วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ไทย “เท่” ?


          
ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปทุมวัน จัดแสดงงานนิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” นิทรรศการดังกล่าวโฆษณาตัวเองว่าเป็นนิทรรศการศิลปะสมัยรัชกาลที่ 9 อันมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะ องค์อัครศิลปิน โดยรวบรวมผลงานจากศิลปินกว่า 300 คนมาจัดแสดงร่วมกัน

แม้ประวัติศาสตร์ จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอดีต แต่ประวัติศาสตร์ก็มิใช่อดีตโดยแท้จริง นิทรรศการ “ไทยเท่” เลือกที่จะเล่าประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยช่วงเวลากว่า 60 ปีในรัชกาลที่ 9 ผ่านการแสดงงานศิลปะตามแนวเรื่อง 9 เรื่อง (ซึ่งน่าจะเป็นการเน้นย้ำนัยของเลข 9 อย่างชัดเจน)  ได้แก่ การแสวงหาความเป็นไทย แรงบันดาลใจจากพุทธศาสนา นามธรรมและปัจเจกนิยม พื้นที่ทางสังคมและการอุปถัมภ์ การต่อสู้ทางสังคมและการเมือง จินตนาการกับความเหนือจริง เพศสภาพและความเป็นชายขอบ ศิลปะทดลองและสื่อทางวัฒนธรรม และจากท้องถิ่นสู่อินเตอร์ โดยมี “เส้นเวลาหรือไทม์ไลน์ (Timeline)” อันแสดงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 6 จนถึงปัจจุบัน ติดไว้ที่กำแพงรอบทางเดินชั้น 3-5  และมีผลงานศิลปะจัดแสดงอยู่ในห้องนิทรรศการชั้น 7-9 (ยกเว้นงานชุดศิลปะทดลองและสื่อทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นงานชุดเดียวที่ถูกจัดแสดงในห้องนิทรรศการชั้น 4) แม้ว่าทีมภัณฑารักษ์ผู้จัดงานถึง 5 คนจะเลือกจัดแสดงงานตามแนวเรื่องโดยไม่ได้เรียงตามลำดับเวลา แต่อำนาจในการสร้างความหมายของภัณฑารักษ์ก็ทำให้การจัดลำดับก่อนหลังของหัวข้อเรื่องต่างๆ ตามเนื้อที่และสามัญสำนึกของผู้ชมที่ส่วนใหญ่จะชมงานโดยไล่ตั้งแต่ชั้น 7-9 มีแนวโน้มที่จะแสดงให้เห็นถึงภาพของประวัติศาสตร์ตามลำดับเวลา โดยเริ่มตั้งแต่การแสวงหาความเป็นไทยที่ชั้น 7 ต่อด้วย การแสดงงานศิลปะตามแนวเรื่องในหัวข้อต่างๆ เรียงลำดับขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึง “จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” และ “เพศสภาพกับความเป็นชายขอบ” ในชั้น 9 ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นร่วมสมัย

ผลงานที่มิใช่เพียงแค่ “9”

นิทรรศการ “ไทยเท่” จัดแสดงงานศิลปะตามแนวเรื่อง จำนวน 9 เรื่อง เราอาจเข้าใจได้ว่าทำไมต้องเป็น 9 เมื่อย้อนกลับไปดูถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานเพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การอุปโลกน์ 9 หัวข้อดังกล่าวขึ้นมาเพียงเพื่อให้สอดคล้องกับการเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 มีความเหมาะสมเพียงใด เรามีงานศิลปะที่พูดถึงประเด็นเหล่านั้นจริงๆ หรือ ? แล้วงานศิลปะที่เรามี พูดถึงเพียงแค่ 9 เรื่องเหล่านั้นจริงๆ หรือ ?

นิทรรศการชุดแสวงหาความเป็นไทย ถูกจัดแสดงไว้โดยคาดหวังให้เป็นห้องแรกที่ผู้ชมเข้าไปชม ผลงานในห้องจัดแสดงส่วนใหญ่เป็นผลงานที่ผูกติดอยู่กับเวลาในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ศิลปะสมัยใหม่ ในขณะเดียวกันจากเนื้อหาประกอบนิทรรศการบนป้ายคำอธิบายพูดถึงความสัมพันธ์บางประการระหว่างความเป็นสมัยใหม่กับความเป็นไทย เราไม่สามารถทราบได้เลยว่าความเป็นไทยกับความเป็นสมัยใหม่ที่ถูกพูดถึงคืออะไร แม้จากคำอธิบายอาจทำให้เรานึกไปถึงการนำเอาศิลปะแบบไทยประเพณีมาผสมผสานกับเทคนิคสมัยใหม่ที่ได้รับมาจากตะวันตก แต่เราก็ได้รับมาเพียงแค่เทคนิค โดยไม่สนใจฐานคิดในแบบตะวันตก จึงทำให้ผลงานศิลปะ “สมัยใหม่” มีทั้งประติมากรรมปั้นรูปกษัตริย์บางพระองค์ ประติมากรรมปั้นรูป ศิลป์ พีระศรี หรือแม้กระทั่งภาพจิตรกรรมทิวทัศน์ธรรมดา สิ่งเหล่านี้ชวนให้ตั้งคำถามถึงนิยามความเป็นไทยและรอยต่อของสมัยใหม่ที่ภัณฑารักษ์ผู้จัดงานต้องการนำเสนอ แต่อย่างไรก็ตามถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง นิทรรศการชุดนี้อาจจะกำลังนำเสนอนิยามความเป็นไทยในรูปแบบใหม่ที่ขยายนิยามไปถึงว่าความเป็นไทยคือ “อะไรก็ได้” ซึ่งหมายความว่าทุกๆ สิ่งที่อยู่ในประเทศไทยก็คือความเป็นไทย และศิลปินทำงานอะไรก็เกี่ยวข้องกับความเป็นไทยไปเสียหมด ซึ่งก็คือความเป็นไทยเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนนั่นเอง และเป็นสิ่งที่ศิลปินกำลังต้องการ “แสวงหา”

เราคงไม่อาจแน่ใจได้กับความเป็น “สมัยใหม่” ในสังคมไทย ถ้าจะพูดถึงความแตกต่างระหว่าง “สมัยใหม่” กับสิ่งที่เราอวดอ้างว่าคือ “ความเป็นไทย” ความเป็นสมัยใหม่มิได้หมายถึงการทำให้เป็นสมัยใหม่ (Modernization) เพราะความเป็นสมัยใหม่มิได้หมายถึงเพียงแค่การรับเอาเทคนิควิธีการต่างๆ จากตะวันตกมาสร้างงานศิลปะแบบไทยๆ หรือการลอกลวดลายจากงานจิตรกรรมตะวันตกมาสร้างขึ้นมาใหม่ ในขณะที่เราก็ไม่ได้มีความคิด “สมัยใหม่” เกิดขึ้น น่าสงสัยว่างานลวดลายไทยของศิลปินชื่อดังบางคนเป็นงานศิลปะสมัยใหม่จริงหรือ แล้วทำไมการพยายามสร้างวิธีการทางทัศนียวิทยา(ที่ดูเหมือนจะก้าวหน้ากว่างานลวดลายไทยบางชิ้น)ของขรัวอินโข่งจึงไม่ถือว่าเป็นงานศิลปะสมัยใหม่? สังคมไทยยังคงอยู่ภายใต้ระบบความคิดแบบเก่าๆ อยู่ภายใต้ระบบโครงสร้างอำนาจแบบเดิมๆ เชื่อในไสยศาสตร์อย่างไม่สนใจเหตุผล และสนใจแต่เพียงอนุสาวรีย์อันศักดิ์สิทธิ์ที่ยกย่องความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์โดยไม่ได้ตระหนักถึงความเท่าเทียมกันในฐานะความเป็นมนุษย์ และไม่เคยเห็นความสำคัญของปัจเจกบุคคลแต่อย่างใด นั่นอาจหมายถึงว่าเราไม่เคยเป็นสังคมสมัยใหม่ ถึงแม้ว่าจะมีการตั้งข้อสังเกตถึงการรับแนวคิดแบบหลังสมัยใหม่ในสังคมไทยก็ตาม แต่หลังสมัยใหม่ของสังคมไทยก็มิใช่ “หลัง” สมัยใหม่ที่เกิดจากความล้มเหลวของแนวคิดสมัยใหม่จริงๆ หากแต่เป็นเพียงแค่การเลียนแบบหรือรับแนวคิดหลังสมัยใหม่จากตะวันตกมาเพียงผิวเผินเท่านั้น สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่ง การอ้างการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สมัยใหม่แบบ “ไทยเท่” ก็ยังคงย้อนแย้งกับวัตถุประสงค์ของงาน “ไทยเท่” ในการยกย่องบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่เป็นสมัยใหม่แต่อย่างใด

