วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ธรรมชาติของมนุษย์ในทัศนะของเมิ่งจื่อ




ถึงแม้เมิ่งจื่อจะเป็นนักปรัชญาฝ่ายที่ได้รับอิทธิพลจากขงจื่อ แต่ประการหนึ่งที่ทำให้เมิ่งจื่อต่างออกไปจากขงจื่อก็คือ ในขณะที่ขงจื่อให้ความสำคัญกับการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยการพยายามเสนอแนวทางว่ามนุษย์จะประพฤติดีได้อย่างไร แต่เมิ่งจื่อเข้ามาทำให้ความคิดของขงจื่อชัดขึ้นโดยการตอบคำถามว่าทำไมต้องประพฤติดี ซึ่งเมิ่งจื่อแสดงทัศนะว่าเพราะมนุษย์มีธรรมชาติที่ดี



ในบทที่ 6A:2 เมิ่งจื่ออธิบายว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่ดี โดยเมิ่งจื่ออาศัยแนวเทียบเพื่อเปลี่ยนวิธีการอธิบายธาตุแท้ของมนุษย์ของเก้าจื่อที่อธิบายว่าไม่มีการแบ่งแยกว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่ดีหรือเลว เก้าจื่ออธิบายว่าธาตุแท้ของมนุษย์เปรียบเสมือนการไหลเวียนของน้ำ หากตัดแนวไปทางตะวันออกก็ย่อมไหลเวียนไปทางตะวันออก หากตัดแนวไปทางตะวันตก ก็ย่อมไหลเวียนไปทางตะวันตก ธาตุแท้ของมนุษย์จึงไม่มีการแบ่งแยกว่าดีหรือเลว เสมือนการไหลของน้ำที่ไม่มีแบ่งแยกว่าตะวันตกหรือตะวันออก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดแนวหรือการบังคับชักนำ แต่เมิ่งจื่อเปลี่ยนวิธีการอธิบายของเก้าจื่อไปสู่เรื่องธรรมชาติของน้ำที่ไหลจากบนลงล่าง ซึ่งเมิ่งจื่อพูดอย่างชัดเจนว่า “ธาตุแท้ของมนุษย์ที่ว่าดีงามนั้น ก็เสมือนน้ำที่ไหลลงเบื้องล่าง ไม่มีมนุษย์ที่ไม่ดีงาม เช่นเดียวกับไม่มีน้ำที่ไม่ไหลลงสู่เบื้องล่าง” ประโยคนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ในทัศนะของเมิ่งจื่อ มนุษย์มีธรรมชาติที่ดี แต่ปัญหาคือสิ่งที่เกิดขึ้น มนุษย์ไม่ได้ดีเสมอไป เมิ่งจื่ออธิบายต่อไปว่า ถึงน้ำจะไหลจากบนลงล่าง แต่หากเราฟาดกระหน่ำลง น้ำก็อาจกระเซ็นขึ้นสูงได้ หรือหากบังคับชักนำทาง ก็อาจผันไปถึงภูเขาได้ เมื่งจื่อยอมรับว่ามนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงไปจากธรรมชาติของตนเองได้ ถ้าถูกบังคับหรือชักนำให้ละทิ้งธรรมชาติที่ดีของตนเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแนวเทียบของเมิ่งจื่อ แม้จะดูน่าเชื่อถือและสามารถเสนอประเด็นของเมิ่งจื่อได้ชัดเจน แต่น่าสนใจว่าเราสามารถพิสูจน์เชิงประจักษ์ได้ว่าน้ำย่อมตกจากที่สูงลงที่ต่ำ แต่สำหรับธรรมชาติที่ดีของมนุษย์เราไม่สามารถพิสูจน์เชิงประจักษ์ได้ ดูเหมือนสิ่งที่เมิ่งจื่อทำเป็นการโต้แย้งการอ้างเหตุผลของเก้าจื่อมากกว่า เพราะเก้าจื่อเป็นผู้เริ่มเปรียบเทียบมนุษย์กับน้ำ เมิ่งจื่อจึงใช้แนวเทียบเดียวกัน

