วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ค้านท์กับความเป็นมนุษย์ในจริยศาสตร์สมัยใหม่

บทนำ: ว่าด้วยความเป็น“สมัยใหม่” ในจริยศาสตร์

แนวความคิดทางจริยศาสตร์ของค้านท์ปรากฏอยู่ในงานหลายๆ ชิ้น หนึ่งในนั้นที่สำคัญ คือ Groundwork on Metaphysics of Morals ซึ่งความคิดที่สำคัญของค้านท์ เช่นจริยศาสตร์แนวหน้าที่นิยมยังคงมีอิทธิพลต่อความคิดทางจริยศาสตร์ของโลกตะวันตกมาจนถึงปัจจุบัน


ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16เป็นต้นมา การแยกอาณาจักรออกจากศาสนจักร (secularization) ทำให้บรรยากาศของยุคสมัยเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ (Modern) ซึ่งจากการแยกอาณาจักรออกจาก ศาสนจักรนั่นเอง ทำให้ชีวิตมนุษย์เปลี่ยนแปลงจากเงื่อนไขที่ขึ้นอยู่กับศาสนามาเป็นเงื่อนไขที่ขึ้นอยู่กับตัวมนุษย์โดยมนุษย์มีความสามารถที่จะกำหนดชีวิตตัวเองได้ นัยดังกล่าวทำให้ศูนย์กลางแห่งความรู้เปลี่ยนแปลงจากพระเจ้าในยุคกลางมาอยู่ที่ตัวมนุษย์ซึ่งทำให้มนุษย์มีศักยภาพในการค้นพบความจริงได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพระเจ้าศักยภาพในการเข้าถึงความจริงของมนุษย์ตามแนวคิดสมัยใหม่จึงเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานแห่งองค์ความรู้ของมนุษย์ซึ่งนำไปสู่การเกิดวิทยาการสมัยใหม่รวมถึงศาสตร์อย่างเช่น มนุษยศาสตร์ (Humanities) ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้ประเด็นทางปรัชญาเปลี่ยนแปลงจากการพยายามหาสารัตถะของโลกภายนอก(Natural Philosophy) มาเป็นการพยายามสร้างองค์ความรู้และคำอธิบายขึ้นมาใหม่นักปรัชญาสมัยใหม่จึงสนใจประเด็นทางญาณวิทยาซึ่งเกี่ยวข้องกับความรู้และศักยภาพในการเข้าถึงความจริงของมนุษย์ในขณะเดียวกันก็นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงของความพยายามในการตอบปัญหาทาง
จริยศาสตร์

ปัญหาทางจริยศาสตร์ อย่างเช่นปัญหาเรื่องชีวิตที่ดีเป็นปัญหาที่ปรากฏมาแล้วตั้งแต่สมัยกรีกแต่อย่างไรก็ตาม หากเราย้อนกลับไปพิจารณาประวัติปรัชญาเราจะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงวิธีการอธิบายปัญหาดังกล่าวหากพูดถึงสมัยกรีก เราคงต้องพิจารณาไปถึงนักปรัชญาคนสำคัญอย่างโสเครตีสโดยคำถามเริ่มแรกเกิดจาก How should one live ? ซึงภายใต้คำถามดังกล่าวคำสรรพนาม “one” มิได้หมายถึงคนใดคนหนึ่งเป็นคำกริยาที่ไม่ปรากฏบุคคล (impersonal pronoun) ประการหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าในแต่ละสถานการณ์แต่ละคนจำเป็นต้องรู้ว่าตนเองควรทำอย่างไรในแง่นี้จริยศาสตร์จึงสอนกันไม่ได้ แต่อาศัยแนวทางจากผลที่เกิดจากการกระทำซึ่งจะชี้ให้เห็นว่าผลจากการกระทำนั้นๆจะเป็นอย่างไร ในสมัยกรีกเรื่อยมาจนถึงก่อนสมัยใหม่การตอบปัญหาทางจริยศาสตร์จึงถูกตอบผ่าน telos หรือความสมบูรณ์แห่งตัวตนอันเป็นจุดหมายซึ่งแต่ละคนสามารถจัดการกำหนดเป้าหมายชีวิตตัวเองผ่าน telos นี้ได้

ความเป็นสมัยใหม่เริ่มต้นพร้อมกับเงื่อนไขสำคัญการแยกโลกออกจากศาสนจักร (secularization)ทำให้ศาสนาเข้าไปอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวอนาคตของมนุษย์เปลี่ยนจากอุ้งมือของพระเจ้าเข้ามาสู่อุ้งมือของมนุษย์ ความสมบูรณ์แห่งตัวตนมนุษย์จุดมุ่งหมายของชีวิตมนุษย์ มิได้ถูกตอบผ่าน telos หากแต่มีความเป็นพหุนิยมการเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ คำถามทางจริยศาสตร์จึงเปลี่ยนคำถามจาก How should one live ? มาเป็นคำถามที่สำคัญคำถามหนึ่งนั่นคือ What ought I to do ? เมื่อ ought ไม่ใช่ isสะท้อนนัยของการไม่เป็นไปตามธรรมชาติในแง่นี้ชีวิตมนุษย์จึงอาจมิได้เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษยหากแต่เป็นไปเพราะมนุษย์เป็นสิ่งที่มีเหตุผล (rational being)และรู้ว่าควรปฏิบัติอย่างไรการมีเหตุผลของมนุษย์นี่เองกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับทัศนะทางจริยศาสตร์ของค้านท์

