วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

Mulholland Drive : เส้นแบ่งของความจริงและความฝัน


Mulholland Drive (2001) : David Lynch

ความฝันกับความจริง อาจมีเพียงเส้นเล็กๆ บางๆ คั่นอยู่ แต่หลายครั้ง เราอาจไม่รู้ว่าเราอยู่ในความจริงหรือความฝัน นักปรัชญา เรอเนส์ เดส์การ์ต เคยกล่าวว่า ในขณะที่เราฝัน เรามีความรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในฝันนั้นเป็นจริงเท่าๆ กับสภาพความจริง ถึงแม้ความฝันอาจไม่ใช่ความจริง แต่ก็มิได้หมายความว่าความฝันไม่ได้เกิดขึ้นจริง

Mulholland Drive ตั้งคำถามกับ “ความจริง” และ “ความฝัน” อย่างที่ เดส์การ์ต กล่าวว่า ในขณะที่เราฝัน เรามีความรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในฝันนั้นเป็นจริงเท่าๆ กับสภาพความจริง Mulholland Drive ไม่ได้นำเสนอความจริงเชิงภววิสัยไว้เป็นหลักให้คนดูยึดเกาะ หากแต่เล่าความจริงเชิงอัตวิสัยผ่านสายตาของตัวเอกซึ่งมีปัญหาทางจิต จนพร้อมจะตกสู่ภวังค์แห่งภาพหลอนและความฝันได้ทุกขณะ เพื่อหลีกเลี่ยงการรับมือกับวิกฤติการณ์อันเลวร้ายในชีวิตจริง Mulholland Drive ทำให้ผู้ชมต้องกลับมาตั้งคำถามกับเหตุการณ์ในเรื่องว่า ตอนไหนเป็นความฝัน หรือตอนไหนเป็นความจริง หลายครั้ง ความจริงและความฝันก็เป็นแต่ละด้านของกันและกัน ในความฝันก็อาจมีเศษเสี้ยวของความจริง ในขณะที่ความจริงก็อาจมีเศษเสี้ยวของความฝัน ความจริงและจินตนาการจึงมักผสมปนเปกันจนแยกไม่ออก  คนดูจึงไม่อาจยึดเกาะข้อมูลหรือเหตุการณ์ใดๆได้เลย เนื่องจากมันมีโอกาสที่จะเป็นได้เพียงแค่ภาพลวงตาทุกๆ เมื่อ


