วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ว่าด้วย ความรัก จุดเริ่มต้น และจุดจบ กับภาพยนตร์ "Tomorrow I will date with yesterday you".


หากการเริ่มต้นเป็นการเริ่มต้นด้วยจุดจบและหากการจบเป็นการจบด้วยจุดเริ่มต้น จุดเริ่มต้นกับจุดจบอาจมิได้แตกต่างกัน ไม่เพียงแต่กับ "ทาคาโตชิ" และ "เอมิ" ผู้อยู่ต่างเส้นเวลา หากแต่ในอีกมุมหนึ่ง การจบลงของภาพยนตร์ Tomorrow I will date with yesterday you ก็ทำให้ผมคิดถึงคำถามจากตอนเริ่มต้นของภาพยนตร์ Arrival "ถ้าคุณรู้ทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ คุณจะเปลี่ยนแปลงอะไรมันหรือไม่"

ความรักดูจะเป็นเรื่องซับซ้อนและเรียบง่ายในเวลาเดียวกัน มันอาจเรียบง่ายในความรู้สึก หากแต่มันซับซ้อนในแง่คำอธิบาย เช่นเดียวกับการพบกันระหว่างทาคาโตชิและเอมิบนรถไฟวันหนึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้คงมิได้แตกต่างจากภาพยนตร์ชวนฝันเรื่องอื่นๆ ที่อาศัยความบังเอิญและสิ่งที่เรียกว่า "รักแรกพบ" เป็นจุดเริ่มต้น ทาคาโตชิก็ไม่สามารถตอบได้ว่าทำไมเขาถึงหลงรักเอมิ หากแต่ความรักคงมิได้เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะของการสบตา ความทรงจำต่างๆ ตลอดจนช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันหล่อหลอมมาเป็นคู่ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นชิดใกล้อย่างแยกกันไม่ออก อีกนัยหนึ่งการที่เราจะบอกว่าเรารักคนๆ หนึ่ง ภายใต้คำว่ารักมันประกอบขึ้นจากบริบทรายล้อมมากมายทั้งความรู้จักมักคุ้น ประสบการณ์ จนล่วงเลยมาถึงความทรงจำที่ทั้งสองมีร่วมกัน แต่สำหรับทาคาโตชิและเอมิ สิ่งเหล่านี้กลับแตกต่างออกไป การสวนทางกันระหว่างเส้นเวลาทั้งสองนำมาซึ่งความทรงจำสองชุดที่มีความคาบเกี่ยวกัน หากแต่ดำเนินไปต่างกัน ดูเหมือนว่าภาพยนตร์จะแตะประเด็นเจตจำนงเสรีอยู่เล็กน้อย เมื่อความทรงจำทั้งสองชุดต่างดำเนินในทิศทางที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับภาพยนตร์ที่เริ่มต้นจากการเล่าเรื่องผ่านพระเอก และจบลงผ่านการเล่าเรื่องของนางเอก เพราะความทรงจำของทั้งคู่ต่างเริ่มต้นที่จุดจบและจบที่จุดเริ่มต้นของอีกฝ่าย การดำเนินไปในอนาคต จึงการเดินทางกลับไปหาอดีต ซึ่งอนาคตของฝ่ายหนึ่งคืออดีตของอีกฝ่าย การดำเนินไปคือการประทับลงของความทรงจำ แต่กับอีกฝ่ายการดำเนินไปคือการหายไปของความทรงจำ คำถามเกิดขึ้นว่าแล้วอีกฝ่ายยังคงเป็นคนรักที่เรารู้จักหรือเปล่า การเริ่มต้นคือจุดจบในขณะที่จุดจบคือการเริ่มต้น การบอกเล่าเรื่องราวของแต่ละฝ่ายนำมาซึ่งการลิขิตไว้ของเหตุการณ์ที่ทั้ง "จะเกิดขึ้น" และ "จบลงไปแล้ว" และเมื่อทาคาโตชิตั้งคำถามกับความจำเป็นในการทำตามสิ่งที่ลิขิต อีกนัยหนึ่งคือการตั้งคำถามต่อความเป็นอิสระของชีวิตที่เรามีสิทธิ์จะลิขิตมัน เพราะในโลกสมัยใหม่มิอาจหลีกพ้นจากคำถามเหล่านี้ ความเป็นสมัยใหม่มาพร้อมกับการปราศจากพระเจ้า มนุษย์จึงสามารถลิขิตชีวิตตัวเองได้ หากแต่หลายครั้งเราเองก็เกิดคำถามกับมัน เมื่อชีวิตมิอาจเป็นไปตามที่เราต้องการได้เสมอไป

การบอกเล่าเรื่องราวของทั้งสองต่อกัน ในแง่หนึ่งทั้งสองคือคนผู้มาจากอนาคตของแต่ละฝ่าย การรับรู้เรื่องราวของแต่ละฝ่ายเปรียบเสมือนการรับรู้เรื่องราวของอนาคต มันจึงทำให้ผมคิดถึงคำถามจากตอนเริ่มต้นของภาพยนตร์ Arrival "ถ้าคุณรู้ทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ คุณจะเปลี่ยนแปลงอะไรมันหรือไม่" และทั้งทาคาโตชิและเอมิก็มิได้เลือกต่างกับ หลุยส์ แบงคส์ ใน Arrival ด้วยเหตุผลของความรัก แม้จุดเริ่มต้นคือจุดจบและจุดจบคือจุดเริ่มต้น แต่ระหว่างทางของมัน ความรักก็ยังคงมอบความสุขและสิ่งดีๆ หลงเหลือไว้ หลายครั้งระหว่างทางสำคัญยิ่งกว่าจุดหมาย และทั้งสองเลือกที่จะเก็บเกี่ยวมันระหว่างทางและอีกแง่หนึ่ง การตัดสินใจเช่นนี้คือการหยิบยื่นความงามของความรักกับอีกฝ่ายที่เป็นเพียงอดีต เมื่อวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายความรักได้อย่างหมดจด โลกสมัยใหม่จึงยังคงไม่มีที่ยืนให้กับความรัก และสุดท้ายแล้วความสามารถในการลิขิตชีวิตตัวเองตามความคิดที่มาพร้อมกับโลกสมัยใหม่ก็คงมิอาจไปด้วยกันกับความรักได้ แม้การเดินหน้าสู่อนาคตจะนำไปสู่อดีตของอีกฝ่าย อดีตซึ่งอาจมิใช่คนเดิมที่รู้จัก แต่เมื่อการตัดสินใจอะไรบางอย่างมิใช่เพียงผลที่จะเกิดกับตัวเอง หากแต่ยังกระทบกับอีกคนที่รักยิ่ง การ "ยอม" และเลือกที่จะปล่อยให้มันเป็นไปทั้งที่รู้ว่าจุดจบคืออะไร จึงอาจกลายเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่เขาทั้งสองเลือกแล้ว

