วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประเด็นที่น่าสนใจของ Artist’s Talk



ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า Artist’s Talk เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อใด? รูปร่างหน้าตาของมันเป็นแบบไหน? และเขาพูดคุยอะไรกัน? นี่เป็นสิ่งที่ยากเกินจินตนาการ รวมไปถึง Artist’s Talk ในต่างประเทศเช่นกัน ในขณะที่ Artist’s Talk เป็นกิจกรรมที่ควบคู่มากับการให้คุณค่ากับการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ แต่เราเปรียบเสมือนเด็กแบเบาะที่กำลังหัดพูดและนำ Artist’s Talk มาเพียงตัวพิธีการและฉาบเคลือบไว้ด้วยเปลือกของพิธีรีตอง  ส่วนเนื้อหาสาระนั้นกลับเลือนหาย สังคมยังคงรักษาโครงสร้างลำดับชั้นของสถานภาพ, ความอาวุโสและความเป็นเครือญาติเอาไว้ และยังไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะแยกการวิพากษ์วิจารณ์ออกจากความสัมพันธ์ส่วนบุคคล                                                              

นี่อาจดูเป็นเรื่องที่ล้าสมัยไปเสียแล้ว แต่กระนั้นโครงสร้างต่างๆ เหล่านี้ยังคงทิ้งร่องรอยไว้ให้เห็น Artist’s Talk ในยุคนี้จึงยังคงเป็นพิธีกรรมที่ศิลปินสถาปนาขึ้น พร้อมกับการให้ความสำคัญต่อบุคคลตามขนบระเบียบพิธีแบบไทยๆ ตั้งแต่พิธีเปิดการให้ประธานพูด หรือแม้กระทั่งการให้โอวาท ดังปรากฏในทุนสร้างสรรค์ ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 11 ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรในวันนี้ มีศิลปินเข้าร่วมเสวนาจำนวน 4 ท่าน และอีก 4 ท่านจะเข้าร่วมเสวนาในสัปดาห์ถัดไป ศิลปินทั้ง 4 ท่านเป็นศิลปินที่มีสถานภาพเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย โดยส่วนใหญ่พูดถึงที่มา แรงบันดาลใจ รวมไปถึงการอธิบายผลงานตัวเองอย่างเสร็จสรรพ ผู้เข้าฟังส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ โดยมีอาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณที่เป็นทั้งพิธีกรดำเนินรายงานและดำรงสถานะเป็นผู้อำนวยการหอศิลป์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร บรรยากาศของ Artist’s Talk จึงเป็นไปในลักษณะเพื่อการศึกษา เป็นการถ่ายทอดเทคนิค ความรู้และประสบการณ์จากอาจารย์ไปสู่ลูกศิษย์  
     

อาจารย์ผู้เป็นศิลปิน ศิลปินผู้เป็นอาจารย์ สถานภาพที่คาบเกี่ยวกันนี้ เป็นความเหนือกว่าทั้งในแง่ของความมีฝีมือของศิลปินและเหนือกว่าในแง่ของผู้มีความรู้ของอาจารย์ ผนวกกับความอาวุโส ยิ่งไปช่วยหนุนสร้างวาทกรรม “อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์” อันตกค้างมาจากรุ่นสู่รุ่น ให้ศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นไปอีก นักศึกษาที่เข้าฟังจึงไม่มีคำถามอะไรให้สงสัย นอกจากคำพูดครูในสมุดจดที่จะนำไปถูกปรับปรุง แก้ไข เป็นแรงบันดาลใจให้งานชิ้นต่อๆ ไปของตนเอง เป็นผลประโยชน์ในฐานะการเรียนรู้ จากประสบการณ์ ไม่ใช่การเรียนรู้จากผลงาน แต่อย่างไรก็ตามศิลปินทั้ง 4 ท่านคงจะทราบอยู่แล้วว่า Artist’s Talk ครั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยเอง มากกว่าบุคคลจากภายนอก อาจเป็นไปได้ว่าชุดคำพูดที่ตระเตรียมมาก็เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงจากตัวศิลปิน มากกว่าแค่ทฤษฎีหรือแค่การปฏิบัติภายในห้องเรียนเท่านั้น หากกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนไปเป็นกลุ่มอื่น ก็มีความเป็นไปได้ที่เราอาจจะได้ยินสิ่งที่นอกเหนือไปจากการสอนหนังสือในครั้งนี้   เป็นไปได้หรือไม่ว่า Artist’s Talk นั้น เป็นความพยายามที่จะนำเอาสูงส่งของศิลปินลงมาให้ใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม หรือเพราะศิลปินนั้นมีความคิดและจินตนาการที่ล้ำเลิศเกินกว่าที่คนธรรมดาจะเข้าถึง การพูดคุยกันน่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะให้ผู้ชมรับรู้และเข้าใจผลงานนั้นๆ ของศิลปิน สำหรับสังคมไทย การตีความจึงต้องอิงอยู่กับคำพูดของศิลปินทุกครั้งไป ไม่ว่าจะเป็นข้อเขียนบทความ บทวิจารณ์ บทสัมภาษณ์ ที่ถูกร่วมกันสร้างขึ้นอันเนื่องด้วยผลประโยชน์โดยผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกับศิลปิน เช่น หอศิลป์ นิตยสาร ภัณฑารักษ์ ฯลฯ



