วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

“ความคิด” ในทัศนะของเดส์การ์ต ล็อค และ เบิร์คเลย์




บทนำ

ปัญหาทางญาณวิทยากลายมาเป็นปัญหาสำคัญที่อยู่ในความสนใจของนักปรัชญาสมัยใหม่ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา การแยกอาณาจักรออกจากศาสนจักร (Secularization) ทำให้บรรยากาศของยุคสมัยเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ (Modern) ซึ่งจากการแยกอาณาจักรออกจาก ศาสนจักรนั่นเอง ทำให้ชีวิตมนุษย์เปลี่ยนแปลงจากเงื่อนไขที่ขึ้นอยู่กับศาสนามาเป็นเงื่อนไขที่ขึ้นอยู่กับตัวมนุษย์ โดยมนุษย์มีความสามารถที่จะกำหนดชีวิตตัวเองได้ นัยดังกล่าวทำให้ศูนย์กลางแห่งความรู้เปลี่ยนแปลงจากพระเจ้าในยุคกลางมาอยู่ที่ตัวมนุษย์ ซึ่งทำให้มนุษย์มีศักยภาพในการค้นพบความจริงได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพระเจ้า ศักยภาพในการเข้าถึงความจริงของมนุษย์ตามแนวคิดสมัยใหม่จึงเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานแห่งองค์ความรู้ของมนุษย์ ซึ่งนำไปสู่การเกิดวิทยาการสมัยใหม่รวมถึงศาสตร์อย่างเช่น มนุษยศาสตร์ (Humanities) ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้ประเด็นทางปรัชญาเปลี่ยนแปลงจากการพยายามหาสารัตถะของโลกภายนอก (Natural Philosophy) มาเป็นการพยายามสร้างองค์ความรู้และคำอธิบายขึ้นมาใหม่ นักปรัชญาสมัยใหม่จึงสนใจประเด็นทางญาณวิทยาซึ่งเกี่ยวข้องกับความรู้และศักยภาพในการเข้าถึงความจริงของมนุษย์ ประเด็นเรื่อง “ความคิด” (Idea) จึงเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่นักปรัชญาสมัยใหม่พยายามอธิบายในฐานะที่สัมพันธ์กับแหล่งที่มาของความรู้ ในบทความนี้ ผู้เขียนจะแสดงให้เห็นถึงการอธิบาย “ความคิด” จากทัศนะของนักปรัชญา 3 คน คือ เรเน่ เดส์การ์ต (Rene Descartes) นักปรัชญาฝ่ายเหตุผลนิยม จอห์น ล็อค (John Locke) และ จอร์จ เบิร์คเลย์ (George Berkeley) นักปรัชญาฝ่ายประสบการณ์นิยม เรื่องของ “ความคิด” ในทัศนะของนักปรัชญาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือที่จะอธิบายกระบวนการรับรู้ของมนุษย์ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกภายนอก โดยในส่วนแรกจะเริ่มต้นจากทัศนะเรื่องความคิดที่มีมาแต่กำเนิดซึ่งถูกเริ่มต้นโดยเดส์การ์ตและข้อโต้แย้งต่างๆ ต่อความคิดที่มาแต่กำเนิด ข้อโต้แย้งดังกล่าวนำไปสู่วิธีการอธิบายเรื่องบทบาทของความคิดกับการเข้าถึงความจริงของมนุษย์และแหล่งที่มาของความรู้ของมนุษย์โดยสัมพันธ์กับโลกภายนอกในส่วนที่สอง ซึ่งวิธีการอธิบายและข้อโต้แย้งเรื่องความคิดจากนักปรัชญาทั้ง 3 คน จะทำให้เราเห็นภาพวิธีการอธิบายโลกที่แตกต่างกันระหว่างนักปรัชญาฝ่ายเหตุผลนิยมและฝ่ายประสบการณ์นิยมได้ชัดเจนขึ้น 


ความคิดกับแหล่งที่มาของความรู้ : ข้อสนับสนุนและข้อปฏิเสธต่อความคิดที่มีมาแต่กำเนิด

นักปรัชญาฝ่ายเหตุผลนิยมและฝ่ายประสบการณ์นิยมมีทัศนะต่อความคิดที่มีมาแต่กำเนิด (innate idea) แตกต่างกัน โดยเดส์การ์ตเห็นว่าความคิดที่มีมาแต่กำเนิดเป็นแหล่งที่มาของความรู้ ในขณะที่นักปรัชญาฝ่ายประสบการณ์นิยมอย่างล็อคและเบิร์คเลย์ปฏิเสธความคิดที่มีมาแต่กำเนิด