หากมองจากภาพรวม ภาพยนตร์ "Tomorrow I will date with yesterday you" อาจมิได้ต่างจากละครน้ำเน่าหรือการ์ตูนผู้หญิงชวนฝัน พลอตของมันมิได้แปลกแตกต่างไปจากการ์ตูนหลายๆ เรื่อง หรือละครหลายๆ ฉาก แต่ภาพยนตร์ก็คือภาพยนตร์ที่ประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆ ทั้งภาพ เสียง เรื่องราว มันคงมิอาจถอดออกมาเป็นประพจน์ใดๆ เพียงประพจน์เดียวและตัดสินมันจากประพจน์นั้นๆ และเช่นเดียวกับเอมิและทาคาโตชิ หากระหว่างทางของทั้งสองนำมาซึ่งความรู้สึกดีๆ จนทั้งสองมิอาจละเลยปล่อยผ่าน การชมภาพยนตร์ก็คงไม่ต่างกันนัก เพราะภาพยนตร์ก็มิได้แตกต่างกับศิลปะ เมื่อภาพยนตร์เผย World ของมันผ่าน The Strife of “World” and “Earth” การเข้าใจ World ของมันในอีกแง่หนึ่งคือความเข้าใจต่อ Dasein และตำแหน่งแห่งที่ของมันบนโลก ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ผมเข้าใจว่า การไปดูหนังคนเดียวก็มีข้อดีนั่นคือสามารถนั่งร้องไห้ในโรงหนังได้โดยไม่มีใครสนใจ.

La La Land : ความไม่จริงกับความพร่าเลือนระหว่างตรรกะของความเป็นจริง.


กลายเป็นกระแสไปเสียแล้วสำหรับ "La La Land" ภาพยนตร์มิวสิคัลเรื่องดังในช่วงต้นปี 2560 ในฐานะของงานศิลปะในรูปแบบหนึ่ง ภาพยนตร์จึงมิได้เป็นเพียงเครื่องบันทึกซึ่งความเป็นจริงของโลกภายนอกอย่างเที่ยงตรง ศิลปะมิได้อยู่ในฐานะของ mimesis เหมือนกับยุคของเพลโตหรืออริสโตเติลอีกต่อไปเสียแล้ว ตรรกะของภาพยนตร์จึงมิใช่ตรรกะของความเป็นจริง หากแต่มันคือความสมจริงที่อ้างอิงกลับไปยังตรรกะของตัวมันเอง และในฐานะของงานศิลปะ ภาพยนตร์จึงเปิดพื่นที่ให้กับการตัดสินคุณค่าเชิงสุนทรียะที่มีแง่มุมในเชิงอัตวิสัย รางวัลต่างๆ มิได้การันตีซึ่งความดีงามของหนังไปเสียทั้งหมด

ตรุษจีนกับลูกเจ๊กยุคใหม่ : บันทึกว่าด้วยความพร่าเลือนของตัวตนและยุคสมัย


ผมเห็นย่าตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก ตามประสาลูกเจ๊กแต้จิ๋วในเจเนเรชันท้ายๆ ที่ไม่ได้ conscious ในความเป็นจีนของตัวเองเท่าไหร่นัก ตอนนั้นผมไม่รู้หรอกว่าทั้งหมดคืออะไร ทำไมต้องไหว้ ย่าบอกแต่เพียงว่า ตรุษจีนต้องไหว้ปู่ทวด ย่าทวด ปู่จ่าง และคนที่ตายไปแล้ว ผมก็ได้แต่ทำตาม และรู้แค่เรืองอั่งเปาตั่วตั่วไก๊ อันเป็นสิ่งที่เด็กจะได้ในช่วงตรุษจีน

จนเมื่อผมโตขึ้น บางทีการเรียนปรัชญาขงจื่อและหลายๆ เหตุการณ์ในชีวิตที่ผ่านไป ทำให้ผมรู้สึกถึงชาติกำเนิดตัวเองมากขึ้น ทุกวันนี้ผมภูมิใจที่จะบอกว่าตัวเองเป็นเจ๊กแต้จิ๋ว เมื่อย่าจากไป ในบ้านแทบไม่มีคนรู้ธรรมเนียม จารีต และอื่นๆ ผมจึงพยายามศึกษาและเข้าใจมันให้มากขึ้น และรู้สึกเป็นหน้าที่ที่ต้องสืบต่อจารีตในฐานะหลานชายคนโต (ซึ่งที่จริงก็ไม่ใช่ซะทีเดียว) เรื่องนี้อาจเป็นเพียงเรื่องไร้สาระสำหรับคนบางคน หลายคนอาจคิดว่าเป็นเพียงเรื่องงมงายของพวกเจ๊ก แน่นอนผมเคยคิดอย่างนั้นเหมือนกัน แต่เมื่อผมโตขึ้น ผมเข้าใจความหมายของมันมากขึ้น ความหมายที่อยู่เบื้องหลังพิธีกรรมอันแฝงไปด้วยความสำคัญของครอบครัว ความหมายอันผูกอยู่กับเบื้องหลังวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจนอน่างแนบแน่น อันมิใช่เพียงแค่เรื่องงมงาย จนถึงตอนนี้ ผมนึกถึงคำพูดของ อ.สุวรรณา สถาอานันท์ อยู่คำหนึ่ง ผมเคยบอกท่านว่าผมไม่ชอบขงจื่อ เพราะความเป็น conservative ที่สนับสนุนขุนนาง ความเป็นชนชั้นศักดินา อาจารย์บอกแต่เพียงว่า ของบางอย่างมันต้องใช้เวลาที่จะเข้าใจมัน ตอนสาวๆ ฉันก็ไม่ชอบ แต่พออายุมากขึ้นฉันเลยเข้าใจ ...... ผมก็เพิ่งเข้าใจหลายๆ อย่างเช่นเดียวกัน (แต่ชอบมั้ยมันอีกเรื่องหนึ่ง หน้าที่คือหน้าที่)

วันนี้ผมต้องเป็นคนจัดการด้วยตัวเองทั้งหมด ย่ากลายเป็นเพียงผู้มาเยือน มารับของเซ่นไหว้จากลูกหลาน ผมยังคงระลึกและจำคำสั่งสอนของย่าได้ทุกอย่าง สำหรับผม นี่อาจเป็นแก่นแท้ของการไหว้บรรพบุรุษ .. การระลึกถึงผู้จากไป บรรพบุรุษที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ และสืบทอดวงศ์ตระกูล ตลอดจนสั่งสอนสิ่งที่ดีแก่ลูกหลาน .....