Artist’s Talk ของภักดิ์ ลิ้มพงษ์ ในงาน “สีสันของชีวิต” ณ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ล้วนตอกย้ำแนวคิดนี้ได้เป็นอย่างดี ด้วยการบอกเล่าชีวิตส่วนตัวของเขาไปพร้อมกับผลงาน คุณไม่อาจเข้าใจและตีความผลงานของภักดิ์ ลิ้มพงษ์ ถ้าคุณไม่รู้ชีวิตส่วนตัวของเขา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น Cliché ในฐานะเจตจำนงเดิมของศิลปิน เมื่อสถานภาพล้วนถูกสรรค์สร้างมาให้สูงส่งขนาดนี้แล้ว ศิลปินจะต่างอะไรกับดารา ดาราที่เชื่อประหนึ่งว่า “อย่างไรก็ตาม แฟนคลับก็รอคอยฉันได้” เวลาของดาราที่ต้องสร้างภาพจึงสำคัญกว่าเสมอ หากยิ่งศิลปินต่างชาติด้วยแล้ว จะไม่ให้สื่อกระพือข่าวได้อย่างไรกัน?

เราต้องรอให้ศิลปินสัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ให้เสร็จจนเวลาล่วงเลยไปนานเกือบ 2 ชั่วโมงใน Artist’s Talk ของ TRACES งานนี้มีศิลปินต่างชาติ 2 ท่าน งานเสวนาจึงดำเนินไปในลักษณะ 2 ภาษา ทำให้ระยะเวลายาวนานขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม พิธีกรก็ดำเนินรายการได้อย่างน่าชื่นชม โดยพยายามมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ด้วยการตั้งคำถามให้ฉุกคิดต่างๆ นาๆ ร่วมไปกับศิลปิน                                                                   

“ความเป็นดารา” ข้อครหาที่เรามอบให้ก่อนที่งานจะเริ่ม ถูกทำลายลง ศิลปินเลี่ยงที่จะไม่พูดอธิบายหรือพูดถึงชิ้นงานของตัวเองมากนัก หากแต่เป็นการพูดคุยกันถึงเรื่องราวๆ ต่างที่ไม่เป็นที่รับรู้ของคนส่วนใหญ่ เช่น ชีวิตและวัฒนธรรมในท้องถิ่นของประเทศต่างๆ ในอาเซียน หรือ การทำงานศิลปะภายใต้ประเทศเผด็จการ ฯลฯ หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้ถูกนำมาร่วมอภิปราย Artist’s Talk จึงขยายวงกว้างออกไปจากความเป็นศิลปะในบริบทของชิ้นงานเดิม ไปสู่สหวิทยาการในแขนงอื่นๆ เช่น ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา สังคมวิทยา เป็นต้น           

Artist’s Talk  ของ TRACES จึงแตกต่างไปจากขนบของการเสวนาที่เราได้เจอะเจอมา มันทำให้ผู้ชมสามารถนิยามและความหมายของผลงานขึ้นใหม่ได้โดยไม่ต้องยึดติดกับสิ่งที่ศิลปินอธิบาย เพราะศิลปินไม่ได้อธิบายอะไร นี่เป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกสนุกกับ Artist’s Talk  และวาดฝันว่านี่อาจเป็น Artist’s Talk  อย่างที่มันควรจะเป็น

การสร้างบริบทการรับรู้กับการครอบงำ 

สิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่งของนิทรรศการศิลปะ อาจหนีไม่พ้นตัวผลงานศิลปะ ถ้าสิ่งที่ผู้ชมต้องการมีปฏิสัมพันธ์ด้วยคืองานศิลปะ ที่เปรียบเสมือนไฮไลต์สำคัญของงานนิทรรศการ  แล้ว Artist’s Talk จะมีบทบาทอย่างไร และ Artist’s Talk จะดำรงอยู่ในสถานะอย่างไร

