วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รู้ หลับ กับ ศิลป์ “ประเด็นทัศนศิลป์”




ในประเทศที่งานศิลปะเป็นได้เพียงแค่ของเล่นของผู้มีอันจะกิน คงไม่ง่ายนักที่จะมีโอกาสได้อ่านข้อเขียนที่เกี่ยวกับศิลปะ และคงจะเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีกกับโอกาสในการผจญภัยเข้าสู่ดินแดนภายใต้มโนทัศน์ของศิลปะ

แม้งานศิลปะจะเป็นการสร้างสรรค์ แต่การสร้างสรรค์ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นโดยปราศจากบริบทอื่นๆ ทั้งโลก สังคม ศิลปะ และศิลปินได้ ความน่าพิศวงบางประการภายใต้มโนทัศน์ของศิลปะ ทำให้ศิลปะกลายเป็นเรื่องที่สั่งสอนกันไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถแบ่งปันประสบการณ์กันได้ นอกจากสถานะของนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ก็ยังคงเป็นศิลปินแถวหน้าคนหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ข้อเขียนของอารยามิใช่ตำราศิลปะ มิใช่งานวิชาการ ในขณะเดียวกันถึงแม้อารยาจะมีสถานะเป็นครู แต่ข้อเขียนของอารยาก็มิได้มุ่งหวังเพื่อสั่งสอนใคร



“รู้ หลับ กับ ศิลป์ : ประเด็นทัศนศิลป์”  หนังสือเล่มใหญ่ปกแข็งที่มีเนื้อหาหนักพอๆ กับรูปเล่ม แม้ทั้งรูปเล่มและเนื้อหาจะดูหนักไม่ต้องตาต้องใจเหมือนดั่งหนังสือดาราหวานแหววหรือนิยายรักสมัยใหม่ หากแต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในข้อเขียนดังกล่าวก็มิได้ดูธรรมดาเหมือนดั่งรูปเล่ม สำหรับผู้สนใจศิลปะ แล้ว หนังสือเล่มนี้อาจทำให้ผู้อ่านเหมือนดั่งตกอยู่ในภวังค์ เพลิดเพลินกับความคิดและบทสนทนาที่อารยาสร้างขึ้น พร้อมเก็บเกี่ยวความรู้สึกบางประการจากกลวิธีการถ่ายทอดและภาษาที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ข้อเขียนของอารยาไม่เพียงแต่ต้องการให้ผู้อ่าน “เข้าถึง” งานศิลปะ หากแต่นัยของชื่อเรื่องที่ต้องการให้ผู้อ่านวางตัวสบายๆ กับงานศิลปะในระดับที่จะ “รู้” และ “หลับ” กับศิลป์ได้ แน่นอนว่าสิ่งที่อารยากำลังจะสื่อเป็นความจริงที่ย้อนแย้งบางประการอันเกี่ยวกับสถานะของศิลปะ ที่ถึงแม้จะดูเป็นสิ่งที่เข้าถึงยาก แต่ก็คงจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เมื่อเราสามารถที่จะ “รู้” และ “หลับ” กับมันได้ เพราะศิลปะก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นอย่างธรรมดาๆ และเป็นแค่ปรากฏการณ์หนึ่งที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์และความคิดอื่นๆ เช่นเดียวกัน

