วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2557

ผู้ชายบ้าของเล่น : เมื่อการ "เล่น" มิใช่แค่การเล่นกับ "ของเล่น"


เมื่อราวๆ กลางเดือนมิถุนายน 2557 มีนิทรรศการศิลปะเล็กๆ นิทรรศการหนึ่ง ถูกจัดขึ้นบนพื้นที่เล็กๆ บริเวณชั้น 2 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผมได้มีโอกาสไปชมนิทรรศการดังกล่าวซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการ "เล่น" ของ "ผู้ชาย" ที่ถูกจัดการโดยภัณฑารักษ์ "ผู้หญิง"

หากเราเข้าใจว่าการ “เล่น” แฝงไว้ด้วยอารมณ์ของความรู้สึกที่มิได้เป็นจริงเป็นจัง เราพูดถึงการ “เล่น” ต่อเมื่อมันมิได้เป็นกิจธุระอันหนักหนาสาหัส แต่เมื่อการ “เล่น” เข้ามาอยู่ในพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ ศิลปินผู้สร้างงานจึงทำให้การ “เล่น” มิได้เป็นการ “เล่น” แบบเข้าใจกันในโลกภายนอก หากแต่การ “เล่น” ในพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะกลับแฝงไว้ซึ่งนัยอันหลากหลายที่เรียกร้องให้ผู้ชมใช้พลังงานกับมันอย่างเป็นจริงเป็นจัง



นิทรรศการ “ผู้ชายบ้าของเล่น” เน้นย้ำการ “เล่น” ของ “ผู้ชาย” ผู้เป็นศิลปิน หากแต่อย่าเข้าใจผิดว่าการ “เล่น” กับ “ของเล่น” ของ “ผู้ชาย” จะเป็น “ของเล่น” ในความหมายทางเพศลึกซึ้ง เมื่อ “ของเล่น” ในที่นี้มิได้เป็นมากไปกว่าเพียงแค่การ “เล่น” กับประสบการณ์ของศิลปินทั้งหมดที่เป็นศิลปินเพศชาย เมื่อการ “เล่น” หลายครั้งจำต้องอาศัย “ของเล่น” อาการ “บ้าของเล่น” จึงอาจเกิดขึ้นได้ และสำหรับเด็กผู้ชายจนถึงวัยรุ่นแล้ว อาการ “บ้าของเล่น” ก็มิได้เป็นสิ่งแปลกปลอมมากนัก เมื่อของเล่นของเด็กชายตั้งแต่เด็กเป็นเสมือนส่วนหนึ่งในการพบปะกับเพื่อน การมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม เราอาจพบกับกลุ่มคนเล่นตุ๊กตา เล่นรถแข่ง หรือเมื่อเติบโตขึ้น ก็ยังคงมี กลุ่มคนเล่นกล้อง แต่งรถ ฯลฯ คงจะไม่ผิดนักหากจะบอกว่าการ “เล่น” เป็นทั้งกระบวนการภายในตัวผู้เล่นและในขณะเดียวกันการ “เล่น” ก็ยังคงเรียกร้องบุคคลอื่นให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเล่น

ผลงานของ ธีรพล หอสง่า วิวัฒน์ ภักดีธรรมาภรณ์  ธนรัช สิริพิเดช และเจตน์สฤษฎิ์ แก้วรากมุข เน้นย้ำมิติของการ “เล่น” ในฐานะของสิ่งหนึ่งที่เกิดจากกระบวนการภายในตัวของผู้เล่น ในที่นี้คือศิลปินผู้สร้างงาน ในขณะเดียวกันการ “เล่น” ยังเรียกร้องบุคคลอื่นหรือผู้ชมให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นนั้นๆ อีกด้วย และเมื่อการ “เล่น” แฝงไว้ซึ่งอาการเคลื่อนไหว ไม่อยู่นิ่ง การ “เล่น” ในพื้นที่ของงานศิลปะจึงถูกอ้างถึงในฐานะของ Kinetic Art หรือผลงานซึ่งมีอาการเคลื่อนไหวเป็นส่วนประกอบ และเมื่อเป็นนิทรรศการ “ผู้ชายบ้าของเล่น” การ “เล่น” กับ “ของเล่น” ดังกลาวจึงสัมพันธ์กับกิจกรรมการเล่นที่มักจะพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และการเล่นของผู้ชายนั้นก็ถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองของศิลปินผู้ชายทั้งสี่คน แต่ความเป็นชายนั้นก็หาได้โดดเดี่ยวไม่ เมื่อผลงานของผู้ชายทั้ง 4 ถูกจัดการโดยภัณฑารักษ์หญิงอย่าง ดร.เตยงาม คุปตะบุตร การ “เล่น” ของผู้ชายในนิทรรศการนี้จึงเป็นการ “เล่น” ของผู้ชาย ที่ทั้งถูกนำเสนอผ่านศิลปินเพศชาย และถูกสะท้อนผ่านมุมมองของภัณฑารักษ์เพศหญิง