ในการสร้างความหมายของงานศิลปะ เราอาจปฏิเสธไม่ได้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวผลงานศิลปะกับศิลปิน ในฐานะที่ผลงานเป็นส่วนหนึ่งของความคิดศิลปิน แต่ในขณะเดียวกัน แนวคิดแบบประจักษ์นิยมก็ปฏิเสธศักยภาพบางประการของผู้ชมที่จะสามารถเข้าใจถึงสิ่งที่ศิลปินคิด นั่นจึงหมายความว่าผู้ชมก็มีเจตจำนงที่จะสามารถสื่อสารกับตัวผลงานได้ด้วยตนเอง ในนัยยะดังกล่าว การสร้างความหมายจึงไม่ได้ผูกติดอยู่ที่ศิลปิน หากแต่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมและผลงานก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการรับรู้และสร้างความหมายของผลงานให้เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ปฏิเสธความสัมพันธ์ระหว่างผลงานในฐานะส่วนหนึ่งของผู้สร้างไม่ได้ ดังนั้นการสร้างความหมายของงานศิลปะ จึงจำเป็นต้องพูดถึงความสัมพันธ์ทั้งหมดทั้งในส่วนของผลงาน ผู้ชม และผู้สร้าง Artist’s Talk จึงเปรียบเสมือนการพยายามสร้างความสัมพันธ์ดังกล่าว เพื่อสวมใส่ความหมายให้กับงานศิลปะ หากแต่ว่าในปฏิบัติการสร้างความสัมพันธ์ดังกล่าวของ Artist’s Talk ผู้มีอำนาจสูงสุดคือศิลปิน

สิ่งที่ต้องตั้งคำถามกับ Artist’s Talk ในงานนิทรรศการทุนสร้างสรรค์ ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 11 ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และงานนิทรรศการสีสันของชีวิต โดย ภักดิ์ ลิ้มพงษ์ คือเรื่องหน้าที่ของ Artist’s Talk  เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการสร้างความหมายของงานศิลปะจำเป็นที่จะต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างทั้งตัวศิลปิน ผลงานศิลปะ และการรับรู้ของผู้ชม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นใน Artist’s Talk ของสองงานดังกล่าว คือ การพยายามอธิบายผลงานดังกล่าวในเชิงเทคนิคการสร้าง เรื่องราว ที่มา ที่ผูกติดไว้กับชีวิตของศิลปิน ในตัวปฏิบัติการของ Artist’s Talk  นั้น เราปฏิเสธอำนาจของศิลปินในปฏิบัติการดังกล่าวมิได้ แต่ในขณะเดียวกัน เราจำเป็นต้องเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างผลงาน ศิลปิน และผู้ชม ให้ครบถ้วน หลายครั้ง ตัวผลงานเองก็มิอาจสื่อสารและสร้างความหมายกับผู้ชมได้ โดยปราศจากคำอธิบายของผู้สร้าง เช่นเดียวกันคำอธิบายของผู้สร้างก็มิได้การันตีถึงความถูกต้องของสารที่ผู้ชมจะได้รับจากผลงาน Artist’s Talk ในบริบทดังกล่าวจึงอาจมีอยู่เพียงแค่ในฐานะของบางสิ่งบางอย่างที่เป็นปัจจัยหนึ่งประกอบการสร้างความหมายเพื่อการรับรู้ของผู้ชม แต่เมื่อสถานะของศิลปินในสังคมไทยเปรียบเสมือนสถานะพิเศษที่เหนือกว่าผู้อื่น คำพูดของศิลปินจึงเปรียบประหนึ่งเป็นดั่งประกาศิตที่ผู้ชม โดยเฉพาะผู้ชมที่มีประสบการณ์ทางศิลปะน้อย ถูกทำให้เชื่อและอาศัยชุดความคิดดังกล่าวในการประกาศถึงความถูกต้องของความหมายในตัวงานศิลปะ งาน “สีสันของชีวิต” ของ ภักดิ์ ลิ้มพงษ์ ตอกย้ำสถานะของศิลปินที่มีอยู่เหนือผู้ชมได้เป็นอย่างดี เพียงแค่ชื่องานที่เกี่ยวข้องกับชีวิต การพูดถึง “สีสัน” ของ “ชีวิต” จึงเป็นการพูดถึง “ชีวิตของศิลปิน” เมื่อศิลปินจงใจพูดถึงการแต่งแต้มสีสันผ่านประสบการณ์บางอย่างที่ตัวศิลปินได้รับ และการพูดของศิลปินในช่วงเปิดงานที่เป็นการเล่าเรื่องเบื้องหลังชีวิตของตนเอง ทำให้บริบทหรือความหมายบางประการของผลงานถูกจำกัดกรอบอยู่เพียงแค่การที่ศิลปินกำหนดสถานะของงานให้เป็นแค่ “ส่วนหนึ่งของชีวิต” หรือแม้กระทั่งในงานนิทรรศการทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรมฯ ที่มีประติมากรรมชิ้นหนึ่งจัดแสดงอยู่ ถ้าดูเผินๆ ผู้ชมอาจไม่รู้ว่าผลงานชิ้นนั้นคืออะไร ต้องการสื่อสารอะไร แต่จากคำอธิบายของศิลปินที่พูดถึงความพยายามในการสะท้อนเหตุการณ์การขุดเจาะน้ำมัน และการทำลายสิ่งแวดล้อม คำอธิบายดังกล่าวทำให้ผู้ชมสามารถที่จะดูผลงานชิ้นดังกล่าวได้รู้เรื่อง แต่ในขณะเดียวกันความ “รู้เรื่อง” ของผู้ชม อาจต้องแลกมาด้วย “กรอบ” ของความหมาย เมื่อคำอธิบายของศิลปินกลายเป็นเสมือนประกาศิตความถูกต้องของผลงาน เพราะศิลปินถือว่าตนเองเป็นผู้สร้าง ดังนั้น ผลงานจึงเป็นเสมือนส่วนหนึ่งของตนเอง Artist’s Talk จึงจำเป็นต้องถูกตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้วเป็นปฏิบัติการเชิงอำนาจของศิลปินที่จะช่วงชิงพื้นที่ในการนิยามความหมาย หรือเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งที่เสริมกระบวนการสร้างความหมายผ่านความสัมพันธ์ระหว่าง ศิลปิน ผลงาน และผู้ชม เพราะคำพูดของศิลปินย่อมแยกไม่ออกจากตัวศิลปิน และตัวศิลปินก็ย่อมแยกไม่ออกจากสถานะทางสังคมนั่นเอง



