วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มณเฑียร บุญมา : ภาพร่างโครงการที่ค้างคา และผลงานที่หาชมยาก


ภายใต้มโนทัศน์อันรางเลือนของศิลปะ การนิยามผลงานศิลปะจึงกลายเป็นเรื่องที่ดูจะไม่ชัดเจนนัก หลายครั้งเราไม่สามารถบอกได้ว่า อะไรคือ “ผลงาน” ในขณะเดียวกัน บางสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวอาจกลายเป็น “ผลงาน” ศิลปะได้ด้วย เมื่อผลงานศิลปะมิได้ชี้หมายถึงวัตถุที่เป็นผลผลิตจากความคิดของศิลปินเพียงอย่างเดียว ภาพร่าง การวางแผน และหลายสิ่งหลายอย่างที่ยังไม่เสร็จ ก็จึงอาจถูกพูดถึงในฐานะตัวผลงานได้ด้วยเช่นกัน

สำหรับผู้สนใจงานศิลปะ คงจะมีน้อยคนนักที่ไม่เคยได้ยินชื่อศิลปินผู้ล่วงลับคนนี้ มณเฑียร บุญมา ในขณะที่เขามีชีวิตอยู่ เขาเป็นศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ผลงานของเขาได้รับการพูดถึงในระดับนานาชาติ และเป็นศิลปินผู้ผ่านเวทีในระดับนานาชาติมาแล้วอย่างโชกโชน หลายคนยกย่องมณเฑียรว่าเป็นศิลปินผู้บุกเบิกการสร้างสรรค์งานศิลปะสื่อผสมและศิลปะจัดวางในยุคต้นๆ โดยใช้วัสดุ รูปแบบเนื้อหา ทั้งแบบไทยชนบทและพุทธปรัชญา และในฐานะอาจารย์สอนศิลปะ เขาก็ได้ทำหน้าที่เผยแพร่แนวความคิดใหม่ๆ ให้นักศึกษาและศิลปินรุ่นใหม่อีกมากมาย แม้จนถึงขณะนี้ที่มณเฑียรล่วงลับไปกว่า 10 ปีแล้ว ผลงานของเขาก็ยังคงถูกพูดถึงอยู่ตลอดเวลา


การกลับไปทบทวน ตรวจสอบ เรื่องราวของมณเฑียร บุญมา ทำให้เกิดนิทรรศการนี้ขึ้น มณเฑียร บุญมา : ภาพร่างโครงการที่ค้างคา และผลงานที่หาชมยาก (MONTIEN BOONMA : UNBUILT/RARE WORKS) เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน The Thai Archives และคณะผู้จัดการทรัพย์สินของมณเฑียร บุญมา การย้อนกลับไปทบทวนตรวจสอบเรื่องราวของศิลปิน หลักเลี่ยงไม่ได้สำหรับการศึกษาความคิดของศิลปิน ภาพร่างลายเส้นกว่า 60 ชิ้น เอกสาร บันทึกส่วนตัว และบันทึกวีดีโอเกี่ยวกับศิลปินบางส่วนที่หาชมได้ยากหรือไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน จึงถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ โดยมี กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลปะ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน เป็นภัณฑารักษ์ และภายในนิทรรศการ ก็มีการจัดแสดงผลงานของครอบครัวมณเฑียร อันประกอบด้วยภรรยาและบุตร คือ จันทร์แจ่ม (มุกดาประกร) บุญมา และจุมพงษ์ บุญมา ผู้ซึ่งวนเวียนอยู่ในแวดวงคนทำงานศิลปะด้วยเช่นกัน