การจะเข้าใจทัศนะเรื่องความคิดคิดที่มีมาแต่กำเนิด อาจจำเป็นต้องย้อนกลับไปดูถึงแนวคิดปรัชญาของเดส์การ์ตซึ่งดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้ เรเน่ เดส์การ์ต เริ่มต้นปรัชญาของเขาจากการพยายามหาสิ่งที่แน่นอนที่สุด (certainty) เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความรู้ที่มั่นคง โดยเดส์การ์ตเริ่มจากการสงสัยต่อทุกสิ่งทุกอย่างในโลกภายนอก (res extensa) เดส์การ์ตไม่ยอมรับสิ่งใดที่เราอาจจะสงสัยได้ แม้แต่ความรู้เชิงประจักษ์ที่ปรากฏต่อประสาทสัมผัสและดูเหมือนจะปรากฏอย่างชัดเจนที่สุดก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนที่เราอาจจะสงสัยได้ เดส์การ์ตยกตัวอย่างของวัตถุที่หลายครั้งเราเข้าใจว่ามันมีขนาดเล็ก แต่ในขณะเดียวกันมันอาจเป็นไปได้ที่เราจะเห็นว่ามีขนาดเล็กเพราะอยู่ในระยะไกล  หรือการที่เขานั่งถือกระดาษอยู่ในมือหน้าเตาผิงก็เป็นสิ่งที่ชัดเจนอย่างมาก แต่การที่เขานอนหลับและฝันไปว่าเขากำลังนั่งอยู่หน้าเตาผิงนั้นก็อาจเป็นไปได้ เดส์การ์ตเห็นว่าไม่มีอะไรที่จะทำให้เราแน่ใจได้เลยว่ายามตื่นต่างจากยามหลับ หรือจินตนาการต่างจากความเป็นจริง  แต่สิ่งที่เราสามารถแน่ใจได้มากที่สุดคือเรากำลังสงสัยอยู่ การสงสัยคือการคิดแบบหนึ่ง และเมื่อมีการคิดจึงต้องมีสิ่งที่กำลังคิด ดังนั้น เราจึงแน่ใจได้ว่าเรามีอยู่ในฐานะสิ่งที่กำลังคิด การอ้างเหตุผลชุดนี้ของเดส์การ์ตนำมาสู่ประโยคอมตะที่ว่า “เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” (I think therefore I am) จากวิธีการสงสัยของเดส์การ์ต ทำให้ตัวฉัน (res cogito) อยู่ในฐานะสิ่งที่แน่นอน(certainty) ที่สุด และเป็นเสมือนองค์ประธาน (subject) ของความรู้

จากการที่เดส์การ์ตอธิบาย I ในฐานะของสิ่งที่คิด (res cogito) ซึ่งเป็นสิ่งที่แน่นอนมั่นคง แต่
เดส์การ์ตปฏิเสธผัสสะว่าเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ดังนั้น I ในทัศนะของเดส์การ์ตจึงเป็นจิต (mind)  และอีกกรณีหนึ่งที่ทำให้ชัดเจนว่า I ของเดส์การ์ตมีสถานะเป็นจิตก็คือ  เคยมีข้อโต้แย้งการอ้างเหตุผลของเดส์การ์ต จากคำกล่าวที่ว่า ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่ (I am thinking therefore I exist) ที่เดส์การ์ตได้จากการพิสูจน์ว่าตัวฉันเป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุดและมีอยู่จริงในฐานะสิ่งที่คิดอย่างที่ไม่อาจสงสัยได้ จริงๆ แล้วอาจไม่ต่างอะไรเลยกับการพูดว่า ฉันเดิน ฉันจึงมีอยู่ (I am walking therefore I exist) หรือประโยคที่เปลี่ยนคำว่า “คิด” เป็นกริยาอื่นๆ แต่เดส์การ์ตก็อธิบายโต้แย้งข้อสังเกตดังกล่าวว่า การที่ฉันเดิน (I am walking) ยังคงมีข้อสงสัยได้ว่าบางทีอาจเกิดขึ้นในขณะที่กำลังฝัน หรือบางทีเราอาจไม่มีร่างกายและถูกหลอกให้เชื่อว่ากำลังเดินอยู่ก็ได้ และเดส์การ์ตเห็นว่าจากข้อสังเกตดังกล่าวจะสมบูรณ์มากกว่าถ้าเราจะแก้เป็น ฉันคิดว่าฉันเดิน ฉันจึงมีอยู่ (I think I am walking, therefore I exist)  เพราะการคิดว่าเดิน เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถสงสัยกับการมีอยู่ของตนเองได้เลยว่าตัวเองกำลังมีอยู่ในฐานะสิ่งที่คิด และทำให้เห็นได้ชัดว่าเดส์การ์ตปฏิเสธความแน่นอนของร่างกาย และสิ่งที่เดส์การ์ตคิดว่าแน่นอนที่สุดคือจิตของมนุษย์ที่มีศักยภาพในการคิด การอ้างเหตุผลของเดส์การ์ตที่ทำให้ตัวฉัน (I) มีสถานะเป็นจิต นำไปสู่การแบ่งมนุษย์ออกเป็น 2 ส่วน คือ กายกับจิต และญาณวิทยาของเดส์การ์ตก็ให้ความสำคัญกับจิตในฐานะของสิ่งที่คิด ความคิด (Idea) ในทัศนะของเดส์การ์ตจึงอยู่ที่จิต 