งาน TRACES ที่จิม ทอมป์สัน กลับแตกต่างไปจากสองงานดังกล่าว เมื่อศิลปินมิได้มาเพียงแค่อธิบายผลงานหรือพูดถึงเบื้องหลังชีวิต เบื้องหลังการสร้างงานเพียงอย่างเดียว หากแต่ TRACES กลับเป็นไปในลักษณะคล้ายกับงานเสวนาทางวิชาการ โดยมีหัวข้อที่สอดคล้องกับตัวผลงานที่จัดแสดง และมีศิลปินเป็นผู้เข้าร่วมการเสวนา สิ่งที่ศิลปินแสดงความคิดเห็น อาจเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับผลงาน ในมุมหนึ่ง การเสวนาดังกล่าวชัดเจนในแง่ของการเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งที่จะเสริมกระบวนการสร้างความหมายผ่านความสัมพันธ์ระหว่าง ศิลปิน ผลงาน และผู้ชม โดยการสร้างบริบททางความคิดบางอย่างที่จะทำให้ผู้ชมกับศิลปินเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน และเป็นการสื่อสารเชิงความคิดที่จะทำให้ผู้ชมและศิลปินเข้าใจถึงวิธีคิดของแต่ละฝ่ายมากขึ้น ซึ่งทำให้การสร้างความหมายของงานศิลปะมีแนวโน้มที่จะเข้าใจได้ใกล้เคียงกัน แต่อย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่พูดกับตัวตนของศิลปินไม่ได้ และยิ่งสถานะทางสังคมของศิลปินที่มีอยู่ จึงน่าคิดว่า การแสดงออกทางความคิดของศิลปินอาจเป็นการครอบงำในอีกรูปแบบหนึ่งหรือเปล่า โดยเป็นการครอบงำเชิงวิธีคิดที่กำหนดกระบวนการและวิธีการคิดของผู้ชม และทำให้ผู้ชมเข้าใจผลงานอย่างที่ศิลปินต้องการให้เป็น

ถึงแม้ Artist’s Talk จะเกี่ยวข้องกับเจตจำนงของศิลปิน แต่สำหรับการชมผลงานศิลปะของผู้ชม เราก็มิอาจปฏิเสธเจตจำนงของผู้ชมในการชมผลงานศิลปะได้ แน่นอนว่าเจตจำนงของศิลปินที่แสดงออกผ่าน Artist’s Talk มีอิทธิพลต่อผู้ชมบางกลุ่มแน่นอน โดยเฉพาะผู้ชมที่มีพื้นฐานความรู้หรือประสบการณ์ทางศิลปะไม่มาก แต่อย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่า การที่ผู้ชมมาชมผลงานศิลปะในนิทรรศการหนึ่งหรือสถานที่หนึ่ง เขาย่อมคาดหวังและปรารถนาอะไรบางอย่างที่เขาจะต้องได้รับจากงาน ศิลปินมีเจตจำนงในการสร้างงาน ผู้ชมก็มีเจตจำนงในการจะชมผลงานเช่นเดียวกัน ถ้าเรามองในแง่ที่ว่าผู้ชมและศิลปินต่างก็มีเจตจำนง Artist’s Talk จึงอาจเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเหตุผลในเจตจำนงระหว่างศิลปินกับผู้ชม โดยผู้ชมก็มีเจตจำนงในการเลือกที่จะเชื่ออะไรบางอย่างที่ตรงกับเจตจำนงที่ตัวเองมีในการชมงาน ปัญหาข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ชมทุกคนมีเจตจำนงในการชมงานจริงหรือ ? หลายครั้งความบังเอิญหรือความจำเป็นบางประการที่ทำให้ผู้ชมต้องเข้ามาชมงานศิลปะ เป็นที่น่าคิดว่าเขามีเจตจำนงในการชมงานแค่ไหน