บทความนี้จะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นมนุษย์กับทัศนะของค้านท์ผ่าน 2 ประเด็นใหญ่ๆ โดยประการแรกผู้เขียนจะแสดงให้เห็นว่าความเป็นมนุษย์ปรากฏอยู่ในทัศนะทางจริยศาสตร์ของค้านท์อย่างไรและประการที่สอง ความเป็นมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับจริยศาสตร์สมัยใหม่และเข้าไปเกี่ยวข้องกับทัศนะทางจริยศาสตร์ของค้านท์อย่างไร

ระบบปรัชญาของค้านท์ : ความสัมพันธ์ของอภิปรัชญาญาณวิทยา และจริยศาสตร์

ความเป็นสมัยใหม่เกิดมาพร้อมกับการให้ความสำคัญกับเหตุผลของมนุษย์สำหรับค้านท์เหตุผลเป็นการหาทางออกจากสภาวะที่ควบคุมมนุษย์และปลดปล่อยมนุษย์ไปสู่การมีวุฒิภาวะของมนุษย์(maturity) ความมีเหตุผลของมนุษย์ปรากฏอย่างชัดเจนในปรัชญาของค้านท์
อิมมานูเอล ค้านท์เป็นนักปรัชญาชาวเยอรมันอาจกล่าวได้ว่าค้านท์เป็นนักปรัชญาสมัยใหม่ที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่ง ความคิดทางปรัชญาของเขามีอิทธิพลต่อนักปรัชญารุ่นหลังในวงกว้างรวมถึงความคิดทางจริยศาสตร์ที่เราจะพูดถึง

อย่างไรก็ตามการพูดถึงความคิดทางจริยศาสตร์ของค้านท์สัมพันธ์กับความคิดทางอภิปรัชญาและญาณวิทยาอย่างเป็นระบบและแยกจากกันไม่ออกหรืออีกนัยหนึ่งจริยศาสตร์ของค้านท์อยู่บนพื้นฐานของคำอธิบายต่อโลกและวิธีการเข้าใจโลกดังนั้น การจะเข้าใจความคิดทางจริยศาสตร์ของค้านท์ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเริ่มต้นจากความคิดทางอภิปรัชญาและญาณวิทยาของเขาโดยสังเขป

เมื่อนักปรัชญาสมัยใหม่ใน 2 กระแสอย่างเช่นนักเหตุผลนิยมและนักประจักษ์นิยมต่างนำญาณวิทยาเข้าสู่ทางตัน เหตุผลนิยมมีแนวโน้มที่จะเป็นสิทธันตนิยม(dogmatism) ส่วนประจักษ์นิยมมีแนวโน้มที่จะเป็นวิมัตินิยม (skepticism) ค้านท์เข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าว โดยสร้างระบบปรัชญาขึ้นมาใหม่ การปฏิวัติแบบโคเปอร์นิคัสของค้านท์เปลี่ยนแปลงความคิดทางญาณวิทยาแบบเดิมที่เราจะต้องเป็นผู้รับรู้และทำความเข้าใจต่อโลกภายนอกกลับด้านมาเป็นเราในฐานะองค์ประธานเรารับรู้โลกภายนอกได้จากการที่โลกภายนอกเข้ากันได้กับระบบการรับรู้ (categories) ของเรา ค้านท์แบ่งความจริงออกเป็น 2 แบบ คือความจริงที่มีอยู่ในตัวเอง (noumena) กับความจริงที่เป็นปรากฏการณ์(phenomena) ผ่านความคิดของการแบ่งโลกโลกออกเป็น 2 โลก คือ โลกแห่งประสาทสัมผัส (the sensible world)หรือโลกแห่งปรากฏการณ์ (phenomenal world) และโลกที่เหนือประสาทสัมผัส(the super sensible world) หรือโลกแห่งความจริง (noumenal world) โดยโลกแห่งประสาทสัมผัสเป็นโลกที่เราอยู่และรับรู้วัตถุต่างๆภายนอก โดยเราสามารถรู้ได้ผ่านผัสสะทั้ง 5 แต่เราไม่สามารถรู้ได้อย่างที่มันเป็น(noumena) หากแต่มันเป็นไปตามโครงสร้างของจิต เราจึงไม่สามารถรู้สิ่งต่างๆตามที่มันเป็น แต่จะรู้ได้ตามที่มันปรากฏกับเราเราจึงจำเป็นต้องหาความรู้ก่อนประสบการณ์ (a priori knowledge) ในการทำความเข้าใจโลกภายนอก แต่สำหรับค้านท์การเข้าใจโลกภายนอกเกิดจากการตัดสิน (judgment) ในลักษณะของประโยคเรามักจะเข้าใจว่าความรู้ก่อนประสบการณ์เป็นประโยคแบบวิเคราะห์ (analytic judgment) ซึ่งไม่ได้ให้ความรู้ใหม่และไม่เกี่ยวกับโลกภายนอกค้านท์จึงเสนอความคิดเรื่องประโยคสังเคราะห์แบบก่อนประสบการณ์ (synthetic  apriori) เพื่อเราจะได้เข้าใจโลกภายนอกได้ในแบบที่มันเป็น (Jeffrey Tlaumak, 2007 : 330-342)