ความคิดในทัศนะของเดส์การ์ตเกิดขึ้นภายในตัวของเขาเอง  ใน The Third Meditation เดส์การ์ตแบ่งความคิดออกเป็น 3 แบบ ได้แก่ ความคิดภายในที่ติดตัวมาแต่กำเนิด (innate idea) ความคิดที่เกิดจากจินตนาการ (fictitious idea) และความคิดที่ได้จากผัสสะ (adventitious idea)  แต่อย่างไรก็ตาม เดส์การ์ตยังคงไม่สามารถมั่นใจความคิดที่เกิดจากผัสสะได้ เพราะถึงแม้ความคิดที่เกิดจากผัสสะจะไม่ได้เกิดจากเจตจำนงภายในของเขา แต่เราไม่สามารถมั่นใจได้ว่าความคิดนั้นจะเกิดจากสาเหตุภายนอก โดยเฉพาะเมื่อย้อนกลับไปถึงประสบการณ์ที่เขาฝัน ไม่มีสาเหตุภายนอกที่ทำให้เกิดความคิดนั้นๆ ส่วนความคิดที่เกิดจากจินตนาการก็เกิดจากการคิดประดิษฐ์โดยตัวเขาเอง  ดังนั้น สิ่งที่เขาสามารถแน่ใจได้มากที่สุดก็คือ ความคิดภายในที่ติดตัวมาแต่กำเนิด โดยความคิดของเขาเกิดภายในตัวของเขาเอง อีกประเด็นหนึ่งที่สนับสนุน ความคิดภายในที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ก็คือความคิดเรื่องพระเจ้า ซึ่งทุกคนมีความคิดเรื่องพระเจ้าเหมือนๆ กัน และความคิดเรื่องพระเจ้าที่ทรงไว้ซึ่งความสมบูรณ์แบบ แต่ความสมบูรณ์แบบไม่อาจหาได้ในโลก จึงไม่สามารถพูดได้ว่าความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าจะได้มาจากประสบการณ์หรือการคิดจินตนาการของมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งจำกัด ดังนั้น ในทัศนะของเดส์การ์ต ความคิดที่ชัดเจนและแน่นอนที่สุดคือความคิดที่มีมาแต่กำเนิด (innate idea) และความคิดที่มีมาแต่กำเนิดนี่เองทำให้เรารู้ว่าวัตถุในโลกภายนอก (objective reality) นั้นเป็นอย่างไร

แต่สำหรับนักปรัชญาฝ่ายประสบการณ์นิยม ปฏิเสธความคิดที่มีมาแต่กำเนิด จอห์น ล็อค (John Locke) เป็นนักปรัชญาฝ่ายประสบการณ์นิยมคนสำคัญคนหนึ่ง  เขาปฏิเสธความคิดที่มีมาแต่กำเนิด เพราะเป็นไปไม่ได้ที่การรับรู้จะเริ่มต้นจากตัวเราออกไปสู่โลกภายนอก และในอีกมุมหนึ่ง การเริ่มต้นจากภายในตัวเรา บ่งบอกถึงการให้คุณค่า ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง ซึ่งถ้าเรายอมรับความคิดที่มีมาแต่กำเนิด นั่นหมายถึงว่าเรายอมรับการตัดสินล่วงหน้า (pre-judgment) บางอย่างที่เรามีต่อโลกภายนอก
ล็อคเห็นว่าจิตของมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิดนั้นเปรียบเสมือนผ้าขาว (tabula rasa) ไม่มีลวดลายใดๆ โดยลวดลายที่จะเกิดขึ้นเป็นผลมาจากประสบการณ์  ล็อคเห็นว่าไม่มีอะไรในความคิดที่ไม่เคยผ่านประสาทสัมผัสมาก่อน เขาจึงปฏิเสธความคิดที่มีมาแต่กำเนิด เพราะถ้าหากมีความคิดที่มีมาแค่กำเนิดแฝงอยู่ในจิตจริง จิตจะต้องรับรู้อยู่ตลอดเวลา เป็นไปไม่ได้ที่จิตจะไม่รับรู้ และหากมีความคิดที่มีมาแต่กำเนิดมันจะต้องเป็นสากล ทุกคนจะต้องรับรู้เหมือนกัน ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ทุกคนไม่ได้รู้เหมือนกันหมด ในทัศนะของล็อค ความคิดเป็นวัตถุของความรู้ (material of knowledge) เขาเชื่อว่าการรับรู้ของมนุษย์จำกัดอยู่ที่ความคิด และความคิดก็ได้มาจากประสบการณ์ ดังนั้นแหล่งที่มาของความรู้ในทัศนะของล็อคจึงมาจากประสบการณ์ และเมื่อล็อคเชื่อว่าเรารับรู้ความคิดในฐานะตัวแทนของโลกภายนอก ความคิดในทัศนะของล็อคจึงเป็นตัวแทน (representation) ของโลกภายนอก