การพูดถึงตัวผลงานที่ยังสร้างไม่เสร็จ ย่อมไม่อาจหนีพ้นการอภิปรายด้วยเหตุผลทางวิชาการ ข้อมูลส่วนหนึ่งที่น่าสนใจ งานนิทรรศการนี้ได้รับความร่วมมือจาก ฮานส์ อุลริช โอบริส ภัณฑารักษ์ชาวสวิส  โดยได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือและงานนิทรรศการชื่อ ถนนที่ยังไม่ได้สร้าง (UNBUILT ROADS) ที่จัดขึ้นในปี 2540 โดยนิทรรศการดังกล่าว เป็นการต่อยอดและเป็นกิจกรรมที่ขยายความจากผลงานของโอบริส ซึ่งมุ่งเน้นด้านการแสดงผลงานของศิลปินที่ยังสร้างไม่เสร็จ หรือผลงานที่ไม่ได้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณชนและงานที่เป็นเพียงแนวคิด โดยถือว่างานเหล่านี้เป็นงานศิลปะแบบหนึ่งในตัวของมันเอง และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นหลักฐานอันแสดงถึงกระบวนการสร้างสรรค์ของศิลปินทุกคน และที่สำคัญ ในครั้งหนึ่ง มณเฑียร บุญมา ก็ได้รับเชิญเข้าร่วมแสดงผลงานในงานนิทรรศการถนนที่ยังไม่ได้สร้าง (UNBUILT ROADS) ที่จัดขึ้นในปี 2543 มาก่อน แต่เนื่องจากปัญหาสุขภาพ มณเฑียรจึงไม่ได้เข้าร่วมในงานครั้งนั้น นอกจากนี้ ภัณฑารักษ์ผู้จัดงานยังได้อ้างถึงแนวคิดเรื่อง epoche หรือ “การใส่วงเล็บ” ของ เอ็ดมัน ฮุสเซิร์ล นักปรัชญาปรากฏการณ์วิทยาชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อว่าการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะสัจธรรม หรือความจริงในผลงานศิลปะ จะต้องศึกษาทำความเข้าใจและตีความวัตถุนั้นๆ ในหลายๆ แง่มุม เพราะความจริงเป็นสิ่งที่ถูกสันนิษฐานขึ้นมา หรือเป็นสิ่งที่เราอนุมานในการรับรู้ ซึ่งเราสามารถอธิบายมันได้ในมิติอื่นๆ อีก ดังนั้น สัจธรรมหรือความจริงในผลงานศิลปะจึงไม่สามารถด่วนสรุปได้นอกจากใส่วงเล็บไว้อยู่เสมอ การสำรวจและทำความเข้าใจผลงานศิลปะในฐานะของปรากฏการณ์ใดๆ จึงสมควรที่จะถูกพิจารณาจากภาพร่างและผลงานที่ยังไม่สำเร็จอีกด้วย

 ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของนิทรรศการครั้งนี้ เป็นไปเพื่อการรำลึกและยกย่อง มณเฑียร บุญมา ในฐานะของศิลปินที่มีคุณูปการต่อวงการศิลปะคนหนึ่ง โดยเฉพาะในโอกาสครบรอบ 60 ปี ของมณเฑียร บุญมา ดังนั้น นิทรรศการนี้จึงผูกติดอยู่กับการบอกเล่าเศษเสี้ยวชีวิตของศิลปินผ่านผลงานศิลปะ โดยเฉพาะภาพร่าง เอกสาร บันทึกส่วนตัว และบันทึกวีดีโอ ซึ่งทำหน้าที่เก็บรักษาความคิด เรื่องราวชีวิตของมณเฑียรเอาไว้ นัยแห่งการบอกเล่าชีวิตของศิลปินถูกเน้นย้ำอีกประการหนึ่งด้วยการจัดแสดงผลงานของทั้ง จันทร์แจ่ม (มุกดาประกร) บุญมา และจุมพงษ์ บุญมา ผู้ซึ่งเป็นครอบครัวของมณเฑียร ในฐานะผู้ที่ร่วมสร้างเศษเสี้ยวเรื่องราวและเรื่องเล่าของชีวิตของตัวมณเฑียรเอง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การพูดถึงงานศิลปะเพื่ออธิบายชีวิตของศิลปินในหลายๆ โอกาสจะกลายเป็นเพียงแค่ Cliché ซ้ำๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงความเกี่ยวพันบางประการที่มีอยู่ และจากการจัดการอย่างเป็นระบบ ผลงานจึงมิได้อยู่ในฐานะภาพประกอบตัวบท หากแต่ผลงาน ภาพร่าง บันทึกต่างๆ ในนิทรรศการ สามารถบอกเล่าเรื่องราวประกอบไปกับตัวบทที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของศิลปินได้เป็นอย่างดี ในผลงานชุดกิจกรรมของชีวิตชนบทสู่เรื่องราวแห่งท้องทุ่ง (2530-2532) สะท้อนถึงความสัมพันธ์กับบางช่วงชีวิตของมณเฑียรอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2530-2535 ที่สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว วิถีชีวิตชนบทกำลังถูกกลืนหายไปกับประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ในขณะเดียวกัน ช่วงเวลานั้น มณเฑียรได้ย้ายไปสอนหนังสือที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาจึงได้สัมผัสกับชีวิตชนบทที่เชียงใหม่ กลายเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาศิลปะแนวทางใหม่ๆ รวมถึงการสร้างผลงานจากวัสดุพื้นบ้านเพื่อสะท้อนจินตภาพในการดำเนินชีวิต แทนที่จะเป็นเทคนิคของการสร้างงานศิลปกรรมตามขนบเดิมที่ทำมา