ส่วนโลกที่เหนือประสาทสัมผัสแม้เราจะไม่สามารถรับรู้ได้โดยตรงผ่านประสาทสัมผัส แต่อย่างไรก็ตาม ค้านท์เชื่อว่าเราสามารถยืนยันการมีอยู่ได้ผ่านการใช้เหตุผล(Rational Account) ดังนั้นเมื่อเราเข้าใจโลกที่เหนือประสาทสัมผัสได้จากเหตุผลโดยผ่านกระบวนการคิดภายใต้กระบวนการนี้เราจึงยืนอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพในการคิด (Freedom) ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานประการหนึ่งของสมัยใหม่อาจไม่ผิดนักถ้าเราจะกล่าวว่าการใช้เหตุผลของมนุษย์มาพร้อมกับเสรีภาพในการคิด การใช้เหตุผลจึงอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพ

การแบ่งแยกโลกเป็น2 ส่วนนั่นเอง แสดงให้เห็นถึง registrationที่ต่างกันแยกกันของโลกทั้งสอง แต่อย่างไรก็ตามวิธีการอธิบายเรื่องของเสรีภาพกับการใช้เหตุผลในโลกเหนือประสาทสัมผัมกลับเป็นไปได้กับธรรมชาติโดยการใช้เหตุผลนลักษณะดังกล่าวอยู่ในลักษณะของกฏที่มนุษย์ต้องปฏิบัติตามเสรีภาพอยู่ในฐานะของความคิด (Idea) ที่ถูกกำหนดจากคอนเซปต์(concept) เรื่องเจตจำนง (will) หรืออีกนัยหนึ่งเสรีภาพนั้นเองนำไปสู่คอนเซปต์เรื่องของเจตจำนงและเจตจำนงที่ดีจุดนี้เองนำไปสู่จริยศาสตร์ของค้านท์ที่นัยหนึ่งต้องการจะมุ่งไปสู่แสงสว่างทางปัญญา(Enlightenment) และไปสู่ความเป็นสมัยใหม่โดยผ่านกระบวนการของการจัดการกับเสรีภาพและเจตจำนง

มนุษย์ เหตุผล หน้าที่ และความดี

จากอภิปรัชญาและญาณวิทยาของค้านท์ที่นำไปสู่การแบ่งโลกออกเป็น2 โลกนำไปสู่การเริ่มต้นทฤษฎีทางจริยศาสตร์ของค้านท์โดยสัมพันธ์กับการใช้เหตุผลและเสรีภาพในการคิดของมนุษย์หรืออีกนัยหนึ่ง จริยศาสตร์ของคานท์เริ่มต้นจากความคิดเรื่องของการรู้เองทางศีลธรรม(moral intuition)

การพูดถึงว่าจริยศาสตร์ของคานท์เริ่มต้นจากความคิดเรื่องของการรู้เองทางศีลธรรมประการหนึ่งการรู้เองดังกล่าวขึ้นอยู่กับสถานะความเป็นสิ่งที่ใช้เหตุผล (rational being) ของมนุษย์กล่าวคือมนุษย์เป็นมนุษย์เพราะใช้เหตุผลอย่างเป็นอิสระ และด้วยเหตุนี้เองจริยศาสตร์ของค้านท์จึงเริ่มต้นจากความเป็นมนุษย์ (Humanity)กล่าวคือมนุษย์เป็นมนุษย์เพราะใช้เหตุผลเป็นอิสระดังนั้นเมื่อมนุษย์สามารถคิดได้ด้วยเหตุผล มนุษย์จึงจำเป็นต้องคิดได้ถึงสิ่งที่สมควรจะทำและสมควรจะเป็นการจะเข้าใจประเด็นนี้ส่วนหนึ่งจำเป็นต้องย้อนกลับไปถึงปัญหาทางจริยศาสตร์ที่เปลี่ยนจากสมัยกรีกคำถามที่เปลี่ยนจาก How should one live ? ของโสเครตีสในสมัยกรีกมาเป็นคำถามที่สำคัญของจริยศาสตร์สมัยใหม่คือWhat ought I to do ? เมื่อ ought ต่างจากis ประการหนึ่ง is เป็น verb to be ที่หมายถึงการ “เป็น อยู่ คือ”อันสะท้อนถึงธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ การใช้ is อาจเป็นไปในแง่ของการพยายามอธิบายต่อโลกภายนอกและสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้แต่ในทางกลับกัน ought หรือ “ควรจะ”เป็นผลผลิตจากการที่มนุษย์สร้างกฏเกณฑ์หรือกฏระเบียบให้กับตนเอง การทำตามสิ่งที่ “ควรจะ”เป็นจึงอยู่ในฐานะของการที่มนุษย์ทำตามกฏเกณฑ์หรือกฏระเบียบหรือหน้าที่ของมนุษย์ที่อยู่บนพื้นฐานของเหตุผล