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า มนุษย์มีธรรมชาติที่ดีจริงๆ ในบทที่ 2A:6 เป็นเสมือนการเติมเต็มคำอธิบายเรื่องธรรมชาติที่ดีของมนุษย์ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในบทที่ 2A:6 นี้จะอธิบายว่า ธรรมชาติที่ดีของมนุษย์ที่ว่านั้น ดีอย่างไร เมิ่งจื่อเริ่มจากการอธิบายว่ามนุษย์ล้วนมีจิตซึ่งไม่อาจทนเห็นทุกข์ของมนุษย์ด้วยกันได้ โดยเมิ่งจื่ออาศัยสถานการณ์ตัวอย่างเพื่ออธิบายประเด็นดังกล่าวและชี้ให้เห็นถึงธรรมชาติที่ดีของมนุษย์ เมิ่งจื่อสมมติว่า “หากมีใครพลันเห็นเด็กทารกน้อยกำลังจะร่วงตกลงไปในบ่อน้ำ ย่อมเกิดความสะเทือนหวั่นไหวขึ้นในจิตกันทั้งสิ้น” ดูเผินๆ แล้วสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน แต่ด้วยวิธีการของเมิ่งจื่อที่อาศัยการอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดย “พลัน” พร้อมกับการใช้เด็กทารกน้อยซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ เมิ่งจื่อใช้วิธีการดังกล่าวเพื่อลบอคติส่วนบุคคลและพลังทางวัฒนธรรมออกไปจากการตัดสินใจในสถานการณ์ดังกล่าว เมิ่งจื่ออาศัยเด็กทารกเป็นตัวอย่างในการอธิบายก็เพราะว่า ทารกยังคงบริสุทธิ์และอยู่ในสภาวะที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด จึงไม่มีอคติในแง่ของตัวบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง และการอาศัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดย “พลัน” นัยของเมิ่งจื่อคือการทำให้การตัดสินใจและความรู้สึกเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวทันที เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นโดย “พลัน” การตัดสินใจจึงมิได้มีพลังทางวัฒนธรรมเข้ามามีส่วนร่วมแต่อย่างใด ความสะเทือนใจหวั่นไหวนี่เองที่แสดงสภาวะอันบริสุทธิ์ของจิตซึ่งถือว่าเป็นแก่นแท้ธรรมชาติของมนุษย์ เมิ่งจื่ออาศัยสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อสรุปว่า มนุษย์มีธรรมชาติที่ดี แต่มนุษย์มีธรรมชาติที่ดีอย่างไร เมิ่งจื่อพูดถึงมูลธรรมทั้ง 4 คือ ความเห็นอกเห็นใจ ความละอาย การระงับยับยั้ง และการรู้ผิดชอบชั่วดี ซึ่งเมื่งจื่อเชื่อว่า มูลธรรมทั้ง 4 มีอยู่ในตัวมนุษย์ และมูลธรรมทั้ง 4 ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์และแตกต่างจากสิ่งอื่นๆ  โดยสิ่งที่ดีนั้นก็คือมูลธรรมทั้ง 4 เมิ่งจื่อเชื่อว่ามนุษย์ที่ตระหนักถึงมูลธรรมดังกล่าวในตัวและพัฒนาให้เจริญงอกงามกลายเป็นปัญญาชนได้  ในทางกลับกัน หากมนุษย์ไม่พัฒนาตนเองให้เจริญงอกงามไปด้วยมูลธรรมดังกล่าว ก็เปรียบเสมือนผู้ไร้ศักยภาพ เมื่งจื่อเปรียบเทียบการครอบครองมูลธรรมทั้งสี่เป็นเสมือนการครอบครององคาพยพทั้งสี่ และการพัฒนาเจริญธรรมเหล่านั้นให้วัฒนาบริบูรณ์ เป็นเสมือน “ประกายไฟที่เริ่มจุดต่อ เสมือนตาน้ำที่เริ่มปุดขึ้น” การครอบครองมูลธรรมทั้งสี่ที่เปรียบเสมือนการครอบครององคาพยพทั้งสี่ดูจะน่าสนใจและทำให้สถานะของมูลธรรมทั้ง 