Mulholland Drive เป็นชื่อถนนเส้นหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์ต้นเรื่องเริ่มต้นที่ถนนแห่งนี้ วินาทีชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่งในรถลีมูซีน แต่ก็ยังสามารถรอดมาได้อย่างหวุดหวิด แต่หญิงสาวก็เสียความทรงจำ เธอเข้าไปหลบซ่อนตัวในบ้านหลังหนึ่ง และได้พบกับเบ็ตตี้  และเธอก็ได้กลายเป็น “ริต้า” จากการเห็นโปสเตอร์ของหนังเรื่องหนึ่งที่นำแสดงโดยดาราที่ชื่อ ริต้า ความสัมพันธ์ของริต้า หญิงสาวผู้สูญเสียความทรงจำ และเบตตี้ หญิงสาวผู้มองโลกในแง่ดี ดำเนินไปเรื่อยๆ ท่ามกลางความพยายามในการฟื้นความทรงจำของริต้า แต่อย่างไรก็ตาม ผู้กำกับ David Lynch ก็ไม่ได้ทำให้หนังของเขาเดินเรื่องอย่างตรงไปตรงมามากนัก เมื่อ Lynch สอดแทรกเหตุการณ์และบรรยากาศแปลกๆ ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับโครงเรื่องเข้ามาอยู่เสมอ ซึ่งสร้างความสับสนให้กับผู้ชมอยู่ไม่น้อย ในขณะที่ผู้ชมถูกสะกดให้อยู่กับเรื่องดังกล่าวราวกับว่ามันเป็นความจริงตลอดสองชั่วโมง หนังก็ดำเนินมาถึงในคลับไซเรนซิโอ ที่นั่นพวกเธอค้นพบกุญแจสำหรับไขเปิดกล่องสีน้ำเงิน และหลังจากกล่องสีน้ำเงินถูกเปิดออก หนังก็เฉลยให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในช่วงสองชั่วโมงแรกเป็นเพียงภาพฝันของไดแอนน์ ครึ่งชั่วโมงสุดท้าย เป็นชีวิตจริงของไดแอนน์ จากเบ็ตตี้สาวที่แสนดีในความฝัน กลายเป็นไดแอนน์นักแสดงหางแถวที่มีปัญหาในชีวิตจนกลายเป็นผู้มีปัญหาทางจิต เดวิด ลินช์ อาศัยแฟลชแบ็คในการเล่าเรื่องจากเหตุการณ์หนึ่งสลับไปอีกเหตุการณ์หนึ่ง โดยไม่เรียงตามลำดับเวลา เมื่อโลกแห่งความจริงเริ่มต้นจากการที่ไดแอนน์ลุกขึ้นจากเตียง สวมเสื้อคลุม เดินไปเปิดประตูให้อดีตเพื่อนร่วมห้องเข้ามาหยิบที่เขี่ยบุหรี่คืน เธอเห็นภาพหลอนของคามิลล่า เธอชงกาแฟ และเดินถือถ้วยกาแฟมาที่โซฟา จากนั้นภาพชุดแฟลชแบ็คก็เริ่มต้น หนังแสดงให้เห็นถึงการตามติดแผ่นหลังของไดแอนน์มา จนเมื่อกล้องลอยไป มันเผยให้เห็นคามิลล่านอนเปลือยอกอยู่ และไดแอนน์ก็วาง “แก้วเหล้า” ไม่ใช่ถ้วยกาแฟ ลงบนโต๊ะรับแขก ไดแอนน์เปลือยอก ใส่กางเกงขาสั้น และไม่ได้สวมเสื้อคลุม และกำลังจะมีอะไรกับคามิลล่า นั่นหมายถึงหนังได้นำคนดูมายังเหตุการณ์ในอดีตแล้วโดยไม่ตัดภาพ ในฉากนี้ ผู้กำกับใช้เทคนิคลวงคนดูให้เข้าใจว่าเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่องกันด้วยเทคนิคเชื่อมโยงวัตถุ โดยอาศัยแก้วเหล้ากับถ้วยกาแฟ นอกจากนี้ แฟลชแบ็คก็ยังปรากฏอยู่เป็นหลักในการเล่าเรื่องในช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้ายอยู่เสมอ เช่น  หลังจากคามิลล่าบอกเลิกกับไดแอนน์บนโซฟาขณะทั้งสองกำลังจะมีอะไรกัน ฝ่ายหลังพูดขึ้นว่า “เป็นเพราะไอ้หมอนั่นใช่ไหม” แฟลช แบ็คซ้อนแฟลชแบ็คที่ย้อนไปยังฉากอดัมจูบกับคามิลล่าในโรงถ่าย โดยมีไดแอนน์ยืนมองน้ำตาคลอเบ้าอยู่ไม่ไกล หากเรียงตามลำดับเวลา นี่คือเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์บนโซฟา

จริงๆ แล้ว ผู้กำกับก็ได้ทิ้งเบาะแสในการเข้าสู่ความจริงไว้หลายๆ อย่างเช่นกัน ตลอดสองชั่วโมงแรกอัดแน่นไปด้วยเหตุการณ์แปลกๆ ซึ่งไม่สมบูรณ์ในตัวเอง อีกทั้งยังไม่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นเหตุเป็นผลเอาไว้ เช่น ฉากนายตำรวจสองคนตรวจสอบซากรถจากอุบัติเหตุบนถนน Mulholland Drive ฉากชายคนหนึ่งเล่าความฝันให้ชายอีกคนหนึ่งฟังในร้านวิงค์กี้ ฉากชายคนหนึ่งฆ่าเพื่อนตายเพื่อแย่งชิงหนังสือปกดำมาครอง ก่อนต่อมาจะไปสอบถามโสเภณีนางหนึ่งถึงผู้หญิงผมดำ และผู้กำกับ อดัม เคชเชอร์ ถูกกลุ่มอิทธิพลมืดกดดันให้รับนักแสดงสาวผมบลอนด์ชื่อ คามิลล่า มาเป็นดารานำในหนังเรื่องใหม่ โดยหลายๆ เหตุการณ์มีความเชื่อมโยงกับความเป็นจริง เช่น ชื่อเบ็ตตี้ในความฝันเป็นชื่อพนักงานเสิร์ฟในร้านวิงค์กี้ที่ไดแอนน์นัดพบกับมือปืนในโลกความจริง โคโค่ แม่ของอดัมที่ไดแอนน์พบในงานเลี้ยง กลายเป็นผู้ดูแลอพาร์ตเมนต์ของป้าของเบ็ตตี้ หรือเหตุการณ์ที่ชัดเจนมากที่สุด คือ ฉากเปิดเรื่องบนถนน Mulholland Drive ของหญิงสาวกับประโยคที่ว่า “จอดรถทำไม ยังไม่ถึงจุดหมายนี่”  ซึ่งถูกนำมาฉายซ้ำในตอนที่ไดแอนน์นั่งลีมูซีนไปงานเลี้ยงที่บ้านอดัมในโลกแห่งความจริง อีกเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงการเชื่อมโยงกับโลกแห่งความจริง คือ เหตุการณ์ที่ผู้กำกับ อดัม เคชเชอร์ ถูกกดดันให้รับนักแสดงสาวที่ชื่อ คามิลล่า ซึ่งก็ล้อรับไปกับความจริงที่คามิลล่าได้รับเลือกเป็นนางเอก เหตุการณ์นี้อาจเป็นไปเพื่อปลอบใจตัวไดแอนน์เองว่า ในชีวิตจริงเธอเป็นแค่นักแสดงหางแถว เพราะมีกลุ่มอิทธิพลและเด็กเส้นคอยขวางหนทางอยู่ และนัยดังกล่าวก็เป็นการเสียดสีฮอลลีวูดในอีกทางหนึ่ง การเสียดสีฮอลลีวูดเน้นย้ำด้วยชื่อของหนัง Mulholland Drive ที่เป็นชื่อถนนเส้นหนึ่งใน Hollywood

