่าได้ทุกอย่าง สำหรับผม นี่อาจเป็นแก่นแท้ของการไหว้บรรพบุรุษ .. การระลึกถึงผู้จากไป บรรพบุรุษที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ และสืบทอดวงศ์ตระกูล ตลอดจนสั่งสอนสิ่งที่ดีแก่ลูกหลาน .....

ผมคิดถึงย่า....