วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

“การวิจารณ์ทั้งหมดเป็นการวิจารณ์ผลงาน และเป็นการวิจารณ์ตัวเอง”


เมื่อการวิจารณ์เรียกร้องกระบวนการบางอย่างที่เป็นการสร้าง “ระบบ” การวิจารณ์ขึ้นมาใหม่ และกระบวนการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการทำให้ความรู้สึกบางอย่างที่เป็น “อัตวิสัย” ของผู้วิจารณ์ถูกนำมาแปรสภาพเป็น “ปรวิสัย” ผ่านมโนทัศน์บางอย่างทางศิลปะ สังคม ภาษาและการสื่อสาร ส่งต่อไปถึงผู้อ่านบทวิจารณ์ เมื่อการวิจารณ์ไม่ได้เรียกร้องให้วางภาวะ “อัตวิสัย” การวิจารณ์จึงเป็นสิ่งที่แยกออกจากผู้วิจารณ์ไม่ได้

บนพื้นที่ของการเสพงานศิลปะ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการรับรู้ “สาร” บางอย่างจากงานศิลปะ เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยอันรวมถึงความแตกต่างของบุคคลด้วย หลายครั้งต่างบุคคลเสพงานศิลปะชิ้นเดียวกัน แต่รับรู้ได้ต่างกัน ทั้งในแง่สุนทรียภาพหรือเนื้อหา และเมื่อบริบทของงานบางชิ้นเปิดพื้นที่ให้ตีความ การตีความในแต่ละบุคคลก็แตกต่างกันไป เมื่อเป็นเช่นนั้น เราอาจพูดได้ว่า สิ่งที่บุคคลได้รับจากงานศิลปะคงมิใช่สิ่งที่เป็นสากล แต่เป็นภาวะนามธรรมบางอย่างที่เป็นอัตวิสัย การวิจารณ์ก็เช่นเดียวกัน เมื่อการวิจารณ์เกี่ยวข้องกับ “สาร” ที่ผู้วิจารณ์รับรู้ผ่านงานศิลปะ และ “สาร” นั้นๆ มิได้เป็นสิ่งสากล แต่ยังคงผูกติดอยู่กับความเป็น “อัตวิสัย” ดังนั้น การวิจารณ์งานศิลปะก็หนีไม่พ้นการวิจารณ์ “สาร” ที่เป็นอัตวิสัยนั่นเอง ถ้าพูดถึงผู้วิจารณ์ในฐานะองค์ประธาน องค์ประธานก็มิใช่เป็นผู้วิจารณ์ผลงาน แต่ผลงานต่างหากที่กำลังปฏิบัติการทำให้องค์ประธานวิจารณ์ตัวเอง ดังนั้น “ตัวตน” และ “ผลงาน” จึงเป็นสิ่งที่ทับซ้อนกันอยู่บนพื้นที่ของการวิจารณ์และทำให้เราต้องกลับมาพิจารณาว่า ในขณะที่เราคิดว่าเรากำลังเป็นผู้ “กระทำ” ต่อผลงาน แต่อันที่จริงแล้วเรากำลังถูกผลงาน “กระทำ” ต่อเราอยู่หรือเปล่า ?


เมื่อการวิจารณ์เป็นการวิจารณ์ “สาร” ที่ผูกติดกับความเป็น “อัตวิสัย” การวิจารณ์ผลงานจึงอาจเป็นการวิจารณ์ตัวเองอีกด้วย การรับ “สาร” ของผู้วิจารณ์ถูกกำหนดพื้นที่ไว้ด้วยบริบทพื้นฐานทางความคิดของผู้วิจารณ์ การวิจารณ์จึงเป็นการตรวจสอบตัวเองของผู้วิจารณ์ถึงการยอมรับวัตถุบางอย่างในฐานะของงานศิลปะ และยังเป็นการจัดระเบียบ “สาร” ในความคิดของผู้วิจารณ์ที่ได้รับจากงานศิลปะอีกด้วย เมื่อการวิจารณ์เป็นเรื่องของภาษา ภาษาที่นักวิจารณ์ใช้ก็เป็นภาษาที่ถูกเลือกโดยนักวิจารณ์ และตัวภาษาที่ถูกเลือกนี่เองที่นอกจากกำลังถูกนักวิจารณ์ใช้เพื่อปฏิบัติการต่อผลงานแล้ว ตัวภาษาดังกล่าวก็กำลังปฏิบัติการต่อตัวผู้วิจารณ์เองด้วย เมื่อผู้วิจารณ์ใช้ภาษาในการนิยามความถูกต้องบางอย่าง นิยามดังกล่าวก็กำลังตั้งคำถามถึงมาตรฐานแห่งความถูกต้องของผู้วิจารณ์ด้วยเช่นเดียวกัน และสิ่งที่ผู้วิจารณ์กำลังสร้างให้กับผลงานนี่เองก็กำลังสร้างตัวตนของผู้วิจารณ์ออกสู่สายตาของสาธารณะด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้การวิจารณ์จะเป็นการวิจารณ์ตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน กรอบของการวิจารณ์ตัวเองของผู้วิจารณ์ก็ถูกกำหนดโดยบริบทบางอย่างของตัวผลงาน เมื่อการเสพงานศิลปะ เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างงานและผู้ชม และเมื่อผู้วิจารณ์ในฐานะผู้ชมกำลังวิจารณ์ สิ่งที่ผู้วิจารณ์กำลังวิจารณ์ก็คือ “สาร” ของตัวงาน ที่ผู้วิจารณ์ในฐานะผู้ชมรับรู้จากบริบทของตัวงาน แม้ “สาร” ดังกล่าวจะผูกติดกับความเป็นอัตวิสัย แต่ในขณะเดียวกันเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “สาร” นั้นๆ ก็ถูกตีกรอบโดยตัวงานศิลปะที่ผู้วิจารณ์เสพในฐานะผู้ชมด้วยเช่นกัน ดังนั้น การเลือกใช้ภาษาหรือเลือกที่จะใช้มโนทัศน์ของนักวิจารณ์ จึงมิได้มีความสัมพันธ์กับตัวนักวิจารณ์เพียงด้านเดียว แต่มีความสัมพันธ์กับบริบทของตัวงานที่กำหนดกรอบให้กับนักวิจารณ์ด้วย ดังนั้น การวิจารณ์ “สาร” ดังกล่าว จึงเป็นการวิจารณ์ในสองด้าน นั่นคือในแง่บริบทของตัวงานที่กำหนดกรอบการรับรู้ และการวิจารณ์สิ่งที่นักวิจารณ์รู้และผลิตซ้ำออกมานั่นเอง