การที่มนุษย์เป็นสิ่งที่มีเหตุผลประการหนึ่งสัมพันธ์กับวิธีการที่เราจะเข้าใจต่อโลกภายนอกการที่ค้านท์แบ่งโลกออกเป็น 2 โลกทำให้เหตุผลในฐานะสมรรถภาพในการรับรู้ของมนุษย์สามารถถูกพูดถึงใน 2 อย่าง นั่นคือ เหตุผลบริสุทธิ์ (Pure Reason) สำหรับการรู้เรื่องทั่วๆไปในขอบเขตของประสาทสัมผัสซึ่งอยู่ในโครงสร้างของสมองหรืออีกนัยหนึ่งคือการหาความสมเหตุสมผลสำหรับความจริงของธรรมชาติ และเหตุผลปฏิบัติ(Practical Reason) สำหรับการพยายามเข้าใจสิงที่อยู่นอกเหนือประสาทสัมผัสนั่นคือความพยายามเข้าใจต่อศีลธรรม (moral) (Jeffrey Tlumak, 2007 : 330-342)

เมื่อจริยศาสตร์ของค้านท์อยู่บนคำถามทางจริยศาสตร์ที่สำคัญอย่างเช่นWhat ought I to do ? และ ought ในที่นี้สัมพันธ์กับการใช้เหตุผลของมนุษย์ความเชื่อเบื้องหลังของค้านท์อยู่ที่คำอธิบายของความเป็นมนุษย์ว่าเป็นสิ่งที่สามารถใช้เหตุผลดังนั้น มนุษย์ทุกคนจึงสามารถใช้เหตุผลได้เหมือนกัน สิ่งที่ ought จึงเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นบนพื้นฐานของความจำเป็นอันเกิดจากการที่มนุษย์เข้าใจสิ่งที่ควรจะเป็นเหมือนๆกันผ่านการใช้เหตุผลที่เหมือนกันตามโครงสร้างการของจิตมนุษย์ที่เหมือนกัน oughtในที่นี้จึงอาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าเป็น “หน้าที่”จริยศาสตร์ของค้านท์จึงอาจถูกเรียกได้ว่าเป็นจริยศาสตร์แบบ “หน้าที่นิยม” ซึ่ง “หน้าที่”ในความหมายนี้หมายถึงหน้าที่ในฐานะของการเป็นสิ่งที่สามารถใช้เหตุผลได้นั่นเอง

จริยศาสตร์เกี่ยวข้องกับการพูดถึงความดีปัญหาประการหนึ่งคือการกระทำที่ดีหมายถึงอะไร ในทัศนะของค้านท์การกระทำที่ดีคือการกระทำที่เกิดจากเจตจำนงที่ดี (Good will) ในทัศนะของค้านท์ การกระทำ (actions) เกิดจากเจตจำนงที่กำหนดผ่านความคิดเรื่องเสรีภาพแต่สำหรับค้านท์ การกระทำที่ดีในแง่ศีลธรรมคือการกระทำที่เกิดจากเจตจำนงที่ดี แต่เจตจำนงที่ดีของค้านท์ไม่ได้หมายถึงการ“หวังดี” หรือ “ปรารถนาดี” หากแต่คือการทำตามหน้าที่ในฐานะของสิ่งที่สามารถใช้เหตุผลได้เจตจำนงที่ดีของค้านท์จึงมีลักษณะ 2 ประการที่สำคัญ ได้แก่ 1.ต้องไม่เกิดจากแรงกระตุ้นหรืออารมณ์ความรู้สึกใดๆ หรืออีกนัยหนึ่งการะรำทนั้น ต้องไม่ได้ถูกรบกวนหรือถูกร่วมกำหนดจากสิ่งอื่นๆที่ไม่ได้มาจากเจตจำนงโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ความรู้สึกในทางบวกหรือทางลบการทำตามเจตจำนงส่วนหนึ่งคือการทำตามเสรีภาพของมนุษย์คานท์เน้นว่ามนุษย์มีการกระทำที่เป็นอิสระอิสระในที่นี้จึงหมายถึงการใช้เหตุผลได้อย่างอิสระอีกนัยหนึ่งการใช้เหตุผลได้อย่างอิสระจึงหมายถึงการหลุดพ้นจากอารมณ์ ความรู้สึกและความปรารถนา ตลอดจนปัจจัยภายนอกที่ไม่ได้มาจากเจตจำนงโดยตรง (ดวงดาว กีรติกานนท์,2553 : 97) และ 2. การกระทำดังกล่าวไม่ได้มีเป้าประสงค์อื่นๆนอกเหนือจากการกระทำนั้นๆ กล่าวคือต้องเป็นการกระทำที่ไมหวังผลตอบแทนใดๆเป็นเป้าหมายในตัวเอง ในแง่นี้ จริยศาสตร์ของค้านท์จึงสนใจ “หน้าที่”มากกว่าผลที่จะเกิดขึ้นค้านท์เน้นว่าการกระทำที่ดีคือการกระทำที่เกิดจากเจตจำนงที่ดีซึ่งเป็นการทำตามหน้าที่แต่ผลที่เกิดขึ้นเป็นคนละเรื่องกัน เพราะไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าการกระทำนั้นๆจะให้ผลที่ตามมาเป็นเช่นไร