4 ดูจะยิ่งใหญ่และสำคัญมาก ส่วนการพัฒนาเจริญธรรมเหล่านั้นให้วัฒนาบริบูรณ์ เมิ่งจื่ออาศัยแนวเทียบทำให้นัยของการพัฒนาเจริญธรรมเหล่านั้นชัดเจนมากขึ้น โดยการเป็น “ประกายไฟที่เริ่มจุดต่อ” และ “ตาน้ำที่เริ่มปุดขึ้น” ประการหนึ่งคือการงอกงามออกมาจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว การพัฒนาเจริญธรรมให้วัฒนาบริบูรณ์ในนัยของเมิ่งจื่อจึงสะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนของเมิ่งจื่อที่เชื่อว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่ดีอยู่แล้ว และมนุษย์สามารถพัฒนาเปลี่ยนแปลงตนเองได้

ในบทที่ 6A:9 เมิ่งจื่ออธิบายว่ามนุษย์สามารถพัฒนาเปลี่ยนแปลงตนเองได้จากปัจจัยอะไรบ้าง เมิ่งจื่อทำให้เราเห็นอิทธิพลของปัจจัยภายนอกที่สัมพันธ์กับเจตจำนงภายใน เมิ่งจื่อยกตัวอย่างสิ่งในโลกที่กำเนิดเจริญพันธุ์ขึ้นมาได้ แต่หากอยู่ในสภาพที่ไม่ดี คือได้รับแสงอาทิตย์หนึ่งวัน แล้วรับความหนาวเย็นสิบวัน ก็มิอาจยืนหยัดดำรงอยู่ได้ เปรียบเทียบกับองค์ราชาที่มีแต่เหล่าขุนนางกังฉินโดยรอบ ถึงแม้เมิ่งจื่อจะสอนการทำความดีอย่างไรก็ไม่เป็นผล อีกตัวอย่างหนึ่งคือเรื่องหมากล้อมที่มีลูกศิษย์ 2 คนของอี้ชิวนักหมากล้อมที่มีชื่อ คนหนึ่งตั้งใจศึกษา อีกคนวอกแวกสนใจโลกภายนอก ทั้งสองคนก็ไม่อาจเรียนทันกันได้ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งสองมีสติปัญญาที่ต่างกัน เมิ่งจื่อชี้ให้เห็นว่า ลูกศิษย์คนที่วอกแวกสนใจโลกภายนอก ถึงแม้จะมีอิทธิพลของโลกภายนอก แต่ลูกศิษย์คนนั้นก็ “เฝ้าฝันว่าจะมีหงส์ห่านบินผ่านมา คิดแต่จะเตรียมคันศรหน้าไม้ไว้หมายยิง” แสดงให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วเจตจำนงของเราเองต่างหากที่อยู่เหนือโลกภายนอก เมิ่งจื่อไม่ได้ปฏิเสธอิทธิพลของโลกภายนอกที่มีกับมนุษย์ แต่เมิ่งจื่อเห็นว่าเจตจำนงของมนุษย์ที่จะรักษาความดีของมนุษย์เองดูจะมีอิทธิพลเหนือกว่า เปรียบเสมือนลูกศิษย์ 2 คนที่อยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมเดียวกัน หากแต่ลูกศิษย์คนหนึ่งตั้งใจศึกษาเล่าเรียน แต่ลูกศิษย์อีกคนวอกแวกสนใจต่อโลกภายนอก ในแง่นี้เมิ่งจื่อจึงเน้นว่าการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ อาจเกิดได้จากเหตุปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน แต่เมิ่งจื่อเชื่อว่าปัจจัยภายในคือเจตจำนงของมนุษย์ต่างหากที่สำคัญกว่า เพราะเราสามารถเลือกได้ว่าเราจะทำให้ตนเองเป็นอย่างไร การเปรียบเทียบของเมิ่งจื่อโดยอาศัยลูกศิษย์สองคนของอี้ชิวนับว่าเป็นวิธีที่ฉลาด ประการหนึ่งเมิ่งจื่อไม่ได้ปฏิเสธอิทธิพลของโลกภายนอก ซึ่งการที่ลูกศิษย์ทั้งสองสามารถพัฒนาตนเองได้ต้องขึ้นอยู่กับอิทธิพลจากโลกภายนอกด้วย ในที่นี้คือ
