เมื่อแนวคิดหลังสมัยใหม่ (Post-Modern) ปฏิเสธสิ่งสัมบูรณ์และองค์รวมซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อคติสมัยใหม่ (Modern) ศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art) ในฐานะผลผลิตของวาทกรรมหลังสมัยใหม่จึงกลายเป็นเรื่องของ “การประพบจบกัน” ของบริบทต่างๆ[1] เมื่อเส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่เป็นศิลปะและไม่เป็นศิลปะละลายหายไป การที่จะบอกว่าสิ่งใดเป็นศิลปะหรือไม่เป็นศิลปะจึงยากขึ้น และเกิดความลักลั่นในการนิยาม
เมื่อไม่นานมานี้ ข้อถกเถียงบางอย่างในกรณีของรายการไทยแลนด์ก็อททาเล้นท์ สะท้อนถึงปัญหาในการนิยามผลงานได้เป็นอย่างดี เมื่อมีผู้หญิงผู้ร่วมรายการคนหนึ่ง แสดงความสามารถโดยการใช้หน้าอกวาดภาพ และกรรมการให้ผ่านโดยเหตุผลว่า “มันเป็นศิลปะ ผมรับได้ ให้ผ่านครับ” ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ความเหมาะสม (รวมถึงการขุดคุ้ยถึงเบื้องหลังและกรณีผลประโยชน์ระหว่างรายการและผู้ร่วมรายการ) ประเด็นคำถามอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ มันเป็นศิลปะหรือไม่ ? ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันถึงขนาดที่มหาวิทยาลัยศิลปะชื่อดังแห่งหนึ่งต้องจัดเสวนาและเชิญวิทยากรระดับผู้บริหารหน่วยงานราชการมาถกเถียงกันถึงความเป็นศิลปะของกรณีดังกล่าว รวมถึงเป็นข้อถกเถียงที่เผ็ดร้อนในสังคมออนไลน์ คำตอบของปัญหาดังกล่าวอาจไม่สำคัญนักเมื่อพิจารณาจากปัจจัยอื่นประกอบ แต่ในแง่มุมหนึ่งก็สามารถต่อยอดนำไปสู่ประเด็นต่อไปว่า ถ้าไม่เป็นงานศิลปะ ทำไมถึงไม่เป็น และถ้าเป็นงานศิลปะ ทำไมถึงเป็น และส่วนไหนที่เป็นงานศิลปะ รูปที่ถูกวาดโดยใช้หน้าอกเป็นงานศิลปะ (จิตรกรรม : Painting ?) ท่าทางของผู้ร่วมรายการที่กำลังวาดรูปเป็นงานศิลปะ (ศิลปะการแสดงสด : Performance Art ?) แนวคิด, สังกัป (Concept) ของผู้กำกับรายการหรือผู้ว่าจ้างหญิงสาวคนนั้นเป็นศิลปะ (สังกัปศิลป์ : Conceptual Art ?) หรือแม้กระทั่งบางคนที่คิดไปถึงว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาในการสร้างงานศิลปะโดยตรง แต่เป็นการวิจารณ์ศิลปะและสถานะของศิลปะในสังคมไทย (อย่างไรก็ตาม ในมุมหนึ่ง การวิจารณ์ก็เป็นการทำงานศิลปะประเภทหนึ่งเช่นเดียวกัน[2]) สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความไม่ชัดเจนของการนิยามความเป็นศิลปะได้เป็นอย่างดี