ถ้าเรามองในเชิงจิตวิเคราะห์  ความฝัน(Dream) คือ ช่วงเวลาที่ความคิดในส่วนที่จิตใต้สำนึกจะสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และส่วนของแรงขับ(ทั้งแรงขับทางเพศและแรงขับด้านความรุนแรง) จะได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่เช่นกัน โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะมีจิตใจส่วน Superego มาคอยตัดสินถูกผิด ดังนั้น ในความฝันไดแอนน์จึงพยายามผันแปลงทุกสิ่งให้กลายเป็นภาพฝันอันบิดเบือน บางอย่างอาจดูใกล้เคียงความจริง แต่ไม่ใช่ความจริงเสียทีเดียว แต่ก็เป็นไปเพื่อตอบสนองต่อแรงขับของตัวเอง ทั้งทางเพศจากการได้รับความรัก การยอมรับ ความห่วงใย และแม้กระทั่ง sex อย่างเต็มที่จากคามิลล่าหรือริต้าในความฝัน ในขณะที่ผู้กำกับอย่างอดัมส์ที่แย่งคามิลล่าไปจากไดแอนน์ ในความฝันก็เป็นแค่ผู้ชายที่ถูกสวมเขา เป็นการตอบสนองต่อแรงขับทางด้านความรุนแรงของไดแอนน์ และในแง่ของตัวตน ในความฝันไดแอนน์ได้แบ่งตัวเธอเองออกเป็นเบ็ตตี้และริต้า (ซึ่งในเรื่องจริงคือคามิลล่า) นั่นหมายถึงว่าเธอกำลังกลืนกินความเป็นคามิลล่าที่ในความจริงไม่สามารถรวมกับเธอได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเธอในฝัน เป็นการตอบสนองต่อแรงขับอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน และถึงแม้ในฝัน Superego อาจไม่ทำหน้าที่ แต่ก็มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่า ในหนัง หลายครั้งมันก็แอบทำงานเพื่อปลุกให้เธอออกมาสู่โลกของความเป็นจริง เช่น ตอนที่หญิงชรา Louise Bonner มาเคาะประตูห้อง แล้วเบ็ตตี้ก็บอกว่าเธอเป็นหลานของป้า หญิงชราโต้กลับไปว่า ไม่ใช่ โดยนัยของความไม่ใช่ มิได้หมายถึงเพียงแค่ว่าเธอไม่ใช่หลาน แต่หมายถึงตัวตนของ “เบ็ตตี้” ที่ไม่ใช่หลานของป้านั่นเอง พร้อมกับการเตือนถึงความชั่วร้ายที่จะเกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งในช่วงท้ายที่ริต้าใส่วิกผมทรงเดียวกับเบ็ตตี้ที่เน้นย้ำถึงการเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกันที่ถูกแยกมาจากไดแอนน์ และนั่นทำให้ตัวตนของไดแอนน์เริ่มตื่นและไปที่คลับไซเรนซิโอ หลังจากที่พิธีกรพูดถึง illusion (การเห็นภาพลวงตา) ซึ่งทำให้ Betty ตัวสั่นตกใจ และเธอก็เจอกล่องที่กุญแจไขได้ พร้อมกับดึงทุกอย่างกลับไปในโลกของความจริง