การที่มนุษย์เป็นสิ่งที่ใช้เหตุผลได้สิ่งที่ oughtหรือควรจะทำ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ไม่มีเงื่อนไขที่จะปฏิเสธเสียงเรียกจากหน้าที่จึงเป็น “คำสั่งเด็ดขาด (categorical)” ที่มนุษย์ไม่สามารถละเลยได้ในขณะที่การกระทำของมนุษย์อันอยู่บนพื้นฐานการพิจารณาอันชาญฉลาดเกิดขึ้นบนรูปของ “คำสั่งเงื่อนไข(hypothetical)” (ภัทรพร สิริกาญจน, 2520 : 70-71) เมื่อจริยศาสตร์ของค้านท์เริ่มต้นจากความเป็นมนุษย์ การทำตามหน้าที่ของค้านท์จึงกลับไปสู่พื้นฐานของหลักการที่มนุษย์ยึดถือ(maxim) การกระทำใดๆ ก็ตามจึงเริ่มต้นจากหลักการดังกล่าวโดยยึดจากมนุษย์แต่ละคนเป็นจุดเริ่มต้นคำถามที่ว่า “เราควรจะทำอะไร” จึงเข้ามามีความสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามแนวทางในการตอบปัญหาดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นอัตวิสัย ขึ้นอยู่กับมนุษย์แต่ละคนลักษณะนี้ย่อมไม่ได้เป็นไปในแบบค้านท์อย่างแน่นอน เพราะเมื่อการตอบปัญหาดังกล่าวเป็นอัตวิสัยแต่ละคนจึงมีแนวทางที่ต่างกัน แต่ค้านท์เชื่อว่าด้วยการใช้เหตุผลหลักการที่มนุษย์แต่ละคนยึดถือจึงสามารถกลายเป็นภววิสัยได้ผ่านกระบวนการใช้เหตุผลกล่าวคือโดยวิธีการเปรียบเทียบ (imperative) ที่จะทำให้กฏศีลธรรมกลายเป็นหลักการพื้นฐานเมื่อ ought คือสิ่งที่ควรจะทำจำเป็นต้องทำอย่างไม่มีเงื่อนไขหลักการที่มนุษย์ยึดถือจึงถูกเปรียบเทียบผ่านประโยคคำสั่งดังกล่าวคำสั่งเงื่อนไขอยู่บนพื้นฐานของการพิจารณาอันชาญฉลาด ประการหนึ่งอาจสะท้อนให้เห็นว่าเรายังถูกรบกวนหรือถูกกำหนดจากสิ่งอื่นๆอันประกอบการพิจารณาเงื่อนไขนั้นๆ แต่สำหรับคำสั่งเด็ดขาด เป็นคำสั่งที่เกิดจากเจตจำนงอันมีพื้นฐานจากเหตุผลโดยตรงบนพื้นฐานของคำสั่งเด็ดขาดหลักการที่มนุษย์ยึดถือจึงสามารถกลายเป็นหลักศีลธรรมในแบบภววิสัยได้ผ่านการเปรียบเทียบและอธิบายดังกล่าว

กฏศีลธรรมของค้านท์เป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่มีข้อแม้ใดๆ กฏศีลธรมของค้านท์อาจถูกอธิบายผ่าน 3 กฏหลักๆ[1]น่าสังเกตว่าทั้งหมดนี้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น ได้แก่ 1.จงทำตามหลักที่จะให้เป็นกฏสากล (Act only according to thatmaxim by which you can at the same time will that it should become a universal law.) จากกระบวนการที่ทำให้หลักยึดถือของมนุษย์แต่ละคนกลายเป็นกฏศีลธรรมประการหนึ่งที่สำคัญก็คือหลักการนั้นๆ จะต้องไม่มีข้อยกเว้นใดๆ โดยทุกคนต้องปฏิบัติได้เหมือนกันกฏศีลธรรมเป็นกฏสากลที่สามารถใช้ได้กับคนทุกคนในทุกสถานการณ์ ดังนั้นสิ่งที่มนุษย์อยากจะทำกับผู้อื่นแต่ไม่ประสงค์ให้ผู้อื่นกระทำสิ่งเหล่านั้นจึงไม่สอดคล้องกับศีลธรรมเพราะไม่สามารถจงใจให้เป็นกฏสากลได้ 2. จงทำตามหลักการที่ออกมาจากเจตจำนงและเป็นไปตามหลักธรรมชาติที่เป็นสากล(Act if the maxim of your action were to become through your will a universal law of nature) เมื่อจริยศาสตร์ของค้านท์อยู่บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์อีกนัยหนึ่งคือธรรมชาติของมนุษย์ กฏศีลธรรมของค้านท์จึงอยู่บนพื้นฐานนี้เช่นกันการกระทำใดก็ตามที่เป็นกฏศีลธรรมจำเป็นต้องไม่ขัดกับกฏของธรรมชาติที่เป็นสากล เช่นการฆ่าตัวตายซึ่งไม่ได้เป็นไปตามกฏของธรรมชาติ เพราะโดยธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตไม่มีสภาวะในการฆ่าตัวตายสิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีกฏพื้นฐานคือการดิ้นรน มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่สามารถฆ่าตัวตายได้การฆ่าตัวตายจึงไม่เป็นการกระทำที่เป็นไปตามกฏศีลธรรมเพราะขัดกับกฏของธรรมชาติ และ3. จงปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์โดยถือว่าเขาเป็นจุดหมายในตัวเองอย่าใช้เขาเป็นเครื่องมือเพื่อการใด (Act in such a way that you always treat humanity, whether in your own person or any other, never simply as a mean, but always at the same time as an end) กฏข้อนี้ค้านท์ต้องการเน้นว่ามนุษย์ทุกคนมีค่าเท่ากัน การกรทำตามกฏศีลธรรมจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นมนุษย์การอาศัยคนเป็นเครื่องมือเพื่อการใด ไม่ว่าจะเกิดผลประโยชน์สักเพียงใดก็มิอาจเป็นไปตามกฏศีลธรรมได้ เพราะพื้นฐานจริยศาสตร์ของค้านท์คือความเป็นมนุษย์ในขณะที่การอาศัยผู้อื่นเป็นเครื่องมือเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ในจริยศาสตร์ของค้านท์ ความเป็นมนุษย์จึงเป็นความสามารถของเราที่จะเคารพความเป็นกฏสามารถทำให้ตัวเองยึดโยงความเป็นกฏผ่านหลักการของตนเอง การทำตามกฏศีลธรรมของค้านท์จึงเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์เป็นมนุษย์ซึ่งเป็นอิสระและอาศัยเหตุผลในการจัดการตนเองบนพื้นฐานของกฏศีลธรรม(Victor Grassian,1981 : 80)

อาจไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่าจริยศาสตร์ของค้านท์ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของอภิปรัชญาและญาณวิทยาของเขาบนพื้นฐานของการให้คำอธิบายและรับรู้โลกภายนอก ในอีกแง่หนึ่งมนุษย์กำลังให้คำอธิบายต่อตนเองด้วยเช่นกันและบนพื้นฐานของการเข้าใจต่อโลกมนุษย์อาศัยเหตุผลและอิสระในการใช้เหตุผลเพื่อเข้าใจโลกภายนอกจริยศาสตร์ของค้านท์จึงเกิดขึ้นบนพื้นฐานธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสิ่งที่มีเหตุผลเมื่อมนุษย์มีเหตุผลและแตกต่างจากสัตว์อื่นมนุษย์จึงจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบทางศีลธรรมเพราะศีลธรรมของมนุษย์คือหน้าที่ที่เกิดจากความรับผิดชอบในฐานะสิ่งที่มีเหตุผลนั่นเองจริยศาสตร์ของค้านท์จึงสอดคล้องกับการเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ในสมัยของค้านท์กล่าวคือจริยศาสตร์กลายเป็นเรื่องพหุนิยม และชีวิตมนุษย์และการกระทำต่างๆเริ่มต้นขึ้นจากความเป็นมนุษย์ของตนเองทั้งสิ้น

จริยศาสตร์ของค้านท์กับความเป็นสมัยใหม่ : อนาคตนอกอุ้งพระหัตถ์ของพระเจ้า

What ought I to do ? คำถามสำคัญของค้านท์และจริยศาสตร์สมัยใหม่ ประการหนึ่งนอกจากค้านท์จะเป็นนักปรัชญาสมัยใหม่และแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เรียกว่า “แสงสว่างทางปัญญา”[2] แล้ว ทำให้เห็นความเป็นสมัยใหม่ที่ปรากฏอยู่ในจริยศาสตร์ของค้านท์ตลอดจนความเป็นมนุษย์ที่ปรากฏอยู่ทั้งในจริยศาสตร์ของค้านท์และในบริบทของความเป็นสมัยใหม่