สำหรับ จอร์จ เบิร์คเลย์ (George Berkeley) ซึ่งเป็นนักปรัชญาฝ่ายประสบการณ์นิยมอีกคนหนึ่ง เขาปฏิเสธความคิดที่มีมาแต่กำเนิด ในขณะเดียวกันเขาก็ชี้ให้เห็นว่าความคิดในฐานะตัวแทนของโลกภายนอกในทัศนะของล็อคมีปัญหา สำหรับประเด็นการปฏิเสธความคิดที่มีมาแต่กำเนิด เบิร์คเลย์เน้นไปที่งานของเดส์การ์ต เขาชี้ให้เห็นว่าถ้าเรายอมรับความคิดที่มีมาแต่กำเนิดในแบบของเดส์การ์ต นั่นหมายความว่าสิ่งต่างๆ ในโลกภายนอกย่อมหายไปหมด ไม่มีสิ่งใดๆ อยู่ในโลกภายนอก มีเพียงสิ่งที่อยู่ในจิตของมนุษย์เท่านั้น และตัวเราเองก็ไม่มีอยู่ในโลกทางกายภาพด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้มีผู้วิจารณ์ว่าเบิร์คเลย์เข้าใจผิด เพราะเดส์การ์ตไม่ได้ปฏิเสธการมีอยู่ของวัตถุในโลกภายนอก หากแต่เดส์การ์ตอธิบายว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม ข้อคัดค้านนี้แสดงให้เห็นถึงจุดยืนของเบิร์คเลย์ในแง่ที่ว่า เบิร์คเลย์เชื่อว่าวัตถุนอกจิตของมนุษย์มีอยู่จริง และเป็นไปไม่ได้ที่เราจะทำความเข้าใจโลกภายนอกโดยไม่สนใจความรู้ที่ได้จากผัสสาการเลย

เบิร์คเลย์เชื่อว่าเราสามารถยืนยันเฉพาะสิ่งที่เรารับรู้ได้เท่านั้น ประเด็นของเบิร์คเลย์จึงไม่ได้อยู่ที่ความจริงเบื้องหลัง หากแต่อยู่กับสิ่งที่เรารับรู้ ความคิดในทัศนะของเบิร์คเลย์จึงไม่ใช่วัตถุ (immaterial) หากแต่เป็นเพียงศักยภาพของจิตที่จะบอกได้ว่าสิ่งต่างๆ เป็นอย่างไร เบิร์คเลย์ปฏิเสธขอบเขตของโลกภายในและโลกภายนอก เขาเชื่อว่าความคิดไม่ได้สัมพันธ์กับโลกภายนอก แต่ความคิดเป็นศักยภาพที่จะทำให้เรารับรู้และเห็นถึงโลกภายนอกได้ จาก “การมีอยู่คือการถูกรับรู้” (esse est percipi.) ของเบิร์คเลย์ เขาเชื่อว่าไม่มีสิ่งใดที่มีอยู่ได้นอกเหนือจากการรับรู้ของมนุษย์  เพราะเมื่อเขาพิจารณาจิตของเขาแล้ว ไม่พบสิ่งอื่นใดนอกจากความคิดของตนเอง
จะเห็นได้ว่า นักปรัชญาสองฝ่ายมีท่าทีต่อความคิดที่มีมาแต่กำเนิดไม่เหมือนกัน นักปรัชญาฝ่ายเหตุผลนิยมอย่างเดส์การ์ตเชื่อว่าความคิดที่มีมาแต่กำเนิดมีอยู่จริง และเป็นแหล่งที่มาของความรู้ เพราะเราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าโลกภายนอกจะเป็นสาเหตุของการรับรู้จริงๆ ส่วนนักปรัชญาฝ่ายประสบการณ์นิยมอย่างล็อคและเบิร์คเลย์ต่างก็ปฏิเสธความคิดที่มีมาแต่กำเนิด พวกเขาเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าใจโลกภายนอกจากความคิดภายในตัวเราด้วยสาเหตุเพราะแหล่งที่มาของความรู้คือโลกภายนอกที่จำเป็นต้องรับรู้ผ่านผัสสาการนั่นเอง

