วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

ปัญหาการนิยามผลงานในศิลปะร่วมสมัย


เมื่อแนวคิดหลังสมัยใหม่ (Post-Modern) ปฏิเสธสิ่งสัมบูรณ์และองค์รวมซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อคติสมัยใหม่ (Modern) ศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art) ในฐานะผลผลิตของวาทกรรมหลังสมัยใหม่จึงกลายเป็นเรื่องของ “การประพบจบกัน” ของบริบทต่างๆ[1] เมื่อเส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่เป็นศิลปะและไม่เป็นศิลปะละลายหายไป การที่จะบอกว่าสิ่งใดเป็นศิลปะหรือไม่เป็นศิลปะจึงยากขึ้น และเกิดความลักลั่นในการนิยาม

เมื่อไม่นานมานี้ ข้อถกเถียงบางอย่างในกรณีของรายการไทยแลนด์ก็อททาเล้นท์ สะท้อนถึงปัญหาในการนิยามผลงานได้เป็นอย่างดี เมื่อมีผู้หญิงผู้ร่วมรายการคนหนึ่ง แสดงความสามารถโดยการใช้หน้าอกวาดภาพ และกรรมการให้ผ่านโดยเหตุผลว่า “มันเป็นศิลปะ ผมรับได้ ให้ผ่านครับ” ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ความเหมาะสม (รวมถึงการขุดคุ้ยถึงเบื้องหลังและกรณีผลประโยชน์ระหว่างรายการและผู้ร่วมรายการ) ประเด็นคำถามอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ มันเป็นศิลปะหรือไม่ ? ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันถึงขนาดที่มหาวิทยาลัยศิลปะชื่อดังแห่งหนึ่งต้องจัดเสวนาและเชิญวิทยากรระดับผู้บริหารหน่วยงานราชการมาถกเถียงกันถึงความเป็นศิลปะของกรณีดังกล่าว รวมถึงเป็นข้อถกเถียงที่เผ็ดร้อนในสังคมออนไลน์ คำตอบของปัญหาดังกล่าวอาจไม่สำคัญนักเมื่อพิจารณาจากปัจจัยอื่นประกอบ แต่ในแง่มุมหนึ่งก็สามารถต่อยอดนำไปสู่ประเด็นต่อไปว่า ถ้าไม่เป็นงานศิลปะ ทำไมถึงไม่เป็น และถ้าเป็นงานศิลปะ ทำไมถึงเป็น และส่วนไหนที่เป็นงานศิลปะ รูปที่ถูกวาดโดยใช้หน้าอกเป็นงานศิลปะ (จิตรกรรม : Painting ?) ท่าทางของผู้ร่วมรายการที่กำลังวาดรูปเป็นงานศิลปะ (ศิลปะการแสดงสด : Performance Art ?) แนวคิด, สังกัป (Concept) ของผู้กำกับรายการหรือผู้ว่าจ้างหญิงสาวคนนั้นเป็นศิลปะ  (สังกัปศิลป์ : Conceptual Art ?)  หรือแม้กระทั่งบางคนที่คิดไปถึงว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาในการสร้างงานศิลปะโดยตรง แต่เป็นการวิจารณ์ศิลปะและสถานะของศิลปะในสังคมไทย (อย่างไรก็ตาม ในมุมหนึ่ง การวิจารณ์ก็เป็นการทำงานศิลปะประเภทหนึ่งเช่นเดียวกัน[2]) สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความไม่ชัดเจนของการนิยามความเป็นศิลปะได้เป็นอย่างดี


การเป็นปฏิปักษ์ต่อแนวคิดของความเป็นสมัยใหม่ที่ส่งผลต่องานศิลปะร่วมสมัยนั้น ศิลปะจึงกลายเป็นเรื่องของการ “ประพบจบกัน” ของบริบทต่างๆ การอ้างหลักการของโอกาสจึงทำให้วัตถุที่มิใช่งานศิลปะสามารถแสดงตัวในฐานะงานศิลปะได้ แต่ในขณะเดียวกัน การอิงอยู่กับ “โอกาส” นั่นหมายถึงการละทิ้งบริบทบางอย่าง และการสร้างบริบทบางอย่างขึ้นมาใหม่ โดยนัยดังกล่าว งานศิลปะร่วมสมัยจึงจำเป็นต้องอาศัยบริบท ซึ่งอาจหมายถึงพื้นที่ และยังรวมถึงการทำให้ประเด็นสำคัญเปลี่ยนจากคุณค่าภายในของตัววัตถุ มาเป็นคุณค่าภายนอกที่ต้องอิงอยู่กับบริบทรอบข้าง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เราจะนิยามว่าอะไรที่เป็นผลงานศิลปะ ?