ถึงแม้ว่านิทรรศการนี้จะเป็นการรำลึกและยกย่องตัวศิลปิน ตลอดจนนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของศิลปิน แต่อย่างไรก็ตาม ก็มิได้หมายความว่าการบอกเล่าเรื่องราวดังกล่าวจะพูดถึงเพียงแต่ภาพของมณเฑียรในมุมมองเดิมๆ เพียงอย่างเดียว สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ นิทรรศการนี้ไม่ได้ต้องการที่จะต่อสู้กับเรื่องเล่าใดในประวัติศาสตร์ หากแต่พยายามเสนอมุมมองทางเลือกใหม่ๆ (Alternative Perspective) ที่มีต่อตัวศิลปิน โดยเฉพาะกับการที่เรามักจะได้เห็นผลงานของมณเฑียรที่ผูกติดอยู่กับศาสนาพุทธเสียเป็นส่วนใหญ่ และทำให้มณเฑียรได้รับคำชื่นชมในฐานะศิลปินแนวมินิมอลิสต์เชิงพุทธ (Bhuddhist Minimalist) ซึ่งในนิทรรศการครั้งนี้ได้พยายามนำเสนอการตีความและการระลึกถึงผลงานของมณเฑียร บุญมา ในมิติอื่นๆ ที่มิได้หยุดอยู่เพียงแค่พุทธศิลป์ ในขณะเดียวกันยังสะท้อนแนวคิดทางปรัชญาบางประการที่หลบซ่อนอยู่ในเบื้องหลังของผลงานศิลปะที่ถูกสรรสร้างโดยมณเฑียรอีกด้วย

นิทรรศการครั้งนี้ นอกจากเป็นไปเพื่อการรำลึกนึกถึง “มณเฑียร บุญมา” ในฐานะศิลปินผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งแล้ว การนำเสนอผลงานศิลปะที่ยังสร้างไม่เสร็จยังเป็นเสมือนบทสนทนาประการหนึ่งที่มีต่อวาทกรรมเรื่องศิลปะในวงการศิลปะไทยอีกด้วย การทำความเข้าใจความคิดและทำความรู้จักศิลปินจึงรอคอยให้ผู้ชมได้เดินทางเข้าไปค้นหา แม้วันนี้ มณเฑียรจะมิได้มีชีวิตอยู่แล้ว แต่ความคิดและผลงานของเขายังคงมีอยู่รอให้ผู้สนใจได้ร่วมรับชมและค้นหาไปพร้อมๆ กัน

(นิทรรศกา ร[มณเฑียร บุญมา]: ภาพร่างโครงการที่ค้างคา และผลงานที่หาชมยาก  จัดขึ้นตั้งแต่ 11 เมษายน ถึง 31 กรกฎาคม 2556 ณ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ซ.เกษมสันต์ 2 )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น