ความคิดกับการรับรู้โลกภายนอก

ประเด็นหนึ่งที่นักปรัชญาสมัยใหม่ทั้งฝ่ายเหตุผลนิยมและฝ่ายประสบการณ์นิยมมีความเห็นร่วมกันก็คือ โลกภายนอกเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง และมนุษย์อยู่ในฐานะผู้รับรู้สิ่งต่างๆ ภายนอก และ “ความคิด” ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรับรู้โลกภายนอกของมนุษย์

ความคิดในทัศนะของเดส์การ์ต เป็นความคิดที่มีมาแต่กำเนิด และในกระบวนการรับรู้ จิตจะรับรู้โลกภายนอกโดยความคิดที่มีมาแต่กำเนิดจะลงรอย (correspond) กับวัตถุจากโลกภายนอก และด้วยเหตุที่ผัสสะของมนุษย์มีความไม่แน่นอน พระเจ้าจึงเข้ามามีส่วนในฐานะสิ่งที่ยืนยันการมีอยู่ของโลกภายนอกและยืนยันการรับรู้ของมนุษย์

จากเรื่องความคิดที่มีมาแต่กำเนิด เดส์การ์ตเชื่อว่าความคิดหนึ่งที่ทรงพลังมากที่สุดคือความคิดเรื่องพระเจ้าซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่มีความเป็นจริงอย่างมากจนเขาสงสัยว่าความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าที่เราเข้าใจว่าเป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ผู้สร้าง และเป็นนิรันดร์นั้นมาจากไหน แน่นอนว่าความคิดนั้นไม่สามารถมาจากตัวเราเองได้ เพราะเราเป็นสิ่งจำกัด (finite substance) จะสร้างความคิดเกี่ยวกับสิ่งไม่จำกัด (infinite substance) ได้อย่างไร และความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าที่สมบูรณ์ (perfect) ไม่สามารถมาจากเราซึ่งเป็นสิ่งไม่สมบูรณ์ (imperfect) ได้ และด้วยเหตุผลทางภววิทยา พระเจ้าเป็นสิ่งสมบูรณ์และการมีอยู่ก็เป็นคุณลักษณะที่สำคัญของสิ่งที่มีความสมบูรณ์ ดังนั้น ด้วยเหตุผลนี้พระเจ้าจึงมีอยู่ และความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าก็จำเป็นต้องเกิดจากพระเจ้า ซึ่งการที่พระเจ้ามีอยู่นั่นเองเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้โลกภายนอกมีอยู่ ในปรัชญาของเดส์การ์ต พระเจ้าไม่ได้อยู่ในฐานะผู้สร้าง และไม่ได้มีศักยภาพเหนือมนุษย์ และมนุษย์เองก็รู้ถึงศักยภาพนั้นๆ อาจไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่ามนุษย์กับพระเจ้าอยู่ในสถานะเดียวกัน และมนุษย์สามารถรับรู้โลกภายนอกอย่างที่มันเป็นเช่นเดียวกันพระเจ้า การมีอยู่ของพระเจ้าจึงรับประกันการมีอยู่ของโลกภายนอกและการรับรู้โลกภายนอกของมนุษย์ หรือกล่าวในอีกแง่มุมหนึ่ง เนื่องจากพระเจ้าเป็นสิ่งที่สมบูรณ์และเป็นสิ่งที่ไม่จำกัด พระเจ้ารับประกันการรับรู้โลกภายนอกของเราโดยไม่หลอกเรา เพราะพระเจ้าที่แท้จริงเป็นสิ่งสมบูรณ์ และการหลอกลวงย่อมไม่ใช่คุณสมบัติของสิ่งสมบูรณ์ 

ในทัศนะของเดส์การ์ต การที่ความคิดที่มีมาแต่กำเนิดจะลงรอยกับโลกภายนอก เกิดจากคำอธิบายเรื่องจิตและกายส่วนหนึ่ง จากวิธีการสงสัย (The Methodic Doubt) ทำให้เดส์การ์ตเชื่อว่าจิตเป็นสิ่งที่แน่นอน และเป็นพื้นฐานของการรับรู้ และความคิดที่มีมาแต่กำเนิดก็อยู่ในจิตของมนุษย์ การรับรู้โลกภายนอกของมนุษย์จึงอาศัยความคิดในฐานะที่เป็นกระบวนการของจิตในการกำหนดและทำความเข้าใจต่อโลกภายนอก ดังนั้น การที่เรารู้โลกภายนอกจึงไม่ได้หมายถึงการรู้ว่าโลกภายนอกเป็นอย่างไรอย่างที่มันเป็น แต่เป็นการรู้โดยอาศัยความคิดที่มีอยู่ในจิตเพื่อกำหนดและทำความเข้าใจต่อโลกภายนอก