ปัญหาเรื่องเจตจำนงจึงเป็นปัญหาหนึ่งที่ต้องพิจารณาของ Artist’s Talk ในขณะเดียวกัน มิใช่เพียงแค่เจตจำนงในการสร้างและการชมที่จะมีปฏิสัมพันธ์กัน แต่ผลงานก็เป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่ง ถ้าผลงานไม่มีศักยภาพพอที่จะสื่อสารในสิ่งที่ผู้สร้างและผู้ชมต้องการ Artist’s Talk ก็คงไม่มีประโยชน์อันใดมากไปกว่าการเป็นเพียงแค่วาทกรรมสวยหรูที่ถูกประดิษฐ์มาครอบผลงาน ในขณะเดียวกันผลงานบางชิ้นก็ไม่เพียงพอกับการสื่อสาร ในอีกมุมหนึ่งจึงอาจเป็นไปได้ว่า Artist’s Talk ก็เป็นส่วนเติมเต็มที่จะทำให้ความหมายของงานชิ้นนั้นปรากฏออกมาด้วยเช่นเดียวกัน

เมื่อผลงานยังไม่เพียงพอกับการสื่อสาร 

ในประเด็นเกี่ยวกับงาน  Artist’s Talkกับความสำคัญของผลงานนั้น ถือเป็นประเด็นที่เป็นเรื่องถกเถียงกันอยู่ไม่น้อย เพราะหากผลงานมีความสมบูรณ์ในตัวเองในการสื่อความหมายแล้วนั้น คงไม่มีความจำเป็นต้องใช้วาทกรรมเข้ามาเป็นตัวช่วยในการปลดเปลื้องความหมาย ด้วยเหตุนี้  Artist’s Talkจึงเป็นหลักฐานที่เด่นชัดในการแสดงให้เห็นว่าผลงานไม่เพียงพอต่อการสื่อสาร ซึ่งอาจเกิดจากตัวผลงานที่มีสถานะก่ำกึ่งระหว่างความเป็นวัตถุทั่วไป กับ ความเป็นวัตถุศิลปะ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นประเด็นที่พบเจอบ่อยในงานร่วมสมัย หรือในบางครั้งตัวผลงานกล่าวได้ว่าไม่ได้สื่อความใดๆออกมา โดยทำหน้าที่เป็นเพียงวัตถุที่อิงอยู่กับพื้นที่ศิลปะเพียงเท่านั้น ในทางกลับกันก็มีผลงานที่สื่อความได้กว้างจนทำให้ไม่สามารถกำหนดกรอบการรับรู้ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผลงานไม่มีความเพียงพอ เพราะการจะหาจุดลงตัวนั้นก็คงยากพอๆกับการนิยามความเป็นศิลปะให้กับสิ่งนั้นๆนั่นเอง ในบางครั้งการที่ผลงานไม่ได้สื่อความสิ่งใดเลยนั้น อาจทำให้เกิดพื้นที่ใหม่ที่เกิดจากการแบ่งระหว่างพื้นที่ของศิลปะกับพื้นที่ของผู้ชม และการที่ผู้ชมอยู่นอกพื้นที่ศิลปะและผลงานก็ไม่มีความเพียงพอนี้เอง Artist’s Talkจึงกลายมาเป็นสะพานที่ต้องการเชื่อมระหว่างทั้ง2ฝั่งเข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกัน จนอาจกลายเป็นการรุกล้ำเสียมากกว่า นอกจากนั้นความเป็นปัจเจกของศิลปินก็เข้ามาเป็นปัจจัยที่กำหนดความเพียงพอให้กับตัวงานในแง่ที่ว่า ผลงานจะสื่อออกมาเช่นไร หรือ รูปลักษณ์ของผลงานจะเป็นอย่างไร ซึ่งในทุกๆแง่มุมของตัวงานก็มักจะเกี่ยวโยงกับตัวศิลปินทั้งสิ้น อีกทั้งมันสามารถโยงไปถึงประเด็นที่ว่าด้วยเรื่อง Artist’s Talkกับการให้ความหมายของศิลปิน

