เมื่อนัยของ
“รูปธรรม” และ “นามธรรม” คือขั้วตรงข้ามที่แตกต่าง
การดำรงอยู่ของสิ่งหนึ่งจึงสัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของอีกสิ่งหนึ่ง
โดยเฉพาะในพื้นที่ของศิลปะ การรับรู้สิ่งที่เป็น “รูปธรรม” และ “นามธรรม” จึงเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งอันน่าสนใจ
เมื่อ
“รูปธรรม” และ “นามธรรม” คือสิ่งที่ตรงกันข้าม การรับรู้ “รูปธรรม” และ “นามธรรม”
จึงกลายเป็นความแตกต่าง เมื่อ “รูปธรรม”
เป็นสิ่งที่สามารถสังเกตและรับรู้ได้จากประสาทสัมผัส
หากแต่รูปธรรมอาจมิได้หมายถึงทุกสิ่งที่รับรู้ได้จากประสาทสัมผัส
หากแต่เป็นสิ่งที่เรารับรู้และเข้าใจได้เลยจากประสาทสัมผัส ในผลงานจิตรกรรม
รูปธรรมก็เป็นสิ่งที่รับรู้ได้จากการมองเห็น แต่นามธรรมกลับตรงกันข้าม
เมื่อนามธรรมอาจเป็นสิ่งที่ไม่สามารถรับรู้ได้ผ่านประสาทสัมผัส
แต่กระนั้นก็มิได้หมายความว่านามธรรมสภาพจะไม่มีอยู่ ซึ่งการรับรู้ “นามธรรม”
เป็นการรับรู้และเข้าใจที่เกิดจากจิตใจ ความรู้สึก
และระบบความคิดเสียมากกว่าการเข้าใจได้เลยจากประสาทสัมผัส
ภายใต้
“รูปธรรม” ก็มีภาวะ “นามธรรม” ในทัศนะของจ่าง แซ่ตั้ง
ศิลปะเป็นผลงานปัญญาที่แสดงออกด้วยความนึกคิดและอารมณ์แสดงออก
นัยของศิลปะจึงมิใช่เพียงแค่รูปทรงรูปร่างที่ถูกสร้างขึ้น
หากแต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลัง สิ่งที่อยู่นอกเหนือตัวบท
กลายเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าสิ่งที่ปรากฏ
สุนทรียของการไม่ปรากฏทำให้สิ่งที่ปรากฏและสิ่งที่ไม่ปรากฏจำเป็นต้องถูกพิจารณาในการเสพงานศิลปะ
แต่กระนั้น
สิ่งที่ไม่ปรากฏก็ยังคงต้องถูกอ้างอิงจากตัวบทที่ปรากฏผ่านการรับรู้ทางประสาทสัมผัส
หากในแง่ความรู้สึก สาร เรื่องราว
หรือรูปปัญญาที่ปรากฏอยู่จำเป็นต้องถูกพิจารณามากกว่าเพียงแค่การรับรู้ทางประสาทสัมผัส
สิ่งเหล่านี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “ภาวะนามธรรม”
ที่เป็นการรับรู้โดยจิตใจหรือปัญญาที่มากไปกว่าเพียงแค่การรับรู้ทางประสาทสัมผัสนั่นเอง
ภายใต้วิธีคิดแบบโบราณ
ภาพจิตรกรรมอาจเป็นเพียงแค่ภาพตัวแทนของสิ่งที่มีอยู่จริง
และเราสามารถรับรู้ได้ว่ามันคืออะไรที่อ้างอิงไปถึงวัตถุแห่งความเป็นจริง
ภาพจิตรกรรมจึงเป็นศิลปะที่เป็นรูปธรรม
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อกล้องถ่ายรูปเข้ามามีบทบาทสำหรับการบันทึกความเป็นจริงแทนที่งานศิลปะ
สิ่งที่สำคัญกว่านั้นจึงมิใช่เพียงแค่สิ่งที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรม
หากแต่ยังมีสิ่งที่เกิดจากสุนทรียแห่งการไม่ปรากฏ จ่าง แซ่ตั้ง
เคยแสดงทัศนะอันเป็นปรัชญาค้นพบจากการสร้างงานศิลปะไว้ว่า
