วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

การวิจารณ์เรียกร้องอะไร


มีคนเคยกล่าวว่า สังคมใดที่ตื่นตัวในเรื่องของปัญญา สังคมนั้นจะต้องมี “วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์” นั่นก็หมายความว่าสมาชิกของสังคมนั้นพร้อมที่จะสนับสนุนให้มีการแสดงความคิดในเรื่องต่างๆ โดยเปิดเผยอย่างมีเหตุผล

การวิจารณ์อาจไม่สามารถบอกได้ว่าขอบเขตของมันเป็นอย่างไร ในความหมายกว้างๆ การวิจารณ์อาจเป็นการพรรณนาประสบการณ์ทางอารมณ์ความรู้สึกส่วนตนที่มีต่อสิ่งๆ หนึ่ง หรือเป็นการให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอะไรบางอย่าง หรือแม้กระทั่งเป็นการแสดงความคิดเห็นเชิงปรัชญาเกี่ยวกับอะไรบางอย่างโดยทั่วไป ก็อาจถูกเรียกว่าการวิจารณ์ได้ บนพื้นที่ของการเสพงานศิลปะ นักวิจารณ์เป็นส่วนเติมเต็มพื้นที่ว่างบางอย่างระหว่างผู้ชมกับงานศิลปะ นักวิจารณ์คือตัวแทนของผู้ชมที่ไม่มีใครแต่งตั้งมา นักวิจารณ์พูด สังเกต ตั้งคำถามแทนผู้ชม งานวิจารณ์ก็คือปฏิกิริยาของผู้รักและสนใจศิลปะที่มีต่องานศิลปะที่ศิลปินนำออกเผยแพร่นั่นเอง


ภาวะความรู้สึกบางอย่างที่เป็นอัตวิสัยของมนุษย์ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการวิจารณ์ และการวิจารณ์ก็ไม่ได้เรียกร้องให้ผู้วิจารณ์ต้องวางความเป็นอัตวิสัยนั้นๆ ลงไปแต่อย่างใด แต่สิ่งที่การวิจารณ์เรียกร้องคือภาวะบางอย่างของ “อัตวิสัย” ที่เป็นภววิสัย” แม้การวิจารณ์งานใดๆ ชิ้นหนึ่งของนักวิจารณ์แต่ละคน จะมีความแตกต่างกัน อาจเป็นในแง่มุมมองหรือวิธีการ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในงานวิจารณ์แต่ละชิ้น จะมีความเห็นพ้องกันบางอย่างไม่มากก็น้อย จริงอยู่ว่าการวิจารณ์เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับความเป็นอัตวิสัย แต่อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าบนภาวะของความเป็นอัตวิสัยนั้นๆ ผู้วิจารณ์ได้มองเห็นความเป็นปรวิสัยบางอย่างในตัวงานนั้นๆ ด้วยเช่นกัน จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าภาวะที่เป็นปรวิสัยจะมีอยู่จริงในตัวงานนั้นๆ เมื่อถูกรับรู้ผ่านกระบวนการรับรู้ของมนุษย์ที่ถึงแม้จะซับซ้อน แต่ก็เป็นสัตว์ในสปีชีส์เดียวกัน จึงมีส่วนที่เหมือนกัน และเมื่อการวิจารณ์ไม่ได้เรียกร้องให้ผู้วิจารณ์ต้องวางอัตตาของตน สิ่งที่จะทำให้การวิจารณ์ยังคงเป็นการวิจารณ์ก็คงจะเป็นมโนทัศน์บางอย่างที่ยอมรับโดยทั่วกัน มโนทัศน์เหล่านี้ทำให้ภาวะของการเป็น “อัตวิสัย” ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปของ “ภววิสัย” แต่อย่างไรก็ตาม โดยกระบวนการที่ทำให้เป็น ปรวิสัยนั้นๆ ก็ยังคงเปิดพื้นที่ให้สำหรับนักวิจารณ์ที่จะเลือกใช้หรือไม่ใช้มโนทัศน์บางอย่างในการตีกรอบให้กับกระบวนการวิจารณ์ของตัวเอง แม้โลกของผู้สร้างกับโลกของผู้ชมดูเหมือนจะแบ่งออกจากกันอย่างชัดเจน แต่นักวิจารณ์มักจะอดไม่ได้ที่จะเสาะแสวงหาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของงานแต่ละชิ้นของศิลปินแต่ละคน หรือสิ่งที่เป็นลักษณะร่วมของกลุ่มศิลปินหรือของยุคสมัย หรือแม้กระทั่งการเปรียบเทียบหรือมองในหลายๆ มิติ สิ่งเหล่านี้เรียกร้องให้นักวิจารณ์จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ในมโนทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ประวัติศาสตร์ศิลปะ หรือความเข้าใจในแวดวงศิลปะ และความรู้รอบตัวในมิติอื่นๆ อีกมากมาย และในท้ายที่สุด นักวิจารณ์อาจจะต้องชี้แนวทางที่เป็นไปได้หรือที่ควรจะเป็นสำหรับการทำความเข้าใจในงานนั้นๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการที่กล่าวมาดังกล่าวเรียกร้องให้นักวิจารณ์ต้องทำการบ้านในการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัวเป็นอย่างมาก และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือนักวิจารณ์และผู้ชมจำเป็นต้องพยายามเข้าใจในตัวงานและบริบทเฉพาะบางอย่างของงานประกอบกันไปด้วย