อี้ชิวผู้เป็นครูที่จะช่วยให้ทั้งสองพัฒนาฝีมือหมากล้อม และทั้งสองอยู่ในบริบทสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวกัน และจุดนี้เอง ทั้งสองมิได้มีเจตจำนงที่เหมือนกัน คนหนึ่งตั้งใจฟังคำสอนอย่างใจจดใจจ่อ แต่อีกคนหนึ่งคอยแต่หาหงส์ห่านที่บินผ่านมา ทั้งสองจึงไม่สามารถพัฒนาได้เท่าเทียมกัน การเปรียบเทียบของเมิ่งจื่อ จึงทำให้เราเห็นได้ชัดเจนกับการให้ความสำคัญกับทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในในแนวคิดของเมิ่งจื่อ

เมื่อมนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงได้และพัฒนาเปลี่ยนแปลงได้ต่างกัน มีปัญหาหนึ่งที่ปรากฏก็คือมนุษย์บางคนไม่ได้ปรากฏว่าประพฤติดีเหมือนดั่งที่เมิ่งจื่อพยายามอธิบายว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่ดี เมื่อมนุษย์สามารถพัฒนาตนเองจากธรรมชาติเดิมที่ดีอยู่แล้วให้เจริญงอกงามมากขึ้นได้ เหตุใดบางครั้งธรรมชาติที่ดีของมนุษย์ถึงสูญหายไปและเราจะยังเชื่อได้ว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่ดีจริงหรือ จากปัญหานี้ เมิ่งจื่อปฏิเสธว่าเราไม่สามารถสรุปธรรมชาติของมนุษย์โดยพิจารณาจากเพียงแค่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ในบทที่ 6A:8 เมื่งจื่อเริ่มจากการพูดถึงแมกไม้บนภูเขาหนิวซานที่เคยชอุ่มงอกงาม แต่เมื่อถูกทำลายไปเหลือแต่ความเกลี้ยงโล้น ผู้คนย่อมหลงคิดไปว่าไม่เคยมีสินสมบัติอยู่มาก่อน แต่ก็มิใช่ธรรมชาติธาตุแท้ของภูเขานั้น เช่นเดียวกับมนุษย์ที่ปล่อยปละละทิ้งมโนธรรม จนผู้คนเห็นเพียงแต่สิ่งที่ไม่ดี ก็ย่อมหลงคิดไปว่ามนุษย์ไม่ดี ทั้งที่จริงแล้วความไม่ดีนั้นไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์ สิ่งที่น่าสนใจคือเมิ่งจื่อแก้ปัญหาดังกล่าวโดยไม่ปฏิเสธว่ามนุษย์มีโอกาสที่จะไม่ดี ธรรมชาติที่ดีของมนุษย์ในทัศนะของเมิ่งจื่อเป็นเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่คอยการบ่มเพาะให้เติบโตขึ้น ซึ่งถ้าสูญเสียการบำรุง ก็ย่อมเสื่อมลงไป ตรงจุดนี้อาจอธิบายได้ว่าการที่มนุษย์ไม่ดี ไม่ได้เป็นเพราะธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่ดี แต่เป็นเพราะความดีที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์หายไปนั่นเอง โดยมีสาเหตุจากประการหนึ่งคือการละทิ้ง อีกประการหนึ่งคือปัจจัยภายนอก (ดังที่เห็นใน 6A:2) การเปรียบเทียบมนุษย์กับแมกไม้ของเมิ่งจื่อ ทำให้แนวคิดเรื่องธรรมชาติที่ดีของมนุษย์ชัดเจนมากขึ้นในฐานะที่ธรรมชาติที่ดีของมนุษย์ เป็นเพียงแค่เมล็ดพันธุ์ที่มีโอกาสจะเจริญเติบโตงอกงามขึ้นมาได้ ในขณะเดียวกันถ้าไม่ได้ถูกดูแลเอาใจใส่ ก็มีโอกาสที่จะสูญหายล้มตายไปเหมือนดังเช่นแมกไม้