ผมคิดถึงย่า....

วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2560

ดาวคะนอง" กับภาวะประติดประต่อของความทรงจำ


ภาวะของการแตกกระจาย กระจัดกระจาย ไม่ลงรอย คงมิใช่ความผิดพลาด หากแต่คือความจงใจ แน่นอน หากใครบอกว่าสามารถเข้าใจมันทั้งหมด คงต้องโกหกเป็นแน่ ยิ่งพยายามจะประติดประต่อ ยิ่งไม่สามารถประติดประต่อ ไม่ต่างอะไรกับความทรงจำ ที่มิอาจจดจำทุกแง่ทุกมุมของเรื่องราวในโลกแห่งความจริง สิ่งที่หลงเหลืออยู่มีเพียงเรื่องราวบางเรื่อง คำพูดบางคำ และบางเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง หากบอกว่าหนังดูไม่รู้เรื่อง มันก็คงไม่ใช่ความผิด ในแง่หนึ่ง ภาพยนตร์มิใช่กระจกสะท้อนความเป็นจริง ในขณะเดียวกันโลกร่วมสมัยก็ผลักมันออกไปจากหนาที่เพียงแค่การบอกเล่าเรื่องราว เช่นเดียวกับดาวคะรอง สิ่งที่ภาพยนตร์ต้องการสื่อสารอาจมิใช่เรื่องราว หากแต่เป็นสภาวะที่เราต้องร่วมค้นหาไปกับภาพยนตร์

หนังเริ่มต้นด้วยเรื่องราวของ 6 ตุลา หากแต่มันมิใช่ภาพเรื่องราวจริงหรอแสดงให้เหมือนจริง แต่มันคือการแสดงซ้อนการแสดง การแสดงที่จงใจให้รู้ถึงการแสดง ถ้อยคำสัมภาษณ์ของ "แต้ว" นักเขียนและอดีตนักกิจกรรมสมัย 6 ตุลา ตลอดจนการ "แสดง" ในอีกต่อหนึ่งในเรื่องราวของแต้วและแอน เน้นย้ำการเล่าเรื่องราวในฐานะของภาพตัวแทนที่ไม่ลงรอย แนบชิด ปิดสนิทอย่างแนบเนียน ความเที่ยงตรงที่อาจไม่เที่ยงตรง แต้วตัวจริงที่แตกต่างจากแต้วตัวแสดงผู้เลอเลิศไปด้วยการแต่งกาย สิ่งเหล่านั้นมันคือการบอกเล่าความทรงจำแก่เราในฐานะบุคคลที่สามตามตัวอักษร โดยรับสารในฐานะของข้อมูลทุติยภูมิที่ถูกถ่ายทอดมาอีกต่อหนึ่ง การตัดสลับกันระหว่างถ้อยสัมภาษณ์ของแต้วกับเรื่องราวของกลุ่มนักศึกษาที่มิอาจแน่ใจได้ว่าคือการย้อนอดีตหรือการแสดงในอีกต่อหนึ่งเน้นย้ำถึงภาวะกระจัดกระจาย ผสมผสาน ของความทรงจำ ที่มันมีทั้งเรื่องเล่า ทั้งความทรงจำ ทั้งความเป็นจริง ต่างผสมปนเปกันอย่างมิอาจจำแนก ภาพของบ้านไม้ผุพังในตอนต้น ตลอดจนภาพของเห็ดราที่ถูกเน้นย้ำ สะท้อนนัยของความเน่าเปื่อย ผุพัง อาจเป็นการวิพากษ์ถึงความทรงจำของ 6 ตุลา ที่ดูจะ "เน่าเปื่อย ผุพัง" ในปัจจุบัน

ในขณะเดียวกัน เรื่องราวของคู่รักดาราที่ดูเป็นอีกเส้นเรื่องที่มิอาจแนบชิดปิดสนิทกับเรื่องราว 6 ตุลา แต่ดูเหมือนทั้งสองเรื่องราวต่างถูกเชื่อมกันด้วยตัวละครอย่างแอนผู้กำกับ แต่แอนผู้กำกับก็มิใช่คนเดียวกับแอนที่สัมภาษณ์แต้ว หรือแอนที่ถ่ายทอดเรื่องราวของแอนและแต้ว มันจึงเป็นเรื่องราวที่ดูหลากเลื่อน เลื่อนไหล รางเลือน เช่นเดียวกับความทรงจำของ 6 ตุลาที่ถูกรายล้อมด้วยเรื่องราวต่างๆ อีกตัวละครหนึ่งที่น่าสนใจคือสาวปริศนาคนหนึ่งที่ปรากฏตัวอยู่ตลอดเรื่องในบทบาทที่แตกต่างกัน ซึ่งบทบาททั้งหมดอาจจัดได้ว่าอยู่ในสถานะที่เป็นชนชั้นแรงงาน และดูเหมือนไม่มีตัวตนในยามปกติแม้กับคนดู โดยทั่วไปแล้ว หากเราชมภาพยนตร์ เรามักจะไม่จดจำบทบาทของคนทั่วไปที่ดูจะเป็นเพียงตัวประกอบ แต่ "ดาวคะนอง" กลับเน้นย้ำและดูเหมือนว่าสาวปริศนาคนนั้นจะเป็นตัวเชื่อมเรื่องราวทั้งหมด และเช่นเดียวกัน หากพิจารณาจากบริบทรายล้อม การจ้องโดมธรรมศาสตร์และความพร่าเลือนของสัญญาณตอนท้ายคือการเน้นย้ำถึงเรื่องเล่าของภาพยนตร์ที่มิได้ผลิตซ้ำเรื่องราวจากหน้าประวัติศาสตร์ แต่เป็นเพียงความรางเลือนที่ไม่ชัดเจนรายรอบชีวิตประจำวันของคนทั่วไป หญิงสาวปริศนาจึงอาจเป็นตัวแทนของผู้ชม ที่คงมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับหน้าประวัติศาสตร์ แต่เพียงแค่เฝ้ามองจากสายตาปกติธรรมดา ในอีกแง่หนึ่งภาพยนตร์มีนัยของการมองประวัติศาสตร์โดยเรียกร้องและยกสถานะคนธรรมดาและเรื่องราวที่รายล้อมให้ขึ้นมามีตัวตนในประวัติศาสตร์นั่นเอง