Mulholland Drive ไม่เพียงแค่กำลังเล่าถึงสัมพันธภาพระหว่างความจริงและความฝัน แต่ Mulholland Drive กำลังเน้นย้ำถึงความ “จริง” ของความฝัน และความ “ไม่จริง” ของความจริงอยู่ด้วยเช่นกัน โดยการทำให้คนดูสับสนระหว่างความจริงและความฝัน ตลอดจนเน้นย้ำถึงการเกิดขึ้นจริงของความฝันที่ไม่ใช่เรื่องจริง และเน้นย้ำถึงความไม่จริงของความจริงที่ถูกรับรู้โดยอัตวิสัยจากตัวละครผู้มีปัญหาทางจิต ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความจริงที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ นอกจากนี้ Mulholland Drive ยังเน้นย้ำถึงความไม่เป็นระเบียบของความฝัน ซึ่งมีเศษเสี้ยวความจริงอยู่ในความฝัน ความปรารถนาบางอย่างที่พยายามจะทำให้เกิดขึ้นในความฝันเพื่อตอบสนองต่อแรงขับของมนุษย์ หรือแม้กระทั่งจินตนาการบางอย่างในความฝันที่ไม่สามารถหาเหตุผลได้ ไม่สมบูรณ์ และไม่อ้างอิงกับความเป็นจริง สิ่งที่น่าสนใจของหนังเรื่องนี้คงไม่ได้อยู่เพียงแค่คำเฉลยถึงความฝันและความจริง แต่อาจอยู่ที่กระบวนการค้นหาอะไรบางอย่างในตัวหนัง ตัวหนังเป็นปริศนาที่สามารถค้นพบคำตอบได้ในบางส่วน แต่ไม่ทั้งหมด และผู้ชมไม่สามารถมองย้อนกลับมาแล้วเชื่อมโยงทุกรายละเอียดให้เป็นเหตุเป็นผลกันได้อย่างครบถ้วน สิ่งเหล่านี้นำมาสู่การทำให้ผู้ชมเห็นภาพบางอย่างของประเด็นเรื่องความฝันและความจริงที่หนังกำลังพูดถึง การสร้างประเด็นที่ทำให้ผู้ชมต้องไปคิดต่อหลังจากการจบลงของหนัง

Mulholland Drive ตั้งคำถามและเล่นล้อกับเส้นแบ่งเหล่านี้ได้อย่างลงตัว และสร้างกระบวนการที่ทำให้ผู้ชมได้เห็นประเด็นต่างๆ อีกมากมาย ถึงความฝันจะไม่ใช่ความจริง แต่มันก็เกิดขึ้นจริง และถึงความฝันไม่ใช่ความเป็นจริง แต่เราก็สามารถรับรู้และมีประสบการณ์กับมันได้ ในทางกลับกัน เราอาจไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่าสิ่งที่เรากำลังรับรู้ คือ ความจริงไม่ใช่ความฝัน แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ดีสักเท่าไหร่ ถ้าเราเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ในความฝันเพียงอย่างเดียว เพราะอย่างไรก็ตาม เราคงไม่มีทางจะหนีโลกแห่งความจริงพ้น ไม่ว่าเราจะแน่ใจหรือไม่แน่ใจกับความจริงนั้นๆ ก็ตาม เช่นเดียวกับตัวละครหลักอย่างไดแอนน์นั่นเอง

1 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีลูกค้า

    คุณอยู่ในความต้องการของสินเชื่อเร่งด่วนที่จะชำระหนี้ธุรกิจเปิดการซื้อรถ
    หรือบ้าน

    ชื่อของฉันคือนายสกอตต์แลร์รี่ให้กู้ยืมเงินให้กับทั้งภาคเอกชนและองค์กร
    คนที่มีอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง 3% มีระยะเวลาความสะดวกสบายต่อรอง

    แต่เนื่องจากอยู่ใกล้คริสมาสต์ที่เรามีการลดอัตราดอกเบี้ยของเราจาก 3% ถึง 2% ที่น่าตื่นตาตื่นใจในความเป็นจริง

    ถ้าคุณเป็นคนที่มีใจที่ร้ายแรงและคุณมีความสนใจในบริการของเรา
    โปรดรีบติดต่อฉันตอนนี้ผ่านทางอีเมลของฉัน: greenworldloanfirm@gmail.com


    ผมรอคอยการตอบสนองของคุณ

    ตอบลบ