ประเด็นใน 6A:8 ชัดเจนขึ้นใน 6A:7 ถึงแม้เมิ่งจื่อจะยอมรับว่ามนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ และปัจจัยภายนอกมีอิทธิพลกับมนุษย์เหมือนดั่งเช่นในปีที่อุดมสมบูรณ์และปีที่แล้งเข็ญ พฤติกรรมของมนุษย์ยังแตกต่างกัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจริงๆ แล้วมนุษย์มีธรรมชาติที่ต่างกัน เมิ่งจื่อยกการปลูกข้าวสาลีมาเป็นตัวอย่าง โดยถึงแม้ผลผลิตที่ได้จะแตกต่างกัน แต่เมิ่งจื่อก็เชื่อว่าเป็นเพราะการดูแลรักษาและแรงงานที่ลงไปต่างกัน แต่แท้จริงแล้วเป็นพันธุ์เดียวกัน ปลูกที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน ย่อมได้ผลเหมือนกัน เช่นเดียวกับมนุษย์ที่ถึงแม้จะมีการปฏิบัติที่ดีแตกต่างกัน แต่แท้จริงแล้วแต่ละคนเหมือนกัน ประสาทสัมผัสทั้ง ปาก หู ตา ก็เหมือนกัน จิตมนุษย์ก็เหมือนกันโดยทุกคนมีเหตุผลหรือครรลองธรรมหรือธรรมชาติที่ดีซึ่งมนุษย์สามารถตระหนักได้ถึงการมีอยู่อย่างพ้องเหมือนกันได้ทุกคน หากแต่สำหรับอริยมนุษย์ เมิ่งจื่อเชื่อว่า แม้ธรรมชาติจะเป็นมนุษย์เหมือนดังเช่นคนอื่น แต่เขารับรู้ถึงความพ้องกันของจิตได้ก่อนคนอื่น แต่อย่างไรก็ตาม การสรุปเพียงว่ามนุษย์เหมือนกัน มนุษย์รับรู้ประสบการณ์ผ่านผัสสะได้เหมือนกัน ดูจะเป็นคำอธิบายที่หยาบไปสักนิด ทั้งที่จริงแล้วเราสามารถตั้งข้อสังเกตต่อคำอธิบายของเมิ่งจื่อได้มากมาย เช่น ความพึงพอใจต่อรสชาติอาหารที่แต่ละคนไม่ได้ชอบอาหารรสชาติเดียวกัน หรือการที่เมิ่งจื่อพูดถึงจื่อตูที่ทุกคนยอมรับในความงาม แต่แท้จริงแล้วบุคคลนอกดินแดนจีนในสมัยก่อน ก็อาจมิได้รู้จักจื่อตูเหมือนดั่งที่เมิ่งจื่อยกตัว อย่างมาอธิบายก็เป็นได้ การเปรียบเทียบของเมิ่งจื่อโดยอาศัยการรับรู้และรสนิยมของคนกลุ่มหนึ่งเพื่อสรุปว่ามนุษย์เหมือนกัน จึงดูจะขาดมิติเชิงวัฒนธรรมที่ส่งผลกระทบให้ข้ออ้างของเมิ่งจื่อ (การรับรู้และรสนิยมของแต่ละคนเหมือนกัน) มีปัญหา

เมื่อมนุษย์มีธรรมชาติที่ดีอยู่แล้ว และทุกคนมีธรรมชาติที่ดีเหมือนกัน  เราจึงไม่จำเป็นต้องไปเรียกหามนุษยธรรมที่ไหน เพราะธรรมชาติที่ดีของมนุษย์ก็คือการมีมนุษยธรรมนั่นเอง ในบทที่ 6A:1 เมิ่งจื่อโต้แย้งเก้าจื่อที่อธิบายว่าธาตุแท้ของมนุษย์เหมือนต้นหลิว ครรลองมนุษยธรรมเสมือนถ้วยชาม และธาตุแท้ของมนุษย์สร้างเป็นครรลองมนุษยธรรมได้ เช่นเดียวกับการอาศัยต้นหลิวสร้างเป็นถ้วยชามขึ้นมาได้ โดยเมิ่งจื่อโต้แย้งว่า การใช้ต้นหลิวสร้างเป็นถ้วยชามจำเป็นต้องหักริดตัดแต่งเพื่อทำลายธรรมชาติเดิมของต้นหลิวก่อน จึงจะกลายเป็นถ้วยชามได้ ซึ่งถ้าเก้าจื่อเปรียบเทียบในลักษณะนี้ มนุษย์ก็จำเป็นต้องทำลายธาตุแท้ของตัวเองก่อนจึงจะมีมนุษยธรรมได้ ซึ่งเมิ่งจื่อไม่เห็นด้วย จากที่เมิ่งจื่อกล่าวว่า “คำพูดทั้งนี้ของท่าน จะต้องชักนำมนุษย์ในหล้าโลกนี้ให้ไปเบียนบ่อนครรลองมนุษยธรรมเป็นแน่แท้” แสดงให้เห็นว่า การทำลายธาตุแท้ของมนุษย์ เปรียบเสมือนการเบียนบ่อนครรลองมนุษยธรรม