 งาน Artist’s Talk ถือว่าเป็นงานที่กำหนดกรอบได้ยากพอๆกับการนิยามสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปะ และตัวมันเองก็เหมือนพยายามเรียกร้องบางสิ่งจากผู้ฟังอยู่เสมอ เช่น ความรู้, ประสบการณ์, ฯลฯ ซึ่งงาน Artist’s Talkแต่ละงานก็มีรูปแบบเป็นของตนเอง เช่นในงานทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 11 จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นการนำศิลปินมาอธิลายตัวงาน เทคนิค ความเป็นมา ซึ่งแตกต่างจากงาน TRACES ที่จัดขึ้นในห้องสมุด Jim Thompson โดยสิ้นเชิง โดยในงาน TRACES เป็นการพูดถึงเรื่องต่างๆภายใต้แนวคิดของงาน แต่สุดท้ายแล้วมันก็คือการให้ความหมายโดยศิลปิน เปรียบเสมือนศิลปินเป็นผู้กุมอำนาจของวาทกรรมนี้ในการควบคุมทิศทางความหมายของสิ่งต่างๆ เช่นนี้แล้วมันก็จะกลับไปวนเวียนกับ cliché ที่ว่าด้วยเรื่องเจตจำนงเดิมของศิลปิน เป็นเหมือนการตีกรอบความคิดให้กับผู้ฟังมากจนเกินไป จนอาจกลายเป็นการ ยัดเยียด แต่สุดท้ายแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้ฟังเสียมากกว่าที่จะเป็นตัวกำหนดการรับรู้นั้นๆของตน ถึงแม้ว่าศิลปินจะมีอำนาจเพียงใดในวาทกรรมนั้นก็ตาม แต่วาทกรรมนั้นๆความจะจบลงไปในพื้นที่ๆมันเกิดขึ้นมา ดังในงานของ โรล็องด์ บาร์ตส์“มรณกรรมของผู้แต่ง” กล่าวโดยรวมคือทุกๆวาทกรรม หรือ ทุกๆชิ้นงาน ความจบลงในพื้นที่นั้นๆของตน โดยสามารถทิ้งปมไว้ให้ขบคิดต่อไปได้ แต่ไม่ควรจะเข้าไปรุกล้ำพื้นที่อื่น ซึ่งที่กล่าวไปดูจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากจนเรียกได้ว่าเป็นเรื่องในอุดมคติเสียด้วยซ้ำ เพราะตัววาทกรรมพยายามเรียกร้องบางสิ่งบางอย่างอยู่เสมอ และ Artist’s Talkก็เป็นหนึ่งในวาทกรรมที่เรียกร้องบางสิ่งจนแทบจะเข้าไปรุกล้ำ อาจกล่าวได้ว่าจุดประสงค์หรือแนวคิดที่แฝงอยู่ของ Artist’s Talkก็อาจเป็นการแสดงเจตจำนงของศิลปิน ซึ่งสามารถย้อนไปได้ถึงประเด็นแรกเกี่ยวกับตัวผลงาน การที่ตัวศิลปินออกมากล่าวถึงเจตจำนงเดิมนั้นก็ อาจเป็นการสะท้อนถึงตัวงานที่ไม่มีความเพียงพอต่อการสื่อสารจึงต้องพึ่งตัววาทกรรมในการให้ความหมาย จนบางทีอาจมากเกินไปจนทำให้ผลงานสูญเสียความหมายในตัวจนหมดสิ้น หากแล้วในทางกลับกัน Artist’s Talk ก็ไม่ใช่การยุติความหมายใดๆลง และยังไม่ใช่การแก้ไขหรือคลายปมปริศนาในตัวงานอีกด้วย Artist’s Talkเป็นเพียงการแสดงแง่มุมหนึ่ง เพราะสุดท้ายแล้วความสำคัญก็ยังคงอยู่ที่ตัวผลงานกับผู้ชมเสียมากกว่า แต่ Artist’s Talkอาจเป็นตัวช่วยให้เราสามารถเข้าถึงผลงานได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลด้วยเช่นกันที่จะต้องพยายามเลือกรับในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะผลักไสมันออก หากเรายึดติดอยู่กับความหมายที่มาจากศิลปิน และเชื่อว่ามันคือคำตอบของปัญหาทั้งปวงในตัวงานแล้วนั้น สุดท้ายตัวงานก็จะไม่เกิดพลวัต ไร้การต่อยอด เป็นเพียงชิ้นงานที่อิงพื้นที่ทางศิลปะในการให้สถานะ และ สุดท้ายมันก็จะกลายสภาพเป็นเพียงวัตถุธรรมดา อีกทั้งมันยังเป็นตัวบ่งบอกถึงผลงานที่ขาดความสมบูรณ์อย่างสมบูรณ์แบบอีกด้วยจึงต้องนิยามความหมายลงไปในตัวงานนั้นๆ