ในขอบเขตพื้นที่การสร้างสรรค์งานจิตรกรรม มีเพียงแค่สองสิ่ง นั่นคือ
ความคิดอันถ่ายทอดมาเป็นเรื่องราว และความรู้สึก
ซึ่งแม้แต่งานจิตรกรรมในวิธีคิดแบบเก่าก็สามารถพิจารณาได้จากทัศนะดังกล่าว
ซึ่งคงไม่มีศิลปินผู้ใดสร้างงานศิลปะโดยปราศจากความคิดหรือความรู้สึกแน่นอน
อย่างน้อยก็เพียงแค่เศษเสี้ยวความคิดและความรู้สึกของศิลปินนั่นเอง
สิ่งเหล่านี้ก็อาจถูกจัดว่าเป็นภาวะนามธรรมที่แฝงอยู่เบื้องหลังรูปธรรมของงานศิลปะนั่นเอง
สภาวะนามธรรมที่อยู่เบื้องหลังรูปธรรมของงานศิลปะจึงทำให้เกิดแนวคิดของศิลปะนามธรรม
ภายใต้แนวคิดสุนทรียแห่งการไม่ปรากฏ
สภาวะนามธรรมเบื้องหลังเป็นสิ่งที่รับรู้ได้จากการรับรู้รูปธรรมผ่านประสาทสัมผัส
แต่อย่างไรก็ตามการรับรู้ภาวะนามธรรมคงมิได้จำเป็นต้องเกิดจากการรับรู้ผ่านรูปธรรมสภาพ
ที่ทำให้งานศิลปะจำเป็นต้องผลิตความหมายทั้งในส่วนของรูปธรรมและความหมายในเชิงนามธรรม
ในอดีตที่จ่างเคยรับจ้างเขียนภาพเหมือน
งานที่ได้รับจ้างหลายชิ้นเป็นการขยายภาพจากขนาดเล็กให้เป็นขนาดใหญ่
การทำงานจำเป็นต้องใช้แว่นขยาย เมื่อจ่างมองภาพจากแว่นขยาย จ่างก็ค้นพบอณูเล็กๆ
ที่ประกอบขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง เพียงแค่ประสาทสัมผัสคงไม่สามารถรับรู้ความหมายเบื้องหลังของสิ่งเล็กๆ
เหล่านั้นได้ เมื่ออณูเล็กๆ
เหล่านั้นเป็นเสมือนสิ่งนามธรรมที่ประกอบขึ้นมาให้เป็นรูปธรรมที่สามารถสื่อสารทางประสาทสัมผัสได้
งานนามธรรมของจ่างจึงมิใช่เพียงแค่แนวคิดของการลดทอน หากแต่เป็นการขยายการรับรู้ลงไปสู่ความเป็นนามธรรมที่อยู่เบื้องหลัง
ถ้าพิจารณาจากแนวคิดของจ่าง
งานศิลปะนามธรรมของจ่างจึงเป็นงานที่โน้มเอียงไปในเรื่องของความรู้สึกเสียมากกว่า
เพราะอย่างน้อยที่สุดความคิดก็ผูกติดอยู่กับภาษา เรื่องราว
อันเป็นการบอกเล่าที่เป็นรูปธรรม หากแต่สิ่งที่อยู่ในงานนามธรรมของจ่าง
เป็นการสื่อสารอารมณ์ พลังงาน และสภาวะในขณะนั้น ผ่านเส้น จุด
และทุกๆรอยฝีแปรงของจ่าง
อันเป็นการทำงานของความรู้สึกและการแสดงออกจากสิ่งที่อยู่ภายในของศิลปินลงบนผืนผ้าใบ
สิ่งที่ถูกถ่ายทอดลงมาสู่งานนามธรรม จึงเป็นอะไรที่มากกว่าความคิดในเชิงรูปธรรมที่เพียงแค่รับรู้ได้ว่าสิ่งเหล่านั้นคืออะไร
เป็นรูปตัวแทนของอะไร
งานศิลปะนามธรรมของจ่าง
สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจในการสร้างงานศิลปะโดยเล่นกับพรมแดนของการรับรู้
นอกจากการเป็นจิตรกร
ในสถานะของกวีและผลงานบทกวีรูปธรรมก็เน้นย้ำนัยของการเล่นกับพรมแดนการรับรู้ได้อย่างชัดเจน
เมื่อในอดีตแล้วสิ่งที่สำคัญของกวีคือนามธรรมสภาพเบื้องหลังอันเป็นความหมายของรูปสัญญะทางภาษา
