วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

ปัญหาการนิยามผลงานในศิลปะร่วมสมัย


เมื่อแนวคิดหลังสมัยใหม่ (Post-Modern) ปฏิเสธสิ่งสัมบูรณ์และองค์รวมซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อคติสมัยใหม่ (Modern) ศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art) ในฐานะผลผลิตของวาทกรรมหลังสมัยใหม่จึงกลายเป็นเรื่องของ “การประพบจบกัน” ของบริบทต่างๆ[1] เมื่อเส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่เป็นศิลปะและไม่เป็นศิลปะละลายหายไป การที่จะบอกว่าสิ่งใดเป็นศิลปะหรือไม่เป็นศิลปะจึงยากขึ้น และเกิดความลักลั่นในการนิยาม

เมื่อไม่นานมานี้ ข้อถกเถียงบางอย่างในกรณีของรายการไทยแลนด์ก็อททาเล้นท์ สะท้อนถึงปัญหาในการนิยามผลงานได้เป็นอย่างดี เมื่อมีผู้หญิงผู้ร่วมรายการคนหนึ่ง แสดงความสามารถโดยการใช้หน้าอกวาดภาพ และกรรมการให้ผ่านโดยเหตุผลว่า “มันเป็นศิลปะ ผมรับได้ ให้ผ่านครับ” ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ความเหมาะสม (รวมถึงการขุดคุ้ยถึงเบื้องหลังและกรณีผลประโยชน์ระหว่างรายการและผู้ร่วมรายการ) ประเด็นคำถามอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ มันเป็นศิลปะหรือไม่ ? ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันถึงขนาดที่มหาวิทยาลัยศิลปะชื่อดังแห่งหนึ่งต้องจัดเสวนาและเชิญวิทยากรระดับผู้บริหารหน่วยงานราชการมาถกเถียงกันถึงความเป็นศิลปะของกรณีดังกล่าว รวมถึงเป็นข้อถกเถียงที่เผ็ดร้อนในสังคมออนไลน์ คำตอบของปัญหาดังกล่าวอาจไม่สำคัญนักเมื่อพิจารณาจากปัจจัยอื่นประกอบ แต่ในแง่มุมหนึ่งก็สามารถต่อยอดนำไปสู่ประเด็นต่อไปว่า ถ้าไม่เป็นงานศิลปะ ทำไมถึงไม่เป็น และถ้าเป็นงานศิลปะ ทำไมถึงเป็น และส่วนไหนที่เป็นงานศิลปะ รูปที่ถูกวาดโดยใช้หน้าอกเป็นงานศิลปะ (จิตรกรรม : Painting ?) ท่าทางของผู้ร่วมรายการที่กำลังวาดรูปเป็นงานศิลปะ (ศิลปะการแสดงสด : Performance Art ?) แนวคิด, สังกัป (Concept) ของผู้กำกับรายการหรือผู้ว่าจ้างหญิงสาวคนนั้นเป็นศิลปะ  (สังกัปศิลป์ : Conceptual Art ?)  หรือแม้กระทั่งบางคนที่คิดไปถึงว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาในการสร้างงานศิลปะโดยตรง แต่เป็นการวิจารณ์ศิลปะและสถานะของศิลปะในสังคมไทย (อย่างไรก็ตาม ในมุมหนึ่ง การวิจารณ์ก็เป็นการทำงานศิลปะประเภทหนึ่งเช่นเดียวกัน[2]) สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความไม่ชัดเจนของการนิยามความเป็นศิลปะได้เป็นอย่างดี

“การวิจารณ์ทั้งหมดเป็นการวิจารณ์ผลงาน และเป็นการวิจารณ์ตัวเอง”


เมื่อการวิจารณ์เรียกร้องกระบวนการบางอย่างที่เป็นการสร้าง “ระบบ” การวิจารณ์ขึ้นมาใหม่ และกระบวนการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการทำให้ความรู้สึกบางอย่างที่เป็น “อัตวิสัย” ของผู้วิจารณ์ถูกนำมาแปรสภาพเป็น “ปรวิสัย” ผ่านมโนทัศน์บางอย่างทางศิลปะ สังคม ภาษาและการสื่อสาร ส่งต่อไปถึงผู้อ่านบทวิจารณ์ เมื่อการวิจารณ์ไม่ได้เรียกร้องให้วางภาวะ “อัตวิสัย” การวิจารณ์จึงเป็นสิ่งที่แยกออกจากผู้วิจารณ์ไม่ได้