ในงาน Monumento 5 ซึ่งเป็นงาน “Excentrique(s)” ของ Daniel Buren ตั้งคำถามถึงความเป็นเอกเทศของผลงาน งานของ Buren เป็นงานแบบ In situ ที่เล่นล้อกับนัยของพื้นที่ในการจัดแสดงงาน งานแบบ In situ สัมพันธ์กับพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่งาน Installation เป็นเพียงการพึ่งพิงพื้นที่ แต่งาน In situ เป็นงานที่เล่นล้อกับพื้นที่และเปิดเผยพื้นที่ ทำให้พื้นที่อยู่ในการรับรู้ของผู้ชม เมื่อผลงานของ Daniel Buren เป็นการสร้าง Dynamic ให้กับพื้นที่ ประเด็นสำคัญของงานจึงไม่ได้อยู่ที่วัตถุของศิลปะ (Work of Art) แต่เป็นผลงานของศิลปะ (Work of the Art) ที่เกิดขึ้นจากกรอบคิดในเชิงศิลปะ Daniel Buren อาศัยกิจปฏิบัติเชิงอำนาจของศิลปิน สร้างกฎในการเคลื่อนไหวของผู้ชมขึ้นมาใหม่ ซึ่งทำให้เกิดการชะลอการปรากฏของศูนย์กลาง การเปลี่ยนสีของผู้ชมและพื้นที่ผ่านแผ่นฟิล์มโปร่งแสงที่มีลักษณะคล้ายร่ม ทำให้สิ่งที่จับต้องไม่ได้ปรากฏบนพื้นที่ Buren สร้างตัวแปรใหม่คือเวลา และนำไปสู่คำถามที่เปลี่ยนไปจากว่า “งานศิลปะอยู่ที่ไหน ?” เป็น “งานศิลปะเกิดขึ้นตอนไหน ?” เมื่อประเด็นสำคัญของงานไม่ได้อยู่ที่วัตถุของศิลปะอย่างในอดีต คำถามจึงเกิดต่อไปว่า อะไรคือผลงานศิลปะ ? ในขณะที่ศิลปินอาศัยกิจเชิงอำนาจในการสร้างกระบวนการรับรู้ใหม่ของผู้ชม ผู้ชมสามารถชมงานอย่างอิสระในความควบคุมของศิลปิน วัตถุจึงกลายเป็นแค่เครื่องมือชิ้นหนึ่งในการสร้างกระบวนการโดยศิลปิน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผลงานศิลปะในกรณีนี้คืออะไร ? แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสนใจว่า แม้ประเด็นสำคัญของงาน In situ จะไม่ใช่วัตถุของศิลปะ แต่ก็ยังคงต้องพึ่งพาอยู่กับวัตถุอยู่ดี

เมื่องานศิลปะร่วมสมัยกลายเป็นเรื่องของบริบทบางอย่างมากกว่าวัตถุศิลปะ งานศิลปะร่วมสมัยจึงเปิดพื้นที่ในการตีค่าใหม่แก่วัตถุที่ไม่เคยอยู่ในพื้นที่ของศิลปะ ในขณะที่เมื่อวัตถุของศิลปะต้องอิงกับบริบทภายนอก ในอีกมุมหนึ่งนั่นก็คือการนำโลกภายนอกเข้าสู่งานศิลปะ การประพบจบกันของวัตถุกับบริบททำลายแนวคิดเรื่อง originality ของวัตถุ นั่นหมายความว่าวัตถุใดๆ ก็มีโอกาสเป็นงานศิลปะได้ (แต่การประพบจบกันในบริบทนั้นๆ ก็สร้างความเป็น originality ของตัวมันเองขึ้นมาเช่นกัน) เมื่อวัตถุใดๆ ก็มีโอกาสเป็นงานศิลปะได้ ศิลปะจึงอาจกลายเป็นความกลมกลืนกับบริบทรอบข้างที่ทำให้ผู้ชมสับสนว่าตรงไหนเป็นงานศิลปะ ในขณะที่งานศิลปะที่ต้องอิงกับบริบทภายนอกและออกไปสู่พื้นที่สาธารณะทำให้พื้นที่เชิงกายภาพระหว่างงานศิลปะและผู้ชมถูกลบเลือนไป แต่ในอีกมุมหนึ่ง น่าคิดว่าความกลมกลืนกับบริบทรอบข้างของงานศิลปะก็เป็นการเพิ่มพื้นที่ทางนามธรรมที่ทำให้ผู้ชมกับงานศิลปะห่างเหินกันมากขึ้นหรือไม่

