วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

Graffiti กับข้อสังเกตบางประการ



เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2555 สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จัดแสดงโชว์ Graffiti ภายใต้โครงการถนนศิลปะราชดำเนิน (Art Street @ Ratchadamnern) บริเวณหน้าศูนย์หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ในงานมีการแสดงพ่นสีบนรั้วสังกะสีจากศิลปินหลายคน โดยผลงานดังกล่าวจะถูกจัดแสดงจนถึงเดือนมกราคม

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือการโฆษณาถึง “กราฟฟิตี้ (Graffiti)” ดูเหมือนภายใต้งานดังกล่าว กราฟฟิตี้กลายมาเป็นสิ่งที่อยู่ในการบริหารจัดการของรัฐ กราฟฟิตี้จึงมิใช่กราฟฟิตี้แบบเดิมๆ เสียแล้ว หากแต่กราฟฟิตี้ในความหมายของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยอาจเป็นเพียงแค่ศิลปะแสดงสดหรือจิตรกรรมฝาผนังธรรมดาที่ถูกเขียนขึ้นบนกำแพงรั้วสังกะสีเช่นเดียวกับกราฟฟิตี้ แต่มิได้มีนัยหรือความหมายที่เหมือนกับกราฟฟิตี้



เราคงไม่อาจพูดถึงกราฟฟิตี้ได้โดยไม่พูดถึงศิลปะร่วมสมัยอันอยู่บนฐานคิดหลังสมัยใหม่ หนึ่งในหลากลักษณะของงานศิลปะร่วมสมัยก็คือการแตกแขนงของงานที่ไม่สามารถระบุประเภทได้ตายตัว ซึ่งทำให้เส้นขอบเขตระหว่างศิลปะแขนงต่างๆ พังทลายลง เราจึงอาจพบงานศิลปะในรูปแบบหรือประเภทใหม่ๆ อย่างเช่นงานศิลปะสื่อผสม แน่นอนว่าการแตกตัวของงานศิลปะบนฐานคิดหลังสมัยใหม่ย่อมนำมาซึ่งการปฏิเสธวิธีคิดแบบเดิมๆ อันรวมไปถึงเรื่องพื้นที่ด้วยเช่นกัน ศิลปะร่วมสมัยพร้อมที่จะหลุดออกจากพื้นที่ศิลปะในแบบเดิมๆ อย่างหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ไปสู่พื้นที่ภายนอก เช่นเดียวกับที่ศิลปะร่วมสมัยพร้อมที่จะหลุดออกจากการเป็นวัตถุสะสมที่สามารถถูกบริหารจัดการไปเป็นเพียงแค่ประสบการณ์ทางสุนทรียะหรือปรากฏการณ์ชั่วคราวในช่วงเวลาหนึ่ง