ในห้องเดียวกัน นิทรรศการอีกชุดหนึ่งคือแรงบันดาลใจจากพุทธศาสนา น่าสังเกตว่าผลงานเกือบทั้งหมดเป็นผลงานจากแรงบันดาลใจที่เป็น “ความศรัทธา” ต่อพุทธศาสนาในฐานะที่พุทธศาสนาผูกติดอยู่กับสังคมไทยมาช้านาน (แต่ความศรัทธาดังกล่าวก็อาจไม่ได้หมายถึงความศรัทธาจริงๆ ของศิลปิน) เนื้อหาของงานแทบทั้งหมดเป็นการเล่าเรื่องราวในพุทธศาสนาแทบทั้งสิ้น หลายชิ้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานศิลปะแบบไทยประเพณี มีน้อยชิ้นมากที่เป็นไปในเชิงวิจารณ์ โดยเฉพาะงานชิ้นที่รู้จักกันดีที่สุดและเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อไม่นานมานี้อย่าง “ภิกษุสันดานกา” ซึ่งผู้จัดงานเลือกที่จะติดตั้งไว้ในมุมที่ไม่เด่นชัดนัก ราวกับว่าศาสนาเป็นเรื่องที่สวยงาม แต่ก็ยังมีสิ่งเลวร้ายอันเป็นเรื่องราวที่ควรปกปิดและไม่ควรพูดถึงในสังคมไทย

การจัดแสดงนิทรรศการทั้งสองชุด “แสวงหาความเป็นไทย” และ “แรงบันดาลใจจากพุทธศาสนา” ไว้ในห้องเดียวกัน มีนัยถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างสองเรื่องดังกล่าว วิถีชีวิตของคนไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน(ถูกสร้างภาพให้)นับถือพุทธศาสนาราวกับเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเวลาพูดถึงจริยศาสตร์แบบไทยๆ เราจะพูดอยู่บนพื้นฐานหลักการทางพุทธศาสนาอยู่เสมอ และมันก็ยังตอกย้ำว่าเรายังไม่ได้หลุดออกจากสังคมภายใต้ร่มเงาของผู้ยิ่งใหญ่อย่างศาสนามาเป็นสังคมสมัยใหม่ได้เสียที

ในห้องนิทรรศการชั้น 8 มีนิทรรศการเรื่องจินตนาการกับความเหนือจริงและนามธรรมและปัจเจกนิยม ในส่วนของจินตนาการกับความเหนือจริงเป็นผลงานที่พูดถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง หลายชิ้นเป็นงานที่อ้างไปถึงตำนานหรือสิ่งที่อยู่ในจินตนาการหรืออ้างมาจากวรรณกรรมบางเรื่อง ในเนื้อหาประกอบนิทรรศการมีการอ้างไปถึงงานในลัทธิเหนือจริง (Surrealism) แต่ก็น่าพิจารณาถึงบางชิ้นว่าจะสอดคล้องกับนัยของการบรรยายความฝัน ความบังเอิญ ลัทธิอัตโนมัติ และสภาวะจิตไร้สำนึก ในลัทธิเหนือจริงได้มากเพียงใด เมื่อความคิดในแบบลัทธิเหนือจริงไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย และเราทำได้เพียงแค่หยิบยืมลักษณะ ลวดลาย มาเพียงเท่านั้น

อีกชุดหนึ่งในห้องนิทรรศการชั้น 8 เป็นเรื่องการต่อสู้ทางสังคมและการเมือง ผลงานเกือบทุกชิ้นเป็นการพูดถึงการเมือง แต่อย่างไรก็ตามจากเนื้อหาที่อ้างถึงบทบาทของงานศิลปะในช่วงเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญอย่างเหตุการณ์เดือนตุลาหรือพฤษภาทมิฬซึ่งน่าจะมีความเข้มข้นพอสมควรและบางประเด็นก็ยังคงร่วมสมัยท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงกลับไม่เข้มข้นเช่นนั้น เพราะผลงานส่วนใหญ่ไม่ได้สะท้อนการต่อสู้ของประชาชนอย่างแท้จริง แต่กลับวนอยู่ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง นักการเมือง และผู้กุมอำนาจรัฐ ในประเด็นเดิมๆ ที่อาจจะเก่าไปแล้วสำหรับปัจจุบันและไม่ได้มีพลังอีกต่อไป ผลงานบางชิ้นแม้จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง แต่ก็ไม่ใช่ศิลปะที่พูดถึงประเด็นการเมือง งานหลายชิ้นที่ถูกนำมาจัดแสดงก็มีลักษณะของการเซนเซอร์ตัวเอง ไม่มีผลงานที่พูดถึงเรื่องล่อแหลม หรือประเด็นร่วมสมัยที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำ การต่อสู้ หรือประเด็นเรื่องสถาบัน ที่สนใจกันอยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่ผลงานที่ไม่ถูกเลือกอีกมากมายอาจสามารถสื่อสารประเด็นดังกล่าวได้ดีกว่า เมื่อเราย้อนกลับไปพิจารณารวมกับงานชุด “แสวงหาความเป็นไทย” และ “แรงบันดาลใจจากพุทธศาสนา” จึงทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าสิ่งที่นิทรรศการ “ไทยเท่” นำเสนอ เป็นเพียงแค่การสร้างภาพความเป็นไทยอันดีงามในแบบที่รัฐต้องการ ความเป็นไทยเป็นสิ่งสวยงาม มีเอกลักษณ์ คนไทยมีศรัทธาในพุทธศาสนา จริยศาสตร์แบบรัฐคือความดีในพุทธศาสนา และคนไทยเป็นพลเมืองดีที่ไม่ตั้งคำถาม ยินยอมอยู่ภายใต้อำนาจรัฐอย่างสันตินั่นเอง

สำหรับในชั้น 9 เป็นนิทรรศการ “เพศสภาพและความเป็นชายขอบ” และ “จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” สิ่งที่น่าสนใจคือผลงานชุด “จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” ที่จัดแสดงผลงานของศิลปินที่เคยถูกนำไปจัดแสดงในต่างประเทศ ผลงานดังกล่าวมีความสำคัญถึงขนาดต้องแยกออกมาอีกห้องจัดแสดงเชียวหรือ ซึ่งในปัจจุบันคงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับการที่ศิลปินจะนำผลงานของตนเองไปจัดแสดงในต่างประเทศ ความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือความพร้อมทางเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้ผลงานของศิลปินออกไปสู่ต่างประเทศได้ ดังนั้น ศิลปินที่ได้ไปแสดงงานในต่างประเทศจึงไม่ได้หมายความว่าผลงานดีกว่าศิลปินคนอื่นแต่อย่างใด การที่นิทรรศการแยกผลงานที่เคยถูกนำไปจัดแสดงในต่างประเทศออกมาเป็นอีกชุดหนึ่ง และผลงานแต่ละชิ้นก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันในเชิงเนื้อหาหรือเรื่องราวแต่อย่างใด นอกจากแสดงให้เห็นเพียงแค่ว่าผลงานเหล่านี้เคยออกไปสู่ต่างประเทศแล้ว การมอบฐานะพิเศษให้กับผลงานเหล่านี้ก็คงมิใช่เรื่องจำเป็น เพราะเพียงแค่การที่ผลงานเคยถูกนำไปจัดแสดงในต่างประเทศก็มิได้หมายความว่าผลงานดังกล่าวจะดีกว่าผลงานชิ้นอื่นๆ แต่อย่างใด