“การวิจารณ์ทั้งหมดเป็นการวิจารณ์ผลงาน และเป็นการวิจารณ์ตัวเอง” ประโยคนี้อาจกล่าวได้ไม่สมบูรณ์นัก จริงอยู่ว่าการวิจารณ์เกี่ยวข้องกับผลงานและเกี่ยวข้องกับผู้วิจารณ์ซึ่งต้องอภิปรายในทางญาณวิทยา แต่ในขณะเดียวกัน คำถามบางคำถามในทางญาณวิทยาก็ยังคงทำให้เกิดคำถามต่อมาว่า ประโยคดังกล่าวกำลังลดทอนการวิจารณ์ให้เหลือแค่ “ผลงาน” กับ “ผู้วิจารณ์” หรือเปล่า จริงอยู่ แม้ว่าผู้วิจารณ์จะมีเสรีภาพในการเลือกภาษาและมโนทัศน์ใดๆ มาอธิบายผลงาน ภาษาและมโนทัศน์ที่ถูกเลือกก็มีบทบาทในการย้อนกลับไปตรวจสอบนักวิจารณ์ แต่เราก็ละเลยบางจุดสำคัญเล็กๆ ไม่ได้ว่า การเลือกของนักวิจารณ์คงมิได้มีเพียงแค่ปัจจัยภายในของนักวิจารณ์โดยปราศจากอิทธิพลของสังคมและสิ่งแวดล้อมใดๆ เลย เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการนิยามของมนุษย์ส่วนหนึ่งถูกกำหนดจากการนิยามของสังคมผ่านอำนาจและวาทกรรม ความรู้ที่เรามีจึงเป็นปฏิบัติการของวาทกรรมและเกี่ยวข้องกับโครงสร้างอำนาจและโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การวิจารณ์จึงอาจไม่ใช่เพียงแค่ “ผลงาน” กับ “ผู้วิจารณ์” แต่ในขณะเดียวกัน การวิจารณ์อาจเป็นการอธิบายโครงสร้างทางวัฒนธรรมที่กำหนดกรอบคิดของการวิจารณ์ผลงานและตัวตนของผู้วิจารณ์ด้วยเช่นเดียวกัน ในอีกนัยหนึ่ง กระบวนการวิจารณ์นอกจากเป็นการวิจารณ์ผลงานและวิจารณ์ตัวเองของผู้วิจารณ์แล้ว การวิจารณ์จึงอาจเป็นการวิจารณ์โครงสร้างอำนาจและโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้วิจารณ์ในอีกมุมหนึ่งด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาบางข้อทางอภิปรัชญาและญาณวิทยา เราจึงไม่อาจสรุปได้ว่าสุดท้ายแล้ว การวิจารณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการวิจารณ์อะไรบ้าง ซึ่งการพยายามตอบปัญหาดังกล่าว เราจำเป็นต้องอภิปรายบนพื้นฐานของชุดความคิดบางชุดในเรื่อง “มนุษย์” “ความรู้” และ “ความจริง” และในที่สุดแล้ว การพยายามอภิปรายถึงการวิจารณ์ในแง่มุมของการวิจารณ์ผลงาน วิจารณ์ตัวเอง วิจารณ์สังคม ก็อาจถูกในบริบทของความคิดชุดหนึ่ง แต่อาจมีปัญหากับชุดความคิดอีกชุดหนึ่ง โดยไม่สามารถสรุปได้ว่าชุดความคิดใดถูกต้องที่สุด หรือสุดท้ายแล้ว การอธิบายเกี่ยวกับการวิจารณ์ก็อาจจำเป็นต้องย้อนกลับไปสู่ความชัดเจนในคำถามพื้นฐานที่ผ่านมาคือ “การวิจารณ์เรียกร้องอะไร” และ “เราเรียกร้องอะไรจากการวิจารณ์”.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น