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับการวิจารณ์คือภาษา แต่ภาษาในที่นี้คงมิได้หมายถึงเพียงแค่ภาษาที่เป็นสิ่งเฉพาะ อย่างเช่นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ แต่การวิจารณ์เรียกร้องให้นักวิจารณ์จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับภาษาสากล ที่ถูกกระบวนการบางอย่างในการแปรสภาพมาอยู่ในรูปของภาษาที่เป็นสิ่งเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นภาษาของงานศิลปะ หรือการถ่ายทอดโดยบริบทของการสื่อสารโดยภาษาต่างๆ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในฐานะหนึ่ง นักวิจารณ์ก็เป็นเพียงแค่ผู้ชมที่รับชมงานศิลปะผ่านภาษาของงานศิลปะ แต่เมื่อนักวิจารณ์อยู่ในบทบาทของนักวิจารณ์ นักวิจารณ์จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงภาษาของงานศิลปะที่นักวิจารณ์รับรู้ให้ออกมาเป็นบทวิจารณ์ในบริบทของภาษาต่างๆ และในกระบวนการของการคิด วิเคราะห์ ตีความ เปรียบเทียบ หรือการตั้งคำถามกับตัวเองของนักวิจารณ์ ภาษาก็เป็นสิ่งจำเป็นในการพยายามทำความเข้าใจภาวะนามธรรมบางอย่างด้วยเช่นกัน กระบวนการเหล่านี้เรียกร้องให้นักวิจารณ์จำเป็นต้องทำความเข้าใจโครงสร้างเชิงสัญญะของภาษาต่างๆ ที่เป็นสากล และการวิจารณ์ยังเรียกร้องให้ผู้ชมต้องทำความเข้าใจภาษาบางอย่างที่ตกลงกันในการสื่อสารระหว่างผู้สร้างงาน ผู้วิจารณ์ และผู้ชม

แต่อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจการวิจารณ์ก็คงมิใช่เพียงการทำความเข้าใจนักวิจารณ์ เมื่อนักวิจารณ์แต่ละคนถ่ายทอดความคิดความรู้สึกของตนเองในมุมมองของตนเองออกมา การวิจารณ์เหล่านั้นก็เป็นการขยายพรมแดนทางความคิดของผู้ชมและผู้วิจารณ์คนอื่นๆ (อาจรวมถึงการพยายามขยายพรมแดนการสื่อสารของตัวงานไปมากกว่าที่ผู้สร้างงานได้คิดไว้  หรือการรับรู้งานในมิติอื่นๆ ที่ตัวงานสามารถสื่อสารได้ แม้ผู้สร้างจะไม่ได้ต้องการสื่อสารก็ตาม) การเสนอหรือค้นพบประเด็นบางประเด็น นำไปสู่การพยายามทำความเข้าใจในบริบทต่างๆ ของตัวงาน รวมถึงบริบททางสังคมที่ห้อมล้อมในสมัยของงานและสมัยของการวิจารณ์ การขยายพรมแดนทางความคิดของนักวิจารณ์ เป็นการทำให้งานศิลปะมีความสมบูรณ์ในการสื่อสารมากขึ้น การวิจารณ์ศิลปะในอุ้งมือของนักวิจารณ์จึงเป็นเสมือนตัวกลางที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ว่างบางอย่างระหว่างผู้ชมกับตัวงานศิลปะนั่นเอง ดังนั้น เมื่อการวิจารณ์ต้องการพื้นที่ การวิจารณ์จึงจำเป็นต้องเรียกร้องพื้นที่บางอย่างที่เปิดกว้างให้กับการวิจารณ์ การพูดคุย ถกเถียง ตีความ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สร้างงาน ผู้ชมงาน และนักวิจารณ์ ที่นำไปสู่การขยายพรมแดนบางอย่างของทั้งตัวงาน ผู้ชมและนักวิจารณ์นั่นเอง

เมื่อการวิจารณ์ศิลปะยังคงมีความเป็นอัตวิสัย การวิจารณ์ศิลปะจึงเป็นเพียงการแสดงถึงมุมมอง ความคิดเห็น ตลอดจนชี้ให้เห็นถึงประเด็นบางอย่างที่ผู้ชมในฐานะนักวิจารณ์ค้นพบ และการวิจารณ์คงมิใช่เป็นเพียงหน้าที่ของนักวิชาการ แต่อย่างไรก็ตาม การวิจารณ์ก็คงเป็นเพียงแค่การวิจารณ์ มิใช่ประกาศิตแห่งความถูกต้องสากลแต่ประการใด อีกคำถามหนึ่งที่เราละเลยไม่ได้ในขณะที่เรากำลังวิจารณ์หรือกำลังอ่านบทวิจารณ์คือ “เรากำลังเรียกร้องอะไรจากการวิจารณ์ ?”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น