นอกจากนี้ ความคิดยังเป็นส่วนสำคัญในการอธิบายมนุษย์ของเดส์การ์ตอีกด้วย เพราะการที่เดส์การ์ตแยกมนุษย์ออกเป็น 2 ส่วน คือ กายกับจิต ซึ่งเป็นทัศนะแบบทวินิยม (dualism) โดยกายกับจิตแยกจากกันและอยู่บนสาร(substance)คนละชนิดกัน ทั้งกายและจิตอยู่ร่วมกันบนฐานของความเป็นมนุษย์ (Human Being) ซึ่งจิตรับรู้กายผ่านผัสสะ แต่จิตจะเข้าใจคุณสมบัติ (properties) ของกายผ่านการตระหนัก (realize) จากความคิดนั่นเอง

ในทัศนะของเดส์การ์ต เรารับรู้โลกภายนอกได้อย่างที่มันเป็น เพราะพระเจ้าอยู่ในฐานะสิ่งที่รับประกันการมีอยู่ของโลกภายนอกและประกันการรับรู้ของเรา โดยเราเข้าใจโลกภายนอกได้จากการที่ความคิดที่มีมาแต่กำเนิดที่มีอยู่ในจิตของเราลงรอย (correspond) กับโลกภายนอก และความคิดนี่เองเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งในการอธิบายเรื่องจิตและกายของเดส์การ์ต โดยความคิดทำให้จิตเข้าใจคุณสมบัติ (properties) ของกายผ่านการตระหนัก (realize) โดยความคิดที่มีอยู่แล้ว

แต่ในทัศนะของล็อคกลับต่างออกไป จากการที่ล็อคปฏิเสธความคิดที่มีมาแต่กำเนิด ความคิดในทัศนะของล็อคจึงสัมพันธ์กับการรับรู้โลกภายนอกผ่านผัสสาการ เนื่องจากล็อคให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริง (Fact) มากกว่าคุณค่า (Value) ดังนั้น ล็อคจึงปฏิเสธกระบวนการของจิต เนื่องจากเป็นการตัดสินคุณค่า ดังนั้นในทัศนะของล็อค ความคิดจึงไม่ได้เป็นกระบวนการของจิตเหมือนอย่างที่ฝ่ายเหตุผลนิยมอธิบาย จิตมีหน้าที่เพียงแค่รับรู้ความคิดที่สะท้อนต่อโลกภายนอก และหน้าที่ของความคิดไม่ใช่การตัดสินว่ามันคืออะไร แต่เป็นเพียงการสะท้อน (reflection) สิ่งที่โลกภายนอกเป็น กระบวนการรับรู้ของล็อคจึงไม่ใช่กระบวนการของจิต หากแต่คือวิธีการ (method) ที่ความคิดจะสะท้อนความเป็นจริงของโลกภายนอก ความคิดจึงเป็นสสารของความรู้ (material of knowledge) แต่อย่างไรก็ตาม การรับรู้โลกภายนอกผ่านผัสสาการ ล็อคเชื่อว่าเราจะรับรู้ได้ผ่านคุณสมบัติ 2 ชนิด ซึ่งก็คือ คุณสมบัติปฐมภูมิ (primary qualities) และคุณสมบัติทุติยภูมิ (secondary qualities) โดยคุณสมบัติปฐมภูมิเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่จริงในวัตถุ เช่น การกินที่ รูปร่าง ฯลฯ ส่วนคุณสมบัติทุติยภูมิ เป็นคุณสมบัติที่วัตถุทำให้เกิดขึ้นในตัวของผู้รับรู้ เช่น ความรู้สึก เสียง สีกลิ่น รส ฯลฯ  การแบ่งคุณสมบัติของวัตถุออกเป็น 2 ชนิดของล็อค ทำให้เกิดความชัดเจนระหว่างสิ่งที่เป็นจริง (reality) กับสิ่งที่ปรากฏในความคิด (appearance) ญาณวิทยาของล็อคจึงอาจถูกกล่าวถึงในฐานะทฤษฎีตัวแทน (Representation Theory of Knowlodge) 