ข้อสังเกตต่างๆ ดังกล่าว ยิ่งทำให้เห็นว่าเราอาจไม่สามารถจัดแบ่งผลงานออกมาได้เพียงแค่ 9 หัวข้อ หรือบางทีเราอาจไม่สามารถแบ่งผลงานได้ชัดเจนเลยก็ได้ เมื่องานศิลปะของเราไม่เคยมีสกุลทางศิลปะ งานหลายชิ้นแสดงให้เห็นถึงการได้รับแรงบันดาลใจ แต่ก็มิได้คิดไตร่ตรองกับประเด็นนั้นๆ อย่างชัดเจน นั่นหมายถึงว่างานหลายชิ้นไม่มีเนื้อหา งานหลายชิ้นก็ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่ามันคืออะไร เราจึงอาจต้องตั้งคำถามว่า การอุปโลกน์เรื่องทั้ง 9 เรื่องขึ้นมา เป็นเพียงแค่การอุปโลกน์ความ “มีอะไร” บนความ “ไม่มีอะไร” ของศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยเพียงเพื่อให้สอดคล้องกับนัยของเลข 9 ใช่หรือไม่ งานบางชิ้นอาจ “มีอะไร”ในตัวมันเอง แต่ภัณฑารักษ์ก็จับคู่สร้างความหมายใหม่ขึ้นมา “ฆ่า” สิ่งที่มีอยู่ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว การมาชมงานนิทรรศการนี้ก็คงไม่ต่างกับการเอางานศิลปะหลายๆ ชิ้นในหนังสือเรียนมากองรวมกันให้ชมแต่ประการใด

พื้นที่และอำนาจกับความยิ่งใหญ่ของ “ไทยเท่”

งานนิทรรศการ “ไทยเท่” เป็นนิทรรศการใหญ่ที่ใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเพื่อจัดแสดงงานเกือบทั้งหมด ซึ่งตามปกติวิสัยของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นิทรรศการหนึ่งจะใช้พื้นที่จัดแสดงเพียงชั้นเดียว และสำหรับพื้นที่แห่งนี้ยังไม่เคยมีนิทรรศการใดที่ยิ่งใหญ่และใช้พื้นที่จัดแสดงงานตั้งแต่ตั้งแต่ชั้น 3-9 ซึ่งเป็นเนื้อที่เกือบทั้งหมดเหมือนอย่างนิทรรศการ “ไทยเท่”

การใช้พื้นที่ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในประการหนึ่งสะท้อนถึงนัยของอำนาจและศูนย์กลาง ซึ่งอาจบอกถึงความเป็นกระแสหลัก เราปฏิเสธไม่ได้ว่าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครในฐานะหอศิลป์ร่วมสมัยของรัฐและตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ในแง่ของการเป็นพื้นที่ที่ถูกจัดการโดยรัฐ มีการจัดแสดงงานศิลปะที่ถูกคัดสรรแล้วว่าสอดคล้องกับอำนาจรัฐ และเป็นไปตามสิ่งที่รัฐอยากจะให้เป็น นิทรรศการ “ไทยเท่” ที่จัดแสดงในพื้นที่ดังกล่าวจึงมีนัยแอบแฝงในเรื่องของการประกาศความยิ่งใหญ่ของความเป็นชาติ การรับรองงานศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยของไทยภายใต้วาทกรรมความเป็นไทย และความเป็นไทยในความหมายของรัฐก็คือความเป็นกรุงเทพ แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวอาจเป็นสิ่งที่ผิดพลาด เมื่อ “ไทยเท่” ทำให้นิยามของ “ท้องถิ่น” และ “ความเป็นไทย” ขยายตัวออกไปจากเดิมที่ถือว่าความเป็นไทยเป็นเรื่องของอดีตที่สั่งสมมาแต่โบราณ เป็นประเพณีผูกพันกับราชสำนัก หรือเป็นเรื่องของชนชั้นสูง กลายมาเป็นอะไรก็ได้ที่ถูกสร้างขึ้นโดยคนไทยภายใต้การยอมรับของรัฐและกษัตริย์ ไม่เว้นแม้แต่สิ่งที่ได้รับมาจากตะวันตก แต่น่าสังเกตประการหนึ่งว่า สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็คือ ความเป็นไทยไม่ว่าจะเป็นสมัยใดก็ยังผูกติดกับราชสำนัก ผู้ปกครอง รัชกาล พระมหากษัตริย์ อยู่ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่นิทรรศการ “ไทยเท่” ที่พูดถึงศิลปะ “ไทย” ในสมัยรัชกาลที่ 9

การเป็นนิทรรศการที่เสนองานรวมกลุ่มจากศิลปินหลายๆ คน อันเป็นผลงานศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นระยะเวลากว่า 60 ปี จำนวนศิลปิน และผลงานจึงมีปริมาณมาก ถึงแม้นิทรรศการ “ไทยเท่” จะใช้พื้นที่ห้องจัดแสดงจนหมด แต่ในแต่ละห้องก็ยังคงจัดเรียงผลงานโดยมีปริมาณเป็นเกณฑ์ มีผลงานเรียงราย อัดแน่น ชิดติดฝาผนัง และยิ่งในฐานะของงาน “มาสเตอร์พีซ” ที่ถูกคัดสรรมาจัดแสดง งานศิลปะของเรายังคงนิยมผลงานขนาดใหญ่ กินพื้นที่ จิตรกรรมขนาดมหึมาหรือประติมากรรมขนาดใหญ่เต็มห้อง ไม่เหลือช่องว่างให้ผลงานหรือผู้ชมได้หายใจ การติดตั้งผลงานจึงอาจกลายเป็นการเรียกร้องผู้ชมมากเกินไป และทำให้พื้นที่ถูกลดทอนลงเป็นเพียงแค่ตัวรองรับผลงาน พื้นที่ไม่ได้มีความหมายใดๆ นอกจากเป็นเพียงแค่สถานที่ไว้ติดตั้งผลงาน และอาจเป็นเพราะด้วยเงื่อนไขพิเศษที่มาพร้อมความ “ใหญ่” ของงาน จึงทำให้มีความจำเป็นต้องนำงานมากมายมาจัดแสดงในพื้นที่นิทรรศการเดียว ซึ่งเรียกร้องพลังงานมหาศาลจากผู้ชมในการเดินชมนิทรรศการจนครบทั้งนิทรรศการ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ด้วยเงื่อนไขของเวลา ผู้ชมคงมิอาจเสียเวลาทั้งวันกับนิทรรศการศิลปะนิทรรศการเดียว ผู้ชมจึงไม่สามารถที่จะจดจ่อหรือพิจารณาผลงานแต่ละชิ้นได้อย่างเต็มที่ ผู้ชมจึงได้เพียงแค่ชมงานผ่านๆ และทำความเข้าใจกับเนื้อหาหรือประเด็นที่ภัณฑารักษ์ได้เขียนอธิบายในแต่ละห้องจัดแสดงเป็นหลัก แน่นอนว่า แม้ผู้ชมจะเห็นผลงานจนครบทุกชิ้น แต่ผลงานมากมายก็อาจจะกลบทับกันเองไปโดยปริยาย และสุดท้ายแล้วผู้ชมก็ไม่เหลือความทรงจำเกี่ยวกับผลงานใดๆ ไว้เลย