เมื่อคำว่าศิลปะในบริบทของสังคมไทยมักถูกอ้างอิงไปกับงานทัศนศิลป์ ประเด็นทางทัศนศิลป์กับประเด็นทางศิลปะจึงเป็นเสมือนตัวแทนซึ่งกันและกัน อารยาบอกเล่าประเด็นทัศนศิลป์ทั้งขั้นตอนก่อนการสร้างสรรค์ ขั้นตอนระหว่างการสร้างสรรค์ การพิเคราะห์งานศิลปะ และบริบทศิลปะร่วมสมัย แต่อย่างไรก็ตาม “ประเด็นทัศนศิลป์” ของอารยาก็มิใช่ข้อเขียนประเภทฮาวทูหรือคู่มือที่จะเป็นสูตรสำเร็จ หากแต่ “ประเด็นทัศนศิลป์” เป็นเพียงการแบ่งปันประสบการณ์ของอารยาที่ผสมผสานรสชาติของผู้สร้างสรรค์งานศิลปะและนักวิชาการทางศิลปะมาเสนอให้ผู้อ่านได้เสพอย่างลงตัว สิ่งนี้จึงเป็นจุดเด่นที่ทำให้งานของอารยามิได้มีเพียงอารมณ์ความเพ้อฝันอย่างศิลปิน หรือดูแห้งแล้งอย่างงานวิชาการ และการผสมผสานระหว่างสถานะดังกล่าวก็ทำให้มุมมองของอารยาเป็นมุมมองจากในฐานะของทั้งผู้สร้างและผู้เขียนถึงในเวลาเดียวกัน

ในฐานะของผู้ปฏิบัติ การพูดถึง “ประเด็นทัศนศิลป์” ที่เกี่ยวกับ “ขั้นตอน” ดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่อย่างไรก็ตามในฐานะของผู้ปฏิบัติที่อาจแยกไม่ออกจากการปฏิบัติ หลายครั้งจึงเป็นเรื่องยากที่จะเว้นระยะห่างออกมาเพื่อพิจารณาถึงประเด็นดังกล่าว เรื่องราวเกี่ยวกับ ขั้นตอนก่อนการสร้างสรรค์ ขั้นตอนระหว่างการสร้างสรรค์ รวมถึงการพิเคราะห์งานศิลปะ ก็คงไม่ง่ายนักที่ผู้เขียนจะสามารถกลั่นออกมาจากประสบการณ์จริงได้เสียหมด เช่นเดียวกัน “ประเด็นทัศนศิลป์” ของอารยาจึงมิใช่แค่การบอกเล่าเรื่องราวการทำงานของอารยาเพียงเท่านั้น หากแต่เป็นเศษเสี้ยวประสบการณ์จากหลายๆ แง่มุมของชีวิตที่ถูกนำมาผสมรวมกัน ถูกขบคิด ต่อบอด และกลั่นกรองออกมาด้วยภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ สร้างบทสนทนากับผู้อ่านให้ผู้อ่านได้ขบคิดตามไป

ถึงแม้ “ประเด็นทัศนศิลป์” ของอารยาจะมิได้เป็นเรื่องราวทางวิชาการหรือเป็นบทวิจารณ์ที่เที่ยงตรงเป็นภววิสัย (ซึ่งเป็นไปไม่ได้) แต่ก็มิได้ทำให้ “ประเด็นทัศนศิลป์” ของอารยาด้อยคุณค่าลงไปเพราะด้วยความที่ข้อเขียนของอารยามิใช่ตำราเรียน มิใช่คำสั่งสอนใดๆ อารยาจึงไม่ได้มีบทบาทในการนิยามความผิดถูก หากแต่เป็นเพียงการเปิดโลกทัศน์และเป็นเสมือนบันทึกส่วนตัว ในส่วนที่เป็นลายลักษณ์ว่าด้วยศิลปะเน้นย้ำสถานะของบันทึกได้อย่างดี เมื่อส่วนดังกล่าวเป็นเสมือนการบันทึกเรื่องราว ประเด็น คำถาม ที่อารยามีต่อนิทรรศการศิลปะต่างๆ ซึ่งนอกจากมันสร้างบทสนทนากับตัวเธอเองแล้ว เมื่อข้อเขียนนี้ถูกตีพิมพ์ ข้อเขียนดังกล่าวก็สร้างบทสนทนาให้กับผู้ชมไปด้วยพร้อมๆ กัน บทสนทนาดังกล่าวมิได้เรียกร้องให้ผู้อ่านต้องประเมินคุณค่าต่อตัวผลงานหรือตัวนิทรรศการ หากแต่บทสนทนาดังกล่าวทำหน้าที่ชักชวนให้ผู้อ่านรับรู้ ขบคิด และตรวจสอบข้อเขียนอันเป็นทัศนะของอารยา และพิจารณาควบคู่ไปกับทัศนะของตน