บนพื้นที่ของการเสพงานศิลปะ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการรับรู้ “สาร” บางอย่างจากงานศิลปะ เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยอันรวมถึงความแตกต่างของบุคคลด้วย หลายครั้งต่างบุคคลเสพงานศิลปะชิ้นเดียวกัน แต่รับรู้ได้ต่างกัน ทั้งในแง่สุนทรียภาพหรือเนื้อหา และเมื่อบริบทของงานบางชิ้นเปิดพื้นที่ให้ตีความ การตีความในแต่ละบุคคลก็แตกต่างกันไป เมื่อเป็นเช่นนั้น เราอาจพูดได้ว่า สิ่งที่บุคคลได้รับจากงานศิลปะคงมิใช่สิ่งที่เป็นสากล แต่เป็นภาวะนามธรรมบางอย่างที่เป็นอัตวิสัย การวิจารณ์ก็เช่นเดียวกัน เมื่อการวิจารณ์เกี่ยวข้องกับ “สาร” ที่ผู้วิจารณ์รับรู้ผ่านงานศิลปะ และ “สาร” นั้นๆ มิได้เป็นสิ่งสากล แต่ยังคงผูกติดอยู่กับความเป็น “อัตวิสัย” ดังนั้น การวิจารณ์งานศิลปะก็หนีไม่พ้นการวิจารณ์ “สาร” ที่เป็นอัตวิสัยนั่นเอง ถ้าพูดถึงผู้วิจารณ์ในฐานะองค์ประธาน องค์ประธานก็มิใช่เป็นผู้วิจารณ์ผลงาน แต่ผลงานต่างหากที่กำลังปฏิบัติการทำให้องค์ประธานวิจารณ์ตัวเอง ดังนั้น “ตัวตน” และ “ผลงาน” จึงเป็นสิ่งที่ทับซ้อนกันอยู่บนพื้นที่ของการวิจารณ์และทำให้เราต้องกลับมาพิจารณาว่า ในขณะที่เราคิดว่าเรากำลังเป็นผู้ “กระทำ” ต่อผลงาน แต่อันที่จริงแล้วเรากำลังถูกผลงาน “กระทำ” ต่อเราอยู่หรือเปล่า ?

การวิจารณ์เรียกร้องอะไร


มีคนเคยกล่าวว่า สังคมใดที่ตื่นตัวในเรื่องของปัญญา สังคมนั้นจะต้องมี “วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์” นั่นก็หมายความว่าสมาชิกของสังคมนั้นพร้อมที่จะสนับสนุนให้มีการแสดงความคิดในเรื่องต่างๆ โดยเปิดเผยอย่างมีเหตุผล

การวิจารณ์อาจไม่สามารถบอกได้ว่าขอบเขตของมันเป็นอย่างไร ในความหมายกว้างๆ การวิจารณ์อาจเป็นการพรรณนาประสบการณ์ทางอารมณ์ความรู้สึกส่วนตนที่มีต่อสิ่งๆ หนึ่ง หรือเป็นการให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอะไรบางอย่าง หรือแม้กระทั่งเป็นการแสดงความคิดเห็นเชิงปรัชญาเกี่ยวกับอะไรบางอย่างโดยทั่วไป ก็อาจถูกเรียกว่าการวิจารณ์ได้ บนพื้นที่ของการเสพงานศิลปะ นักวิจารณ์เป็นส่วนเติมเต็มพื้นที่ว่างบางอย่างระหว่างผู้ชมกับงานศิลปะ นักวิจารณ์คือตัวแทนของผู้ชมที่ไม่มีใครแต่งตั้งมา นักวิจารณ์พูด สังเกต ตั้งคำถามแทนผู้ชม งานวิจารณ์ก็คือปฏิกิริยาของผู้รักและสนใจศิลปะที่มีต่องานศิลปะที่ศิลปินนำออกเผยแพร่นั่นเอง

Mulholland Drive : เส้นแบ่งของความจริงและความฝัน


Mulholland Drive (2001) : David Lynch

ความฝันกับความจริง อาจมีเพียงเส้นเล็กๆ บางๆ คั่นอยู่ แต่หลายครั้ง เราอาจไม่รู้ว่าเราอยู่ในความจริงหรือความฝัน นักปรัชญา เรอเนส์ เดส์การ์ต เคยกล่าวว่า ในขณะที่เราฝัน เรามีความรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในฝันนั้นเป็นจริงเท่าๆ กับสภาพความจริง ถึงแม้ความฝันอาจไม่ใช่ความจริง แต่ก็มิได้หมายความว่าความฝันไม่ได้เกิดขึ้นจริง

Mulholland Drive ตั้งคำถามกับ “ความจริง” และ “ความฝัน” อย่างที่ เดส์การ์ต กล่าวว่า ในขณะที่เราฝัน เรามีความรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในฝันนั้นเป็นจริงเท่าๆ กับสภาพความจริง Mulholland Drive ไม่ได้นำเสนอความจริงเชิงภววิสัยไว้เป็นหลักให้คนดูยึดเกาะ หากแต่เล่าความจริงเชิงอัตวิสัยผ่านสายตาของตัวเอกซึ่งมีปัญหาทางจิต จนพร้อมจะตกสู่ภวังค์แห่งภาพหลอนและความฝันได้ทุกขณะ เพื่อหลีกเลี่ยงการรับมือกับวิกฤติการณ์อันเลวร้ายในชีวิตจริง Mulholland Drive ทำให้ผู้ชมต้องกลับมาตั้งคำถามกับเหตุการณ์ในเรื่องว่า ตอนไหนเป็นความฝัน หรือตอนไหนเป็นความจริง หลายครั้ง ความจริงและความฝันก็เป็นแต่ละด้านของกันและกัน ในความฝันก็อาจมีเศษเสี้ยวของความจริง ในขณะที่ความจริงก็อาจมีเศษเสี้ยวของความฝัน ความจริงและจินตนาการจึงมักผสมปนเปกันจนแยกไม่ออก  คนดูจึงไม่อาจยึดเกาะข้อมูลหรือเหตุการณ์ใดๆได้เลย เนื่องจากมันมีโอกาสที่จะเป็นได้เพียงแค่ภาพลวงตาทุกๆ เมื่อ