เมื่อการรับรู้รูปธรรมของรูปสัญญะในแต่ละตัวอักษรมิได้ทำให้ตัวอักษรมีความหมาย
กวีจึงเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยการรับรู้ที่มากกว่าเพียงแค่การรับรู้ตัวอักษรทางประสาทสัมผัส
สิ่งสำคัญของบทกวีจึงเป็นความหมายอันเป็นนามธรรมสภาพที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังตัวบท
มิใช่รูปธรรมอันปรากฏแก่การมองเห็น ขอบเขตของการรับรู้บทกวีจึงต่างกับงานจิตรกรรม
เพราะบทกวีจำเป็นต้องอ่าน หากแต่งานจิตรกรรมจำเป็นต้องดู
(ถึงแม้จะต้องอ่านไปถึงสภาวะนามธรรมเบื้องหลัง
แต่ก็เป็นการอ่านในแบบที่แตกต่างไปจากบทกวี)
ขอบเขตดังกล่าวมิได้เป็นกรอบที่ทำให้จ่างต้องทำงานในรูปแบบเดิมๆ
เมื่อจ่างทำให้บทกวีกลายเป็นบทกวีรูปธรรม
ที่นอกจากความหมายอันเป็นนามธรรมสภาพเบื้องหลังแล้ว
รูปธรรมอันเกิดจากการประกอบขึ้นระหว่างรูปสัญญะของตัวอักษรกับการสัมพันธ์ประกอบของแต่ละตัวอักษรและพื้นที่จนเป็นรูปร่าง
เป็นสิ่งที่ประกอบการสร้างความหมาย
นอกจากความหมายที่สามารถรับรู้โดยรูปธรรมจากการมองเห็น
สิ่งที่อยู่เบื้องหลังรูปธรรมก็คือความหมายนามธรรมอันอยู่เบื้องหลังคำแต่ละคำนั่นเอง
บทกวีรูปธรรมของจ่างจึงเป็นการสร้างพรมแดนใหม่ของการสื่อสารจากผลงานศิลปะที่แตกต่างจากกรอบแบบเดิมๆ
ซึ่งบทกวีถูกสร้างจากความหมายในเชิงนามธรรมอย่างเดียว
หากแต่กับบทกวีรูปธรรมของจ่าง
ผู้ชมจึงต้องพิจารณาทั้งความหมายในเชิงนามธรรมและความหมายจากรูปร่างที่ประกอบกันเป็นรูปธรรมนั่นเอง
การเปิดพรมแดนการรับรู้ใหม่ๆ
ของจ่าง ผ่านงานจิตรกรรมนามธรรมและบทกวีรูปธรรม
จึงเป็นเสมือนรอยต่อของศิลปะร่วมสมัยที่มิได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในระบบระเบียบแบบเดิมๆ
หากแต่งานของจ่างอาจสอดคล้องกับแนวคิดหลังสมัยใหม่ที่มิได้ถูกจำกัดไว้กับอภิมหาอรรถกถาธิบายอันเป็นนิยามแบบเดิมๆ
ที่ผูกขาดความถูกต้อง
แม้จ่างเองจะมิได้สนใจกับแนวคิดหลังสมัยใหม่อันเนื่องจากเหตุผลความล้าหลังในการสื่อสารซึ่งทำให้ยากต่อการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว
แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ใจที่งานของจ่างกลับดูเหมือนจะข้ามพ้นความเป็น
“สมัยใหม่” ที่ผูกกับช่วงเวลาในขณะนั้นไปสู่ความเป็น “หลังสมัยใหม่” ที่อาจกลายเป็นศิลปะที่มาก่อนกาลนั่นเอง
จิตรกรรมนามธรรม
และ บทกวีรูปธรรม จึงเป็นเสมือนปรัชญาค้นพบสำคัญ อันเป็นเสมือนงานชิ้นเองของจ่าง
ปรัชญาค้นพบดังกล่าวอันไม่ได้รับอิทธิพลใดๆ
จากตะวันตกนี้ทำให้จ่างเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในพื้นที่ประวัติศาสตร์ศิลปะของไทย.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น