From Bangkok to Mandalay : ว่าด้วย "ความทรงจำ" ของจดหมายและประวัติศาสตร์


คงมิใช่เรื่องบังเอิญที่เรื่องราวความรักเกิดขึ้นใน "กรุงเทพฯ" และ "มัณฑเลย์" อันเป็นเมืองในไทยและพม่า เมื่อพิจารณากลับยังประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในอดีต การพูดถึงความรักจึงแปลกแยกออกจากประวัติศาสตร์ที่ไทยและพม่าดูจะเป็นคู่ขัดแย้งกันตั้งแต่อดีตกาล ในขณะที่ประวัติศาสตร์เป็นเพียงความทรงจำที่มิอาจจำได้ทุกรายละเอียด ความรักที่เคยเกิดขึ้นก็และจบลงไปก็เหลือเพียงความทรงจำในจดหมายเช่นเดียวกัน

หากประวัติศาสตร์คือ History เราก็คงมิอาจแยกมันออกจากความทรงจำได้ ด้วยรากของ History คือ Historia อันหมายถึงการไต่สวนหรือค้นคว้า ซึ่งแน่นอนว่าในกระบวนการไต่สวนหรือค้นคว้าจำเป็นต้องอาศัยมนุษย์ หากข้อจำกัดของมนุษย์คือความทรงจำอันมิอาจจดจำในทุกรายละเอียด ประวัติศาสตร์ก็มิอาจเรียกได้ว่าเป็นความจริง แต่กระนั้นสถานะของประวัติศาสตร์และสถานะของจดหมายก็ยังมิอาจเท่ากัน เมื่อการเขียนจดหมายสามารถเกิดขึ้นจากความทรงจำของเอกบุคคล แต่ประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับอำนาจ หลักฐาน และคนอีกมากมาย จดหมายจึงมิอาจมีที่ยืนในประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับเรื่องราวของบุคคลเล็กๆ รากฐาน อดีต และวัฒนธรรมของคนไร้อำนาจที่มิอาจมีอำนาจในพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่อาศัยอำนาจอันสูงส่งของการนิยาม

การตายของย่าคือการจบสิ้นของอดีต ในขณะที่ "ปิ่น" ในฐานะคนที่ยังอยู่กลับมีหน้าที่ในการเข้าไปไต่สวนหรือค้นคว้ากับเรื่องราวของอดีตอันเหลือเพียงหลักฐานจากจดหมาย ในแง่นี้จดหมายในภาพยนตร์คงมีสถานะไม่ต่างจากประวัติศาสตร์ หากแต่ประวัติศาสตร์นี้มิใช่ประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่มันคือประวัติศาสตร์ของเอกบุคคลที่เคยใช้ชีวิตในสองประเทศ สองวัฒนธรรม ในแง่หนึ่งการเป็นบุคคลที่ใช้ชีวิตในสองประเทศและสองวัฒนธรรมเป็นการเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์บางอย่าง มิใช่เพียงแต่ในประวัติศาสตร์ของเอกบุคคลหรือความทรงจำที่หลงเหลืออยู่ แต่ในฐานะของความสัมพันธ์ของทั้งสองวัฒนธรรมอันมีพื้นที่อยู่ใกล้ชิดติดกัน สถานะของย่าอันมิอาจบอกได้ถึงเชื้อชาติหรือสถานะทางกฏหมายที่หนังจงใจละมันจากการรับรู้ของผู้ชม ในขณะเดียวกันการละนั้นคือการละออกจากการรับรู้ถึงรากและชาติกำเนิดของย่าจากปิ่นผู้เป็นหลานด้วยเช่นกัน มันคือการเน้นย้ำถึงการไม่เคยคิดถึงอดีตทางสายเลือดของคนที่มีชีวิตอยู่ หรือในภาพตัวแทนของคนไทย ซึ่งอันที่จริงแล้ว ทั้งคนไทยและประเทศเพื่อนบ้านอุษาคเนย์มีความใกล้ชิดกันมาตลอด มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดอันผสมปนเป แต่สิ่งเหล่านี้กลับอยู่นอกเหนือการรับรู้ เพราะไม่เคยมีใครชวนให้สืบค้นหรือตระหนักรู้ การที่ปิ่นย้อนกลับไปสืบเสาะหาเรื่องราวในอดีตของย่าจึงมิใช่การย้อนกลับไปค้นหาอดีตทางสายเลือดของปิ่นเท่านั้น แต่มันคือการนำผู้ชมย้อนกลับไปสืบเสาะ พิจารณา และครุ่นคิดเกี่ยวกับอดีตของทั้งสองชาติด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะจากการรับรู้ในอดีต หรือคำบอกกล่าวจากภาพยนตร์ที่กำลังบอกกล่าวถึงเรื่องราวในอดีต