ในนิทรรศการ ภัณฑารักษ์ผู้จัดงานเลือกที่จะใช้สีของผนังในการบ่งบอกชุดของงานและบอกผู้ชมว่างานในบริเวณดังกล่าวถูกจัดไว้ในชุดหัวข้อใด สิ่งที่รบกวนใจผู้ชมหลายคนก็คือการใช้สีของผนังในนิทรรศการบางชุดที่ใช้สีเข้ม เช่น งานในชุดการแสวงหาความเป็นไทยที่ใช้สีเขียวเข้มเป็นพื้นผนังติดตั้งงาน สีของผนังกับสีของงานมีกระบวนการสัมพันธ์ต่อกันอย่างแน่นอน งานบางชิ้นจึงถูกกลืนไปกับสีของผนัง ในขณะที่งานบางชิ้นก็ถูกขับเน้นให้เด่นออกมาเสียเกินไป การที่นิทรรศการศิลปะส่วนใหญ่โดยเฉพาะนิทรรศการที่จัดแสดงงานจิตรกรรม จะติดตั้งงานบนพื้นที่ผนังสีขาว ก็คงมิได้เป็นเพราะความขัดข้องทางงบประมาณหรือไม่มีสีอื่นจะใช้ หากแต่สีขาวมีความเป็นกลาง และสามารถรองรับผลงานส่วนใหญ่ได้ และทำให้การรับรู้ของผู้ชมจากผลงานเที่ยงตรงมากที่สุด ปราศจากการรบกวนใดๆ จากพื้นที่ติดตั้งผลงาน แน่นอนว่าคงมิใช่เรื่องผิดสำหรับการใช้ผนังสี แต่กับปริมาณผลงานมหาศาล คงเป็นไปได้ยากที่จะสามารถทำให้สีของผนังลงตัวเหมาะสมกับผลงานทุกชิ้น การที่นิทรรศการ “ไทยเท่” ใช้สีของผนังในการนำชมและแบ่งหมวดหมู่ของงาน เป็นเรื่องที่น่าสนใจในการสร้างกระบวนการของผู้ชมให้สัมพันธ์กับกระบวนการจัดแสดงของภัณฑารักษ์  แต่อย่างไรก็ตาม มันอาจจะดีกว่านี้ ถ้าสีของผนังในนิทรรศการหลายๆ ชุดจะใช้ชุดสีที่อ่อนลง และเหมาะสมกับผลงานส่วนใหญ่มากกว่านี้

ศิลปะสมัยรัชกาลที่ 9 : ศิลปะแบบไทยๆ ที่ถูกจัดการแบบไทยๆ

นิทรรศการ “ไทยเท่” โฆษณาตัวเองว่าเป็นนิทรรศการที่จัดแสดงผลงานศิลปะไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 ถ้าไม่พูดถึงวัตถุประสงค์ในการเฉลิมพระเกียรติองค์อัครศิลปิน นอกจากวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้ว สิ่งที่น่าสนใจก็คือทำไมต้องเป็นศิลปะสมัยรัชกาลที่ 9

การศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย โดยเฉพาะศิลปะไทยในอดีตที่ถึงแม้จะมีวิธีวิทยาในการแบ่งยุคมากมาย แต่ที่นิยมที่สุดมักจะอาศัยวิธีวิทยาในการแบ่งยุคทางศิลปะตามรัชสมัยของกษัตริย์หรือราชธานีที่เป็นศูนย์กลางของอำนาจทั้งปวง เช่น ศิลปะสุโขทัย ศิลปะล้านนา ศิลปะอยุธยา อาจไม่แปลกนักสำหรับการศึกษาแบบนี้ที่ในแต่ละยุคแต่ละสมัยก็จะมี “สกุลช่าง” ที่เป็นเอกลักษณ์ของยุคนั้นเอง และวิธีวิทยาในการศึกษาศิลปะไทยในอดีตก็อาศัยรูปแบบ พัฒนาการ หรือมีวิธีการจัดจำแนกลักษณะศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละยุคได้อย่างชัดเจน ถึงแม้จะมีข้อถกเถียงบางประการถึงความถูกต้องเที่ยงตรงในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบของศิลปะกับยุคสมัยก็ตาม[1]

แต่กับศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย อาจไม่ได้ง่ายเช่นนั้น สิ่งที่เราเรียกว่า “ศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย” (ที่อาจไม่ได้เป็นสมัยใหม่จริงๆ) เกิดขึ้นจากอิทธิพลของศิลปะตะวันตก โดยเฉพาะการถูกวางรากฐานจาก ศิลป พีระศรี ในฐานะบิดาของศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย และมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ถือว่าเป็นสถาบันศิลปะกระแสหลักและทรงอิทธิพลที่สุดในประเทศไทย ศิลป พีระศรี เป็นผู้ริเริ่มวางหลักสูตรการเรียนศิลปะในมหาวิทยาลัยศิลปากรให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับโรงเรียนศิลปะของยุโรป และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยศิลปากรหลายคนก็ได้รับการศึกษาทางศิลปะจากประเทศตะวันตก ดังนั้น การพิจารณาเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะสมัยใหม่ของไทยอย่างน้อยที่สุดจึงจำเป็นต้องพิจารณาควบคู่ไปกับกระแสความเคลื่อนไหวของศิลปะตะวันตกสมัยใหม่ที่แบ่งออกเป็นกระแสลัทธิหรือสกุลงานศิลปะต่างๆ[2]ที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับสังคม แนวคิด หรือเหตุการณ์ เช่น ศิลปะในกระแสสัจจนิยม โรแมนติก อิมเพรสชันนิสม์ เอกเพรสชันนิสม์ หรือศิลปะนามธรรมต่างๆ

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าขบคิดของนิทรรศการนี้ในแง่มุมทางวิชาการก็คือ ทำไมต้องเป็นนิทรรศการศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 9 ในเมื่องานศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 9 ก็มิได้อาศัยวิธีวิทยาในการจัดจำแนกเช่นเดียวกับศิลปะไทยในยุคเก่าที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์หรือมีความคล้ายคลึงกันแต่ประการใด แต่ยังคงมีความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรมที่มีทั้งอิทธิพลการลอกเลียนจากงานสกุลต่างๆ ของตะวันตก หรือแม้กระทั่งงานประติมากรรมหรือศิลปะจัดวางที่เกิดจาก “แรงบันดาลใจ” จากตะวันตกแทบทั้งสิ้น ในบริบทของศิลปะไทยที่นอกจากความร่วมสมัยในช่วงเวลาเดียวกันแล้ว ก็ไม่ได้มีลักษณะร่วมหรือความคล้ายคลึงใดๆ ที่จะบอกได้ว่าเป็นศิลปะสมัยรัชกาลที่ 9 แม้แต่นิดเดียว ในสมัยรัชกาลที่ 9 ก็มิได้มีเหตุการณ์ใดๆ ที่มีอิทธิพลกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือศิลปะ และอิทธิพลงานศิลปะจากตะวันตก ก็คงมิได้เพิ่งมาเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 หากแต่มีมาแล้วตั้งแต่อดีตก่อนหน้านั้น อย่างน้อยที่สุด ตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ที่มีช่างยุโรปเข้ามาประจำในราชสำนัก[3] ดังนั้น เหตุผลของการจัดแสดงงานนิทรรศการศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 9 จึงอาจไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากเพียงแค่การเฉลิมพระเกียรติองค์อัครศิลปินเพียงเท่านั้น และยิ่งสะท้อนถึงลักษณะกษัตริย์นิยมในสังคมไทยที่ชัดเจน ทั้งๆ ที่ผลงานศิลปะดังกล่าวกษัตริย์ก็มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างงานแต่อย่างใด

เมื่อผลงานศิลปะที่แตกต่าง ถูกเรียกรวมกันว่าเป็นศิลปะสมัยรัชกาลที่ 9 ศิลปะจึงเป็นได้เพียงแค่เครื่องประดับในรัชกาลที่บ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ ความก้าวหน้า ความเจริญรุ่งเรืองของรัชกาลเท่านั้น ซึ่งไม่ได้สะท้อนถึงสถานะหรือบทบาทอันใดของงานศิลปะเลย ในขณะเดียวกัน วิธีการเช่นนี้ก็ทำให้การพิจารณาคุณค่าของงานศิลปะไม่ได้อยู่กับตัวศิลปะเอง หากแต่ผูกอยู่กับความสำคัญในฐานะสิ่งที่สร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพียงเท่านั้น

ประเด็นประวัติศาสตร์ : ความจริงของประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของใคร ?

ประการหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า งานนิทรรศการ “ไทยเท่” มีความเกี่ยวข้องกับ “ประวัติศาสตร์” อย่างแยกไม่ออก การสร้างเรื่องราวของนิทรรศการโดยผูกติดอยู่กับผลงานศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 9 และการนำเสนอไทม์ไลน์เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ศิลปะไทยสมัยใหม่ตั้งแต่ยุค ร.6 จนถึงปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้เน้นย้ำนัยของการนำเสนอประวัติศาสตร์ศิลปะไทยสมัยใหม่ผ่านงานนิทรรศการ “ไทยเท่” อย่างชัดเจน

ด้วยความที่ “ไทยเท่” ผูกติดอยู่กับเรื่องราวของประวัติศาสตร์ศิลปะ เหตุการณ์หลายๆ เหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้บนไทม์ไลน์รอบระเบียงทางเดินชั้น 3-5 ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับราชสำนัก ศิลปินบางกลุ่ม และเรื่องราวของคนศิลปากร บางเหตุการณ์อาจต้องถูกตั้งคำถามถึงความสำคัญ เหตุใดจึงต้องปรากฏบนไทม์ไลน์ เช่น การแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของศิลปินบางคน หรือการเปิดตัวของหอศิลป์บางแห่ง ซึ่งก็ไม่ทราบว่าสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลหรือมีแรงกระทบต่อวงการศิลปะอย่างไร และมีความสำคัญเพียงใดที่จะต้องปรากฏบนไทม์ไลน์อันมีเนื้อที่จำกัด หากสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญ เหตุใดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันที่เกิดกับศิลปินอื่นๆ หรือพื้นที่อื่นๆ จึงไม่สำคัญ ทำให้เกิดคำถามว่าการพิจารณานำเสนอเหตุการณ์บนไทม์ไลน์มีเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร หรือสนใจเพียงแค่ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลระหว่างผู้จัดงานกับศิลปินบางกลุ่ม ปัญหาเรื่องข้อมูลบนไทมไลน์ดังกล่าวดังกล่าว อาจเป็นปัญหาเรื่องการอธิบายประวัติศาสตร์ และนิทรรศการดังกล่าวถูกการันตีความถูกต้องโดยการสนับสนุนจากรัฐ ประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาทางปรัชญาที่น่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาด้วยเช่นกัน

ประวัติศาสตร์อาจศึกษาอดีต แต่การศึกษาอดีตของมนุษย์โดยนักประวัติศาสตร์กลายเป็นข้อจำกัดของวิชาประวัติศาสตร์ เพราะนักประวัติศาสตร์มิได้ศึกษาเพียงแค่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในอดีต แต่จุดประสงค์ของนักประวัติศาสตร์ยังรวมถึงการเข้าใจภาพในอดีตทั้งในมุมแคบและมุมกว้าง ในขณะเดียวกันมันก็นำไปสู่คำถามที่เกี่ยวข้องกับวิธีการอธิบายที่จะสอดคล้องกับเนื้อหาของประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์มิได้เพียงแค่ต้องการศึกษาเหตุการณ์ แต่รวมถึงการพยายามทำความเข้าใจเหตุการณ์ของนักประวัติศาสตร์ ที่แฝงความหมายเรื่องความเป็น “อัตวิสัย” ของประวัติศาสตร์ นั่นย่อมหมายความว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏและถูกบันทึกไว้ มิใช่ข้อมูลที่เป็นภววิสัย หากแต่เป็นข้อมูลที่ผูกติดอยู่กับตัวตนของนักประวัติศาสตร์ ถึงแม้นักประวัติศาสตร์จำเป็นที่จะต้องถกเถียงเพื่อหาข้อยุติกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แต่การถกเถียงก็ยังเป็นไปในแวดวงของนักวิชาการ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทำให้ประเด็นทางประวัติศาสตร์เป็นข้อยุติที่ยอมรับได้กับทุกๆ คน เรื่องราวทางประวัติศาสตร์จึงมิอาจหนีไปจากความเป็นอัตวิสัยได้

ถ้าประวัติศาสตร์มิใช่เรื่องราวของอดีตที่เป็นภววิสัย คงไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่าประวัติศาสตร์ก็คือความทรงจำ แม้ความทรงจำของประวัติศาสตร์มิอาจเขียนขึ้นได้จากความว่างเปล่า แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็มิได้รับประกันถึงความถูกต้องของความทรงจำนั้นๆ เมื่อประวัติศาสตร์พูดถึงเรื่องราวของเหตุการณ์ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่การเขียนประวัติศาสตร์ก็มิได้มีพื้นที่ให้กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด และเมื่อประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับความทรงจำ จึงเป็นไปไม่ได้ที่นักประวัติศาสตร์จะสามารถบันทึกทุกๆ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงให้เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้ นักประวัติศาสตร์จึงจำเป็นต้อง “เลือก” เหตุการณ์ที่สำคัญ ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้อง “ลืม” รายละเอียดบางอย่างที่ไม่สำคัญพอที่จะเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของความทรงจำได้ อิไซอาห์ เบอร์ลิน (Isaiah Berlin) นักปรัชญาประวัติศาสตร์เคยให้ความเห็นไว้ว่า นักประวัติศาสตร์จะเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม งานของนักประวัติศาสตร์ก็คือการตัดสินคุณค่า[4] เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาเรื่องความเป็นภววิสัยของประวัติศาสตร์จึงสัมพันธ์กับเรื่องคุณค่า และเมื่อนักประวัติศาสตร์จำเป็นต้องเลือก การเลือกก็คือการตัดสินคุณค่าในความหมายหนึ่ง มีทัศนะทางปรัชญาประวัติศาสตร์ที่กล่าวว่า หน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ก็คือ “การสร้างประวัติศาสตร์” นั่นย่อมหมายความว่าสิ่งที่เรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์ไม่ได้หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอดีตของมนุษย์ แต่ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์เลือกและให้คุณค่าแล้วว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ประวัติศาสตร์จึงเป็นสิ่งสัมพัทธ์กับความเห็นของนักประวัติศาสตร์ และไม่อาจถูกนับให้เป็นความจริงที่เป็นภววิสัยไปได้

เมื่อประวัติศาสตร์เป็นเพียงแค่สิ่งที่นักประวัติศาสตร์เลือกและให้คุณค่า ปัญหาถัดไปก็คือ นักประวัติศาสตร์มีกฎเกณฑ์ใดในการพิจารณาว่าเหตุการณ์ใดสำคัญ  แม้นักปรัชญาประวัติศาสตร์จะเชื่อว่านักประวัติศาสตร์ไม่สามารถสร้างความรู้ประวัติศาสตร์ที่เป็นภววิสัยได้ แต่การสร้างประวัติศาสตร์ของนักประวัติศาสตร์ก็อาจถูกทำให้ใกล้เคียงความเป็นจริงได้มากที่สุด ถ้าปัญหาที่ต้องการศึกษาถูกนักประวัติศาสตร์อธิบายและตอบปัญหาอันเดียวกันด้วยคำตอบที่แตกต่างกันออกไป และถูกนำมาพิจารณาถกเถียงกัน แต่อย่างไรก็ตาม คงไม่มีประโยชน์อันใดที่จะไปถกเถียงเพื่อค้นหาความจริง ความเที่ยงตรง ความเป็นกลาง ของประวัติศาสตร์ เพราะตามแนวคิดนี้ประวัติศาสตร์ก็เป็นเรื่องที่ผูกติดกับผู้สร้างประวัติศาสตร์ และคงเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้สร้างประวัติศาสตร์จะสามารถมองเหตุการณ์หรือให้คุณค่ากับเหตุการณ์ใดๆอย่างเที่ยงตรง เป็นกลาง และเป็นเรื่องภววิสัยล้วนๆ ได้

แนวคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ดังกล่าวอาจนำกลับไปพิจารณางานนิทรรศการ “ไทยเท่” ได้เช่นกัน เมื่อนิทรรศการ “ไทยเท่” ก็มีนัยของการ “เลือก” และ “ลืม” เหตุการณ์บางเหตุการณ์ บุคคลบางคน งานบางชิ้นตามการเลือกของภัณฑารักษ์ผู้จัดงาน ทั้งผลงานและไทมไลน์ สิ่งเหล่านี้ก็คือเหตุการณ์ที่ถูก “เลือก” ขึ้นมานำเสนอ มิใช่เหตุการณ์ทั้งหมดของประวัติศาสตร์ศิลปะไทยสมัยใหม่ ปัญหาประการหนึ่งคือ การเลือกดังกล่าวเป็นการเลือกของใคร เรื่องราว “เส้นทางประวัติศาสตร์ศิลป์และเหตุการณ์ สมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงปัจจุบัน” บนไทม์ไลน์ดังกล่าว จึงมิใช่เส้นทางของสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด แต่เป็นเส้นทางที่ถูกเลือกแล้วโดยทีมภัณฑารักษ์ผู้จัดงานซึ่งมีอำนาจที่จะ “เลือก” หรือ “ลืม” เพื่อที่จะ “สร้าง” หรือ “ทำลาย” ความหมายบางประการได้ ผู้ที่ปรากฏบนไทม์ไลน์จึงมิได้หมายความว่าเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ศิลปะ ในขณะเดียวกันบุคคลที่ไม่ปรากฏบนไทม์ไลน์ก็อาจมิใช่บุคคลที่ไม่สำคัญในประวัติศาสตร์ศิลปะ ประวัติศาสตร์ศิลปะบนไทม์ไลน์ก็จึงอาจเป็นแค่ประวัติศาสตร์ของผู้เขียนไทม์ไลน์ เช่นเดียวกัน การจัดแสดงงานตามแนวเรื่อง ที่ปรากฏในงาน ก็มิได้หมายความว่างานศิลปะไทยสมัยใหม่ในช่วงรัชกาลที่ 9 จะสนใจปัญหาดังกล่าวหรือพูดถึงเพียงแค่เรื่องราวดังกล่าว เพราะอย่างน้อยที่สุด ภัณฑารักษ์ก็เป็นผู้เลือกและจัดการสร้างความหมายของงานนิทรรศการ ผลงานศิลปะที่ถูกจัดแสดงในนิทรรศการนี้ จึงไม่ได้มีความโดดเด่นในฐานะของผลงาน แต่เป็นเพียงเครื่องมือที่ภัณฑารักษ์ในฐานะนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ใช้ประกอบตัวบทเพื่อเล่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เพียงเท่านั้น และเมื่อกลับไปพิจารณาถึงเรื่องการจัดพื้นที่และปริมาณผลงานที่มากเกินกว่าที่ผู้ชมจะสามารถพิจารณาแต่ละชิ้นได้อย่างเต็มที่จึงยิ่งเน้นย้ำถึงภาวะ “ตัวประกอบ” ของผลงาน ที่ถูกจับมายัดไว้เพื่อเหตุผลบางประการ โดยไม่ได้มีความสำคัญอย่างแท้จริง

ทำไม “ไทย”ต้อง “เท่” , ทำไม “ท้องถิ่น” ต้องสู่ “อินเตอร์”

ความหวือหวาของชื่องาน “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” ปรากฏอยู่ในสื่อต่างๆ มากมาย เราอาจรู้สึกว่าชื่องานดังกล่าว ทำให้ภาพลักษณ์ของงานดูน่าตื่นตาตื่นใจ แต่กระนั้น ความ “เท่” ที่แฝงอยู่ในชื่องาน ก็อาจกำลังลดทอนคุณค่าบางประการอยู่เช่นเดียวกัน

ทำไม “ไทย” จึงต้อง “เท่” เมื่อ “ไทยเท่” หรือ “Thai Trends” ในชื่องานภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า “เท่ (Trends)” อันเป็นคำคุณศัพท์ ชื่อนิทรรศการกำลังจะบอกว่างานศิลปะมากมายในนิทรรศการเป็นงานที่ดู “เท่” หรืออย่างไร เมื่อนัยของคำว่า “เท่” หรือที่ถอดความมาจาก “Trends”  เป็นเพียงสิ่งที่ไม่คงทน ไม่ถาวร อาจเป็นเพียงแค่แฟชั่นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ชื่อนิทรรศการก็อาจกำลังสะท้อนให้เห็นว่างานศิลปะในสังคมไทยก็เป็นเพียงแค่ความ “เท่” หรือเป็นแค่ “Trends” ที่ไม่คงทน เป็นไปตามกระแสนิยม และมิได้มีความสำคัญมากมายในสังคมไทย

ในขณะที่ “จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” อาจฟังดูโดดเด่นและชวนให้ภาคภูมิใจถึงผลงานศิลปะในประเทศไทยที่สามารถไปสู่อินเตอร์ได้ แต่ความหมายที่แฝงอยู่ในคำว่า “ท้องถิ่น” และ “อินเตอร์” ก็ดูจะเป็นอะไรที่น่าสนใจเมื่อ จาก “ท้องถิ่น” สู่ “อินเตอร์” อาจมิได้มีความหมายถึงแค่ความก้าวหน้าในวงการศิลปะไทย

ทำไมต้องจาก “ท้องถิ่น” สู่ “อินเตอร์” และ “ท้องถิ่น” ต่างจาก “อินเตอร์”จริงหรือ อย่างไรก็ตาม ในความหมายของผู้จัดงาน เมื่อผู้จัดงานอยากให้ “ท้องถิ่น” ไปสู่ “อินเตอร์” สองสิ่งนี้จึงมีความแตกต่างและสมควรจะถูกวิพากษ์ ถ้าอินเตอร์มีนัยถึงความเป็นสากล ในขณะที่ท้องถิ่นมีนัยถึงความแตกต่างจากศูนย์กลาง แนวคิดของการนำเอา “ท้องถิ่น” ไปสู่ “อินเตอร์” จึงอาจสะท้อนให้เห็นถึงการพยายามนำเอาไม้บรรทัดสากลมาใช้วัดสิ่งที่ไม่เป็นสากล ทำไมเราถึงต้องพยายามนำ “ท้องถิ่น” ให้ไปสู่ “อินเตอร์” การใช้คำว่า “ท้องถิ่น” ในงานนิทรรศการดังกล่าวย่อมเป็นไปได้ถึงการเรียกร้องความภาคภูมิใจในท้องถิ่นหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในบริบทของความเป็นไทย แต่การนำเอา “ท้องถิ่น” ไปสู่อินเตอร์ หมายถึงการเรียกร้องความภาคภูมิใจในอะไรบางอย่างของท้องถิ่นที่มีความเป็นสากลและถูกยอมรับโดยไม้บรรทัดสากล ความหมายที่แฝงอยู่ช่างดูย้อนแย้ง เมื่อนัยของความเป็นท้องถิ่นเรียกร้องให้เราภาคภูมิใจในความเป็นไทย และความเป็นไทยในความเข้าใจของผู้กุมอำนาจรัฐก็คือเอกลักษณ์ที่มีความแตกต่างจากสากล แต่เรากลับพยายามนำความเป็นไทย(ท้องถิ่น)ให้ไปสู่อินเตอร์ นั่นหมายความว่าสิ่งที่น่าภาคภูมิใจก็คือการยอมรับจากอินเตอร์ มิใช่ตัวของความเป็นท้องถิ่นหรือความเป็นไทยโดยแท้จริง การใช้ชื่องาน “จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” จึงอาจมีนัยในมุมของการไม่ยอมรับความเป็นไทยดั้งเดิม และในขณะเดียวกันอาจมีความหมายแฝงอยู่ด้วยว่า ความเป็นไทย(ท้องถิ่น)จะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อถูกให้คุณค่าโดยไม้บรรทัดของความเป็นสากล (อินเตอร์) ซึ่งก็คือตัวความเป็นไทย (ท้องถิ่น) เอง ก็มิได้มีคุณค่าในตัวมันเอง หรือไม่มันก็เป็นสิ่งที่สะท้อนนัยสำคัญว่า องค์ความรู้ทางศิลปะสมัยใหม่ไทย เป็นสิ่งที่เราไม่ได้สร้างขึ้นเอง และเป็นเพียงแค่องค์ความรู้ที่เราได้รับมาจากต่างชาติ(อินเตอร์) นั่นเอง