ถ้าศิลปวิจารณ์เป็นเสมือนการพยายามคลี่คลายเงื่อนปมปัญหาของศิลปะ ข้อเขียนของอารยาก็อาจถูกจัดให้เป็นบทวิจารณ์ได้เช่นเดียวกัน เมื่อข้อเขียนของอารยาพยายามคลี่ความพิศวงภายในมโนทัศน์เลื่อนไหลอย่างศิลปะ อารยาเสนอทัศนะต่อประเด็นทัศนศิลป์ต่างๆ ทั้งในเบื้องต้นอย่างบทบาทของศิลปิน งานศิลปะ การสร้างสรรค์ เลยไปจนถึงกลไกขับเคลื่อนการสร้างสรรค์ ทฤษฎีการรับรู้ ความจริง มายาคติ วิธีการในงานศิลปะ เชื่อมโยงเข้ากับมโนทัศน์ทางการศึกษา สังคมวิทยา มานุษยวิทยา และศาสตร์อื่นๆ  อารยาสามารถก้าวผ่าน Cliché ที่เป็นข้อครหาของนักวิจารณ์ได้ เมื่อสังคมที่มีวัฒนธรรมการวิจารณ์เตี้ยต่ำติดดินแห่งนี้อาศัย Cliché ดังกล่าวเพื่อที่จะบอกว่านักวิจารณ์ไม่อาจรู้ดีได้เท่าผู้ปฏิบัติและผู้ปฏิบัติย่อมวิจารณ์ได้ดีกว่าผู้ไม่ปฏิบัติ แต่สำหรับอารยาที่เป็นทั้งผู้ปฏิบัติและผู้วิจารณ์ Cliché ดังกล่าวจึงไม่มีความสำคัญแต่ประการใด

ภายใต้ฐานคิดหลังสมัยใหม่ ศิลปะจึงเป็นเพียงแค่วาทกรรมที่ไม่มีอะไรแน่นอน และพร้อมที่จะถูกให้ความหมายจากการสร้างเรื่องเล่าต่างๆ “ประเด็นทัศนศิลป์” ของอารยา มิใช่เพียงแค่การ “สร้างสรรค์” หากแต่ยังเป็นการ “พิเคราะห์” ที่เกี่ยวเนื่องกับ “บริบท” และ “ลายลักษณ์” ของศิลปะ แต่ในขณะเดียวกันเรื่องเล่าของอารยาก็เป็นเพียงแค่เรื่องเล่าที่เป็นอัตวิสัย แต่ด้วยวิธีการเล่าเรื่อง และสถานะของนักวิชาการและศิลปิน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้เรื่องเล่าของอารยามีคุณค่าและมีน้ำหนักพอที่จะถูกพิจารณาและถกเถียง ซึ่งแน่นอนว่าจากการพิจารณาและถกเถียง ทำให้เกิดการสร้างเรื่องเล่าอื่นๆ มาเพิ่มเติมเสริมแต่งเข้าไปได้โดยมิได้ผูกขาดความถูกต้อง

“ประเด็นทัศนศิลป์” ของอารยา ราษฎร์จำเริญสุข จึงมิใช่แค่ “ประเด็น” ของอารยา หากแต่ยังเป็นบทสนทนาที่เรียกร้องผู้อ่านให้ร่วมสร้าง “ประเด็นทัศนศิลป์” ขึ้นมาสนับสนุน ตอบโต้ คัดค้าน เพราะนิยามของศิลปะมิใช่ประกาศิตของความถูกต้อง ประเด็นทุกประเด็นจึงมีคุณค่าพอให้พิจา

(ตีพิมพ์ใน Art4D ฉบับที่ 202 เดือน เมษายน 2013)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น