ย้อนกลับมาที่ตัวงาน Artist’s Talkกับการให้ประโยชน์ต่อผู้ฟัง เราในสถานะของผู้ฟังจะแน่ใจได้เช่นไรว่าความหมายที่ศิลปินได้กล่าวในงานจะเป็นความหมายที่แท้จริงไม่ผิดเพี้ยน หรือ สามารถเป็นบรรทัดฐานของผลงานได้ เพราะกรอบของงานศิลปะยังเป็นกรอบที่บางมาก การเข้ามานิยามความหายให้กับผลงานจะไม่เป็นการสร้างความไม่ชอบธรรมให้กีบผลงานหรอกหรือ นอกจากนั้นกรอบที่ศิลปินสร้างยังเป็นกรอบที่ตัวศิลปินคิดและเห็นให้มันเป็นเช่นนั้น สุดท้ายผลงานก็จะกลายเป็นเพียงวัตถุที่รอคอยการเติมเต็มจากสิ่งต่างๆ ความหมายที่เกิดจากตัวศิลปินก็ใช่ว่าจะถูกต้องเสมอ เพราะมันเป็นเพียงแค่เจตจำนงเดิมของศิลปินเพียงเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นก็เป็นการยากที่จะวางตัวเป็นกลางเนื่องด้วยตัววาทกรรมจากผู้สร้างมักจะมีน้ำหนักอยู่ประมาณหนึ่ง และนอกจากประเด็นเรื่อง Artist’s Talkกับการให้ความหมายที่ผิดเพี้ยนแล้วนั้น อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ Artist’s Talkกับการเรียกร้องบางสิ่งบางอย่างจากตัวผู้ฟัง ในบางครั้ง Artist’s Talkอาจมีนัยแฝงต่อการเรียกร้องกลุ่มผู้ฟังโดยผ่านทางเนื้อหา, ภาษา และตัวศิลปินเอง จะเห็นได้ว่าตัวศิลปิน(เจ้าของผลงาน)กับเนื้อหาหรือหัวข้อที่บรรยายมักจะมีความสอดคล้องกัน ดังเช่นงานทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 11 ที่บรรยายเกี่ยวกับเทคนิค หรืองาน TRACES ที่ยกประเด็นร่องรอยทางการเมืองมาพูด ซึ่งในแต่ละงานก็ดูจะมีจุดมุ่งหมายที่ต่างกันออกไป ดังนั้นกลุ่มบุคคลภายในงานก็ย่อมต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นเรื่องภาษาก็ยังเข้ามาเป็น 1 ในปัจจัยที่ทำให้เกิดการเรียกร้องทางอ้อม การใช้ศัพท์เทคนิค ศัพท์ทางศิลปะ หรือ การใช้ภาษาอื่น สิ่งเหล่านี้กำลังเรียกร้องความรู้ในระดับหนึ่งจากผู้ฟัง ซึ่งอาจเป็นการแฝงนัยในการบอกถึงจุดประสงค์แก่ผู้ชมด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังสอดคล้องไปกับการโฆษณาที่เรียกได้ว่าแทบจะไม่ปรากฏให้เห็น ผู้คนภายในงานปริมาณมากล้วนมาจากการชักชวนกันแบบปากต่อปาก หรือเกิดจากการส่งบัตรเชิญ มากกว่าการเห็นผ่านสื่อทั่วไป ด้วยปัจจัยต่างๆมันยิ่งส่งเสริมให้ Artist’s Talkกลายเป็นพิธีกรรมมากยิ่งขึ้น แต่แล้วก็เกิดคำถามที่ว่าแล้วผู้ฟังที่ไม่มีพื้นฐานตามที่ Artist’s Talkแล้วนั้น Artist’s Talkยังจะมีประโยชน์อยู่หรือไม่ มากน้องเพียงใด ประเด็นภายในงานสามารถสร้างปมความคิดให้กับผู้ฟังในการคิดต่อยอดได้หรือไม่ เช่น TRACES หรือเป็นเพียงงานที่มายืนยันสถานะและแนวคิดของผลงานเพียงเท่านั้น เช่น งานทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 11 ย้อนกลับมาที่ประเด็นของภาษา ซึ่งมีนัยแฝงที่มากกว่าการแสดงถึงจุดประสงค์ของศิลปิน ภาษากำลังแสดงให้เห็นถึงความลักลั่นและข้อจำกัดทางภาษา เพราะนอกจากภาษาจะเรียกร้องความรู้จากกลุ่มผู้ฟังแล้วนั้น ภาษายังเข้ามาเป็นส่วนลดทอนสิ่งที่ศิลปินต้องการจะสื่อได้อีกด้วย

บทส่งท้าย : อมพระมาพูดก็ต้องเชื่อ ? 