การหลุดออกจากกรอบพร้อมเข้าสู่พื้นที่สังคมของงานศิลปะร่วมสมัย อาจไม่ได้ทำให้งานศิลปะเข้าใกล้กับบุคคลในสังคมมากขึ้น ในขณะเดียวกันความใกล้ในเชิงกายภาพก็นำมาซึ่งความเหินห่างแปลกแยกในเชิงความรู้สึก หลายครั้งที่งานศิลปะในบริบทถูกจัดแสดงอยู่โดยรอบตัวบุคคล หากแต่บุคคลก็มิได้ตระหนักถึงความเป็นศิลปะของมัน งานกราฟฟิตี้ก็อาจเป็นเช่นนั้น ถ้าพูดถึงงานกราฟฟิตี้ขนานแท้คงจะต้องนึกถึงกราฟฟิตี้แบบที่เด็กช่างไปวาดตามฝาผนัง เมื่อกราฟฟิตี้เป็นงานที่ปฏิเสธพื้นที่การแสดงงานของหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ ในขณะเดียวกันกราฟฟิตี้ก็ปฏิเสธพิธีกรรมหรือการนิยามองค์ความรู้โดยตัวอักษรพร้อมกับการตัดขาดจากการรองรับจากวาทกรรมศิลปะ กราฟฟิตี้ไม่มีพิธีเปิด ไม่มีการซื้อขาย ไม่มีโฆษณา ประชาสัมพันธ์ สิ่งเหล่านี้แสดงถึงนัยของการขบถอันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของงานกราฟฟิตี้ ความขบถของกราฟฟิตี้เริ่มต้นจากการที่งานกราฟฟิตี้เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับความเร็ว ต้องรีบลงมือ ความเข้มข้นเกิดจากการฝ่าฝืนข้อบังคับ ศิลปินต้องลงมืออย่างไวก่อนที่เจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นจะเข้ามาแทรกแซง นัยของการขบถเรียกร้องให้กลับไปมองถึงความแตกต่าง แปลกแยก ตัวงานกราฟฟิตี้เองจึงมีนัยทางสังคมและการเมือง โดยเฉพาะประเด็นการสะท้อนถึงเรื่องการถูกกีดกันจากพื้นที่ทางสังคม และเมื่องานกราฟฟิตี้มิได้ถูกยอมรับอย่างชอบธรรม งานกราฟฟิตี้จึงแฝงนัยของการเรียกร้องให้สาธารณชนสังเกตถึงการมีตัวตนของบุคคลชายขอบด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่ากราฟฟิตี้แตกต่างจากงานจิตรกรรมฝาผนัง การปฏิเสธวาทกรรมศิลปะของกราฟฟิตี้ย่อมหมายถึงการไม่ขึ้นอยู่กับการจัดการโดยรัฐ เสน่ห์ของกราฟฟิตี้จึงมิใช่งานที่เรียบร้อย ประณีต บรรจง หากแต่เป็นงานที่เร่งรีบ จิตรกรเป็นเพียงศิลปินนิรนามที่ไม่เปิดเผยตัว สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งที่ทำให้กราฟฟิตี้แตกต่างจากงานจิตรกรรมหรือจิตรกรรมฝาผนังก็คือประเด็นเรื่องพื้นที่ กราฟฟิตี้ปฏิเสธพื้นที่การแสดงงานของหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ กราฟฟิตี้ไม่ต้องการตัวอาคารในการจัดแสดง ดังนั้น หลายครั้งกราฟฟิตี้จึงปรากฏอยู่ในสถานที่ลึกลับ ในตรอกซอกซอย อันท้าทายต่อการรับรู้ของผู้ชม การเข้าไม่ถึงพื้นที่ของผลงานทำให้ผลงานไม่มีผู้ชม ในขณะเดียวกันสังคมก็ไม่รับรู้ว่ามีผลงาน ศิลปินจึงไม่มีตัวตน เราอาจกล่าวอย่างรวบรัดได้ว่าเป็นงานศิลปะเพื่อศิลปะหรือเป็นการแสดงออกโดยไม่หวังผลอันมีเป้าหมายเพียงแค่การระบายอารมณ์จิตใต้สำนึกเท่านั้น การที่กราฟฟิตี้ออกมาสู่ภายนอกหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ ทำให้งานกราฟฟิตี้กลายมาเป็นสิ่งที่จับจองพื้นที่สาธารณะและสร้างข้อขัดแย้งกับทุกๆ ฝ่าย สิ่งเหล่านี้กระทบกับสถานะทางศิลปะของงานกราฟฟิตี้ เพราะถึงงานกราฟฟิตี้จะมีองค์ประกอบทางสุนทรียศาสตร์ครบถ้วน แต่เมื่อวันใดวันหนึ่งกำแพงบ้านอาจถูกระบายไปด้วยสีสันต่างๆ โดยที่เจ้าของไม่รู้ตัว การออกนอกพื้นที่ การจับจองพื้นที่สาธารณะ จึงนำมาซึ่งการละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น สิ่งเหล่านี้ทำให้เราไม่อาจยอมรับงานกราฟฟิตี้ไม่ในฐานะของงานศิลปะ เพราะการยอมรับคือการยินยอมต่อการล่วงล้ำเข้าไปในอาณาบริเวณของผู้อื่นนั่นเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราอาจต้องกลับมาตั้งคำถามถึงการจัดแสดงโชว์กราฟฟิตี้ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย แน่นอนว่าภายใต้มโนทัศน์ที่เลื่อนไหลของศิลปะ เราไม่สามารถสรุปได้ว่ากราฟฟิตี้เป็นงานศิลปะหรือไม่ และเราไม่อาจทราบได้เลยว่าในความคิดของผู้เกี่ยวข้องนั้นมองว่างานกราฟฟิตี้เป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ในงานดังกล่าวสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยต้องการให้ผู้ชมได้เห็นอะไร กราฟฟิตี้ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยคงไม่ใช่เพียงแค่การให้ศิลปินมาสาดสีใส่ฝาผนังหรือแสดงการสร้างภาพจิตรกรรม เพราะนั่นก็มิได้แตกต่างจากศิลปะแสดงสดที่ต้องการให้ผู้ชมเห็นเพียงแค่ชั่วขณะหนึ่งของเหตุการณ์ ส่วนร่องรอยที่เหลืออยู่ในฐานะของผลงานก็คงไม่ต่างอะไรกับงานจิตรกรรมฝาผนังตามวัด เพียงแต่เป็นจิตรกรรมฝาผนังที่มีลวดลายแตกต่างและปรากฏอยู่บนพื้นที่ที่ต่างกันออกไปนั่นเอง

กระบวนการขัดเกลาทางสังคม (Socialization) ที่ทำให้กราฟฟิตี้กลับมาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ มีพิธีกรรมรองรับ ถูกนิยามโดยองค์ความรู้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร สิ่งเหล่านี้ทำให้เสน่ห์แต่เดิมของกราฟฟิตี้หายไป ในขณะเดียวกันกระบวนการดังกล่าวก็ทำลายนัยดั้งเดิมที่เกี่ยวกับความเป็นขบถของกราฟฟิตี้ไปเสียหมด สุดท้ายแล้วกราฟฟิตี้จึงอาจไม่ต่างอะไรกับจิตรกรรมฝาผนัง หากแต่กราฟฟิตี้เป็นจิตรกรรมฝาผนังในแบบหลังสมัยใหม่เท่านั้นเอง.

(ตีพิมพ์ในนิตยสาร Vote ปักษ์แรก มีนาคม 2555)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น