เมื่อความเป็นสมัยใหม่เกิดขึ้นบนเงื่อนไขของการแยกอาณาจักรออกจากศาสนจักร(secularization) การแยกอาณาจักรออกจากศาสนจักรที่ทำให้ชีวิตมนุษย์เปลี่ยนแปลงจากเงื่อนไขที่ขึ้นอยู่กับศาสนามาเป็นเงื่อนไขที่ขึ้นอยู่กับตัวมนุษย์และมนุษย์มีความสามารถที่จะกำหนดชีวิตตัวเองได้ ในบริบทของสมัยใหม่บทบาทของมนุษย์จึงก้าวขึ้นมามีความสำคัญมากกว่าพระเจ้าทั้งในแง่ของการกำหนดชีวิตตัวเองหรือแม้แต่ประเด็นทางปรัชญาเปลี่ยนแปลงจากการพยายามหาสารัตถะของโลกภายนอกมาเป็นการสนใจต่อควารู้ของมนุษย์ความพยายามสร้างองค์ความรู้และคำอธิบายขึ้นมาใหม่ นักปรัชญาสมัยใหม่จึงสนใจประเด็นทางญาณวิทยาซึ่งเกี่ยวข้องกับความรู้และศักยภาพในการเข้าถึงความจริงของมนุษย์ในขณะเดียวกันก็นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงของความพยายามในการตอบปัญหาทางจริยศาสตร์ จากที่กล่าวมาแล้วว่าWhat ought I to do ? เปลี่ยนแปลงมาจากคำถาม How should one live ? ในสมัยกรีก นัยของของ How ที่เปลี่ยนมาเป็นWhat หรือนัยของ one ที่เปลี่ยนมาเป็น I สอดคล้องกับความเป็นมนุษย์ที่เข้ามามีบทบาทในโลกสมัยใหม่ กล่าวคือ Howเน้นย้ำถึงรูปแบบของการกระทำตลอดจนระเบียบแบบแผนบางประการหากเราบอกว่าในสมัยกรีกมี telos คำว่า How จึงสะท้อน telos ซึ่งเป็นจุดหมายตลอดจนสิ่งที่กำหนดแนวทางในการดำเนินชีวิตของแต่ละคนในขณะที่ What เป็นเพียงคำถามว่า “อะไร” นัยของ What จึงเปิดกว้างมากกว่า How เมื่อ What เป็นคำถามปลายเปิดที่เปิดโอกาสให้มนุษย์แต่ละคนมีโอกาสตอบคำถามของตนเองในขณะที่ How เน้นย้ำความชัดเจนในแง่ของการกระทำ “อย่างไร”มากกว่า ในขณะที่ one ในคำถามเก่าแปรเปลี่ยนมาเป็น I ในคำถามใหม่ เมื่อ one เป็นคำสรรพนามที่ไม่ได้ระบุตัวตนสะท้อนถึง telos ในหลักการทั่วๆ ไป สะท้อนให้เห็นว่าในแต่ละสถานการณ์แต่ละคนจำเป็นต้องรู้ว่าตนเองควรทำอย่างไรในแง่นี้จริยศาสตร์จึงสอนกันไม่ได้ แต่อาศัยแนวทางจากผลที่เกิดจากการกระทำซึ่งจะชี้ให้เห็นว่าผลจากการกระทำนั้นๆจะเป็นอย่างไร แต่สำหรับ I เมื่อมาอยู่ในคำถามของคำว่า Whatสถานะของ I จึงมีอิทธิพลในการกำหนดชีวิตตัวเองมากกว่าสรรพนามที่ไม่ระบุตัวตนอย่างone ในคำถามแรก สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอะไรสิ่งที่สำคัญคงหนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงวิธีการตอบปัญหาทางจริยศาสตร์จากการมี telosในสมัยกรีก มาสู่การให้ความสำคัญกับมนุษย์ในจริยศาสตร์สมัยใหม่และเมื่อ ought ในสมัยใหม่มิใช่ must ยิ่งทำให้ความสำคัญของเจตจำนงมนุษย์ชัดเจนมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้ชัดเจนมากขึ้นโดยเฉพาะในจริยศาสตร์ของค้านท์I ในคำถาม What ought I to do ? ยังคงนัยของคำว่า oneแต่ one ในที่นี้เป็น one ที่มีตัวตนคือ I ในแง่หนึ่ง Iกับ one กล่าวอ้างถึงมนุษย์ และ Iจึงไม่ต่างจาก one ในทัศนะของค้านท์ แต่ I เน้นย้ำนัยของการเป็นองค์ประธาน เน้นย้ำนัยของผู้กระทำมากกว่า oneในแง่นี้ ought จึงเป็นสิ่งที่ I ควรจะทำ เพราะ I อยู่ในฐานะสิ่งที่มีเหตุผล แต่ oughtไม่ใช่ must อันเปรียบเสมือนประกาศิต oughtจึงทำให้ภาพของเจตจำนงมนุษย์ชัดเจนขึ้นอย่างน้อยในฐานะมนุษย์ผู้มีเหตุผล ought จึงทำให้การกระทำของมนุษย์จำเป็นต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบทางศีลธรรมความดีในทัศนะของค้านท์จึงมาพร้อมความเป็นมนุษย์อันปรากฏอย่างสอดคล้องกับบริบทสมัยใหม่นั่นทำให้เรากลับไปสู่สิ่งที่ค้านท์กล่าวไว้ในบทความ What is Enlightenment? ซึ่งสำหรับค้านท์ สิ่งที่สำคัญที่สุดและเป็นเงื่อนไขของสมัยใหม่คือการปลดปล่อยตัวเองสู่แสงสว่างทางปัญญาผ่านเหตุผลและเสรีภาพมิติเหล่านี้รวมถึงความเป็นมนุษย์จึงกลายมาเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในจริยศาสตร์ของค้านท์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

คงไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่าบนพื้นฐานของจริยศาสตร์สมัยใหม่และค้านท์การกระทำที่ดีมาพร้อมกับความคิดเบื้องหลังเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ในฐานะที่มนุษย์เป็นสิ่งที่มีเหตุผล[3] ผู้เขียนจึงเห็นว่าความรับผิดชอบทางจริยธรรมและการประเมินคุณค่าทางจริยศาสตร์จึงไม่สามารถแยกออกจากกันได้ในบริบทของจริยศาสตร์สมัยใหม่

สองข้างของเหรียญเดียวกัน : บทสรุปของความดีและความเป็นมนุษย์

เมื่อจริยศาสตร์สมัยใหม่และจริยศาสตร์ของค้านท์ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์อาจกล่าวไม่ผิดนักว่าการประเมินคุณค่าทางศีลธรรมหรือความดีแยกไม่ออกจากความเป็นมนุษย์กล่าวคือเพราะมนุษย์เป็นสิ่งที่มีเหตุผลในการพิจารณาการกระทำต่างจากสัญชาตญาณของสัตว์อื่นๆ มนุษย์จึงต้องมีความรับผิดชอบทางศีลธรรม