 ถึงอย่างไรก็ตาม Artist’s Talk ก็ยังคงเป็นสิ่งที่มีอยู่ และเราเองก็มิอาจไปเรียกร้อง Artist’s Talk ทุกๆ งานให้เป็นไปได้อย่างที่เราตั้งใจ ท้ายที่สุดสิ่งที่ดีที่สุดก็คือการพยายามทำความเข้าใจกับกระบวนการสร้างความหมายและสถานะของศิลปินที่มิได้มีอะไรเหนือไปกว่าผลงานและผู้ชมในการสร้างความหมายเลย

เมื่อใดที่ผลงานศิลปะหลุดลอยจากมือของศิลปินสู่สายตาของสาธารณะ ศิลปินก็ไม่อาจควบคุมผลงานอย่างเบ็ดเสร็จได้อีกต่อไป ความตายของผู้แต่งนำไปสู่การคืนชีวิตใหม่ให้แก่ผลงานโดยผู้ชม ณ จุดประจบระหว่างสาธารณชนกับผลงาน ศิลปินผู้สร้างก็ได้ตายไป เพื่อให้ความหมายใหม่เกิดขึ้นมาจากผู้ชม ตัวตนของผลงานจึงปรับเปลี่ยนได้ ความหมายของผลงานจึงเป็นสิ่งที่ไม่คงที่ ไม่แน่นอน อ่านได้จากหลายมุม และไม่ขึ้นกับศิลปินโดยเด็ดขาด แต่การไม่ตระหนักถึงบทบาทของตนเองของผู้ชมตลอดจนความเชื่อและมุมมองที่ยังคงสนับสนุนการปิดกั้นเสรีภาพในการเสพและตีความงานศิลปะที่เกิดขึ้นจากความคิดของศิลปิน ก็ทำให้ผลงานไม่อาจเปิดไปสู่ความหมายอื่นที่นอกไปจากที่ศิลปินมอบให้ได้ จริงอยู่ว่าศิลปินในฐานะผู้สร้างและผู้ชมงานคนแรกเป็นผู้ให้ความหมายแรกแก่งานด้วยเช่นกัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการความหมายที่เกิดจากศิลปินจะไม่คลาดเคลื่อนและลงตัวกับผลงานไปเสียทั้งหมด และศิลปินก็ไม่ได้มีเอกสิทธิ์ในการผูกขาดความหมาย ไม่มีความแน่นอนในความหมายของศิลปะ แม้กระทั่งความหมายจากศิลปิน ดังนั้น สิ่งที่ศิลปินพูดหรือแสดงออกจึงสมควรถูกวิพากษ์ได้พอๆ กับชิ้นงานเอง ซ้ำแล้วหลายสิ่งหลายอย่างที่ศิลปินพูดก็แสดงถึงความ “ไม่มีอะไร” ที่ปรากฏอยู่ทั้งกับศิลปินและผลงาน สุดท้ายแล้ว ถึงแม้ศิลปินจะอมพระมาพูดผ่านสถานะพิเศษบางอย่าง แต่ก็มิได้หมายความว่าศิลปินจะเป็นผู้ผูกขาดความหมายทั้งหมด และผู้ชมจะต้องเชื่อศิลปินเสมอไป

Artist’s Talk อาจมิใช่เรื่องสำคัญ แต่ก็อาจมิใช่เรื่องไม่สำคัญ ในขณะเดียวกัน Artist’s Talk ก็อาจเป็นเรื่องที่มีทั้งมุมมองในแง่บวกและลบ แต่สิ่งที่สำคัญประการหนึ่ง ผู้ชมจำเป็นต้องตระหนักถึงเจตจำนงในการชมงานของตนเอง เพราะทั้งผู้ชมและศิลปินก็เป็นคนที่มีเจตจำนงในการจะทำอะไรเช่นเดียวกัน ดังนั้น คำพูดของศิลปินจึงมิใช่ประกาศิต และผลงานกับผู้ชมก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะสามารถบอกได้ถึงความหมายที่ผู้ชมสมควรจะได้รับ ในขณะเดียวกันก็สามารถบอกได้ถึงความ “จริง” และ “ไม่จริง” ของคำพูดศิลปินและสิ่งที่ศิลปินคิด ดังนั้นแล้ว เมื่อความหมายในงานศิลปะมิใช่สิ่งที่แน่นอนตายตัว คำพูดของศิลปินก็จึงมิใช่ประกาศิตที่ถูกต้อง และผู้ชมจำเป็นต้องเชื่ออยู่เสมอไป.

นวภู แซ่ตั้ง
พงศ์ธนา เซ่งตระกูล
อังค์วรา ยุทธนากรกุล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น