การที่ความรักของนันดะกับธูซาเกิดขึ้นในปีสุดท้ายที่พม่ามีการเลือกตั้ง ก่อนจะเข้าสู่ยุคเผด็จการทหารพร้อมกับการล่มสลายลงของความรักของทั้งคู่ ในแง่หนึ่งมันชวนให้คิดถึงภาพยนตร์ไทยในอดีตอย่าง October Sonata ความรักอันงดงามเกิดขึ้นและล่มสลายลงอันเป็นการเล่นล้อกับการเกิดขึ้นและล่มสลายลงของเสรีภาพและประวัติศาสตร์การเมือง การตายลงของความรักระหว่างทั้งนันดะและธูซาเล่นล้อกับการล่มสลายลงของเสรีภาพทางการเมืองในพม่าเช่นเดียวกับความรักของรวีและแสงจันทร์ที่พังลงพร้อมกับการล่มสลายของเสรีภาพหลังเหตุการณ์เดือนตุลา หากพิจารณาอย่างระมัดระวังแล้ว ทั้งความรักและเสรีภาพมักจะถูกใช้อย่างเกี่ยวข้องมันมาตลอด อาจเป็นเพราะการเกิดขึ้นของความรักเองจำเป็นต้องอาศัยเสรีภาพในการเลือกที่จะรักด้วยเช่นกัน ทั้งสองเรื่องเก็บซ่อนแง่มุมทางการเมืองไว้อย่างมิดชิดไว้เบื้องหลังความรัก เหลือเพียงโศกนาฏกรรมของความรักที่บอกกล่าวสารบางอย่างของผู้ชมในฐานะตัวแทนของโศกนาฏกรรมทางการเมือง และสุดท้ายภาพยนตร์ก็ชี้ให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ไม่เคยมีเสรีภาพและไม่เคยแยกออกจากอำนาจ ปีศาจอย่างธูซาก็มิอาจต้านทานอำนาจของศักดินาได้ฉันใด ความทรงจำที่ไม่เคยมีที่ยืนในประวัติศาสตร์ก็มิอาจมีพลังนิยามเหนือประวัติศาสตร์อันมีพลังล้นเหลือไปได้ แต่ภายใต้คู่ขัดแย้งดังกล่าว ชีวิตยังคงต้องเดินต่อไป แม้จะเจ็บปวดสักเพียงไหน เช่นเดียวกับการตัดสินใจของธูซาที่จำต้องแต่งงานกับชายกรุงเทพที่ตนมิได้รัก แม้มันจะเจ็บปวด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางสิ่งมันเคยเกิดขึ้นและเป็นบาดแผล แต่ชีวิตธูซาและชีวิตของทุกคนก็ยังคงต้องเดินต่อไป

การสร้างเรื่องเล่าจากจดหมาย ในแง่หนึ่งคือการสร้างเรื่องเล่าจากความทรงจำ นัยของประวัติศาสตร์จึงปรากฏอยู่ชัดเจน แต่ประวัติศาสตร์ในภาพยนตร์คือประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ของบุคคลที่เต็มไปด้วยความรักและโศกนาฏกรรมอันแตกต่างไปจากประวัติศาสตร์กระแสหลักที่เต็มไปด้วยอำนาจและความเกลียดชัง

"Kimi no nawa"


1. ว่าด้วยการสลับร่าง : ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นของชนบทและสังคมเมือง

ในช่วงปลายปี 2559 คงไม่มีภาพยนตร์เรื่องไหนเป็นกระแสโด่งดังเท่ากับภาพยนตร์แอนิเมชันจากญี่ปุ่นเรื่องหนึ่ง อันเป็นผลงานของ Makoto Shinkai ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนั้นคือ Kimi no nawa หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Your Name และชื่อภาษาไทยว่า “หลับตาฝัน ถึงชื่อเธอ" ภาพยนตร์ดังกล่าวทำลายสถิติรายได้เปิดตัวในช่วงสุดสัปดาห์ของประเทศญี่ปุ่น โดยกวาดรายได้ไปเกือบ 1 พันล้านเยน

Kimi no nawa เป็นเรื่องราวของตัวละคร 2 คน คือ มิตสึฮะ และ ทาคิ ความห่างไกลและแตกต่างพาทั้งสองมาพบกันผ่านการ “สลับร่าง” แน่นอนว่าพลอตดังกล่าวคงมิใช่พลอตที่แปลกใหม่นัก และมักจะพบได้ในละครหลังข่าวที่เป็นที่ถูกอกถูกใจชาวเมือง แต่อย่างไรก็ตาม Kimi no nawa ก็คงมิใช่เพียงแค่นวนิยายน้ำเน่าที่หวังเพียงการสร้างความ “ฟิน” แต่เบื้องหลังผลงานของ Shinkai มีเรื่องราวอยู่มากมายหลายอย่าง ความโดดเด่นและแปลกแยกอย่างจงใจในบางฉากบางตอนเรียกร้องผู้ชมให้ค้นหาความหมายบางอย่างอันซ่อนอยู่เบื้องหลังความ “ฟิน” ของตัวบทภาพยนตร์

การสลับร่างดูเป็นพลอตที่ธรรมดาซ้ำซากในละครน้ำเน่าหลังข่าว เหตุใดผู้ชมถึงรู้สึกกระดี๊กระด๊าและชื่นชอบจนกลายเป็นกระแสเช่นนั้น หากเราพิจารณาว่าการสลับร่างมิใช่ประเด็นหลักแต่คือความจำเป็นในการเสนออะไรบางอย่าง การสลับร่างของทั้งมิตสึฮะและทาคิจึงเป็นเสมือนการสื่อสารถึงความหมายบางประการอันมากไปกว่านั้น

ทำไมต้องเป็นมิตสึฮะและทาคิมันไม่ยากหากตอบแบบกำปั้นทุบดินว่าเพราะมิตสึฮะเป็นนางเอก และทาคิเป็นพระเอก แต่หากพิจารณาลึกลงไปอีก มิตสึฮะอาศัยอยู่ในเมืองอิโตโมริซึ่งตามบริบทของภาพยนตร์บ่งบอกว่าน่าจะเป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลจากความเป็นเมืองหรืออีกนัยหนึ่งเป็นเมืองชนบทเล็กๆ ที่ทุกคนรู้จักกัน การเน้นย้ำความ “ไม่มีอะไร” ด้วยการอธิบายว่ารถไฟมาทุกๆ 2 ชั่วโมง ร้านสะดวกซื้อปิด 3 ทุ่ม ทั้งเมืองไม่มีร้านหนังสือ ไม่มีหมอฟัน แต่ยังมีผับ 2 แห่งด้วยเหตุผลบางอย่างอันไม่บอกแน่ชัด เราอาจอนุมานจากข้อมูลที่ตัวภาพยนตร์ให้มาได้ว่าลักษณะของเมืองอิโตโมริเป็นเมืองที่ยังไม่พัฒนาเมื่อเทียบกับเมืองหลวงอย่างโตเกียวอันเป็นที่อยู่ของทาคิ ร้านสะดวกซื้อที่ปิด 3 ทุ่มบ่งบอกถึงบริบทที่ไร้ชีวิตยามค่ำคืน การไม่มีทั้งร้านหนังสือและหมอฟันอันเป็นตัวแทนขององค์ความรู้ในสังคมสมัยใหม่เน้นย้ำถึงภาวะของความไม่เป็นสมัยใหม่ในเมืองอิโตโมริ และนัยดังกล่าวยังถูกเน้นย้ำด้วยข้อมูลของตัวละครอย่างมิตสึฮะที่เกิดขึ้นในครอบครัวอันเป็นทายาทของศาลเจ้ามิยะมิซึ (宮水神社) อีกทั้งชีวิตของมิตสึฮะและครอบครัวยังเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมหลายๆ อย่าง เช่น การถักเชือก พิธีกรรมของศาลเจ้า ตลอดจนการเป็นผู้สืบทอด สิ่งเหล่านี้ขัดแย้งกับเรื่องราวของทาคิอย่างตรงกันข้าม