จากการที่ความคิดสะท้อนให้เห็นโลกภายนอก จึงอาจกล่าวได้ว่าความคิดและความจริงเป็นสิ่งเดียวกัน คำอธิบายนี้นำไปสู่ทัศนะเรื่องความจริงกับภาษาคือสิ่งเดียวกัน ซึ่งเราจะเข้าใจความคิดของสิ่งใดๆ ได้ผ่านคุณสมบัติของมัน ซึ่งก็คือภาษา ด้วยโครงสร้างของความคิดที่ผูกติดอยู่กับภาษา ล็อคจึงนิยามความคิดออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ความคิดเชิงเดี่ยว (simple idea) และ ความคิดเชิงซ้อน (complex idea)  โดยความคิดเชิงเดี่ยว เป็นความคิดที่จิตได้รับเข้ามาทางประสาทสัมผัส และความคิดเชิงซ้อนเป็นความคิดที่เราสร้างขึ้นจากความคิดเชิงเดี่ยว โดยการผสาน เชื่อมโยง เปรียบเทียบ หาลักษณะบางอย่างของความคิดเชิงเดี่ยวที่มีอยู่ และเชื่อมโยงจนได้ความคิดที่ซับซ้อนขึ้น ซึ่งความคิดเชิงซ้อนนี่เองนำไปสู่สิ่งที่ล็อคเรียกว่า “ความรู้” โดยความรู้ในทัศนะของล็อคก็คือการรับรู้ต่อการเชื่อมโยงกันของความคิดต่างๆ

ความคิดในทัศนะของล็อค จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนจากโลกภายนอก โดยมีจิตรับรู้สิ่งที่สะท้อนผ่านความคิดอีกทีหนึ่ง และด้วยการที่ความคิดมิได้เป็นผลผลิตจากกระบวนการของจิตเอง ความคิดจึงมีลักษณะเป็นสิ่งที่ถูกกระทำ (passive) โดยวัตถุจากโลกภายนอก ซึ่งล็อคเชื่อว่าการรับรู้โลกในลักษณะนี้จะทำให้เรารับรู้ข้อเท็จจริงของโลก โดยปราศจากการให้คุณค่าก่อนโดยการทำงานของจิต การเชื่อมโยงความคิดเชิงเดี่ยวจนทำให้เกิดความรู้ ความคิดในทัศนะของล็อคจึงมีลักษณะเป็น ความคิดต่อสิ่งทั่วไป (general idea) ที่สะท้อนให้เราเข้าใจว่าโลกเป็นอย่างไร ทัศนะนี้จึงแตกต่างจากเบิร์คเลย์ ซึ่งให้ความสำคัญกับความคิดเฉพาะ (particular idea) มากกว่า
นอกจากเบิร์คเลย์จะปฏิเสธความคิดที่มีมาแต่กำเนิดของเดส์การ์ตแล้ว เบิร์คเลย์ยังปฏิเสธความคิดของล็อคที่ว่าความคิดเป็นภาพตัวแทนของโลกภายนอกอีกด้วย โดยเบิร์คเลย์เชื่อว่าทัศนะแบบล็อคที่อธิบายเรื่องความคิดเชิงเดี่ยวและความคิดเชิงซ้อนนั้นนำไปสู่การสร้างความคิดต่อสิ่งทั่วไป (general idea) ซึ่งทำให้เราไม่สามารถบอกถึงความแตกต่างของสิ่งเฉพาะแต่ละสิ่งได้ เบิร์คเลย์วิจารณ์ความคิดต่อสิ่งทั่วไปว่า เป็นการไม่สนใจคุณภาพ (quality) ที่แตกต่างกันของสิ่งเฉพาะแต่ละสิ่ง ซึ่งความแตกต่างกันของสิ่งเฉพาะแต่ละสิ่งนั่นเอง ทำให้เราสามารถรับรู้ได้ว่าวัตถุชิ้นนั้นแตกต่างจากชิ้นอื่นๆ และคนๆ นั้นแตกต่างจากคนอื่นๆ  เมื่อเบิร์คเลย์ปฏิเสธความคิดต่อสิ่งทั่วไป ดังนั้นในทัศนะของเบิร์คเลย์การรับรู้ของมนุษย์จึงไม่ใช่การรับรู้โดยเริ่มจากโลกภายนอกซึ่งทำให้ภาวะที่ความคิดและโลกภายนอกเป็นสิ่งเดียวกันและนำไปสู่การสร้างความคิดต่อสิ่งทั่วไป ความคิดในแง่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นผู้ถูกกระทำ (passive) หากแต่ในทัศนะของเบิร์คเลย์เราต้องเริ่มเข้าใจจากความคิดมาสู่สิ่งภายนอก ซึ่งหมายถึงการเข้าใจทุกอย่างบนพื้นฐานของสิ่งเฉพาะ (particular) และการทำความเข้าใจสิ่งเฉพาะดังกล่าว จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับจิต (soul) ของเรา ในแง่นี้พระเจ้าจึงมีอยู่ในฐานะของจุดอ้างอิง (point of reference) ซึ่งทำให้การมีอยู่ของสิ่งเฉพาะมีอยู่โดยตัวมันเอง ทั้งนี้เพราะการเข้าใจความจริง (actuality) ของแต่ละสิ่ง มีลักษณะการเกี่ยวข้องกับความจริงนั้นๆ แบบเดียวกับที่เราเข้าถึงพระเจ้าได้ในจิตของเรานั่นเอง หรืออีกนัยหนึ่ง เรามีความคิดของวัตถุอยู่ในวิญญาณเป็นหลักฐานของการมีอยู่จริงของวัตถุนั้นๆ และการเข้าถึงความคิดนั้นๆ เป็นแบบเดียวกับการรับรู้ที่มาจากพระเจ้านั่นเอง
ในปรัชญาของเบิร์คเลย์ ความคิดจึงไม่ใช่สิ่งที่ลงรอยกับสิ่งที่เป็นจริง หากแต่ความคิดเป็นศักยภาพของจิตที่จะทำให้เรารับรู้โลกภายนอกได้ การรับรู้จึงต้องเริ่มจากจิตออกไปสู่โลกภายนอก ปรัชญาของเบิร์คเลย์จึงให้ความสำคัญกับสิ่งเฉพาะมากกว่าสิ่งทั่วไป การมีอยู่ของโลกภายนอกในทัศนะของเบิร์คเลย์จึงหมายถึงการมีอยู่ในฐานะสิ่งที่ปรากฏต่อการรับรู้ของเรา และการรับรู้สิ่งภายนอกจึงเป็นการเข้าถึงในลักษณะเดียวกับการเข้าถึงพระเจ้าในจิตของเรา