เราจึงอาจเข้าใจได้ว่าในทัศนะของเมิ่งจื่อ จริงๆ แล้วธาตุแท้ของมนุษย์คือมนุษยธรรมนั่นเอง การทำลายธาตุแท้ของมนุษย์ จึงเปรียบเสมือนการทำลายมนุษยธรรม ซึ่งทัศนะนี้สอดคล้องกับบทที่ 2A:6 โดยมนุษย์มีธรรมชาติที่ดีเพราะมนุษย์มีมนุษยธรรมซึ่งก็คือความบริสุทธิ์ของจิต ความสะเทือนใจหวั่นไหว อันประกอบไปด้วยมูลธรรมทั้ง 4 นั่นเอง น่าสนใจว่าในบทที่ 6A:1 เมิ่งจื่อเปลี่ยนการอ้างเหตุผลกว้างๆ ของเก้าจื่อมาอยู่ในรูปแบบที่เมิ่งจื่อจะสามารถโต้แย้งเก้าจื่อได้ เพราะสำหรับการอ้างเหตุผลเปรียบเทียบอย่างกว้างๆ ของเก้าจื่อที่ว่าต้นหลิวสามารถเปลี่ยนเป็นถ้วยชามได้ เปรียบเช่นธาตุแท้ของมนุษย์ที่เปลี่ยนเป็นมนุษยธรรมได้ ดูเผินๆ ก็มิได้มีอะไรผิดแผกหรือเหตุผลไร้น้ำหนักแต่ประการใด แต่เมื่อเมิ่งจื่อวิพากษ์เข้าไปถึงรายละเอียด เมิ่งจื่อทำให้การอ้างเหตุผลเปรียบเทียบอย่างกว้างๆ ของเก้าจื่อ บกพร่องในรายละเอียดเชิงวิธีการโดยชี้ให้เห็นว่าเก้าจื่อไม่ได้อธิบายว่าต้นหลิวจะเปลี่ยนเป็นถ้วยชามได้อย่างไร และนับว่าเป็นไหวพริบของเมิ่งจื่อที่ใช้คำอธิบายที่ว่าการที่ต้นหลิวจะเปลี่ยนเป็นถ้วยชามคือการทำลายธรรมชาติธาตุแท้ของต้นหลิว จนนำไปสู่ข้อสรุปของเมิ่งจื่อที่เชื่อว่ามนุษยธรรมคือธรรมชาติของมนุษย์ได้ ทั้งที่จริงแล้วในแง่คำอธิบายเชิงวิธีการมีวิธีอธิบายได้ในทางอื่นๆ เช่น ต้นหลิวอาจจะเปลี่ยนเป็นถ้วยชามได้เพราะว่ามันเป็นศักยภาพแฝงอยู่ในตัวต้นหลิวได้อยู่แล้ว เป็นต้น ไหวพริบของเมิ่งจื่อในการเลือกเฟ้นคำอธิบาย ทำให้เมิ่งจื่อกำหนดทิศทางการสนทนาไปสู่จุดหมายที่ตนเองต้องการได้ในท้ายที่สุด

ธรรมชาติของมนุษย์ในทัศนะของเมิ่งจื่อจึงเป็นทัศนะที่ว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่ดีในตัวเองอยู่แล้ว และมนุษย์สามารถพัฒนาตนเองให้เจริญงอกงามตามธรรมชาติของตนเองได้ ในขณะเดียวกันถ้ามนุษย์ไม่สนใจในการพัฒนาตนเอง ปล่อยปละละเลยธรรมชาติที่ดีดังกล่าว จนถูกโลกภายนอกเข้ามามีอิทธิพลเหนือเจตจำนงจนทำลายธรรมชาติที่ดี ความดีก็อาจจะหายไปได้ การอธิบายเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในแบบเมิ่งจื่อนี่เองที่มาสนับสนุนความคิดของขงจื่อ เพราะเมื่อขงจื่อเสนอว่ามนุษย์สามารถประพฤติดีได้อย่างไร แต่ขงจื่อมิได้ไปไกลถึงข้อถกเถียงเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งจะอธิบายต่อไปได้ว่าทำไมมนุษย์ต้องประพฤติดีมีคุณธรรม เมิ่งจื่อเข้ามาเติมเต็มโดยการตอบคำถามดังกล่าวว่าเป็นเพราะมนุษย์มีธรรมชาติที่ดีอยู่แล้ว การประพฤติดีมีคุณธรรมจึงเป็นการทำตามธรรมชาติของมนุษย์นั่นเอง

(บทความที่ได้รับมอบหมายในการศึกษาวิชา การวิเคราะห์ทางปรัชญา ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2556)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น