วันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557

Lucy ในบันทึกของผู้ชมคนหนึ่ง



1

ช่วงที่ผมเรียนปรัชญาศาสนา ผมเคยได้อ่านความคิดของนักปรัชญาคนหนึ่งที่ชื่อ Eugene Thomas Long ซึ่งชี้ให้เห็นว่า “ประสบการณ์ของมนุษย์มีทั้งรากเหง้าที่ปฏิสัมพันธ์กับจารีตหรือประวัติศาสตร์ที่มีมาก่ออนหนานั้น ในขณะเดียวกันประสบการณ์ของมนุษย์ก็มีลักษณะปลายเปิดอยู่เสมอ โดยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกมิใช่ความสัมพันธ์ระหว่างอัตภาวะกับวัตถุภาวะ แต่เป็นภาวะการสื่อสารระหว่างกัน ความเป็นอัตภาวะเกิดขึ้นในกระบวนการปฏิสัมพันธ์กับโลก มิใช่แยกแยะจากโลกโดยเด็ดขาด” (สุวรรณา สถาอานันท์. ศรัทธากับปัญญา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์ฯ, 2550 หน้า 9)

ความคิดของ Eugene T. Long สำคัญอย่างไร ผมคิดว่าความคิดของ Long ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มีแก่นสารที่แฝงฝังอยู่ในภาวะความสัมพันธ์กับโลก (Being-in-the-world) ประสบการณ์ของมนุษย์แสดงให้เห็นถึงการก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมๆ อยู่ตลอดเวลา ทั้งในแง่ของกาลเวลา ความสัมพันธ์กับโลกและบุคคลอื่น ศักยภาพที่จะรู้สึกสำนึกรับผิดชอบรวมทั้งการรู้สึกขอบคุณ ทั้งหมดคือการชี้ให้เห็นถึงมิติเชิงอุตตรภาวะ (อาจไม่ใช่ในแง่การสัมพันธ์กับพระเจ้า) หรืออีกนัยหนึ่ง Long ชี้ให้เห็นว่าอุตตรภาวะหรือ Transcendence มิใช่สิ่งที่แปลกแยกจากโลกประจักษ์ธรรมดา

ภายหลังความคิดแบบปฏิฐานนิยมก้าวเข้ามามีอิทธิพลในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ข้อความเชิงอภิปรัชญากลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย เพราะไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นว่าจริงหรือเท็จได้ สำหรับผมแล้ว งานของ Long เป็นการมองอุตตรภาวะในมุมมองที่น่าสนใจ โดยมิได้มองมันเป็นเพียงแค่ในกรอบของอภิปรัชญาหรือสิ่งที่ไร้ความหมาย หากแต่นำมันกลับมาสนทนาร่วมกันในกรอบที่มิได้แปลกแยกออกจากโลกประจักษ์



2

ในช่วงระหว่างการหมกมุ่นกับหัวข้อวิทยานิพนธ์ ผมได้มีโอกาสไปดูหนังเรื่อง Lucy ในขณะที่มันใกล้จะออกโรงเต็มทีหลังจากได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาเยอะ แน่นอน ผมไม่ผิดหวังกับเงิน 80 บาทที่ผมเสียไปแน่ๆ เพราะ Lucy ทำให้ผมคิดถึงอะไรหลายๆ อย่างที่น่าประหลาดใจมากๆ

หลายคนบอกว่าหนังเรื่อง Lucy เป็นหนังวิทยาศาสตร์ ผมกลับรู้สึกแตกต่างออกไป สิ่งที่ Lucy ทำให้เห็นชัดเจนที่สุดคือการเข้าไปร่วมสนทนาเกี่ยวกับประเด็นทางปรัชญาต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของอุตตรภาวะ หากแต่อุตตรภาวะในแบบที่ Lucy หมายถึงนั้น คงมิใช่พระเจ้า แต่น่าจะเป็นอุตตรภาวะในแบบเดียวกับที่งานของ Long หมายถึง

มีการตั้งข้อสังเกตว่า Lucy เป็นหนังที่เกี่ยวกับพุทธปรัชญา (ลองอ่านเพิ่มเติมจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=933072) แม้ผมจะไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ แต่ผมก็ไม่ปฏิเสธนะ จากงานของ Long เมื่อเรานำอุตตรภาวะกลับมาสู่โลกเชิงประจักษ์ ศาสนาเทวนิยมและศาสนาอเทวนิยมอย่างพุทธก็สามารถที่จะพูดคุยกันได้บนพื้นฐานดังกล่าว เพียงแต่ผมคิดว่ามันออกจะ "ผิดฝาผิดตัว” ไปสักนิดที่จะนำเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่ดูจะใกล้เคียงกับคำสอนของพุทธแล้วโยงมันมาหาพุทธเสียทุกเรื่อง โดยละทิ้งรายละเอียดต่างๆ ออกไปจากข้อสรุปนั้นๆ