หากมิตสีฮะเป็นตัวแทนของชนบท ในขณะที่ทาคิเป็นตัวแทนของสังคมเมือง การสลับร่างดังกล่าวคงดูราวกับเป็นการเติมเต็มอะไรบางอย่าง แต่สำหรับ kimi no nawa การสลับร่างดังกล่าวอาจมิใช่การเติมเต็มอะไรบางอย่างที่สมดุลกันระหว่างชาวเมืองกับชนบท ภาพของสังคมเมืองดูจะไม่ได้ถูกสนใจมากนัก สังคมเมืองจึงแตกต่างกับชนบทเพียงแค่ผู้คนและเทคโนโลยีที่แตกต่าง ในขณะที่สำหรับสังคมชนบทมีลักษณะเป็นสภาพสังคมแบบเก่าที่ค่อนข้างปิดและแปลกแยกออกจากสังคมอื่นๆ อีกทั้งยังคงบูชาเทพเจ้า การเติมเต็มดังกล่าวจึงดูเป็นการเติมเต็มเพียงแค่มิตสึฮะเพียงฝ่ายเดียว ในขณะที่ประสบการณ์แปลกใหม่ของทาคิมิได้เป็นการเติมเต็มความปรารถนา หากแต่เป็นเพียงประสบการณ์เพิ่มเติมที่คนเมืองได้มีโอกาสไปเห็นชนบทเสียมากกว่า การสลับร่างจึงยังคงเน้นย้ำถึงความเหลื่อมล้ำและแตกต่างของชาวเมืองและชนบทอย่างชัดเจน ในขณะที่ชาวชนบทต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นโดยการเข้าไปสู่สังคมเมือง แต่การออกไปสู่ชนบทของชาวเมืองมิได้มีอะไรสลักสำคัญนอกเหนือไปจากการเป็นประสบการณ์ชุดหนึ่ง ที่ถูกหลงลืมโดยท้ายที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ตัวหนังก็ยังแอบแฝงไปด้วยน้ำเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมเมืองอันนำไปสู่ความโดดเดี่ยว การที่สามารถรักคนที่ไม่รู้จักกันอันมาจากดินแดนที่ไม่รู้จักเลย เน้นย้ำถึงความสมบูรณ์แบบของเมืองอันนำมาสู่สภาวะขาดพร่องในตัวเอง เราจึงสามารถรักสิ่งที่แตกต่างหรือสิ่งที่ไม่รู้จักได้นั่นเอง

ถ้าเรามองในกรอบของความแตกต่างระหว่างสังคมชนบทและสังคมเมือง ดูเหมือนว่าภาพยนตร์จะเน้นย้ำถึงประเด็นนี้อยู่เสมอๆ ภาพความขัดแย้งของวิถีชีวิตชนบทและสังคมเมืองยังถูกเน้นย้ำด้วยความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวทายาทศาลเจ้าของมิตสึฮะกับพ่อผู้เป็นนายกเทศมนตรี ถึงแม้ว่าจะยังมีความขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา และท้ายที่สุด ความเหลื่อมล้ำของสังคมชนบทและสังคมเมืองนั้นมีอยู่จริง การสลับร่างระหว่างทั้งสองจึงเป็นความแปลกแยกที่ต่อไม่ติดในครั้งแรกๆ อีกทั้งการช่วยเหลือชาวเมืองอิโตโมริในเหตุการณ์ดาวตกจากทาคิ ตลอดจนการพยายามเรียกร้องความช่วยเหลือจากนายกเทศมนตรี แสดงให้เห็นว่า สังคมชนบทยังคงต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากความเจริญในสังคมเมืองต่อไป

2. ว่าด้วย “มิซูบิ” 

ดูเหมือนว่าเรื่องราวเกือบทั้งหมดของภาพยนตร์แอนิเมชัน Kimi no nawa จะเกี่ยวข้องกับมิซูบิเกือบทั้งหมด อาจไม่ผิดนักหากกล่าวว่าหัวใจสำคัญของภาพยนตร์ที่เป็นตัวเดินเรื่องราวทั้งหมดนั้นก็คือมิซูบิ และมิซูบิปรากฏอยู่ในทั่วทุกอณูของภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

อะไรคือมิซูบิ ภาพยนตร์พูดถึงความหมายของมิซูบิในตอนที่มิตสึฮะ ยาย และยทสึฮะน้องสาวเดินทางไปบนเขาเพื่อหาเทพเจ้าและเข้าสู่แดนยมโลก มุซึบิคือความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ การเชื่อมสัมพันธ์ต่อสิ่งต่างๆ ระหว่างมนุษย์ เทพเจ้า ธรรมชาติ หรือแม้แต่การเวียนว่ายของกาลเวลา ภาพยนตร์อาศัยการถักเชือกเป็นสิ่งที่อธิบายมิซูบิได้อย่างน่าสนใจ การถักเชือกเป็นภาวะที่เชือกมาบรรจบต่อเป็นรูปร่าง หมุนเป็นเกลียว พันกันยุ่งเหยิง หลายครั้งก็คลายออก ขาด และเชื่อมกันอีกครั้ง เชือกเป็นตัวแทนของเวลา และสิ่งเหล่านี้คือมิซูบิ และเมื่อทั้งเชือกและเวลาเป็นมิซูบิ จึงนำมาสู่ความสัมพันธ์โยงใยข้ามกาลเวลาของทั้งมิตสึฮะและทาคิ