ผลงาน "In the Park" (2013) ของ วิวัฒน์ ภักดีธรรมาภรณ์ สะท้อนถึงประสบการณ์และความสนใจส่วนตน ในฐานะของเด็กผู้ชาย การออกสำรวจธรรมชาติดูจะเป็นเรื่องปกติ งานของวิวัฒน์ประการหนึ่งสะท้อนให้เห็นความสนใจต่อธรรมชาติและการสังเกตการณ์เชิงชีววิทยา การสังเกตและความสนใจดังกล่าวนำมาซึ่งความรู้และการใช้เหตุผลที่ทำให้เราพ้นจากความกลัว ความวิตกกังวล ต่อหลายสิ่งในชีวิต เช่นเดียวกับตัวเงินตัวทองที่วิวัฒน์ตัดสินใจจะเผชิญหน้ากับมัน เฝ้าสังเกตจนกระทั่งรู้จักนิสัย พฤติกรรม และกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมัน วิวัฒน์นำสิ่งเหล่านั้นมาใช้ในการสร้างงานของเขา พื้นผิวของผลงานที่มีสีเหลือบและมีจังหวะตะปุ่มตะป่ำไม่เท่ากันเน้นย้ำถึงประสบการณ์การรับรู้ของเขาที่มีต่อตัวเงินตัวทอง กริยาท่าทางของตัวเงินตัวทองถูกนำมาจำลองเป็นการเคลื่อนไหวของงานที่สอดคล้องกับการว่ายน้ำของตัวเงินตัวทอง และเมื่อเขานำมาแบ่งปันให้คนดู “เล่น” ในพื้นที่ของนิทรรศการ เขานำเอาตัวเงินตัวทองมาสัมพันธ์กับลู่วิ่งซึ่งอาจเป็นของเล่นของใครหลายๆ คน เมื่อผู้ชมวิ่งเร็วเท่าไหร่ ตัวเงินตัวทองก็จะเคลื่อนไหวตามที่ผู้ชมวิ่ง ราวกับว่าการทำความเข้าใจและการ “เล่น” กับสิ่งเหล่านั้นทำให้เรากับสิ่งนั้นกำลังจะกลายเป็นสิ่งเดียวกัน บนพื้นที่เดียวกัน เคลื่อนไหวไปพร้อมๆ กัน และการเล่นนั้นจำเป็นต้องอยู่ในจังหวะเดียวกันที่สัมพันธ์กันนั่นเอง

ในขณะที่โลกของการเล่นแตกต่างไปจากโลกแห่งความจริง ตรรกะของการเล่นอาจมิได้สอดคล้องกับการดำรงอยู่ในชีวิตจริง ธีรพล หอสง่างาม สร้าง "แมลงขี้อาย" (2014) ขึ้นมาโดยการอ้างถึงแนวคิดสำคัญในประวัติศาสตร์อย่าง Automata เมื่อพูดถึงหุ่นยนต์ในฐานะของเล่น เราอาจนึกถึงมันในฐานะของเล่นของเด็กผู้ชาย ธีรพลอาศัยความรู้เกี่ยวกับ Robot ในการสร้างแมลงเหล่านี้ขึ้นมา สิ่งนี้สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว เมื่อแนวคิดนี้อ้างไปถึง Automata ตัวแรกคืออดัมซึ่งถูกสร้างโดยพระผู้เป็นเจ้า ในฐานะบรรพบุรุษของมนุษย์ อดัมมีเจตจำนงของตนเองและสามารถที่จะตัดสินใจกระทำได้โดยตนเอง ล้อรับกับการที่ธีรพลสร้างแมลงเหล่านี้ให้สามารถสั่งการและทำงานได้โดยตนเอง โดยแมลงเหล่านี้จะ “หยุด” ในสถานะปกติ แต่มื่อผู้ชมเข้ามาใกล้แมลงเหล่านี้จะ “หนี” ถึงแม้แมลงเหล่านี้จะมิได้มีเจตจำนงหรือมีการตัดสินใจซับซ้อนอย่างเช่นอดัม แต่ก็เพราะแมลงเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นในฐานะของเล่น การเล่นแตกต่างไปจากการใช้ชีวิต การที่ผู้ชมเปลี่ยนสถานะเป็นผู้เล่น ความเข้าใจต่อโลกของการเล่นจึงมิอาจเข้าใจได้ผ่านตรรกะของความจริง และการพบปะกับแมลงในโลกของความจริงก็อาจมิได้ทำให้เรารู้สึกถึงการเล่นเหมือนดั่งการพบปะกับ “แมลงขี้อาย” ในพื้นที่จัดแสดงงาน