บทสรุป : “ความคิด” ที่นำไปสู่ความรู้

ในทัศนะของนักปรัชญาทั้งสาม ความคิดเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีบทบาทสัมพันธ์กับการรับรู้โลกภายนอก ในทัศนะของเดส์การ์ตซึ่งเป็นนักปรัชญาฝ่ายเหตุผลนิยมให้ความสำคัญกับความคิดที่มีมาแต่กำเนิดในฐานะสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจโลกภายนอกได้ ความรู้ในทัศนะของเดส์การ์ตจึงมีที่มาจากความคิดที่มีมาแต่กำเนิดซึ่งสามารถเข้าถึงได้โดยการใช้เหตุผลพิสูจน์ ในขณะที่นักปรัชญาฝ่ายประสบการณ์นิยมซึ่งปฏิเสธความคิดที่มีมาแต่กำเนิด กลับให้ความสำคัญกับการรับรู้โลกภายนอกผ่านผัสสาการมากกว่า ล็อคเชื่อว่าความคิดเป็นเสมือนภาพสะท้อนโลกภายนอก และจิตสามารถรู้โลกภายนอกได้จากการรับรู้ความคิด ส่วนเบิร์คเลย์คิดว่าความคิดเป็นศักยภาพของจิตที่ทำให้เรารับรู้โลกภายนอกได้ และโลกภายนอกก็มิได้มีอยู่นอกเหนือไปจากความคิดของมนุษย์ ในทัศนะของนักปรัชญาฝ่ายประสบการณ์นิยมทั้งสองคน แหล่งที่มาของความรู้คือโลกภายนอกที่รับรู้ผ่านผัสสาการ และผ่านกระบวนการรับรู้โดยมีความคิดเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนั้นๆ

การอธิบายเรื่องความคิดในฐานะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้โลกภายนอก และนำไปสู่ศักยภาพในการรับรู้ความจริงของมนุษย์ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ในยุคสมัยนั้น การอธิบายกระบวนการรับรู้ของมนุษย์ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกภายนอกได้ออกมาจากร่มเงาของศาสนา พระเจ้าไม่ได้มีบทบาทในการรับรู้ของมนุษย์มากไปกว่าการเป็นเพียงจุดอ้างอิง (point of reference) ที่ประกันถึงความเที่ยงตรงในการเข้าถึงความจริงของมนุษย์ สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้รากฐานขององค์ความรู้สมัยใหม่ของมนุษย์เกิดขึ้น และนำไปสู่การเกิดขึ้นของการศึกษาทางมนุษยศาสตร์และการพัฒนาองค์ความรู้สมัยใหม่.

(บทความที่ได้รับมอบหมายในการสอบกลางภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2556 วิชา ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่)

Bibliography

Berkeley, George, The Principles of Human Knowledge. London: Collins Clear-Type Press,1969

Brenner, William H. Elements of Modern Philosophy : Descartes Through Kant. New Jersey: Prentice-Hall, 1989

Descartes, Rene. Meditations on First Philosophy. in The Philosophical writings of Descartes. Vol.2. (trans.) John Cottingham. Cambridge : Cambridge University Press, 1984

Kenny, Anthony. The Rise of Modern Philosophy. Oxford : Oxford University Press, 2006

Locke, John. An Essay Concerning Human Understanding. Edited by P.H. Nidditch Oxford : The Clarendon Press, 1982

Tlumak, Jeffrey. Classical Modern Philosophy. New York : Routeledge, 2007




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น