เมื่อองค์ความรู้ทางศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยถูกวางรากฐานโดยชาวต่างประเทศ ศิลปะในขนบดั้งเดิมจึงกลายเป็นของเก่า ในขณะที่ศิลปะอิทธิพลตะวันตกกลายเป็นของใหม่และอยู่ภายใต้วาทกรรมความเป็นไทยที่ซับซ้อนและเลื่อนไหล การนำศิลปะไทย (ท้องถิ่น) ให้ไปสู่อินเตอร์ที่สะท้อนผ่านนัยของชื่องาน จึงอาจไม่ใช่สิ่งที่ทำลายความแตกต่างของความเป็นท้องถิ่นและไม่ใช่การเรียกร้องให้ภาคภูมิใจในความเป็นเอกลักษณ์ของสิ่งที่เรียกว่าความเป็นไทย เพราะความแตกต่างของความเป็นท้องถิ่นที่แตกต่างจากอินเตอร์ในบริบทของศิลปะสมัยใหม่นั้น อาจจะไม่มีจริงมาตั้งแต่อดีตก็เป็นได้ และเมื่อเป็นเช่นนั้น การใช้งบประมาณมากมายของรัฐ เพื่อแสดงให้เห็นถึงปัญหาความเป็นไทยและปัญหาวุ่นวายในประวัติศาสตร์ศิลปะไทย อาจเป็นข้อดีหรือข้อผิดพลาดที่หลบซ่อนอยู่ในความยิ่งใหญ่ของ “ไทยเท่” ก็เป็นได้

งบประมาณ 23 ล้าน กับวิวาทะในสังคมออนไลน์

ในช่วงเวลาไม่นานมานี้ มีกระแสเล็กๆ เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์ถึงการใช้งบประมาณของงานนิทรรศการนี้กว่า 23 ล้านบาท หลากหลายเสียงในสังคมออนไลน์แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยอาจเป็นงบประมาณที่มากเกินไป เมื่อเทียบกับผลที่ออกมา

ในสังคมออนไลน์ (Facebook) มีการโพสรูปภาพเอกสารประมาณการค่าใช้จ่ายจ้างที่ปรึกษาดำเนินการจัดการและบริหารโครงการ นิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” ซึ่งปรากฏงบประมาณที่ใช้กว่า 23 ล้านบาท และเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ถึงงบประมาณจากภาษีประชาชนที่ดูเหมือนจะไม่สมเหตุสมผล ค่าใช้จ่ายบางประการ เช่น ค่าตอบแทนภัณฑารักษ์ 800,000 บาท หรือค่าติดตั้งนิทรรศการและค่าขนส่งที่รวมกันแล้วเกือบ 6 ล้านบาท หรือแม้กระทั่งค่าประกันภัยผลงานกว่าสองล้านบาท เป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถาม เมื่อภัณฑารักษ์หลายคนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจดหมายตอบกลับจากกรุงเทพมหานครที่ระบุถึงการว่าจ้างมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเป็นที่ปรึกษาดำเนินการและบริหารโครงการ แต่ก็ยังมีการว่าจ้างบริษัทเอกชนในการดำเนินการโครงการ ติดตั้งผลงาน และจัดการโครงการ ซึ่งน่าสังเกตว่าในระดับของมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนทางศิลปะ ทำไมจึงไม่มีศักยภาพในการดำเนินการ หรือในเรื่องค่าประกันภัยผลงานกว่า 2 ล้านบาท ที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าผลงานศิลปะไม่ได้มีการระบุราคาหรือมูลค่า ผู้จัดงานรู้ได้อย่างไรว่าต้องใช้งบประมาณในการประกันภัยแค่ไหน และเมื่อมองไปถึงงบประมาณในการจัดทำหนังสือรวบรวมผลงานศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 9 ที่ใช้งบประมาณกว่า 3 ล้านบาท ในการจัดพิมพ์ จนถึงขณะนี้ซึ่งใกล้จะสิ้นสุดงานแล้ว ยังไม่มีข่าวคราวความคืบหน้าใดๆ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงจำเป็นต้องออกมาชี้แจงว่าถึงการใช้งบประมาณกว่า 23 ล้านบาท ซึ่งอาจจะมากเกินไป เมื่อเทียบกับงานนิทรรศการที่เกิดขึ้น

ในฐานะของผู้ชมคนหนึ่ง รู้สึกประหลาดใจเช่นเดียวกันกับงบประมาณมหาศาล ถึงแม้ว่าในงานนิทรรศการจะมีผลงานมากมายจากศิลปินกว่า 300 คนมาให้ได้ชมก็ตาม แต่กับนิทรรศการยิ่งใหญ่ระดับชาติอย่างนี้ ผลงานศิลปะที่โดดเด่นหลายชิ้นกลับไม่ได้ถูกนำมาจัดแสดงด้วย ทั้งที่เป็นผลงานที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์หรือสร้างความเคลื่อนไหวให้กับวงการศิลปะไทยมากมาย โดยเฉพาะผลงานสองชิ้นสำคัญในช่วง 14 ตุลาฯ อย่างเช่นผลงาน “ธรรม-อธรรม” ของ ประเทือง เอมเจริญ และ ผลงาน “ตัดมือกวี ควักตาจิตรกร” ของ จ่าง แซ่ตั้ง ที่ไม่สมควรจะถูกลืมหรือละเลยไม่นำมาแสดงในงานนิทรรศการที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นนิทรรศการแสดงประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ไทยในช่วงรัชกาลที่ 9

เมื่องบประมาณเป็นภาษีของประชาชน งบประมาณกว่า 23 ล้านบาทที่ถูกใช้ไปกับนิทรรศการ จึงจำต้องถูกตั้งคำถามอยู่ในสังคมออนไลน์ เสียงวิจารณ์และคาดหวังก็เกิดขึ้นพร้อมการคาดเดา อาทิเช่น ค่าจัดทำหนังสือผลงานศิลปะในสมัย รัชกาลที่ 9 กว่า 3 ล้านบาท อาจเป็นไปได้ว่าหนังสือน่าจะหนาเท่ากับสมุดโทรศัพท์หน้าเหลืองสามเล่มทับกัน หรือกรณีของค่าวางแผนประชาสัมพันธ์โครงการอีกกว่า 2 ล้านบาท ก็อาจเป็นไปได้ว่าจำนวนเงินดังกล่าวจะประชาสัมพันธ์งานนิทรรศการนี้ไปถึงอีก 10 ประเทศในประชาคมอาเซียนด้วย และแน่นอนว่างบประมาณกว่า 23 ล้านบาท ย่อมต้องถูกคาดหวังว่าจะทำให้เกิดอะไรขึ้นมากกว่าการเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจ (ซี่งส่วนใหญ่ก็เป็นนักศึกษาศิลปะและคนในแวดวงศิลปะอยู่แล้ว) ได้มาชมงานศิลปะ หรือการสร้างหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะที่มีแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับราชสำนัก อันเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกำลังบอกว่า “ไม่อาจประเมินคุณค่าเป็นจำนวนเงินได้” ปัญหาเรื่องการใช้งบประมาณดังกล่าวจึงกำลังรอคอยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มาชี้แจงรายละเอียดในการใช้เงินภาษีของประชาชนให้สังคมได้รับทราบ และคลายความสงสัยต่อไป