การเปลี่ยนคำถามจากHow should one live ? มาสู่ What ought I to do ?เน้นย้ำมิติที่สำคัญประการหนึ่งของความเป็นสมัยใหม่ กล่าวคือศูนย์กลางเปลี่ยนจากพระเจ้ามาสู่มนุษย์What และ Iทำให้มนุษย์ปรากฏในฐานะของผู้เลือกและมีอิทธิพลในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเองซึ่งเป็นมรดกที่สำคัญประการหนึ่งจากการแยกอาณาจักรออกจากศาสนจักรซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของสมัยใหม่และความเป็นมนุษย์นี่เองเข้ามามีบทบาทในจริยศาสตร์ของค้านท์กล่าวคือค้านท์เริ่มต้นจากความเข้าใจของมนุษย์ต่อโลกภายนอกและการพยายามเข้าใจตลอดจนสร้างคำอธิบายต่อโลกภายนอกนำมาสู่ความคิดเบื้องหลังที่ว่ามนุษย์มีศักยภาพในการใช้เหตุผลเพื่อทำความเข้าใจต่อโลกภายนอกความแตกต่างของมนุษย์กับสัตว์อื่นนำมาซึ่งความรับผิดชอบต่อศีลธรรมของมนุษย์ค้านท์เห็นว่าการกระทำที่ดีคือการกระทำที่ทำตามเจตจำนงที่ดีโดยเจตจำนงที่ดีดังกล่าวเกิดจากพื้นฐานของการที่มนุษย์เป็นมนุษย์มนุษย์เป็นสิ่งที่มีเหตุผล และเจตจำนงดังกล่าวเกิดจากการใช้เหตุผลอย่างมีเสรีภาพความดีจึงสามารถเป็นภววิสัยได้เพราะมนุษย์ทุกคนมีเหตุผลและสามารถใช้เหตุผลได้เหมือนๆกัน

ในบริบทของจริยศาสตร์สมัยใหม่และจริยศาสตร์ของค้านท์ความดีและความเป็นมนุษย์จึงเปรียบเสมือนเป็นสองข้างของเหรียญเดียวกันเพราะความดีและความเป็นมนุษย์ต่างสัมพันธ์กันและมาเคียงคู่กันบนพื้นฐานของผูมีศักยภาพในการเข้าใจโลกภายนอกและบนพื้นฐานของการเลือกกำหนดชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุผลมิใช่สัญชาตญาณแบบสัตว์อื่นความดีและความเป็นมนุษย์จึงเป็นสิ่งสำคัญสัมพันธ์กับความคิดทางจริยศาสตร์ของค้านท์และจริยศาสตร์สมัยใหม่อย่างแยกกันไม่ออก.



เอกสารอ้างอิง
ภาษาไทย

ดวงดาว กีรติกานนท์. จริยศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, 2546

ภัทรพร สิริกาญจน. บทบาทของเหตุผลในงานเขียนของค้านท์.วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, ภาควิชา
ปรัชญาบัณฑิตวิทยาลัย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520

ภาษาอังกฤษ

Grassian, Victor. Moral Reasoning. NewJersey : Prentice-Hall, 1981

Kant, Immanuel. Groundwork of theMetaphysics of Morals. Cambridge : Cambridge UniversityPress, 2005

Tlumak, Jeffrey. Classical Modern Philosophya contemporary introduction.New York :
Routledge, 2007


[1]หนังสือบางเล่มอาจแบ่งเป็น2 กฏโดยรวมเอาข้อที่ 1และ 2ไว้ในข้อเดียวกัน (Victor Grassian,1981 : 80) ผู้เขียนเห็นว่าทั้ง 2 ข้อมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกกล่าวคือการจะเข้าไปพูดถึงหลักการข้อ 2 จำเป็นต้องผ่านหลักการข้อ 1 มาเสียก่อน

[2]บทความ Whatis Enlightenment ? ของค้านท์เป็นบทความที่แสดงให้เห็นถึงความคิดพื้นฐานของค้านท์เกี่ยวกับสมัยใหม่บทความดังกล่าวไม่ใช่งานเขียนทางปรัชญาในแบบ scholar แต่เป็นบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โดยมุ่งจะตอบคำถามว่าEnlightenment คืออะไรในทัศนะของค้านท์ Enlightenment คือการพยายามปลดปล่อยตัวเองสู่แสงสว่างทางปัญญา แต่อย่างไรก็ตาม Enlightenเป็นคำที่มีความหมายในทางลบมีนัยถึงการที่ ยังไม่ ต้องไม่ หรือยังไม่หลุด Enlighten จึงเป็นเสมือนรอยต่อเชื่อมจาก Pre-modern ไปสู่ modern และบนพื้นฐานของ Enlightenment นี่เองที่ทำให้ความคิดของค้านท์พยายามหลุดออกจากปรัชญาสมัยเก่าไปสู่ปรัชญาสมัยใหม่

[3]ความคิดเรื่องนี้นอกจากในจริยศาสตร์ของค้านท์ผู้เขียนคิดว่าในจริยศาสตร์แบบประโยชน์นิยมซึ่งปรากฏในยุคสมัยใหม่เองก็ให้ความสำคัญกับเหตุผลของมนุษย์เช่นกันในฐานะที่มนุษย์มีเหตุผลสำหรับการตัดสินว่าการกระทำใดจะให้ประโยชน์มากกว่ากันเพียงแต่เกณฑ์ในการตัดสินความดีของประโยชน์นิยมแตกต่างออกไปจากค้านท์กล่าวคือค้านท์สนใจเจตจำนง ในขณะที่ประโยชน์นิยมสนใจผลของการกระทำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น