การเริ่มต้นเรื่องด้วยการเล่าเรื่องคู่ขนาน ระหว่างเหตุการณ์ของ Lucy กับภาพเหตุการณ์ของสัตว์ต่างๆ ในแง่หนึ่งมันคือการแสดงให้เห็นถึงแก่นสารของมนุษย์ที่แฝงฝังอยู่ในภาวะความสัมพันธ์กับโลก หรืออีกนัยหนึ่ง การสลับกันระหว่างเหตุการณ์ดังกล่าวมีนัยเน้นย้ำถึงมนุษย์ในฐานะส่วนหนึ่งของโลกธรรมชาติอันมิอาจแยกแยะได้

การพูดถึงทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ในหนังเรื่องนี้ แม้หลายคนจะเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่มีบทบาทในการดำเนินเรื่องตลอดทั้งเรื่อง แต่ผมกลับรู้สึกว่ามันมิได้มีอยู่ในฐานะของทฤษฎีวิทยาศาสตร์ในฐานะสิ่งที่จะมาอธิบายความเป็นไปของเรื่องราวต่างๆ ในเรื่อง หากแต่มันเป็นความพยายามที่จะเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับมิติเชิงอุตตรภาวะ ผมไม่แน่ใจว่ามีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับจริงหรือไม่ในกรณีที่บอกว่ามนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงศักยภาพทั้งหมดของสมองได้ แต่ผมคิดว่ามันไม่สำคัญ การไม่สามารถเข้าถึงศักยภาพของสมองทั้งหมด มันกำลังมีนัยถึงว่า ศักยภาพสมองปกติสัมพันธ์กับโลกเชิงประจักษ์ การใช้ผัสสะเพื่อรับรู้โลกในฐานะของอัตภาวะที่อยู่ในฐานะองค์ประธานที่คอยรับรู้วัตถุภาวะของโลกธรรมชาติ แต่ศักยภาพของสมองมันมีอะไรมากกว่านั้น การที่ Lucy สามารถเห็นถึงความสัมพันธ์ของสิ่งอื่นๆ ในธรรมชาติ เข้าใจความคิดของบุคคลอื่น เห็นถึงความสัมพันธ์ทั้งในแง่ของโลก เวลา และสถานที่ การสามารถบังคับสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามใจ เน้นย้ำถึงภาวะความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ กล่าวคือหากมองโลกในแง่ของการเป็นกลไกในมิติเชิงประจักษ์นิยมแบบวิทยาศาสตร์ การที่มนุษย์สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ต่างๆ จึงเป็นภาวะความสัมพันธ์ของมนุษย์ในแง่ของการเป็นส่วนหนึ่งของกลไกโลกธรรมชาติเหล่านั้น หากถามว่าการพูดถึงประเด็นเหล่านี้แล้วมันเกี่ยวกับสมองอย่างไร คำถามนี้ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปถึงงานของเดส์การ์ตในฐานะจุดเริ่มต้นของความเป็นสมัยใหม่ เมื่องานของเดส์การ์ตแยกระหว่างจิตกับกาย โดยสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่นๆ คือความสามารถในการใช้เหตุผล ในแง่นี้สารัตถะจริงๆ ของมนุษย์อาจเป็นเพียงแค่จิตในฐานะที่มาของศักยภาพต่างๆ หากเราเข้าใจผ่านความคิดทางวิทยาศาสตร์ ศักยภาพเหล่านั้นก็คือสมอง การพูดถึงศักยภาพของสมองใน Lucy ผมคิดว่าส่วนหนึ่งก็คือการพูดถึงศักยภาพของความเป็นมนุษย์นั่นเอง และเมื่อมองผ่านกรอบของ Long ศักยภาพของมนุษย์ การก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมๆ อยู่ตลอดเวลา ทั้งในแง่ของกาลเวลา ความสัมพันธ์กับโลกและบุคคลอื่น ศักยภาพที่จะรู้สึกสำนึกรับผิดชอบรวมทั้งการรู้สึกขอบคุณ ทั้งหมดคือการชี้ให้เห็นถึงมิติเชิงอุตตรภาวะที่แฝงฝังอยู่ร่วมกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลก

หากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกหรือมนุษย์กับพระเจ้า คือความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เล็กกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่ มิติเชิงอุตตรภาวะจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ของสิ่งเล็กน้อยอย่างเช่นมนุษย์กับสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ผมคิดว่า เมื่อมนุษย์เข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์นั้นๆ ความเป็นมนุษย์จึงหายไปในความสัมพันธ์ส่วนนั้น ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าในกรอบของศาสนาคริสต์ เมื่อจุดมุ่งหมายของมนุษย์คือการกลับไปรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเจ้า หรือในกรอบความคิดแบบกรีกที่สุดท้ายแล้วมนุษย์จะดำเนินไปสู่ Telos ในแบบใดแบบหนึ่ง เมื่อถึงจุดหมายดังกล่าว มนุษย์จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกหรือรวมเข้ากับพระเจ้า เพราะตั้งแต่สมัยกรีก มนุษย์เป็นเพียงสิ่งที่ไม่สมบูรณ์ในโลกเชิงประจักษ์ที่มิใช่โลกของแบบในความคิดของเพลโต หรือในกรอบคิดของศาสนาคริสต์ มนุษย์เป็นเพียงฉายาของพระเจ้า และมนุษย์จะเป็นสิ่งจำกัดที่ไม่มีวันสมบูรณ์แบบได้อย่างพระเจ้า เมื่อ Lucy กลายเป็นมนุษย์ที่ "สมบูรณ์" ในแง่ของการเข้าถึงศักยภาพของสมองได้ทั้ง 100% มนุษย์จึงมิใช่มนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งจำกัด เมื่อ Lucy กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ Lucy จึงมิอาจเป็นมนุษย์ต่อไปได้ ความสมบูรณ์จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์กับสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ภาพของ Lucy ในฐานะมนุษย์จึงเลือนหายไป การหายไปมิใช่การหายไปเฉยๆ หากแต่คือการรวมตัวเองเข้ากับโลกหรือพระเจ้าในกรอบคิดแบบที่ได้กล่าวมา ในตอนท้าย Lucy เน้นย้ำนัยดังกล่าวผ่านคำว่า I am everywhere.

3

ผมมิอาจบอกคุณได้ว่า Lucy เป็นหนังที่ดีหรือไม่ เพราะเมื่อเราบอกว่าอะไรสักอย่าง “ดี” การตัดสินคุณค่ามันเชื่อมโยงกับมิติเชิงอัตวิสัย ความเป็นพหุนิยมของรสนิยมมิอาจทำให้คุณค่าของ Lucy สามารถถูกยอมรับในเชิงภววิสัยได้ การดูหนังสักเรื่องจึงเป็นการนำเราเข้าสู่ระบบความสัมพันธ์ระหว่างเรากับโลกภายนอก มิใช่เพียงแค่ในแบบอัตวิสัยต่อวัตถุวิสัย แต่มันคือ “ภาวะการสื่อสารระหว่างกัน”

ผมคิดว่าภาวะการสื่อสารระหว่างเรากับโลก มันเรียกร้องการกลับมาพิจารณาถึงตัวตนของเรา มิใช่เพียงแค่ในฐานะองค์ประธานผู้จ้องมองโลกภายนอก แต่ในฐานะของการเป็นแก่นสารที่แฝงฝังอยู่ในภาวะความสัมพันธ์กับโลก (Being-in-the-world) ในเงื่อนไขนี้ เราจะเข้าใจถึงความยิ่งใหญ่ของโลกก็ต่อเมื่อเราสามารถเข้าใจตัวเองในฐานะที่เราสัมพันธ์กับโลก และเมื่อ Lucy หายไปในตอนจบ การหายเน้นย้ำการจบ การลุกออกจากโรงหนังนำเรากลับไปสู่โลกแห่งความจริง แต่เมื่อเรามิอาจนิยามโลกแห่งความจริง เราจึงมิอาจหลุดออกจากภาวะการทับซ้อนระหว่างประสบการณ์ต่างๆ การเริ่มเขียนถึงจึงเป็นเพียงการจบลงของอะไรบางอย่าง การเขียนเป็นพันธะสุดท้ายที่ทำให้สิ่งที่จบไปแล้ว ยังคงความเป็นปัจจุบันไว้ทั้งในขณะที่เขียนและในขณะที่ถูกอ่าน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น