เรานำสถานะของงานศิลปะไปผูกอยู่กับศิลปิน นำไปสู่คำถามต่อไปว่า “ใครบ้างที่เป็นศิลปิน ?” ถ้าความเป็นศิลปะเกิดจากความลงตัวของบริบทต่างๆ แม้ศิลปินจะเป็นผู้สร้างงานศิลปะ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ศิลปะก็กำลังสร้างตัวตนของศิลปินด้วยเช่นกัน ปฏิส้มพันธ์ระหว่างงานศิลปะกับศิลปิน จึงอาจมีนัยว่าใครๆ ก็อาจเป็นศิลปินได้ ในอีกความหมายหนึ่ง ถ้าศิลปินเป็นสถานะทางสังคมที่ถูกนิยามความหมายขึ้นจากวาทกรรมภายนอก การปรากฏตัวของศิลปินก็มิใช่การการันตีสถานะของความเป็นศิลปะเสมอไป การกระทำของศิลปินต่อสาธารณะจึงเป็นความกำกวมบางอย่างในการนิยามงานศิลปะ ดังเช่นการปรากฏตัวของ วสันต์ สิทธิเขตต์ บนเวทีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการแสดงสดอ่านบทกวีเพื่อเรียกร้องทางการเมืองในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร การกระทำดังกล่าวก็มีความกำกวมบางอย่างในการนิยามความเป็นศิลปะเพื่อประชาชน หรือเป็นเพียงแค่เจตจำนงในการสนองความต้องการตัวเองของศิลปิน ถ้าเราจะตัดสินงานศิลปะจากเจตจำนงในการสร้างงานของศิลปิน ด้วยความเป็นอัตวิสัยบางอย่าง ก็เป็นการยากเช่นกันที่จะรู้ว่า ศิลปิน (หรือคนธรรมดาคนหนึ่ง) มีเจตจำนงอย่างไรในการกระทำนั้นๆ

เมื่อศิลปะร่วมสมัยอยู่ในฐานะเป็นผลผลิตของวาทกรรมหลังสมัยใหม่ และตัวมโนทัศน์หลังสมัยใหม่เองก็ปฏิเสธความแน่นอน ชัดเจน สัมบูรณ์ และความเป็นเอกเทศของอะไรบางอย่าง รวมถึงเปิดพื้นที่ในการให้คุณค่าของอะไรบางอย่างโดยปัจเจกบุคคลและความเป็นพหุนิยมทางความคิด ถ้าเราอาศัยแว่นหลังสมัยใหม่ในการพิจารณา การพยายามหาไม้บรรทัดสากลในการนิยามงานผลงานศิลปะอาจมิใช่สิ่งจำเป็นใดๆ นอกเหนือไปจากการถกเถียงเพื่อเปิดพรมแดนในการรับรู้และขบคิดบนพื้นที่ทางวิชาการ ในขณะที่เกิดความกำกวมในการนิยามผลงานในศิลปะร่วมสมัย และทำให้ผู้ชมสับสนและแยกไม่ออกระหว่างสิ่งที่เป็นศิลปะหรือไม่เป็นศิลปะ ในอีกด้านหนึ่ง ความกำกวมดังกล่าวนี้เองก็ตอกย้ำถึงความชัดเจนบางอย่างที่ว่าความเป็นศิลปะถูกนิยามจากวาทกรรมภายนอก และเป็นอภิมหาอรรถกถาธิบายที่ถูกนิยามขึ้นโดยปัจจัยภายนอก ดังนั้นแล้ว ศิลปะก็อาจจะหมายถึงความไม่แน่นอน ไม่สัมบูรณ์ และปัญหาในการนิยามผลงานศิลปะก็อาจมิได้เป็นปัญหา รวมไปถึงความไม่แน่นอนของงานศิลปะ สถานะของงานศิลปะ และยังทำให้อะไรๆ ก็อาจจะเป็นงานศิลปะได้นั่นเอง.


[1] ธนาวิ โชติประดิษฐ์. ปรากฏการณ์ นิทรรศการ. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมมติ, 2553), หน้า 22

[2] สุชาติ สวัสดิ์ศรี. คำนิยมเชิงวิจารณ์. ใน ถนอม ชาภักดี. ศิลปะปริทัศน์ เชิงอรรถการวิจารณ์. (กรุงเทพฯ : เนชั่นบุ๊คส์, 2545) หน้า VII

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น