ข้อความส่งท้าย : “ไทยเท่” ที่คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

แม้งานนิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” จะมีทั้งเสียงชมและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนมีข้อสังเกตที่ถูกตีความไปต่างๆ นานา แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงความยิ่งใหญ่อลังการในงานดังกล่าว ที่มีศิลปินแสดงงานถึงกว่า 300 คน บนพื้นที่ส่วนใหญ่ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร รวมถึงการสนับสนุนจากองค์กรภาครัฐและเอกชนมากมาย และน่าจะมีโอกาสไม่มากนักที่ผู้ชมจะเห็นผลงานศิลปะของศิลปินมากมายรวมกันอยู่ในนิทรรศการเดียว

คงไม่มีงานใดที่จะสมบูรณ์แบบได้เสียทั้งหมด ความไม่สมบูรณ์เป็นส่วนหนึ่งของทุกๆ สิ่ง ถึงแม้นิทรรศการ “ไทยเท่” จะถูกท้วงติงจากหลายๆ ฝ่าย แต่กับบริบทของสังคมไทยที่งานศิลปะเป็นเพียงแค่พื้นที่เล็กๆ เฉพาะกลุ่มของคนส่วนหนึ่ง การจัดนิทรรศการ “ไทยเท่” ที่เป็นนิทรรศการใหญ่อลังการ จึงอาจเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของความ “เท่” ให้กับงานศิลปะให้มากขึ้น และเป็นการนำพื้นที่ของงานศิลปะออกสู่สังคม ซึ่งทำให้พื้นที่ของงานศิลปะในสังคมไทยขยายกว้างมากขึ้น ถึงจะมีการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยในสถาบันอุดมศึกษา แต่องค์ความรู้ดังกล่าวก็มิได้ออกไปสู่สังคมอย่างกว้างขวางสักเท่าใด หนังสือและสื่อต่างๆ ที่พบก็เป็นไปในภาคปฏิบัติมากกว่าจะพูดถึงทฤษฎีหรือประวัติศาสตร์ศิลปะ งานนิทรรศการ “ไทยเท่” จึงอาจเป็นเสมือนสื่อหนึ่งในการเผยแพร่องค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะออกสู่สังคม และก่อให้เกิดความสนใจและการตั้งคำถามจากผู้สนใจอย่างกว้างขวางมากขึ้นกว่าที่ปรากฏในปัจจุบัน และแน่นอนว่าเมื่อเกิดการตั้งคำถาม การค้นคว้า ความสนใจ อย่างกว้างขวางมากขึ้น องค์ความรู้ในศาสตร์ดังกล่าวก็ย่อมจะต้องถูกพัฒนาต่อไปอย่างแน่นอน

แต่อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็คงมิใช่ข้ออ้าง ด้วยความยิ่งใหญ่อลังการของนิทรรศการนี่เอง นิทรรศการนี้จึงต้องถูกคาดหวังจากสังคมสูงกว่างานนิทรรศการศิลปะทั่วๆ ไป และยิ่งเป็นงานที่มีการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ ใช้เงินภาษีของประชาชนมากมาย และมีทีมจัดงานเป็นถึงนักวิชาการและมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนทางศิลปะ ในฐานะของผู้ชมย่อมต้องมีความคาดหวังสูงว่างานจะออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ และมีอะไรเกิดขึ้นที่เหมาะสมกับเงินภาษีของประชาชน มากกว่าสิ่งที่ “ไม่อาจประเมินคุณค่าเป็นจำนวนเงินได้” จากคำกล่าวอ้างของหน่วยงานของรัฐ ในขณะเดียวกัน โดยการบริหารงานของมหาวิทยาลัยและถูกจัดการโดยนักวิชาการชั้นแนวหน้า ข้อมูลทางวิชาการ เนื้อหา การติดตั้ง หรือองค์ประกอบต่างๆ ของนิทรรศการน่าจะออกมาสมบูรณ์แบบมากกว่าที่เป็นอยู่ แม้เราจะรู้ว่าไม่มีงานใดที่สมบูรณ์แบบไปเสียหมด แต่ก็คงมิใช่ว่าไม่มีหนทางใดเลยที่จะทำให้ข้อผิดพลาดเกิดขึ้นน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ เสียงสะท้อนจากผู้ชมงานเอง จะเป็นสิ่งที่ประเมินผลนิทรรศการนี้ได้ว่าสุดท้ายแล้วจะออกมาเป็นเช่นไร

นิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายสำหรับนิทรรศการศิลปะที่นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ของไทย เพราะประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือสำหรับผู้ปกครองได้เสมอ และในมุมมองของผู้ชมแล้ว คงไม่มีอะไรจะน่าคาดหวังมากไปกว่าสิ่งที่ดีขึ้นและน่าสนใจมากขึ้นในนิทรรศการครั้งต่อไป

(แก้และตีพิมพ์ในวารสารอ่าน ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2555  ในชื่อว่า ไทย “เท่” ? )

นวภู แซ่ตั้ง

* ขอขอบคุณ อาจารย์ ดร.สายัณห์ แดงกลม สำหรับการตรวจทานต้นฉบับและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างมาก



[1] รศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ เสนอว่าการแบ่งยุคสมัยตามสมัยประวัติศาสตร์ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวางรากฐานไว้ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะศิลปะมิได้เปลี่ยนแปลงไปตามการเกิดขึ้นหรือล่มสลายของรัฐที่มีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์ ดังนั้น ย่อมจะก่อให้เกิดความสับสนระหว่างแบบศิลปะกับสมัยทางประวัติศาสตร์
ดูเพิ่ม รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. ประวัติ แนวความคิด และวิธีค้นคว้าวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย. (กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ), 2551, หน้า 118-124
[2] ถึงแม้ศิลปะตะวันตกจะผูกพันกับเรื่องของความเชื่อในอำนาจลี้ลับและคลี่คลายมาเป็นความเชื่อทางศาสนา สถาบันกษัตริย์ อำนาจของขุนนาง ฯลฯ ซึ่งในอดีตมีการแบ่งกลุ่มของงานศิลปะตามช่วงเวลาหรือยุคสมัยเหมือนกัน แต่ต่อมาความเป็นสมัยใหม่ได้ก้าวข้ามระยะเวลาในเชิงประวัติศาสตร์ ประกอบกับศิลปินหันมาสนใจในสภาพแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น เกิดแนวคิดร่วมกันในเชิงศิลปะและปรัชญาการสร้างสรรค์ ทำให้เกิดแบบอย่างงานศิลปะในลักษณะกลุ่มที่เรียกว่าลัทธิ (ISM)
[3] การเริ่มต้นของศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย ไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่ศิลปะแบบตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 5 เมื่อมีช่างชาวยุโรปเข้ามาประจำราชสำนัก การสอนเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ เป็นการคัดเลือกบุคคลเข้าฝึกปฏิบัติจนมีความสามารถในการสร้างงานได้ และดูจะจำกัดในฐานะช่างส่วนพระองค์ มีนักวิชาการเชื่อว่าศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยเริ่มเคลื่อนไหวปรากฏหลักฐานเป็นครั้งแรกเมื่อกลุ่มจักรวรรดิศิลปิน (The League of Art) เปิดแสดงงานจิตรกรรม ณ ห้องโถงโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุงในปี พ.ศ. 2487 ก่อนมีการแสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติถึง 5 ปี

[4] ดูเพิ่ม Isaiah Berlin, “Historical Inevitability,” in Liberty, the Collected Essays of Isaiah
Berlin, edited by Henry Hardy. Oxford: Oxford University Press, 2008.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น