หลายครั้งการกลับไปเล่นกับบางสิ่งบางอย่างสัมพันธ์กับความทรงจำที่แฝงอยู่ในสิ่งนั้น ของเล่นบางชิ้นอาจสัมพันธ์กับความทรงจำในอดีต เจตน์สฤษฎิ์  แก้วรากมุข อาศัย "Special Morning" (2013) เป็นเครื่องมือในการย้อนกลับไปสู่อดีต ความทรงจำของเขาในหลายๆ เหตุการณ์ที่แตกต่างกัน แต่มีความสัมพันธ์กัน เก้าอี้โยกและเสียงช้อนกาแฟกระทบกันนำกลับไปสู่ความทรงจำระหว่างเขากับพ่อ เก้าอี้หน้าบ้านที่เขานั่งและพ่อป้อนข้าวคำโตก่อนไปโรงเรียน หรือเมื่อเขาโตขึ้น เสียงช้อนโลหะกระทบแก้วของพ่อพร้อมกลิ่นหอมของกาแฟมักทำให้เขาตื่นนอน ของเล่นหลายชิ้นอาจสัมพันธ์กับหลายๆ เหตุการณ์ เมื่อเหตุการณ์หนึ่งๆถูกบันทึกในหน่วยความทรงจำ ในขณะที่หน่วยความทรงจำก็ยังคงบันทึกเหตุการณ์ก่อนหน้า นานวันเข้าเหตุการณ์หลายๆ เหตุการณ์ก็ผสมปนเปกัน การย้อนกลับไปนึกถึงหรือดึงเอาเหตุการณ์บางอย่างกลับมา มันมิได้นำมาซึ่งเหตุการณ์เดียว แต่มันกลับนำมาซึ่งเหตุการณ์อื่นๆ ด้วย ผลงานของเจตน์สฤษดิ์สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อเหตุการณ์ป้อนข้าวถูกเรียกกลับมา มันได้ดึงเอาการชงกาแฟของพ่อขึ้นมาด้วย ผลงานได้แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ทั้งสองผสมหลอมจนเป็นเรื่องเดียวกัน

สำหรับงานของ ธนรัช สิริพิเดช ดูจะสื่อสารถึงเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ชายอย่างชัดเจนที่สุด เมื่อการเล่นหลายครั้งมิใช่เพียงแค่การผ่อนคลาย หากแต่หลายครั้งการเล่นยังสะท้อนให้เห็น “สาร” บางอย่างที่ผู้เล่นตั้งใจจะสื่อออกมาทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ "How to be myself" (2013) และ “When did we grow old?” (2013) ของธนรัชพยายามนำเสนอสภาวะอารมณ์ของผู้ชาย เมื่อภายนอกผู้ชายดูจะเก็บอารมณความรู้สึกและสงวนคำพูดมากกว่าผู้หญิง แต่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงมิได้หมายความว่าผู้ชายไม่ต้องการสื่อสาร บางสิ่งบางอย่างอาจเป็น “สื่อ” ที่ต้องการส่ง “สาร” มากไปกว่าการใช้คำพูด แต่ “สื่อ” เหล่านั้นอาจต้องค่อยๆ สังเกตอย่างนุ่มนวล ลึกซึ้ง มิฉะนั้นเราอาจจะพลาด “สาร” ที่ต้องการ “สื่อ” ออกมา ธนรัชอาศัยเครื่องเจียและประแจในฐานะ “สื่อ” ที่ต้องการส่ง “สาร” เมื่องานถูกอธิบายว่า “แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกสับสนของการเปลี่ยนผ่านช่วงชีวิต จากวัยเรียนสู่วัยทำงาน และ ความรู้สึกประหม่าเมื่อถูกจับจ้องโดยสายตาจากคนที่ไม่รู้จัก” สิ่งเหล่านี้เน้นย้ำถึง “สื่อ” ที่ต้องการส่ง “สาร” แต่ “สื่อ” นั้นจำเป็นต้องค่อยๆ สังเกต มิฉะนั้นเราจะไม่สามารถรับรู้ “สาร” ได้ เช่นเดียวกับเครื่องเจียและประแจที่เรียกร้องผู้ชมให้เข้าไปสังเกตปฏิกิริยาของวัตถุที่กำลังขยับเพียงเล็กน้อยนั่นเอง

เมื่อการ “เล่น” เป็นทั้งกระบวนการภายใน เป็นความทรงจำ เป็นการสื่อสาร การเล่นยังอาจอยู่ในฐานะของเครื่องมือทางสังคม กล่าวคือการเล่นอาจต้องใช้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น กับของเล่นของเหล่าศิลปิน นอกจากเพียงแค่การสำรวจกลับไปถึงพื้นที่ภายในของพวกเขาเองแล้ว ผลลัพธ์ที่พวกเขาพึงปรารถนาจากการยื่นของเล่นให้ อาจหมายถึงการเล่นกลับของผู้ชม และเมื่อศิลปะร่วมสมัยทำให้พรมแดนระหว่างผลงานและผู้ชมรางเลือนไป ผู้ชมจึงสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผลงานในฐานะผู้เล่นนั่นเอง.

(ดัดแปลงจากบทความนิทรรศการที่ได้รับการตีพิมพ์ใน Art4D ฉบับที่ 217 เดือน สิงหาคม 2014)

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอยืมบทความในบล็อกไปสร้างอีกบล็อกหน่อยนะคับบ..........ทำส่งอาจารย์อ่ะคับ

    ตอบลบ