หากการสลับร่างระหว่างมิตสึฮะและทาคิก่อให้เกิดความสัมพันธ์กัน การพบพาน จากพราก และพบกันใหม่ สิ่งเหล่านี้สะท้อนนัยของมิซูบิอย่างชัดเจน การเทียบมิซูบิกับภาวะของการถักเชือก ทั้งการหมุนเป็นเกลัยว พัน ขาด และเชื่อมกัน สะท้อนให้เห็นถึงภาวะของการควบคุมไม่ได้ของมิซูบิ การพบกันระหว่างมิตสึฮะและทาคิจึงถูกอธิบายผ่านภาวะของการอธิบายไม่ได้ของมิซูบิ การที่ทั้งสองสลับร่างกันก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกัน การสลับร่างผ่านการนอนหลับและความฝันสะท้อนให้เห็นถึงสถานะของความฝันในฐานะมิซูบิ ในขณะที่เราฝัน เราพบเจอกับประสบการณ์อีกชุดหนึ่ง อาจเป็นคนที่เราเคยเจอ สิ่งในจินตนาการ หรือประสบการณ์ในอดีต การเชื่อมโยงเราเข้ากับประสบการณ์ดังกล่าว จึงทำให้ความฝันเป็นมิซูบิเช่นเดียวกับความฝันที่ทำให้มิตสึฮะและทาคิรับรู้ถึงประสบการณ์ของกันและกันนั่นเอง นอกจากนี้การแทนที่มิซูบิด้วยเส้นเชือก สะท้อนถึงการคล้ายกันระหว่างเส้นเชือกกับลักษณะของดาวหาง การพบกันของทั้งสองเริ่มต้นขึนด้วยเรื่องราวของดาวหางอันสังเกตได้จากเรื่องราวของดาวหางที่ปรากฏขึ้นในข่าวโทรทัศน์ ในขณะเดียวกันภายหลังจากเหตุการณ์ที่ดาวหางตก การพบกันและสลับร่างกันของทั้งสองก็จบสิ้นลง

นัยของมิซูบิยังคงถูกเน้นย้ำด้วยเรื่องราวของครอบครัวมิตสึฮะ การเป็นทายาทของครอบครัวศาลเจ้าเน้นย้ำถึงนัยของมิซูบิที่มีอย่างเหลือล้นในสังคมดั้งเดิม ศาลเจ้าเป็นสถานที่ที่ผู้คนต่างๆ เข้ามามีประสบการณ์ร่วมกัน เกิดความสัมพันธ์ เหตุการณ์ และประสบการณ์ต่างๆ ศาลเจ้าจึงมีบทบาทในการเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันผ่านประเพณีต่างๆ ในแง่นี้ศาลเจ้าและประเพณีจึงเป็นมิซูบิ นอกจากนี้นัยของมิซูบิยังถูกเน้นย้ำด้วยภาวะของการสืบทอดในครอบครัวของมิตสึฮะ ถึงแม้ความหมายต่างๆ ของประเพณีจะสูญหายไปจากสภาวะและเหตุการณ์ แต่การสืบทอดคือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างปัจจุบันกับอดีต ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวก็คือมิซูบิ และนอกจากนี้ มิซูบิยังทำให้มิตสึฮะและทาคิได้พบกันอีก คุชิคามิสาเกของมิตสึฮะที่ถูกนำไปวางทิ้งไว้ในร่างของเทพเจ้าที่ยมโลกถูกนิยามว่าเป็นมิซูบิ สาเกนั้นเป็นเสมือนครึ่งชีวิตของมิตสึฮะ และอีกนัยหนึ่งสาเกนั้นคือสิ่งที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า สาเกนั้นจึงเป็นมิซูบิ และนัยความเป็นมิซูบิของสาเกถูกเน้นย้ำจากการที่ทาคิมาดื่มสาเกเข้าไปและได้สลับร่างกัน

นอกจากนี้สิ่งที่ถูกนิยามในฐานะของมิซูบิอีกอย่างหนึ่งก็คือช่วงเวลาสนธยา ในตอนต้นของเรื่อง สภาวะของสนธยาถูกอธิบายผ่านการสร้างคำในภาษาญี่ปุ่น tasokare อันเป็นคำถามว่านั่นคือใคร ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า tasogare-doki ซึ่งหมายถึงท้องฟ้าที่มีแสง คำที่เก่ากว่านั้นคือ karetaso จากความหมายดังกล่าว สนธยาจึงเป็นช่วงเวลาแห่งการพบกับสิ่งที่ไม่เคยพบ อาจจะเป็นมนุษย์ ภูติ หรือสิ่งอื่นๆ ในความเชื่อดั้งเดิมสนธยาเป็นมิซูบิอยู่แล้ว แต่ในภาพยนตร์นัยของมิซูบิเองก็ถูกเน้นย้ำผ่านการพบกันครั้งสุดท้ายระหว่างมิตสึฮะและทาคิ ถึงแม้ทั้งสองจะอยู่คนละช่วงเวลา แต่ก็สามารถมาพบกันได้ในยามสนธนา ทั้งนี้การพบพาน จากพราก และพบกันใหม่ สิ่งเหล่านี้คือ "มิซูบิ" นั่นเอง

3. ชื่อ ความทรงจำ และบุพเพสันนิวาส : หลับตาฝัน ถึงชื่อเธอ

อีกสิ่งหนึ่งที่ดูจะเป็นประเด็นสำคัญในเรื่องก็คือเรื่องของเชือกสีแดงที่ปรากฏคล้องระหว่างทั้งสองทั้งในเพลงนำเรื่องของภาพยนตร์และในเหตุการณ์ที่มิตสึฮะและทาคิได้พบกันครั้งแรก เชือกสีแดงดังกล่าวทำให้เราสามารถโยงกลับไปถึงความเชื่อเรื่องด้ายแดงในวัฒนธรรมตะวันออก ทั้งนี้ด้ายแดงเป็นตัวแทนของคู่แท้ พรหมลิขิต หรือบุพเพสันนิวาส โดยเชื่อกันว่าบุคคลที่เกิดมาเป็นคู่กันจะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันผ่านด้ายแดงที่มองไม่เห็น ซึ่งด้ายแดงแห่งโชคชะตานี้จะเชื่อมโยงกับทั้งสองฝ่ายตลอด ไม่ว่าทั้งคู่จะอยู่ที่ใด ณ เวลาใด หรือชาติภพใดก็ตาม ด้ายแดงนี้อาจจะยืดตึง หรืออาจจะพันกันได้ แต่ไม่อาจตัดขาดออกจากกันได้ การที่มิตสีฮะและทาคิถูกเชื่อมโยงด้วยด้ายแดงในการพบกันครั้งแรกจึงเปรียบเสมือนการสร้างความสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ระหว่างกัน ในแง่นี้ทั้งด้ายแดงและบุพเพสันนิวาสจึงถูกนิยามให้เป็นมิซูบิ สิ่งที่หลงเหลืออยู่ในเชือกแดงที่มิตสึฮะทิ้งไว้ให้กับทาคิก็คือประสบการณ์บางอย่างของทั้งสองคน ในแง่หนึ่งถึงแม้การสลับร่างกันของทั้งสองจะเป็นเรื่องที่อธิบายได้ยาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เชื่อมทั้งสองเข้าด้วยกันก็คือมิซูบิ ในด้านหนึ่งคือชุดประสบการณ์บางอย่างที่แฝงฝังอยู่ในเหตุการณ์รายรอบด้ายแดงที่ทาคิได้ครอบครองเอาไว้ อีกด้านหนึ่งคือภาวะของความปรารถนาที่มีต่ออะไรบางอย่าง ความปรารถนานั้นนำพาให้เราสัมพันธ์กับอะไรบางอย่าง อย่างน้อยก็ผ่านภาวะทางจิตใจ ความปรารถนานั้นก็คือมิซูบิ ทั้งสองจึงถูกเชื่อมเข้าด้วยกันผ่านด้ายสีแดงและความปรารถนาของมิตสึฮะในการที่อยากไปใช้ชีวิตในเมืองอันเป็นมิซูบิ และความเชื่อมโยงของทั้งสองก็จบลง ภายหลังจากที่ทาคิได้คืนด้ายแดงให้กับมิตสึฮะ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นมิซูบิที่สำคัญอย่างที่สุดและทุกคนจะต้องมีสิ่งนี้ นั่นก็คือความทรงจำ เพราะความทรงจำเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างบุคคลกับเหตุการณ์หรือบุคคลกับบุคคล ความทรงจำที่ปรากฏขึ้นจึงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างบุคคลกับประสบการณ์ อาจจะเป็นประสบการณ์ในอดีตที่เคยเกิดขึ้น หรือในบางภาวะที่ความทรงจำนั้นเรือนลางเต็มทน การบิดเบือน ไม่ชัดเจน ทำให้ประสบการณ์บางอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นอาจกลายมาเป็นความทรงจำด้วยเช่นกัน ถึงแม้ในความเชื่อชินโต ความเชื่อชินโตจะถือว่า "ชื่อ" เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของวิญญาณ อีกนัยหนึ่งชื่ออาจเป็นการนิยามบุคคล บ่งบอกถึงภาวะของการจำได้/รู้จัก การที่ทั้งทาคิและมิตสึฮะ ลืม "ชื่อ" ของอีกฝ่ายเป็นอันดับแรก เป็นสัญญาณของการลืมเรื่องราวระหว่างกันไป และการที่จะเขียนชื่อไว้ไม่ให้ลืมกันเป็นความมุ่งหมายที่มิอยากให้ชื่อและความทรงจำอันเป็นมิซูบิที่เชื่อมสัมพันธ์กันนั้นหายไป แต่สุดท้ายเขาทั้งสองก็มิอาจต้านทานธรรมชาติของมิซูบิที่มีทั้งการพบพาน และการจากพรากอันเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์นั่นเอง

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

Post / Modern and Art : ศิลปะหลังสมัยใหม่กับปัญหาความ “ร่วมสมัย” ของศิลปะ

ภาพจาก : http://www.contemporaryartsociety.org/wordpress/wp-content/uploads/2015/07/NM-Hippy-Dialectics-2010-ICA-LOW-RES-799x600.jpg


1.

“หลังสมัยใหม่” มักถูกอ้างถึงอยู่บ่อยครั้งในวงวิชาการไทยปัจจุบัน เราอาจคุ้นเคยกับคำว่า “สมัยใหม่” ซึ่งมีนัยทั้งในเชิงความคิดและเชิงยุคสมัย หากแต่ “หลังสมัยใหม่” อาจมิใช่ยุคสมัย แต่เป็นเพียงกระแสความคิดหนึ่งซึ่งเป็นการตั้งคำถามและปฏิเสธความคิด “สมัยใหม่” โดยชี้ให้เห็นถึงกระบวนการของคำอธิบายที่เป็นอภิมหาอรรถกถาธิบาย (Meta-Narrative)  ที่ยึดกุมอำนาจแห่งการนิยาม คำว่า “หลังสมัยใหม่” หรือ Postmodern ปรากฏขึ้นครั้งแรกในผลงาน The Postmodern Condition ของฌอง ฟรองซัวส์ ลีโอตารด์ (Jean-François Lyotard) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส และมีอิทธิพลต่อสิ่งอื่นๆ เป็นอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่ศิลปะ แต่เมื่อ “หลังสมัยใหม่” กลายมาเป็นความ “ร่วมสมัย” ของศิลปะ การ “ร่วมสมัย” ในที่นี้จึงจำเป็นต้องถูกพิจารณาถึงความหมายของมันอย่างเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เพราะความร่วมสมัยเองมิได้อยู่นิ่งหรือผูกติดกับความคิดบางอย่างเท่านั้น หากแต่ความร่วมสมัยยังเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขของเวลาและโครงสร้างความรู้สึกของชุมชนมนุษย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม

ในบทความนี้จะผู้เขียนขอเสนอใน 2 ประเด็นใหญ่ๆ โดยในประเด็นแรก จะชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ความคิดหลังสมัยใหม่กำลังนำเสนอ โต้แย้ง ถกเถียง กับความเป็นสมัยใหม่ รวมถึงอิทธิพลของความคิดสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ที่มีต่อศิลปะ ส่วนในประเด็นที่สอง ผู้เขียนจะตั้งข้อสังเกตและอภิปรายถึงความ “ร่วมสมัย” ในของศิลปะ ซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้เขียนคิดว่าการเข้าใจความ “ร่วมสมัย” ในพื้นที่ของศิลปะ อาจจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจเกี่ยวกับสมัยใหม่ และแยกออกจากความเข้าใจที่มีต่อทฤษฎีของศิลปะหลังสมัยใหม่